21 ก.ค. 2023 เวลา 02:32 • ปรัชญา

สร้างวัฒนธรรม "การเลิกเชื่อเป็น" ด้วยการเรียนปรัชญา

สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่มี "เสรีภาพทางความคิด" และเมื่อพูดถึงวัฒนธรรม "การเลิกเชื่อเป็น" เป็นสิ่งที่ยากและไม่คุ้นชินในสังคม ตั้งแต่เล็กจนโตเรามีแต่วัฒนธรรมการ "สอนให้เชื่อ" มาทั้งชีวิต เราไม่เคยถูกปลูกฝังเรื่องเสรีภาพทางความคิด ความกล้าในการตั้งคำถาม แนวคิดวิพากษ์ หรือการทิ้งความเชื่อเดิมที่เคยเชื่อมาทั้งชีวิต
แต่เรากลับถูกหล่อหลอมด้วยอุดมการณ์ชาตินิยม การบังคับเรียนและปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา การเรียนศีลธรรมจริยธรรม หน้าที่พลเมือง ฯลฯ เราไม่เคยถูกส่งเสริมในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค หรือการตั้งคำถามกับอำนาจทางวัฒนธรรม จารีตประเพณีต่าง ๆ แต่ถูกปลูกฝังว่าห้ามโต้เถียง โต้แย้ง หรือตั้งคำถามที่ท้าทายความเชื่อ กับครูหรือคนที่มีอำนาจ ต้องเป็นคนรู้จักเชื่อฟัง นอบน้อม โอนอ่อนผ่อนตาม
ดังนั้นสังคมไทยจึงสอนให้เชื่อ ไม่ตั้งคำถาม และมีคำตอบที่ตายตัว เช่น การเป็นเด็กดีต้องเป็นอย่างไร การเป็นพลเมืองที่ดีต้องมีหน้าที่แบบไหน ทีนี้ถ้าเด็กคนไหนมีจินตนาการต่างไปจากที่ครูสอน ตั้งคำถามที่ท้าทายกับความเชื่อเดิมที่สอน ๆ กันมา ก็จะถูกมองว่าเป็นเด็กที่ก้าวร้าว นอกคอก ไม่เชื่อฟัง เป็นเด็กที่แปลกแยกเป็นต้น
แต่การที่เอาแต่สอนในสิ่งที่มีคำตอบตายตัว สอนให้เชื่อฟัง และท่องจำนั้นไม่ได้ส่งเสริมจินตนาการของเด็กในการกล้าลุกขึ้นมาตั้งคำถามต่าง ๆ เพราะเป็นการปลูกฝังให้เด็กต้องเชื่อฟังและสยบยอมกับครูในสถานะที่สูงส่งกว่าอยู่ตลอดเวลา
ดังนั้นการเรียนการสอนที่จะให้นักเรียน "สร้างความเข้าใจแบบใหม่" เป็นเรื่องที่ยาก ที่จะทำให้เขาสามารถแย้มคิดได้ว่าความเชื่อของเขาที่เชื่อมาทั้งชีวิตอาจจะผิดก็ได้ เพราะไม่มีวัฒนธรรมการเลิกเชื่อเป็นในสังคมไทย
ระบบการศึกษาไม่เคยปลูกฝังแนวคิดที่ท้าทายความเชื่อเดิม ที่ทำให้เขาสามารถเข้าใจและมองมันแบบใหม่ ๆ หรือกระทั่งตกใจกับความเชื่อ ความจริงหรือความรู้ในชุดใหม่ ๆ ที่ให้นักเรียนสามารถคัดค้าน โต้แย้ง หรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ครูอาจารย์สอนด้วยเหตุด้วยผล
ซึ่งการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์ในการสร้างวัฒนธรรม "การเลิกเชื่อเป็น" ให้เกิดขึ้นได้ในสังคมไทยคือ การเรียนวิชาปรัชญา (philosophy) เพราะวิชาปรัชญานั้นส่งเสริมให้เด็กเกิด “กิจกรรมทางความคิด” ให้เด็กกล้าตั้งคำถามต่อสิ่งต่าง ๆ ไม่มีคำตอบที่ตายตัว เป็นการสร้างการถกเถียงและ “แนวคิดเชิงวิพากษ์” ที่เกี่ยวกับเรื่องความจริง ความงาม ความถูกต้องว่าสิ่งเหล่านี้คืออะไร และแน่ใจได้อย่างไรว่าเรามีความรู้ไม่ใช่แค่ถูกหลอก
วัฒนธรรมการเลิกเชื่อคืออะไร?
วัฒนธรรมการเลิกเชื่อไม่ใช่เป็นการฟาดฟัน หรือทำลายล้างความเชื่อผู้อื่นให้พังทลายลงและปลูกฝังความเชื่อใหม่ขึ้นมา แต่คือการมีเครื่องมือบางอย่างที่ป้องกันการถูกหลอก และทำให้ “กล้า” เมื่อต้องเผชิญหน้าความความเชื่ออื่น ๆ ชุดความจริงอื่น ๆ ที่ท้าทายความเชื่อเดิมของเรา กล้าที่จะเข้าไปเรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองไม่ชอบหรือแม้แต่เกลียดมันก็ตาม เปิดกว้างในการเรียนรู้ทั้ง ๆ เป็นเรื่องที่อาจไม่อยากจะไปเรียนรู้มัน
เครื่องมือนี้เป็นเครื่องมือที่สร้าง "อิสรภาพทางความคิด" สามารถตั้งคำถามกับทุกสิ่งแม้กระทั่งความเชื่อของตนเอง พยายามเรียนรู้และทำความเข้าใจมันแบบใหม่ สามารถสร้างความคิดใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยเผชิญ และยังสร้างความคิดที่ว่า "เราอาจจะผิดก็ได้" สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องมีวัฒนธรรมการเลิกเชื่อติดตัวไว้ เมื่อมีเครื่องมือนี้แล้วทำให้ไม่ต้องกลัวว่าเราจะถูกหลอก ถึงแม้ถูกโฆษณาชวนเชื่อได้แต่ก็สามารถเลิกเชื่อเป็น ซึ่งศาสตร์ทางด้านปรัชญาตอบโจทย์ในเรื่องนี้
คำถามคือเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนสำหรับการเรียนการสอนปรัชญาในโรงเรียน ในสังคมที่แทบจะไม่มีการปลูกฝังให้คนรู้จัก "ฉงน" กับปรากฏการณ์และความเชื่อต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม การศึกษาไทยไม่มีพื้นที่ในการตั้งข้อสงสัยมากนัก แต่กลับเป็นการเรียนโดยการเอาแต่เชื่อและฟัง ห้ามเถียงหรือโต้แย้งต่อบุคคลที่มองว่าสถานะทางอำนาจสูงกว่าอย่างครูหรือผู้ใหญ่
ทำให้จำเป็นต้องมาดูคุณสมบัติเหล่านี้ใหม่ในสังคม ว่าเป็นสังคมที่พูดถึงเรื่องการตั้งคำถามและข้อสงสัยในระดับปรัชญาได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อสร้างความเข้าใจและแนวคิดใหม่ ๆ ที่เป็นพื้นที่การสงสัย การตั้งคำถามต่อเรื่องใด ๆ ก็ตามมากกว่านี้โดยเฉพาะในระบบการศึกษา
หลายประเทศในยุโรปบรรจุวิชาปรัชญาเป็นวิชาภาคบังคับในโรงเรียน ทั้งนี้ในบางประเทศให้มีการเรียนการสอนสำหรับเด็กตั้งแต่อนุบาล รายงานของยูเนสโกระบุว่า การเรียนการสอนปรัชญาสำหรับเด็กนอกจากจะช่วยพัฒนาการกระบวนการเรียนรู้และทักษะการวิเคราะห์แล้ว ยังช่วยให้พัฒนาศักยภาพของพลเมืองในอนาคต ให้มีภูมิต้านทางในเรื่องของการปลูกฝังโดยลัทธิหรือโฆษณาชวนเชื่อใด ๆ ก็ตาม แนวคิดทางปรัชญาสร้างให้เกิด “เสรีภาพในการตัดสินใจ” โดยเรียนรู้ผ่านการถกเถียงด้วยเหตุผล ก่อนจะนำไปดีเบตกันด้วยวิถีประชาธิปไตย
การเรียนปรัชญานั้นเป็นเนื้อหาที่เป็นนามธรรม โดยการตั้งคำถามพื้นฐานในเรื่องต่าง ๆ ความจริงคืออะไร ความรู้คืออะไร ความดีคือะไร เป็นคำถามที่สั้น ๆ แต่ตอบยากมาก และเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เรารู้นั้นเป็นความจริงไม่ใช่ถูกหลอก ซึ่งข้อถกเถียงทางปรัชญานั้นไม่มีคำตอบตายตัว ซึ่งสิ่งที่สำคัญของห้องเรียนปรัชญาคือ การสนทนาระหว่างกลุ่มที่เห็นต่างกัน และความสนุกของปรัชญาอยู่ที่การได้ถกเถียงและโต้แย้งกันด้วยเหตุด้วยผล กับคำถามและจินตนาการที่เปิดกว้างไร้ขีดจำกัด
เมื่อพูดถึงเรื่องปรัชญาเราไม่ได้พูดถึงความจริงเชิงประจักษ์อย่างเดียว แต่เป็นการพูดถึงพยายามทำความเข้าใจไอเดียบางอย่างที่อยู่เบื้องหลังเรื่องต่าง ๆ
เพราะฉะนั้นการเรียนปรัชญานั้นช่วยให้เกิด critical thinking คือการคิดแบบมีวิจารณญาณ ไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ ซึ่งสิ่งนี้เป็นรากฐานที่สำคัญมากกับระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง ที่นักการเมืองต่าง ๆ ล้วนใช้โวหารที่พยายามโน้มน้าวให้ประชาชนเชื่อ เพื่อให้โหวตพวกตนเองด้วยวิธีการต่าง ๆ นานา ถูกบ้างผิดบ้างแต่ผิดมากกว่าถูก
ซึ่งคำว่าผิดที่ว่านี้คือผิดหลักการ เช่น โจมตีอีกฝ่ายหรือเอาข้อมูลเท็จมาใส่ร้ายป้ายสีให้อีกฝ่ายดูแย่ ถ้าประชาชนไม่มี critical thinking ก็จะเชื่อทุกอย่างที่ปรากฏอยู่ในหน้าจอทีวีและมือถือ โดยไม่ได้ใช้กระบวนการตั้งคำถามถึงข้อเท็จจริง
ประชาธิปไตยจะไม่รอดในสถานการณ์ที่ประชาชนถูกปั่นหัว กลายเป็นเครื่องมือของคนที่ใช้วิธีการผิด ๆ ในการหาอำนาจ ซึ่งผิดหลักการประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ และอำนาจตามมาด้วยความรับผิดชอบ จึงต้องกลับมาพูดเรื่องพลเมือง คือการรู้จักตรวจสอบ ไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ ไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะฉะนั้นปรัชญามีความสำคัญมากต่อประชาธิปไตย ทำให้ประชาชนไม่ถูกหลอก
ปรัชญาเป็นอันตรายกับเผด็จการ ?
โดยธรรมชาติแล้วเป็นอย่างนั้น เผด็จการเกลียดวิชานี้โดยธรรมชาติอยู่แล้ว เพราะเผด็จการต้องการพลเมืองที่เชื่อฟัง มีความคิดความเชื่อเหมือน ๆ กัน ว่านอนสอนง่าย ไม่ตั้งคำถามต่อเรื่องยาก ๆ ไม่ต้องการให้ผู้คนในสังคมขัดแย้งและมีความแตกต่างทางความคิด ซึ่งสิ่งเหล่านั้นเป็นหน้าที่หลักของปรัชญาทั้งนั้นเลย
เมื่อแนวคิดทางปรัชญาเป็นการตั้งคำถามกับทุกสิ่ง ไม่ว่าเป็นอำนาจการปกครอง อำนาจทางวัฒนธรรม รวมถึงศาสนาและจารีตประเพณีต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้จะไปสั่นคลอนและท้าทายอำนาจของเผด็จการ ดังนั้นปรัชญาจึงเป็นเหมือนศัตรูโดยธรรมชาติของเผด็จการ
คนที่จะตั้งคำถามเชิงปรัชญาจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีพื้นที่ให้ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การตั้งคำถาม เพราะความสำคัญของปรัชญาไม่ได้ต้องการเพียงคำตอบ แต่ให้ความสำคัญกับการตั้งคำถามยาก ๆ ให้เกิดการพูดคุยถกเถียงถึงเบื้องลึกเบื้องหลังในสังคม
แต่ทว่าพูดถึงระบอบประชาธิปไตยปรัชญาถือว่ามีส่วนที่ส่งเสริมให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น อย่างน้อยที่สุดคือสามารถช่วยสร้างบรรยากาศการพูดคุยถกเถียงกันด้วยเหตุผล โต้แย้งและขัดแย้งกันอย่างมีอารยะ ช่วยสร้างทัศนคติที่เปิดใจกว้างในการรับฟังความคิด ข้อเสนอของผู้อื่น ซึ่งประชาธิปไตยต้องเป็นเช่นนี้ ดังนั้นปรัชญากับประชาธิปไตยมีส่วนส่งเสริมและเอื้อต่อกันและกัน เพราะฐานคิดของปรัชญามาจากการยอมรับฟังความเห็นของผู้อื่น แต่ไม่ได้ยอมรับทุกสิ่งทุกอย่าง
.
การเรียนการสอนวิชาปรัชญาค่อนข้างแตกต่างกับแนวคิดระบบการศึกษาไทย เพราะว่าแนวคิดทางปรัชญานั้นทำให้เกิดแนวคิดวิพากษ์ โต้แย้ง ตั้งคำถาม และไม่มีคำตอบตายตัว แต่กลับกันการศึกษาไทยมักเป็นการสอนที่ต้องมีคำตอบตายตัว ไม่ส่งเสริมให้มีการตั้งคำถาม โต้แย้ง หรือแนวคิดที่ขัดแย้งกัน การศึกษาที่มีคำตอบที่ตายตัวเช่นนี้มาจากผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจ ที่ต้องการปลูกฝังเพื่อสร้างสำนึกให้เด็กต้องคิดแบบนี้ ให้เชื่อ ให้ฟัง ให้จำ ให้โอนอ่อนผ่อนตาม ฯลฯ
ถือเป็นการไม่เอื้อต่อความก้าวหน้าทางความคิดและจินตนาการของเด็ก อีกทั้งยังย้อนแย้งกับสิ่งที่ผู้วางนโยบายต่างประเทศอยากได้ อย่างเช่น ต้องการให้เด็กไทยมีความคิดริเริ่มความคิดสร้างสรรค์ ความคิดแบบมีวิจารณญาณ ไม่ถูกหลอก ไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ รู้จักการตรวจสอบการให้เหตุผลว่าอะไรควรเชื่อ แต่สิ่งที่ต้องการให้นักเรียนเป็นเช่นนี้เป็นคุณสมบัติของคนเรียนปรัชญาทั้งสิ้น มาจากการสงสัย การคิด และใช้เหตุผลเป็นเครื่องมืออภิปรายเรื่องปัญหาเชิงคุณค่า
การที่ปรัชญาไม่มีคำตอบตายตัวจึงไม่เหมาะสมกับเด็ก เพราะจะทำให้เด็กสับสน ?
ต้องบอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นเลยครับ เพราะเด็กโดยทั่วไปมีความสงสัยใคร่รู้เป็นธรรมชาติอยู่แล้ว มีการตั้งคำถามและจินตนาการที่เปิดกว้าง โดยเฉพาะเด็กอนุบาลจะถามไม่หยุด ดังนั้นการเรียนวิชาปรัชญาจะช่วยส่งเสริมจินตนาการที่สร้างสรรค์ของเด็กเพิ่มขึ้นไปอีก ทั้งยังช่วยเสริมสร้างความคิดและการแสวงหาคำตอบ
แต่กลับกันถ้ามุ่งสอนแต่ให้เด็กเชื่อหรือคำตอบอะไรที่ตายตัว ไม่ให้เด็กได้มีโอกาสในการตั้งคำถาม หรือการผู้ใหญ่ปัดไม่ยอมตอบคำถามเด็กต่างหาก จะส่งผลเสียต่อเด็กในระยะยาว ทำให้เขาขาดความกระตือรือร้นที่จะตั้งคำถามและเรียนรู้ในสิ่งต่าง ๆ เพราะเป็นเสมือนการที่ความคิดโดนขังด้วยกรอบชุดความคิดที่ตายตัวของผู้ใหญ่ ทำให้ขาดการเสริมสร้างจินตนาการที่สร้างสรรค์แต่ต้น
เพราะฉะนั้นถ้ามุ่งไปที่การเรียนรู้ การเรียนปรัชญาจะช่วยเสริมสร้างแนวคิดแบบใหม่ ว่าความรู้หรือทฤษฎีต่าง ๆ หรือวิธีการเช่นนี้มาจากอะไร ให้เด็กเข้าใจถึงพื้นฐานที่มาที่ไป ไม่ใช่สร้างเด็กให้เปรียบเสมือนหุ่นยนต์ที่มีหน้าที่เพียงถูกป้อนโปรแกรม และทำตามคำสั่งแต่เพียงเท่านั้น ที่อธิบายปัญหา How แต่ปัญหา Why ไม่สน ทำให้ไม่สามารถพัฒนาไปถึงจุดสูงสุดของวิชาการได้
รวมถึงครูต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้ถกเถียง โต้แย้ง หรือตั้งคำถาม ครูต้องเป็นฝ่ายที่โดนตั้งคำถามจากเด็กได้และต้องตอบคำถามนักเรียนด้วยเหตุผล ไม่ใช่ให้นักเรียนตอบครูแต่เพียงอย่างเดียว เพราะการตั้งคำถามและการตอบเป็นศูนย์กลางของความเข้าใจในวิชาปรัชญาโดยรวม
สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเรียนปรัชญา เพราะปรัชญามุ่งไปถึงรากฐานของสิ่งต่าง ๆ มีผลวิจัยสนับสนุนว่า ถ้ามีการเรียนปรัชญาในโรงเรียนอย่างถูกต้องจะทำให้ผลการเรียนวิชาอื่น ๆ ดีขึ้นไปด้วย ช่วยเสริมสร้างกระบวนการคิดทำให้ไม่รู้สึกแปลกแยกจากเนื้อหาวิชานั้น เพราะปรัชญาสอนให้คิดแบบ Conceptual thanking เป็นการคิดถึงเรื่องในเชิงนามธรรมที่ต้องใช้ความเชื่อมโยงความสัมพันธ์ในระดับสูงขึ้น ซึ่งสำคัญกับทุกวิชา
.
แม้การเรียนการสอนปรัชญาในโรงเรียนจะดูเหมือนเป็นไปได้ยาก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีทางเป็นไปได้ หากแวดวงการศึกษาไทยมีความจริงใจว่าอยากให้เด็กไทยรู้เท่าทัน มีความใฝ่รู้ และคิดแบบมีวิจารณญาณ ซึ่งคุณสมบัติต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นได้จากการเรียนปรัชญา รวมถึงการเสริมสร้างกระบวนการคิดของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การตั้งคำถาม กับหลักประกันความปลอดภัย นั่นคือเหตุผลว่าทำไมต้องเรียนปรัชญา และการสร้างวัฒนธรรม “การเลิกเชื่อเป็น”
โฆษณา