Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เติมใจ
•
ติดตาม
21 ก.ค. 2023 เวลา 03:33 • ปรัชญา
ไม่เป็นฉันไม่รู้หรอก
ช่วงนี้ได้เห็นข่าวดราม่ามากมายเกี่ยวกับ ความรู้สึกที่พยายามมองหาข้อดีกับสิ่งที่สิ้นหวัง หรือการมองว่าสิ่งที่พวกเค้าเจอนั้น มันแย่มาก ไม่มีอะไรดีหรอกนะ วันนี้เราลองมาทำความเข้าใจกันดูนะคะว่า เกิดจากอะไร ทั้งมุมคนที่กำลังเผชิญกับปัญหานั้น กับคนที่ไม่ได้เผชิญกับปัญหานั้นๆ โดยตรง
เริ่มจากมุมมองของคนที่กำลังประสบปัญหาอยู่ ก่อน แน่นอนคนที่เผชิญกับปัญหาจริงๆ ก็กำลังต่อสู้กับปัญหา กับอุปสรรคมากมาย มีความเครียดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่สัญชาตญาณของมนุษย์ก็คือ การเอาตัวรอด เวลาเราเผชิญกับปัญหาเรามักจะพยายามหาทางเอาตัวรอด เหมือนบทความครั้งก่อนที่ได้เขียนเกี่ยวกับระบบประสาทอัตโนมัติ ที่ไม่สู้ก็หนี ทั้งสองอย่างนี้ก็เพื่อการเอาตัวรอดทั้งสิ้น ซึ่งส่วนใหญ่เราก็มักจะใช้วิธีที่เราใช้บ่อยๆ ที่เราเคยเรียนรู้มา หรือจากประสบการณ์เดิมมาใช้ เพื่อพยายามแก้ปัญหาตามศักยภาพของแต่ละคน
แต่บางครั้ง เมื่อเราพยายามจัดการปัญหาด้วยตัวเองแล้ว แต่มันแก้ไม่ได้ เราก็อาจจะต้องหาตัวช่วย ซึ่งวิธีการของแต่ละคนก็อาจจะแตกต่างกันตามบุคลิกภาพ บางคนอาจจะลองหาวิธีใหม่ๆ บางคนอาจจะออกไปขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ทั้งพยายามไปขอดีๆ ตะโกนบอก จนไปถึงพยายามเรียกร้องให้คนอื่นเห็นปัญหาที่ตนเองกำลังเผชิญอยู่
แต่เมื่อพยายามทำทุกอย่างไปแล้ว แต่ก็ไม่มีใครมาช่วย หรือมาช่วยก็ช่วยไม่ได้ เกิดขึ้นแบบซ้ำๆ ก็อาจจะกลายเป็นความสิ้นหวัง จนมองอะไรก็ไม่ดี มองว่าปัญหาแก้ไม่ได้หรอก หรือถึงขั้นมองไม่เห็นคุณค่าของตนเอง มองว่าตัวเราไม่ดี ตัวเราแย่ ตัวเราต่ำต้อย ซึ่งถ้ามาถึงจุดนี้แล้ว พลังที่อยากจะเอาตัวรอด ก็จะหายไป จนบางคนก็อาจจะถึงขั้น อยากหายไปจากโลกนี้เลย
ในมุมของคนนอกที่ไม่ได้เผชิญปัญหา จะอยู่ในสภาวะที่ไม่ได้เครียด อาจจะมีความรู้สึกร่วมเพราะอาจจะเคยเผชิญกับเหตุการณ์คล้ายๆ แบบนี้มาก่อน หรืออาจจะไม่เข้าใจเลยก็ได้ว่าคนที่กำลังเผชิญปัญหาแบบนี้กำลังคิดและรู้สึกอย่างไร คนที่เคยเจอปัญหาแบบนี้มาก่อน ก็อาจจะเสนอแนวคิดแก้ปัญหาในแบบที่ตนเองเคยรู้ เคยผ่านมาได้ ซึ่งเมื่อเราเห็นปัญหาในสภาวะอารมณ์ที่เป็นปกติหรือมีความสุข เราก็จะมองเห็นปัญหาไม่ใช่เรื่องใหญ่ สามารถมองเป็นแง่ดี แง่บวกได้ (มองเป็นอย่างอื่นได้)
ซึ่งในทางจิตวิทยา การบำบัด ก็จะใช้หลักการนี้เหมือนกัน คือ เราจะพยายามเข้าใจปัญหาของคนที่กำลังเผชิญกับปัญหาให้ได้จริงๆ ก่อน ว่าสิ่งที่เค้าทุกข์ทรมาน คือเรื่องอะไรกันแน่ หากเรารีบแสดงความคิดเห็นไปก่อนที่เราจะเข้าใจ โดยอาจจะอ้างอิงจากประสบการณ์ หรือเรื่องของคนอื่น มาใช้มาแนะนำ มักจะเกิดแรงต้าน ปฏิเสธกับคำแนะนำ เพราะเค้าจะรู้สึกว่า เรายังไม่ได้เข้าใจเค้าจริงๆ เลย ไม่เป็นเค้า ไม่รู้หรอก จะมาแนะนำเค้าได้อย่างไร
แต่สำหรับผู้บำบัดแล้ว เราจะไม่รีบตัดสิน โดยจะตั้งใจฟังให้เข้าใจอย่างที่สุดก่อน แล้วถึงจะช่วยเสนอแนะปัญหา โดยจะใช้หลักการของคนนอกที่แหล่ะค่ะ ที่ไม่ได้เผชิญกับปัญหาจริงๆ แต่จะเป็นอีกคนที่มองปัญหาอย่างเข้าใจ โดยไม่ได้มีอารมณ์ร่วมหรือการคิดแทน เช่น ไม่ได้มองว่าตัวเราไม่ดี ตัวเราแย่ ปัญหาแก้ไม่ได้จริงๆ หรอก แต่จะช่วยมองในมุมมองอื่น ที่ผู้รับการบำบัดอาจจะมองไม่เห็น ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว คนที่แก้ปัญหาไม่ใช่ผู้บำบัด แต่เป็น ผู้รับการบำบัดเอง ที่เค้าจะสามารถมองเห็นทิศทางหรือแนวทางในการจะแก้ปัญหาด้วยตัวเอง
หรือจะพูดอีกอย่างก็คือ เราจะให้เค้าหลุดจากภาวะสิ้นหวังให้ได้ก่อน เพื่อจะได้มีพลังในการเอาตัวรอดต่อไป
จริงๆ แล้วสิ่งที่คนที่กำลังเผชิญกับปัญหาอยู่นั้น เค้าอาจจะไม่ได้ต้องการคนที่มาช่วยแก้ปัญหานะคะ แต่เค้าอาจจะต้องการแค่คนที่จะเข้าใจเค้าได้จริงๆ และคอยให้กำลังใจ ให้พลัง ในการต่อสู้ ต่อไป เมื่อใจฟู มีพลังมากพอ พร้อมที่จะแก้ปัญหา ใครเสนออะไรมาเค้าก็อาจจะพร้อมที่จะลอง พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง
ลองฟังให้มาก เข้าใจให้ถ่องแท้ บางครั้ง แค่นั่งใกล้ๆ ไม่ต้องพูดอะไร ก็ช่วยได้มากแล้วค่ะ
#เป็นได้ไม่ใช่เรื่องแปลก
พัฒนาตัวเอง
ไลฟ์สไตล์
ชีวิต
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย