21 ก.ค. 2023 เวลา 10:28 • ประวัติศาสตร์

• “บัดนี้ผมคือความตาย คือผู้ทำลายล้างโลกทั้งมวล”

เจ.โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ NBC ในปี 1965
จูเลียส โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ (Julius Robert Oppenheimer) เป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีชาวอเมริกันผู้ได้รับฉายา ‘บิดาแห่งระเบิดปรมาณู’ (Father of the Atomic Bomb) จากการที่เขาเป็นหัวหน้าทีมนักวิจัยในโครงการแมนฮัตตัน (Manhattan Project) ในการพัฒนาระเบิดปรมาณูให้กับสหรัฐอเมริกา
เจ.โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์
ออพเพนไฮเมอร์เกิดเมื่อวันที่ 22 เมษายน 1904 ที่เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยครอบครัวของเขาเป็นชาวยิวเชื้อสายเยอรมันที่ได้อพยพมาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา
ออพเพนไฮเมอร์จบการศึกษาทางด้านเคมีและฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด (Harvard University) จบปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University) และจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยกอทิงเกน (Göttingen University) ในเยอรมนี
ในช่วงทศวรรษ 1930 นักฟิสิกส์ชื่อดังอย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) พร้อมด้วยนักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ ได้ร่วมกันเขียนจดหมาย
เพื่อเรียกร้องให้ แฟลงคลิน ดี. รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น จัดตั้งหน่วยงานเพื่อวิจัยและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
2
โดยสาเหตุที่ทำให้ไอน์สไตน์และกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ เรียกร้องให้ทางการสหรัฐอเมริกาพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ก็เพราะนาซีเยอรมันภายใต้การนำของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) กำลังซุ่มพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อยู่ ดังนั้นหากปล่อยให้นาซีเยอรมันสร้างอาวุธนิวเคลียร์ได้สำเร็จ อาจจะนำไปสู่ภัยอันตรายร้ายแรงต่อโลกได้
ในปี 1942 โครงการแมนฮัตตัน อันเป็นโครงการพัฒนาวิจัยอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกาจึงถูกก่อตั้งขึ้น โดยมีศูนย์บัญชาการอยู่ที่เมืองลอส อลามอส (Los Alamos) ในรัฐนิวเม็กซิโก
ตราสัญลักษณ์โครงการแมนฮัตตัน
ทีมนักวิจัยในโครงการแมนฮัตตัน
เป้าหมายสำคัญของโครงการแมนฮัตตัน คือการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ให้สำเร็จก่อนนาซีเยอรมัน และใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อยุติสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลสหรัฐอเมริกาลงทุนกับโครงการแมนฮัตตันเป็นเงินสูงถึง 24,000 ล้านดอลลาร์ หากเทียบกับค่าเงินปัจจุบัน
โดยออพเพนไฮเมอร์รับหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ ในการคิดค้นวิจัยอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ในโครงการแมนฮัตตัน ก็มีนักวิทยาศาสตร์ที่ได้หลบหนีออกจากยุโรป และเคยทำงานวิจัยกับนาซีเยอรมันมาก่อน นอกจากนี้ไอน์สไตน์ ยังรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับออพเพนไฮเมอร์ และเหล่านักวิทยาศาสตร์ในโครงการแมนฮัตตันอีกด้วย
1
ในที่สุดโครงการแมนฮัตตันก็สามารถสร้างอาวุธนิวเคลียร์ได้สำเร็จในปี 1945 โดยสร้างระเบิดปรมาณูได้จำนวน 3 ลูก โดยระเบิดปรมาณูลูกแรกถูกนำไปทดลองในปฏิบัติการทรินนิตี้ (Trinity) ที่ทะเลทรายในรัฐนิวเม็กซิโก ในวันที่ 16 กรกฎาคม 1945
2
ส่วนระเบิดปรมาณูลูกที่สองก็คือ ลิตเติ้ลบอย (Little Boy) ที่ถูกทิ้งที่เมืองฮิโรชิมา (Hiroshima) ในวันที่ 6 สิงหาคม 1945 และระเบิดปรมาณูลูกที่สามก็คือ แฟตแมน (Fat Man) ที่ถูกทิ้งที่เมืองนางาซากิ (Nagasaki) ในวันที่ 9 สิงหาคม 1945
2
การทดสอบระเบิดปรมาณูที่ทะเลทรายรัฐนิวเม็กซิโก 16 กรกฎาคม 1945
ระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิม่า 6 สิงหาคม 1945 (ซ้าย) และระเบิดปรมาณูที่นางาซากิ 9 สิงหาคม 1945 (ขวา)
การทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ได้ทำให้สงครามโลกครั้งที่สองจบลง แต่ต้องแลกด้วยชีวิตของพลเรือนที่ล้มตายรวมกันมากกว่า 200,000 คน
2
หลังสิ้นสุดสงคราม ออพเพนไฮเมอร์ก็ได้ลาออกจากโครงการแมนฮัตตัน ก่อนที่โครงการแมนฮัตตันจะปิดตัวลงในปี 1947
หลังจากนั้น ออพเพนไฮเมอร์ก็ได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานของคณะกรรมาธิการพลังงานปรมาณูของสหรัฐอเมริกา (United States Atomic Energy Commission หรือ AEC) โดยเขาได้เรียกร้องให้นานาชาติควบคุมการใช้อาวุธนิวเคลียร์ และใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ
1
แต่พอถึงปี 1949 ออพเพนไฮเมอร์ได้ออกมาคัดค้านการพัฒนาระเบิดไฮโดรเจนของสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้เขาถูกใส่ร้ายว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และถูกปลดออกจากราชการในภายหลัง
1
หลังจากนั้นออพเพนไฮเมอร์ก็ยังคงมีบทบาทในการวิจัยด้านนิวเคลียร์อยู่ โดยในปี 1963 ออพเพนไฮเมอร์ก็ได้รับรางวัลเอนรีโก เฟอร์มี (Enrico Fermi Award) ที่เป็นรางวัลที่จะมอบให้กับบุคคลสำคัญในวงการนิวเคลียร์
ในปี 1965 ออพเพนไฮเมอร์ได้ไปสัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ NBC โดยตอนหนึ่งเขาก็ได้พูดว่า “บัดนี้ผมคือความตาย คือผู้ทำลายล้างโลกทั้งมวล” (Now, I am become Death, the destroyer of worlds)
1
มีหลายคนได้ตีความหมายของคำพูดนี้ว่า ออพเพนไฮเมอร์อาจจะเสียใจที่ความรู้ของเขาถูกนำไปใช้ในการเข่นฆ่าชีวิตผู้คน
แต่อีกฝั่งก็มองว่า ออพเพนไฮเมอร์อาจจะสื่อว่า การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อใช้ยุติสงคราม เนื่องจากคำพูดนี้ ออพเพนไฮเมอร์อ้างอิงมาจากคัมภีร์ภควัทคีตา (Bhagavad Gita) ของฮินดู ในตอนที่พระกฤษณะเกลี้ยกล่อมให้อรชุนจับอาวุธเพื่อทำสงครามกับญาติพี่น้องของตน โดยให้ใช้เหตุผลความถูกต้องมากกว่าเหตุผลส่วนตัว
เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ เสียชีวิตจากโรคมะเร็งลำคอ ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 1967 ในวัย 62 ปี
1
*** Reference
• BBC News ไทย. ชีวิตน่าพิศวงของ “ออปเพนไฮเมอร์” บิดาแห่งระเบิดปรมาณู. http://bitly.ws/M2Cz
• Business Insider. Oppenheimer's famous quote 'I am become Death' isn't really his. The ominous words come from Hindu scripture. http://bitly.ws/M2CK
• Britannica. Manhattan Project. http://bitly.ws/M2PG
1
#HistofunDeluxe
โฆษณา