21 ก.ค. 2023 เวลา 12:54 • ปรัชญา

เรื่องเล่าจากการเดินทาง [บทที่ 3: ความโหดร้าย]

หากท่านโหดร้ายต่อผู้อื่นได้
ผู้อื่นย่อมโหดร้ายต่อท่านได้เช่นกัน
นักจิตฯเก้ากระบี่
‘การเป็นพื้นที่ว่างให้กับความโหดร้ายในจิตใจ’
คือ การไม่พยายามเก็บกด ต่อต้าน หลบหนี ละเลย
ในกระแสความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในจิตใจของท่าน
การต้อนรับความจริงได้เช่นนี้
จะช่วยให้ท่านเข้าใจในธรรมชาติของความโหดร้าย
ว่ามีเหตุปัจจัยอะไรบ้างที่ประกอบกันขึ้นมา
แล้วเมื่อท่านได้เข้าถึงที่มาความเป็นไปของมันแล้ว
ท่านย่อมมีทางเลือกในการคลี่คลายความโหดร้าย
รวมทั้งการอยู่กับความโหดร้ายโดยไม่ตกเป็นทาสของมัน
‘การสร้างความชอบธรรมให้กับความโหดร้าย’
คือ การให้ความยุติธรรมต่อความโหดร้าย
ที่ดำรงอยู่และดำเนินไปในจิตใจของท่าน
การมอบอำนาจแห่งความยุติธรรมเช่นนี้
เป็นเหมือนการรับรองความถูกต้องให้แก่ความโหดร้าย
ซึ่งจะกลายเป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่ง
สำหรับการทวงคืนความยุติธรรมของท่าน
โดยราคาที่ต้องจ่ายก็คือ
มันอาจทำให้ท่านถูกครอบงำด้วยความเดือดดาล
ความรุนแรง ความแค้น ความโหดเหี้ยม
และพลังทำลายล้างอีกมากมาย
มันสามารถส่งเสริมให้ท่านยิ่งรู้สึกสะใจ
เมื่อท่านเป็นฝ่ายทำลายล้างศัตรู
หรือ เมื่อได้เห็นศัตรูของท่านล่มสลาย
‘การถูกครอบงำด้วยความโหดร้าย’
คือ การเปิดพื้นที่ในจิตใจ
เพื่อบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความโหดร้าย
ความงอกงามของมันจะทำให้ท่านเปลี่ยนไป
เช่น มีความคิดที่แบ่งแยก, มีความรู้สึกที่แข็งกระด้าง,
มีการตัดสินใจที่รุนแรง, มีการสื่อสารที่ฟาดฟันทำลาย
และมีการกระทำที่ไร้ความปรานีต่อศัตรู
สิ่งที่พึงใคร่ครวญ
จึงเป็นเรื่องของท่าทีซึ่งมีต่อความโหดร้าย
เนื่องจากคนเรามีกล่องอุปกรณ์อยู่กล่องหนึ่ง
โดยมักถูกเรียกว่า ‘กลไกป้องกันตัวเอง’
บางครั้งท่านอาจใช้มันเพื่อหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง
รวมทั้งสร้างความชอบธรรมให้แก่ตัวเอง
เพื่อปลดปล่อยความโหดร้ายที่ท่านเก็บสะสมไว้
ไปยังผู้ที่ท่านเห็นว่าคู่ควรแล้ว
กับการเป็นภาชนะรองรับความโหดร้ายของท่าน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา