21 ก.ค. 2023 เวลา 14:05 • กีฬา

Rope A Dope ท่าไม้ตายที่เกิดจากการด้นสดบนสังเวียนของ Muhammad Ali

หลายคนทราบดีว่าสิ่งที่ทำให้ Muhammad Ali เอาชนะ George Foreman ได้ใน ศึก The Rumble In The Jungle ตอนปี 1974 ไม่ใช่หมัดชุดอันหนักหน่วง ที่เป็นเอกลักษณ์ของเขา แต่กลับเป็นเทคนิคที่เขาด้นสดบนเวทีแบบที่แม้แต่พี่เลี้ยงเองยังไม่รู้มาก่อน
นั่นคือการทำ Rope A Dope
อาลี ให้สัมภาษณ์หลังจากเอาชนะศึกสำคัญนี้ว่า ทีแรกเขาเองกะว่าจะใช้เทคนิคฟุตเวิร์ค (dance) ไปเรื่อยๆเพื่อรอให้ ฟอร์แมนหมดแรงก่อน ซึ่งเป็นเทคนิคที่อาลีใช้ได้ผลมาตลอด แต่เมื่อขึ้นไปเจอกับจอร์จ โฟร์แมนบนเวทีจริงๆ เขากลับพบว่า ไม่สามารถหลอกล่อโฟร์แมนด้วยฟุตเวิร์คได้เลย อาลีบอกว่า นักมวยทุกคนต่างมีสัญชาตญาณตอนอยู่บนเวทีว่า พวกเขาจะต้องทำอะไร ซึ่งมันต่างกับการคิดแผนการณ์ต่างๆตอนอยู่ล่างเวทีอย่างสิ้นเชิง
ศึกนี้อาลีถูกมองว่าเป็นรอง เนื่องจากขณะนั้นจอร์จ โฟร์แมนมีครองสถิติไร้พ่าย 40-0 ไฟต์ แถมยังเป็นชนะน็อคถึง 37 ไฟต์ แม้อาลีจะมีสถิติที่ใกล้เคียงกันก่อนชกคือ 44-2 แต่เทียบกันแล้วไฟต์นี้เขาคือมวยรอง
เมื่อผ่านยก 1-2 อาลีรู้ว่าฟุตเวิร์คไม่ได้ผล และโฟร์แมนดุดันเกินไป เขาจึงด้นสดวิธีการที่ดูประหลาดในตอนนั้นขึ้นมา แบบที่พี่เลี้ยงอย่าง Angelo Dundee ถึงกับต้องคอยส่งเสียงเตือนจากมุมว่า “นายกำลังทำอะไรอยู่วะ”
อาลีใช้เทคนิค Rope-A-Dope หรือ “พิงเชือก” ตลอดในยกที่เหลือ โดยเขาจะทำทีถูกต้อนกลับไปที่มุม แล้วพิงเชือกเหมือนถูกต้อนจนมุม แต่ใช้เชือกโน้มตัวหลบหมัดของโฟร์แมนตลอดเวลา เมื่อเขาทำเช่นนี้ติดๆกันหลายครั้ง ดันดีเองก็รู้สึกว่ามันแปลกๆ เขาตะโกนบอกให้อาลี ออกจากเชือกซะ เพราะมันทำให้เขาอยากจะบ้าตาย แต่อาลีบอกกลับไปว่า เขารู้ดีว่ากำลังทำอะไร
โฟร์แมนยังไล่ต้อนอาลีไม่หยุด เขาออกหมัดต่อเนื่อง แต่อาลีก็ใช้วิธี rope-a-dope ทุกครั้งที่มีโอกาส และก็หลบหมัดได้เกือบทั้งหมด บนเวทีดูเหมือนอาลีกำลังจนมุม แม้แต่โฟร์แมนเองก็คิดว่า เขาอยู่เหนือกว่า เขาจึงเดินหน้าบุกไม่ยั้ง จนกระทั่งถึงยก 5 เรี่ยวแรงของโฟร์แมนเริ่มตกอย่างเห็นได้ชัด ทั้งการออกหมัดและการเคลื่อนที่เริ่มช้าลง อาลีเองก็รู้ตัวว่าเขาก็ใกล้หมดแรงแล้วเหมือนกัน แต่เขาเริ่มเห็นดอกผลของการทำ rope-a-dope มาตลอดหลายยก
กระทั่งในยก 8 ทุกอย่างเหมือนภาพสโลว์ทั้งสองฝ่ายต่างใกล้หมดแรงอย่างชัดเจน หลังจากหลุดออกจากมุมได้ อาลีเห็นโอกาสที่โฟร์แมนอ่อนล้า เคาร์เตอร์กลับด้วยหมัดชุด แล้วก็ ตูม ที่เหลือคือประวัติศาสตร์
เทคนิคนี้ถูกพูดถึงอย่างมากในยุคนั้นเพราะเป็นครั้งแรกที่คนดูได้เห็นมันถูกนำมาใช้ในไฟต์ใหญ่ขนาดนี้ แล้วสามารถเอาชนะมวยที่เหนือกว่าได้สำเร็จ อาลีเองบอกว่ามันคือสิ่งที่นักมวยต้องรับมือคู่ต่อสู้ ณ เวลานั้น เขาเลือกวิธีที่คิดว่าน่าจะได้ผลดี และโชคดีที่มันได้ผล
โฟร์แมนเองหลังจากแพ้ในไฟต์นี้เขาก็โกรธแค้นอาลีอยู่หลายปี เพราะเขารู้สึกว่าไม่ได้ทำอะไรผิดพลาดเลยในไฟต์นั้น และเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบมาตลอด แต่เขาก็แพ้แบบที่ไม่สมควรจะแพ้ แถมยังไม่เคยมีการรีแมชอีกเลย ซึ่งเขารู้สึกว่าเขาสมควรได้แก้มือ หลายปีต่อมาทั้งคู่กลายเป็นเพื่อนกัน และพวกเขาต่างยกย่องกันและกันเสมอมา
ชัยชนะของอาลีในครั้งนั้น นอกจากจะกลายเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญในวงการกีฬา ยังถูกนำมาใช้พูดถึงอย่างแพร่หลายในหลายหลายวงการ โดยเฉพาะในวงการธุรกิจ ใจความสำคัญคือ
ชัยชนะอาจไม่ได้มาจากการโจมตีเสมอไป
บางครั้งมันเกิดจากวิธีตั้งรับ
แต่ข้อคิดเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งใหม่อะไร เพราะซุนวูเคยพูดไว้หลายร้อยปีมาแล้ว
“A supreme art of war
is subdue the enemy without fighting”
รู้เขารู้เรา รบร้อย ชนะร้อย
แต่ชัยชนะที่ดีที่สุด คือการชนะโดยไม่ต้องรบ
สิ่งที่อาลีมีมากกว่าทักษะ สไตล์การชก พละกำลัง ใจสู้ และการฝึกซ้อมที่แสนสาหัส คือเขามีสัญชาตญาณของนักสู้ที่ไม่ได้หมายถึงการเป็นนักรบเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเป้าหมายที่ชัดเจนคือ ความสำเร็จ ที่ไม่ได้หมายถึงแค่ชัยชนะ โชคช่วย หรือ พรสวรรค์ แต่มันคือทุกๆอย่างรวมกัน
ในประวัติศาสตร์มีนักมวยคนอื่นๆที่สถิติดีกว่านี้ เก่งกว่านี้ และได้แชมป์มากกว่านี้ แต่ Muhammad Ali ยังคงเป็นหนึ่งในตำนานนักสู้ที่หลายคนยกย่องจนถึงปัจจุบัน เพราะไม่ใช่แค่ผลงานบนสังเวียนของเขาเท่านั้น แต่เพราะแนวคิด วิถีการต่อสู้ และแบบอย่างของความเพียรพยายาม ที่ทำให้เขาเป็นยอดนักสู้หนึ่งเดียว ไม่เหมือนใคร
ทุกคนต่างมีวิธีต่อสู้ในแบบของตัวเอง
เมื่อถึงเวลา เราจะรู้เองว่าต้องต่อสู้แบบใด
โฆษณา