22 ก.ค. 2023 เวลา 04:00 • ธุรกิจ

4ช่องต้องรู้ EP.31 : สี่ฉากทัศน์ในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

4ช่องต้องรู้ EP.31 ในวันเสาร์นี้ ขอนำเสนอเรื่อง บรรยากาศการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างบุคคล ซึ่งมักเกิดจาก ทัศนคติของเราที่มีต่อคู่สนทนาหรือต่อบุคคลอื่นที่เราปฏิสัมพันธ์ด้วย และการวางจุดยืนระหว่างเรากับเขา ว่าเราวางไว้อย่างไร
EP นี้นำแนวคิดจากงานเขียนของ Thomas A. Harris ในหนังสือของเขาชื่อ I’m OK, You’re OK. ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1967
เขาเสนอแนวคิดเรื่อง Life Positions สี่รูปแบบ ด้วยตารางสี่ช่อง แทนสี่สถานการณ์การปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจถึงลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและแนวทางการปรับทัศนคติเพื่อปรับ สภาพความสัมพันธ์ให้ดีขึ้นได้ เมื่อเราเรียนรู้ที่จะวาง Life Position ที่เหมาะสมได้ มาลองดูกันครับ
🗝️ ตารางสี่ช่องที่ใช้ในกรณีนี้
(1) แกนตั้ง: ทัศนคติของบุคคลมีต่อตนเอง มีสองสถานะคือ ฉันไม่โอเค กับ ฉันโอเค
(2) แกนนอน: ทัศนคติของบุคคลที่มีต่อผู้อื่น มีสองสถานะคือ คุณไม่โอเค กับ คุณโอเค
📌 ความหมายของคำว่า โอเค กับ ไม่โอเค
👍🏼 โอเค หมายถึง ตัวตน สถานภาพ แนวความคิด พฤติกรรม และการดำรงอยู่ (ของตัวฉันหรือของบุคคลอื่น) เป็นที่ยอมรับของฉัน
👎🏼 ไม่โอเค หมายถึง ตัวตน สถานภาพ แนวความคิด พฤติกรรม และการดำรงอยู่ตามที่ปรากฏนี้ (ของตัวฉันเองหรือของบุคคลอื่น) ไม่เป็นที่ยอมรับของฉัน
🔎 สี่สถานะแห่งการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
🔹 [1]: “ตัวฉันไม่โอเค👎🏼 ตัวคุณก็ไม่โอเค👎🏼”
ก่อให้เกิด: บรรยากาศแห่งความสิ้นหวัง [Hopeless: Get-nowhere-with Scenario] เกิดจากการมองตนเองและผู้อื่นในทางลบ ทำให้บรรยากาศในการปฏิสัมพันธ์นั้น ๆ ดูแย่ ไม่สร้างสรรค์ ไม่มีกำลังใจที่จะลงมือทำอะไรดี ๆ ขึ้นมาใหม่ จึงไม่เป็นผลดีกับใครเลย ไม่ว่าในสถานที่ทำงาน ในครอบครัว หรือในสังคมใดก็ตาม
แนวทางแก้ไข: ต้องค้นหาว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และควรมองโลกตามความเป็นจริง ต้องคิดเสมอว่า “ในโลกนี้ไม่มีใครเกิดมาสมบูรณ์แบบ” ฝรั่งมีภาษิตว่า To err is Human. มนุษย์คือ สัตว์ที่เกิดมาพร้อมกับความผิดพลาด ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ
ผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงนั้น มักมุ่งเน้น “ทำงานจากจุดแข็งของทีมงาน” ส่วนผู้บริหารที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จมักจะ “ทำงานบนจุดอ่อนของทีม” เมื่อล้มเหลวเขามักจะมีข้อแก้ตัวมากมายว่า เพราะลูกน้องแต่ละคนทำผิดพลาดอะไรบ้าง เป็นต้น
🔹 [2]: “ตัวฉันโอเค👍🏼 แต่คุณไม่โอเค👎🏼”
ก่อให้เกิด: บรรยากาศแบบหงุดหงิดใจ [Burned Up: Get-rid-of Scenario] ทำให้หัวหน้า มักแสดงอาการไม่พอใจ หรือระบายอารมณ์เสีย ๆ ใส่ลูกทีมอยู่เสมอ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อตนเองและต่อขวัญและกำลังใจของทีมงานเลย
แนวทางแก้ไข: หัวหน้างานในทุกสายงาน ควรได้รับการอบรมด้าน Soft Skills ที่เพียงพอ ก่อนเข้ารับตำแหน่งจะดีมาก โดยเฉพาะในสายงานทางช่าง หรืองานทางเทคนิคเฉพาะทางต่าง ๆ ที่หัวหน้ามักเป็นบุคคลที่เก่งงานทางเทคนิคมาก ๆ เมื่อถูกโปรโมทขึ้นมาโดยขาดการอบรมพัฒนาทักษะด้าน Soft Skills ที่เพียงพอ มักกลายเป็นจุดอ่อนของทีมและขององค์กรในที่สุด ผู้บริหารด้าน HRD จะตระหนักในเรื่องนี้ดี แต่บางทีด้วยข้อจำกัดขององค์กร ก็ไม่อาจแก้ไขอะไรได้มากนักในเรื่องนี้
🔹 [3]: “ตัวฉันไม่โอเค👎🏼 แต่คุณโอเค👍🏼”
ก่อให้เกิด: บรรยากาศแบบอึดอัดใจ ทำอะไรไม่ค่อยถูก สูญเสียความมั่นใจในตนเอง [Helpless: Get-away-from Scenario] ใครตกอยู่ในอารมณ์แบบนี้ทั้งวัน ตื่นเช้าขึ้นมา ก็ไม่อยากไปทำงาน พอเย็นก็อยากรีบออกจากที่ทำงาน เพราะอยู่แล้วเครียดและเก็บกด
แนวทางแก้ไข: ควรประยุกต์ใช้แนวทางการพัฒนาทัศนคติตามที่เสนอไว้ในมุมมองแบบที่ [1] ข้างต้นนี้ครับ
🔹 [4]: “ตัวฉันโอเค👍🏼 และคุณก็โอเค👍🏼”
ก่อให้เกิด: บรรยากาศแบบสบายใจ [Happy: Get-on-with Scenario] ทำงานกันอย่างปลอดโปร่งโล่งใจ เมื่อทำงานกันอย่างมีความสุข ผลงานจะออกมาดีด้วยและเพลินกับงาน ไม่รู้สึกเหนื่อย
ข้อแนะนำ: การที่เราจะสร้างทีมงานที่เข้มแข็งได้นั้น การวาง Life Position ของผู้นำนั้นสำคัญมาก เมื่อวางได้ถูกต้องแล้ว ก็ต้องถ่ายทอดและสร้างสรรค์บรรยากาศให้ลูกทีม ให้มีทักษะด้านการบริหารทัศนคติของตนเองที่ถูกต้องด้วย ก็จะได้ทีมงานที่ดี มีความสุขในการทำงาน ผลงานของทีมย่อมจะออกมาดีด้วย หัวหน้างานยุคนี้ ต้องเก่งงานและเก่งด้านคนด้วย (ด้านคนก็ต้องบริหารทั้งตนเองกับลูกทีมด้วย)
🔎 ข้อชวนคิด
บทเรียนจากเกมวอลเล่ย์บอล เรามักพบว่า โค้ชมืออาชีพของทีมวอลเล่ย์บอล เขาจะพยายามสร้างกำลังใจให้ทีม และเมื่อทีมเพลี้ยงพล้ำ ตีเสียหลายลูกติด ๆ กัน โค้ชจะไม่เบรคเกมมาเพื่อตำหนิลูกทีมที่ตีพลาดในแต้มเมื่อกี้ แต่จะเบรคเกมมาเพื่อทำลายโมเม้นตั้มของทีมคู่แข่งและใช้เวลาสั้น ๆ ปลอบใจลูกทีม พร้อมแนะนำวิธีการแก้เกมให้ ทั้ง ๆ ที่ลูกทีมบางคนอาจเล่นได้แย่ในวันนั้น แต่เขาจะไม่ตำหนิติเตียนเลย
แม้ในลูกที่กำลัง duce เพื่อปิดเกม ก็ยังพลาดเสิร์ฟออกก็ตาม และโค้ชจะ “ไม่แสดงความหงุดหงิดใจ” หรือถอดใจ ขว้างปาสิ่งของ หรือเตะอะไรให้กระจาย หรือระเบิดอารมณ์ให้ลูกทีมเห็นเด็ดขาด
แต่จะใช้วิธีการเปลี่ยนตัวผู้เล่นที่เหมาะสมลงไปแทน เมื่อจบเกม กลับเข้าค่าย ค่อยไปปรับการซ้อมและแก้ไขจุดอ่อนของลูกทีมอย่างจริงจังทีหลัง โดยไม่พยายามรื้อฟื้นถึงข้อผิดพลาดของลูกทีมแต่ละคน ว่าใครเป็นคนทำให้ทีมเราแพ้ในวันนั้น เพื่อนำมาตำหนิซ้ำหรือลงโทษเป็นรายบุคคลเลย
ในสถานที่ทำงานนั้น บ่อยครั้งที่ หัวหน้าหรือพนักงานอาวุโส มักจะแซวลูกทีม ในจุดผิดพลาดที่เคยทำโดยไม่ลืมเลย อาจเป็นเพราะว่า ตัวเขาเองได้วาง Life Position เอาไว้ที่ช่องที่สอง คือ ตัวฉันโอเคแต่ตัวคุณไม่โอเค ก็ได้ ที่ร้ายกว่านั้นก็คือ อาจไม่เคยมาอัปเดตเลยว่า ปัจจุบันลูกน้องคนนั้นเขาได้พัฒนาฝีมือไปถึงไหนแล้ว ตัวเองกลับเป็นเหยื่อของ Life Position ผิด ๆ ตั้งแต่ต้นโดยไม่ปรับแก้ไขเลย จึงติดกับดักชุดความคิดเดิม ๆ ของตนเองอยู่เพียงคนเดียวก็ได้
พบกันใหม่วันเสาร์หน้าครับ
โฆษณา