23 ก.ค. 2023 เวลา 05:48 • สุขภาพ

อาหารในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ยังไม่ได้ฟอกไต

การเลือกรับประทานอาหารมีความสำคัญอย่างมากในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง เพราะจะช่วยลดการเสื่อมของไตลดได้อย่างมากและยังลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆได้
- น้ำ เนื่องจากผู้ป่วยไตวายจะกำจัดน้ำออกทางปัสสาวะได้ลดลงจึงไม่ควรรับประทานน้ำมากเกินไปซึ่งจะทำให้บวม และน้ำท่วมปอดได้
o ถ้าไม่มีอาการบวมหรือน้ำเกิน ควรกินน้ำ 30 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน เช่นน้ำหนัก 50 กิโลกรัมก็รับประทานน้ำวันละ 1500 มิลลิลิตร
o ถ้าบวมหรือปัสสาวะน้อยให้รับประทานน้ำ 500 มิลลิลิตร บวกกับปริมาณปัสสาวะ และหากปัสสาวะ < 500 มิลลิลิตรต่อวัน ต้องจำกัดน้ำทั้งในอาหารและเครื่องดื่ม 750-1000 มิลลิลิตรต่อวัน
- อาหาร สำคัญสุดรือพลังงานต้องเพียงพอ คือ 30-35 กิโลแคลอรีต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน เช่น น้ำหนักตัว 60 กิโลกรัมควรจะได้พลังงาน 30-35 x 60 = 1,800-2,100 กิโลแคลอรีต่อวัน
- ความเค็มหรือโซเดียม (sodium): แนะนำให้รับประทานโซเดียมไม่เกิน 2 กรัมต่อวัน แนวทางปฏิบัติโดยสรุปคือ ลดเครื่องปรุงที่มีรสเค็มให้น้อยที่สุด เช่นเกลือ รับประทานไม่เกินวันละ 1 ช้อนชาต่อวัน น้ำปลาไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อมื้อ เลี่ยงอาหารอื่นๆที่มีโซเดียมสูงเช่น น้ำแกง ซุป อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารแปรรูป
- ฟอสเฟต (phosphate) การรับประทานอาหารที่มีฟอสเฟตสูงทำให้ไตเสื่อมได้เร็วขึ้น มีอาการคัน เส้นเลือดแข็งตัวและยังส่งผลให้เกิดภาวะพาราไทรอยด์ (parathyroid) ซึ่งเป็นต่อมไร้ท่อชนิดหนึ่งที่คอ ทำงานมากผิดปกติได้ ซึ่งพาราไทรอยด์ที่สูงจะส่งผลให้เกิดกระดูกพรุนตามมาได้ แนะนำให้เริ่มจำกัดอาหารที่มีฟอสเฟตตั้งแต่เป็นไตวายเรื้อรังระยะที่ 3
อาหารที่มีฟอสเฟตสูงมีดังนี้
o เครื่องดื่มสำเร็จรูปเช่น น้ำอัดม กาแฟสำเร็จรูป 3-in-1 โกโก้ (กาแฟ ชา ที่ไม่ปรุงแต่งสามารถรับประทานได้)
o อาหารที่ใช้ผงฟูและยีสต์เช่นเบเกอรรี่ : ขนมปัง เค้ก คุกกี้ ซาลาเปา
o นมและผลิตภัณฑ์จากนมเช่น ชีส โยเกิร์ต ไอศกรีม
o อาหารแปรรูปเช่น เบคอน ไส้กรอก แฮม ลูกชิ้น
o อาหารแช่แข็ง
o ถั่วทุกชนิด
o เนื้อสัตว์ทุกชนิด ไข่แดงและผลิตภัณฑ์จากไข่แดงเช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง บะหมี่เหลือง
- โปรตีน : ถ้ารับประทานอาหารที่โปรตีนเยอะ ไตจะทำงานหนักมากขึ้น ทำให้ไตเสื่อมเร็ว จึงแนะนำให้จำกัดโปรตีนตั้งแต่ไตวายเรื้อรังระยะที่ 3 โดยแนะนำให้รับประทานโปรตีน 0.6- 0.8 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน เช่นน้ำหนักตัว 60 กิโลกรัมก็ควรรับประทานโปรตีนน้อยกว่าวันละ 0.6-0.8 x 60 = 36-48 กรัม อย่างไรก็ตามยิ่งลดปริมาณโปรตีนลงได้ถึง 0.3 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวันจะสามารถชะลอไม่ให้ไตเสื่อมได้มากขึ้น ซึ่งอาจจะพูดถึงในครั้งถัดๆไป
- โพแทสเซียม (potassium) ในผู้ป่วยไตวายที่มีค่าโพแทสเซียมสูง ควรลดอาหารที่มีโพแทสเซียมสูงดังนี้
o ผักผลไม้ที่สีเข้มจัด เช่น ผักชี ผักโขม ชะอม ใบขี้เหล็ก ใบชะพลู กะหล่ำดอก คะน้า คื่นช่าย บร็อคโคลี่ ผักกะเฉด ผักกาดหอม ผักกวางตุ้ง
o พืชหัว เช่น เผือก แครอท ฟักทอง มันฝรั่ง แห้ว
o ผลไม้ที่มีเนื้อฉ่ำ สุก งอมเช่น กล้วย ส้ม ขนุน ลำไย ทุเรียน มะละกอ ฝรั่ง ผลไม้แห้งทุกชนิดเช่น กล้วยตาก ลูกเกด
o น้ำผลไม้ เช่น น้ำส้ม น้ำแครอท น้ำมะพร้าว
- ที่กินได้
o ผัก : เห็ดนางฟ้า เห็ดหูหนู แตงกวา ฟักเขียว ผักกาดขาว ต้นหอม ถั่วงอก กะหล่ำปลี บวบ
o ผลไม้ : สัปปะรด แอปเปิล แตงโม องุ่น สาลี่ ชมพู่ มะม่วงดิบ
โฆษณา