23 ก.ค. 2023 เวลา 15:13 • ธุรกิจ

ต่อยอดธุรกิจ ‘ขนมปังทองคำ’ นำความรู้ ปั้นแบรนด์ ‘เครื่องจักรเบเกอรี่’

หากคุณเคยเข้าร้านสะดวกซื้อเพื่อมองหาขนมสำหรับรับประทานแก้หิว หนึ่งในตัวเลือกที่ช่วยให้อิ่มคุ้มเต็มคำ อย่างขนมปังของ ‘โกลด์เบรด’ ที่แปลว่าขนมปังทองคำ น่าจะเป็นคำตอบที่มาพร้อมความอิ่ม และอร่อย อย่างแน่นอน
วันนี้ Bangkok Bank SME มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณสุทัศน์ นันชัย เจ้าของแบรนด์ ผู้ก่อตั้ง และกรรมการผู้จัดการ บริษัทเอ็น.ซี.เอส.โกลด์เบรด จำกัด ที่จะมาเล่าเรื่องราว ที่มาที่ไป รวมถึงธุรกิจใหม่กับการต่อยอดสู่ผู้ผลิตเครื่องจักรทำขนม จากการสั่งสมประสบการณ์ผสานองค์ความรู้จากการทำขนมเบเกอรี่ขายสู่การปั้นแบรนด์เครื่องจักรเบเกอรี่ที่ SME ให้การยอมรับได้อย่างไร ติดตามได้ในบทความนี้
📌คลิกอ่านบทความย้อนหลังได้ที่ : GoldBread จากเถ้าแก่สู่การเป็นผู้ประกอบการ
คุณสุทัศน์ กล่าวว่า เราเริ่มต้นจากการทำธุรกิจเบเกอรี่ ผลิตและขายขนมปังอยู่ที่จังหวัดระยอง เมื่อทำมาสักระยะ มีความคิดว่าอยากจะเติบโต จึงเพิ่มกำลังการผลิตขนมปังด้วยการสั่งซื้อเครื่องจักรจากกรุงเทพฯ เพื่อทุ่นแรงงานคน และช่วยเรื่องการลำเลียงสินค้าในขั้นตอนการจัดส่ง แต่ประสบปัญหาคือช่วงแรก ๆ ยังไม่เข้าใจถึงวิธีการใช้งาน
เมื่อต้องการคำตอบเรื่องการแก้ไข หรือแจ้งเปลี่ยนอะไหล่ ต้องใช้เวลามากเนื่องจากร้านอยู่ที่กรุงเทพฯ และหากต้องให้ช่างมาซ่อมที่โรงงาน ต้องเสียค่าใช้จ่ายจากการขนอุปกรณ์เพิ่มเติม จึงเกิดความคิดว่า ถ้าสามารถทำเครื่องจักรเองได้ น่าจะช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายลง
จากนั้นจึงเริ่มศึกษาและทดลอง ดูระบบกลไกของเครื่องจักร จนทำให้สายพานใช้งานได้ตรงตามความต้องการ สามารถลำเลียงสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถขยายกำลังการผลิตได้ ทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นตามลำดับ
📌ใช้บริษัทของตัวเองเป็น สนามทดลอง แก้ Pain Point เพื่อพัฒนาคุณภาพสินค้า
คุณสุทัศน์ อธิบายเพิ่มเติมถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขว่า เดิมบริษัทเราใช้วิธีนำหม้อต้มน้ำเดือดเพื่อสร้างไอน้ำเข้าไป ไอน้ำจะลอยขึ้นด้านบน ทำให้ความร้อนไม่สม่ำเสมอ รวมทั้งไม่มีตัวควบคุมอุณหภูมิและความชื้น ผลคือขนมปังออกมาไม่สมบูรณ์
แต่จากที่คลุกคลีในการทำขนมปังมานาน ทำให้รู้ว่าหนึ่งในเคล็ดลับการทำขนมปังให้อร่อย คือขั้นตอนการอบที่ต้องใช้ไอน้ำอย่างพอดี เพื่อทำให้ขนมปังขึ้นฟู ผิวนุ่ม จึงเกิดไอเดียว่าน่าจะลองทำเครื่องทำความชื้นสำหรับหมักขนมปังขึ้นมาใช้เอง สิ่งนี้เองที่จุดประกายให้ต่อยอดสู่ธุรกิจผลิตเครื่องจักรผลิตเบเกอรี่นั่นเอง
“เราใช้โรงงานของเราออกแบบโดยคิดดีไซน์เครื่องร่วมกับช่างไฟฟ้าและช่างสแตนเลสในโรงงาน ลองเพิ่มพัดลมภายในเครื่องที่เปิด-ปิดให้ควบคุมความเร็วได้ เมื่อลองเทสต์พบว่าขนมปังที่ได้ออกมาน่าพอใจ
แต่มีอีกหนึ่งปัญหา คือขนาดห้องที่ใช้ผลิตต่างกัน จึงลองคำนวณพื้นที่การใช้งานให้ตอบโจทย์กับตู้อบที่คิดและพัฒนาขึ้นมา เช่น ทำเครื่องทำความชื้นสำหรับหมักขนมปัง 1 เครื่อง คำนวณว่าขนาดห้องที่เหมาะสม สามารถใช้ได้ในพื้นที่สำหรับ 12 ตรม. หากพื้นที่มากกว่านั้นจะเพิ่มจำนวนเครื่อง ตามขนาดของพื้นที่ เมื่อได้ผลลัพธ์ลงตัว จึงสามารถผลิตสินค้าให้ได้ขนาดและคุณภาพไม่แตกต่างกัน”
จุดเริ่มต้นของการพัฒนาสู่ธุรกิจใหม่ที่เป็นเครื่องจักรอุตสาหกรรม คือเมื่อก่อนเครื่องจักรที่ผลิตจากต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นระบบ Full Option ไม่สามารถเพิ่มฟังก์ชั่นอื่นเข้าไป เมื่อนำมาใช้ในบ้านเราจึงมักมีปัญหา เพราะ SME ส่วนใหญ่คุ้นชินกับระบบแมนนวล ทําให้บางครั้งยากต่อการปรับให้เหมาะกับการใชังาน
ปัจจุบัน เรามีการพัฒนาอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับไลน์ผลิตขนมปัง ทั้งตู้อบ เครื่องลำเลียงสายพาน เครื่องมิกซ์ผสมแป้ง ตัวรีดแป้ง อุปกรณ์ขึ้นรูป อุปกรณ์ห่อไส้ขนมปัง ซึ่งสามารถคํานวณให้ได้ว่าต้องใช้แป้ง และไส้ สัดส่วนเท่าไหร่จึงจะพอดีกับการรับประทาน
ซึ่งตัวอย่างสินค้าที่เราทดลองจนประสบความสำเร็จ ผู้บริโภคหลายคนรู้จักดีอย่างขนมปังไส้หมูหยองน้ำสลัดของโกล์ดเบรด ซึ่งเมื่อสินค้าของ SME ที่ซื้อเครื่องจากเราต้องการแบบไหน เราก็จะตอบโจทย์ได้ตามที่ต้องการ มีคำแนะนำและแก้ปัญหาให้ได้ตลอดเวลา
ต่างจากเครื่องที่ต้องนำเข้ามา นอกจากนี้ การคำนวณสัดส่วนอย่างลงตัวและพอดี จะช่วยให้ SME สามารถบริหารต้นทุนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับการเรียนรู้และพัฒนาจนสามารถออกแบบเครื่องจักรสำหรับทำขนมปังในขั้นตอนต่าง ๆ คุณสุทัศน์ เผยว่า เริ่มแรกเราจ้างทีมข้างนอกเขียนซอฟท์แวร์ให้ โดยเรามีฝ่ายไอทีเข้าไปศึกษาเรื่องโปรแกรม ฟังก์ชั่นต่างๆ
จากนั้นเราจึงพัฒนาให้เหมาะกับการใช้งานในโรงงานของเราเองก่อน และปรับให้เข้ากับการใช้งานทุกประเภท เมื่อเรามีนวัตกรรมเป็นของตัวเองซึ่งถือเป็นจุดแข็ง ทำให้เราสามารถต่อยอดสู่การผลิตเครื่องจักรที่เป็นจุดขายให้แบรนด์ของเราได้ ความภูมิใจมากกว่านั้น คือการได้รับรางวัลจากหลายหน่วยงานที่เป็นการการันตีคุณภาพด้วย
📌ความรู้ด้านเทคโนโลยี สู่การเติบโตในอุตสาหกรรมโรงงาน
เส้นทางการเติบโตในอุตสาหกรรมการเป็นผู้ผลิตเครื่องจักรในโรงงาน เริ่มจากระบบแมนนวล คือเราจะเป็นผู้ดูแลการผลิต ให้ลูกค้า ก้าวต่อไปเมื่อเริ่มขยายใหญ่ขึ้น อาจจะขยับเป็น Full Option ช่วงแรกเราทำได้แค่การทำซอฟท์แวร์ให้ลูกค้า เริ่มต้นจากการมีเพียงโรงรถเล็ก ๆ
“เราเริ่มต้นที่การทำเพื่อใช้ในโรงงานเราเองเพื่อเป็นต้นแบบให้เข้าใจในขั้นตอนต่าง ๆ ว่า เมื่อทำแล้วพบปัญหา หรือต้องปรับปรุงเรื่องใดบ้าง เพราะเราไม่ได้เขียนแบบแล้วขายโดยที่เรียนรู้ปัญหา ตอนนี้เราอยู่ในขั้นเซมิคอนดักเตอร์ ระยะต่อไปเราจะเป็น ซิสเต็ม อินทิเกรเตอร์ (SI) ที่สร้างโซลูชันส์ให้ตรงความต้องการของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบติดตั้งฮาร์ดแวร์และซอฟแวร์ บริการด้านระบบเครือข่าย บริการซ่อมบำรุง เต็มรูปแบบ”
คุณสุทัศน์ ขยายความว่า แม้จะมีความรู้เรื่องไอที และมีความเข้าใจในธุรกิจ สิ่งสำคัญ คือต้องทราบความต้องการด้วย นั่นคือ ต่อให้คุณไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น แต่มีความต้องการ จะทำให้เกิดความพยายาม และหาวิธีการเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายให้ได้
“วันนี้ผมรู้เรื่องขนมปัง แต่อยากรู้เรื่องเครื่องจักรเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตขนมปังเพิ่มด้วย วิธีคือ ต้องทดลองทำ หา Process ให้เกิด Product…เริ่มจากซื้อเหล็ก หาอุปกรณ์มาขึ้นรูปตามจินตนาการของเราก่อน ลองผิดลองถูก จนพบสิ่งที่ใช่และตรงกับความต้องการของเรา เมื่อทำได้ ต่อไปจะเป็นส่วนที่หาวิธีมาตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า เพื่อให้การทำธุรกิจเกิดความยั่งยืน”
📌การปรับตัวของผู้ผลิตเครื่องจักรน้องใหม่ สู่การคว้าใจลูกค้า
ต้องเข้าใจว่า เครื่องจักรที่เราผลิตให้ลูกค้าแต่ละราย มีความแตกต่างกัน การทำงานที่ผ่านมา โจทย์ใหญ่ของเราคือทำตามลูกค้าทั้งหมด โดยการปรับเครื่องเราให้เข้ากับการผลิตสินค้าของเขา ความได้เปรียบคือเครื่องของเรามีความยืดหยุ่น แก้ไขปัญหาที่เกิดจากกระบวนการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้ในทุก Process
แต่หากเป็นเครื่องจักรที่สั่งจากต่างประเทศเข้ามา บางฟังก์ชั่นอาจจะไม่รองรับความต้องการได้ทั้งหมดและแก้ไขลำบาก ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เรามีประสบการณ์เยอะมาก เกิด Know How ของตัวเองขึ้นมา โดยการปรับให้เครื่องจักรของเราเหมาะสมกับการใช้งานสำหรับการผลิตในเมืองไทย
สำหรับการทำตลาดของแบรนด์เครื่องจักร บริษัทเอ็น.ซี.เอส.โกลด์เบรด จำกัด จะได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ประกอบการ SME ที่ใช้เครื่องจักรขนาดเล็ก เพราะข้อดีของเรา คือ ยืดหยุ่นสูง มีความหลากหลายสำหรับการใช้งาน
ทั้งเรื่องการปรับไลน์ผลิต เช่นความเหลวของแป้ง เท็กซ์เจอร์ เนื้อสัมผัส อีกทั้งเทรนด์อาหาร กระแสการรับประทานของผู้บริโภคจะเปลี่ยนตลอดแต่เครื่องจักรเรา ตอบโจทย์และเปลี่ยนแปลงได้ตามความต้องการ นอกจากนี้ราคาขายเราย่อมเยากว่าของญี่ปุ่นอีกด้วย
นอกจากตลาดในไทย ตอนนี้เราส่งออกกว่า 9 ประเทศ และปัจจุบันมีตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศ อาทิ ไต้หวัน และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราภูมิใจที่เครื่องจักรของเราไปเปิดตลาดและเป็นที่ยอมรับในไต้หวันได้ ส่วนสิงคโปร์เขาใช้เครื่องจักรมาเยอะ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ จีน อเมริกา ญี่ปุ่น ไต้หวัน
แต่สิ่งที่แตกต่างคือของเราความหลากหลายในเท็กซ์เจอร์ เนื้อสัมผัส ที่ลูกค้าต้องการ และความยืดหยุ่น รวมไปถึงวัสดุอุปกรณ์ที่มีคุณภาพสูง แม้ว่าจะใช้ระยะเวลาสร้างแบรนด์มากกว่าเจ้าอื่น แต่เมื่อวันใดที่ลูกค้ายอมรับแล้ว การสั่งซื้อเครื่องที่ 2 และ 3 ก็ตามมาไม่ยาก
เราจะบอกทีมงานว่าการที่ลูกค้าสั่งเครื่องจักรเครื่องแรก ยังไม่ถือว่าสำเร็จ ถ้ามีการสั่งซื้อในครั้งต่อไป ถึงจะเรียกว่าเราประสบความสำเร็จจริง ๆ อีกทั้งการให้บริการหลังการขายเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ส่วนใหญ่ในตลาดจะรับประกันไม่เกิน 1 ปี แต่เครื่องจักรของเรา การันตีเครื่องให้ 2 ปี
📌เป้าหมายเดินหน้าสู่ Full Automation พร้อมขยายฐานลูกค้าแบบ Full Target
คุณสุทัศน์ ให้มุมมองทางธุรกิจว่า การที่ผู้ประกอบการจะเป็น ระบบออโตเมชั่น ได้ ต้องมาจากระบบแมนนวลที่มีคุณภาพดี ซึ่งระบบเหล่านี้ต้องใช้งานได้ดีก่อน จะส่งผลให้ระบบเชื่อมต่อไม่เกิดปัญหาและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และต่อยอดสู่ระบบกึ่งอัตโนมัติ (Semi Auto) เมื่อธุรกิจขยายใหญ่ ต้องใช้กำลังการผลิตมากขึ้น ก็สามารถทำเป็นระบบออโตเมชั่นเต็มรูปแบบ (Full Automation) ได้
ที่ผ่านมาระบบออโตเมชั่นเรานำเข้าจากต่างประเทศ โดย เอ็น.ซี.เอส.โกลด์เบรด วางแผนและมีเป้าหมายที่จะขยับไปสู่ Full Automation แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ในการทำงานที่ไม่เพียงพอ
จนกระทั้ง ธนาคารกรุงเทพ เข้ามาสนับสนุนสินเชื่อในการสร้างโรงงาน ทำให้เพิ่มโอกาสในการขยับขยาย พัฒนาเครื่องจักรให้กลายเป็นระบบ Full Automation มากขึ้น
นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีแผนที่จะผลิตแมสโปรดักส์ เป็นเครื่องจักรเบเกอรี่ขนาดเล็กสำหรับคนทั่วไปใช้ในครัวเรือน เหมือนพัดลม หรือเครื่องตีขนมที่ทุกบ้านต้องมี ความคาดหวังของเราคือ ต่อไป ทุกโรงงานเบเกอรี่
ตั้งแต่ SME ขนาดเล็กแบบขายหน้าร้าน จนถึงโรงงานอุตสาหกรรมผลิตขนมขนาดใหญ่ ต้องมีเครื่องจักรของเราอย่างน้อย 1 ตัว ขณะที่เครื่องจักรเล็ก ๆ ที่เราประสบความสำเร็จแล้ว เราจะนำมาผลิตเป็นอุปกรณ์แบบ Home Cook ใช้ประโยชน์ในจุดแข็งที่เรามี ให้ครอบคลุมไปถึงลูกค้าครัวเรือนด้วย
ติดตามข้อมูล บริษัทเอ็น.ซี.เอส.โกลด์เบรด จำกัด เพิ่มเติมได้ที่
โฆษณา