24 ก.ค. 2023 เวลา 06:40

มารยาททางสังคม กาลเทศะ ตรรกะ สามัญสำนึก ที่หลายๆ ครั้งเป็นเรื่องไม่สามัญ...

สิ่งที่เราเชื่อว่าคนอื่นควรจะรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ควรทำ อะไรคือสิ่งที่ไม่ควรทำ...กับ สิ่งที่ควรช่วยกันเตือน ช่วยกันสะกิดด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ด้วยความปรารถนาดี
การให้โอกาส การให้อภัยด้วยความเชื่อว่าคนเราผิดพลาดได้ เมื่อไม่รู้ ก็ไม่ผิด เพราะไม่ได้เจตนา เป็นเรื่องที่ผู้นำควรจะมีมุมมองนี้ ผู้นำควรจะเข้าใจ และให้โอกาส (ในการแก้ไข ปรับตัว)
แต่ในหลายโอกาสอาจมีอาการเข็มขัดสั้น เมื่อเจอเรื่องไม่คาดคิด คิดไม่ถึง ก็อาจเคยรู้สึกงงว่า เรื่องแบบนี้ไม่รู้หรือว่าอะไรควร อะไรไม่ควร อารมณ์แบบ “อิหยังว๊ะ” แบบ ”เกินปุยมุ้ยยย”....กับคนไม่รู้ และบางครั้งก็ดูเหมือนว่าไม่พยายามที่จะรู้...
ระหว่างที่กำลังเขียนเรื่องนี้ ทำให้นึกถึงข่าวชิ้นหนึ่งเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องของ การสื่อสาร มารยาททางสังคม...
จำได้ว่าเป็นข่าวที่มีเนื้อหาดี ที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนที่อยู่ร่วมกันในสังคม ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ ผู้นำ รวมถึงเด็กและเยาวชน ครับ ตั้งใจนำมาฝากให้ลองพิจารณากันดูนะครับ...โดยหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวเรื่องนี้ อาจจะพาดหัวข่าวแบบมีสีสันสักหน่อยนะครับ “โดนเต็มๆ! 'อาจารย์จุฬา' เหลืออด อบรม 'นิสิต' การมีเสรีภาพในการแสดงออกไม่ได้แปลว่าไม่ต้องมีมารยาท”
7 มิ.ย.64 - รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Puangthong Pawakapan ระบุข้อความว่าข้างล่างนี้เป็นข้อความที่เพิ่งส่งถึงนิสิตปี 2 นี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปี -- 3 วันที่ผ่านมาทำเอาเส้นความอดทนขาดลง เพราะมีนิสิต 3 คน inbox มาหาหลังเที่ยงคืนด้วยเรื่องคะแนน...ต่อไปนี้จะเริ่มคลาสด้วยการแปะข้อความนี้ก่อนทุกครั้ง
ลูกชายเราบอกว่าถ้าแม่ไม่บอกเรื่องพวกนี้ก่อนที่เขาจะไปเรียนต่อ เขาก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะไม่เคยมีใครสอนเขา
ในขณะที่โรงเรียนไทยให้ความสำคัญกับเครื่องแบบ การกราบไหว้ครูบาอาจารย์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย แต่กลับไม่สอนมารยาทพื้นฐานในการมีชีวิตในโลกยุคใหม่ให้กับเด็ก
นิสิตคะ
เราเข้าใจว่าสมัยคุณเป็นนักเรียนมัธยม ไม่มีใครบอกคุณเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ ที่การติดต่อส่วนใหญ่กระทำผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ ทำให้พวกคุณแยกแยะไม่ออกว่าการติดต่อระหว่างเพื่อน ระหว่างนิสิตกับอาจารย์ นิสิตกับเจ้าหน้าที่ นิสิตกับบุคคลภายนอก เช่น การสมัครงาน การสมัครเรียน ฯลฯ พึงมี code of conduct อย่างไร ฉะนั้น ทุกปีทั้งอาจารย์ และบุคคลภายนอกที่ต้อง deal กับนิสิตนักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่ จะบ่นเรื่องเด็กไม่มีมารยาทกันบ่อยมาก
ฉะนั้น อาจารย์ถือเป็นหน้าที่ที่ควรจะต้องบอกให้พวกเราได้รับรู้ เพื่อไม่ให้มีปัญหาต่อไปภายหน้า
ยกเว้นกับเพื่อนและคนในครอบครัวของคุณแล้ว ความสุภาพยังเป็นสิ่งสำคัญ การมีเสรีภาพในการแสดงออกไม่ได้แปลว่าไม่ต้องมีมารยาทและการให้เกียรติแก่กันและกัน สองอย่างนี้ควรดำเนินไปด้วยกันเสมอ และอันนี้ไม่เกี่ยวกับ "ความเป็นไทย" หรืออนุรักษ์นิยม
ในสังคมฝรั่ง ความสุภาพเป็นสิ่งสำคัญไม่ย่อหย่อนกว่ากัน แน่นอนว่าความสุภาพของแต่ละสังคมมีระดับต่างกัน สิ่งที่อาจารย์เรียกร้องจากคุณคือ "ขั้นพื้นฐาน" ที่มนุษย์ควรมีต่อกัน เช่น ทักทายกันด้วยคำว่า "สวัสดี" หรือ "เรียน" ก็พอ ไม่ต้องถึงกับ "กราบเรียน"
ในกรณีจดหมายทางการ ใช้คำว่า "เรียน" เท่านั้น
หากอาจารย์วิชาใดให้คุณส่งงานทางอีเมล์ จะต้องมีข้อความในอีเมล์ด้วย เช่น สวัสดีครับ/เรียน อาจารย์... ผมขอส่งรายงานวิชา .... ด้วยความนับถือ .... ลงชื่อ (เขียนเหมือนจดหมายปะหน้า พวกคุณเรียนการเขียนจดหมายกันแล้วใช่ไหม)
อย่าส่งงานโดยไม่มีข้อความใดๆ ติดไปด้วยโดยเด็ดขาด คนรับจะรู้สึกเหมือนนิสิตโยนงานใส่หน้า อย่าทำแบบนี้ในเวลาที่คุณไปเรียนต่อต่างประเทศด้วย
อย่าทำแบบเดียวกันนี้ในการสมัครงาน หรือสมัครเรียนโดยเด็ดขาด
อย่าติดต่ออาจารย์ผ่านทาง messenger หรือ line หากเขาไม่ได้อนุญาตให้คุณทำ ยกเว้นมีเรื่องสำคัญมากจริงๆ เช่น คุณต้อง withdraw แล้วเป็นวันสุดท้ายแล้ว คุณติดต่อไปทางอื่นก่อนหน้านี้แล้วแต่อาจารย์ไม่เห็น -- ในความเป็นจริง คุณควรจะติดต่อผ่านเจ้าหน้าที่ภาค และให้เขาติดต่ออาจารย์เอง แต่นี่หมายความว่าคุณต้องมีเวลาเผื่อล่วงหน้า ไม่ใช่วิ่งเต้นแก้ปัญหาให้ตัวเองในวันสุดท้าย
ที่เลวร้ายมากคือ ส่งข้อความมาหลัง 4 ทุ่ม หลายคนส่งมาหลังเที่ยงคืน
หากเขาไม่ได้อนุญาตไว้ก่อน อาจารย์ฝรั่งจะถือมาก หากคุณติดต่อเขาผ่าน inbox ของ social media เขาถือว่าคุณละเมิด privacy ของเขา วิชานี้มี TA คุณสามารถติดต่อสอบถามเขาก่อน
การขอให้อาจารย์ช่วยแก้คะแนนให้ หรือขอทำงานแก้ตัวใหม่ ไม่ควรกระทำเด็ดขาด โอกาสในชีวิตหลายๆ อย่างผ่านไปแล้ว ก็จะไม่ผ่านมาอีก ถ้าพลาด ก็ถือเป็นบทเรียน --- ยกเว้นในกรณีที่อาจารย์ได้บอกข้อยกเว้นไว้แล้ว เช่น อนุญาตให้เฉพาะคนที่ติด probation หรือเสี่ยงกับการติด probation
หากนิสิตมีปัญหาส่วนตัว เช่น เป็นโรคซึมเศร้า หรือสภาพที่บ้านเป็นอุปสรรคต่อการเรียน คุณควรแจ้งให้อาจารย์ทราบแต่เนิ่นๆ ผ่านทางอีเมล์ อาจารย์ก็อาจจะหาทางออกที่เป็นไปได้ ไม่ใช่แจ้งหลังจากผลคะแนนออกแล้ว เพราะจะแก้ไขอะไรยากมาก และไม่แฟร์กับคนอื่นค่ะ แค่นี้ก่อนแล้วกัน ถ้าใครมีคำถามอะไรก็ถามมาได้ค่ะ
Cr: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ และ FB: Puangthong Pawakapan
มารยาท กาลเทศะ เป็นสิ่งสำคัญในการอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่ว่าคุณจะเป็นอะไร มีบทบาทอะไรในสังคม ไม่ว่าคุณจะเป็นนักเรียน นักศึกษา นักการเมือง รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ข้าราชการ พระ นักบวช ผู้นำ ผู้บริหาร พนักงานบริษัท ผู้รับเหมาก่อสร้าง คนทำงานรับจ้าง หมอ พยาบาล ตำรวจ ทหาร...
มารยาททางสังคม กาลเทศะ ตรรกะ สามัญสำนึก กับ...สิ่งที่เรียบง่าย ตรงไป ตรงมา คนไม่รู้...ก็บอกให้รู้...เมื่อเราต้องการอะไร อยากได้อะไร บางทีก็เพียงบอกสิ่งที่ต้องการ สิ่งที่อยากเห็น สิ่งที่อยากให้เป็น...เช่นกันเมื่อเราไม่รู้ หรือไม่แน่ใจก็ควรถาม เพื่อที่จะได้รู้...
เรื่องนี้อาจสับสน ไม่แน่ใจว่าจะเริ่มอย่างไร สำหรับผมเมื่อมีโอกาสพูดคุยกับผู้นำมีคำพูด 3 คำ การแสดงออกที่สำคัญสำหรับมนุษย์ในการอยู่ร่วมกัน คือคำว่า สวัสดี ขอบคุณ และขอโทษ
เพียงเรารู้จักและใช้ 3 คำนี้อย่างเหมาะสม ก็จะทำให้เราเป็นคนที่น่ารัก สร้างให้เกิดการเปิดใจ รับฟังกัน เข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น
ไม่รู้...ก็บอกให้รู้...เมื่อเราต้องการอะไร อยากได้อะไร บางทีก็เพียงบอกสิ่งที่ต้องการ สิ่งที่อยากเห็น สิ่งที่อยากให้เป็น อาจเป็นเพียงเรื่องที่เรียบง่ายอย่างนั้นเลยครับ เมื่อคิดว่าเขา(อาจ)ไม่รู้ ก็บอกให้เขารู้ครับ... สิ่งนี้เมื่อเกิดกับเด็ก กับเยาวชนก็คงเป็นเรื่องที่น่ารัก เป็นความเมตตาเอ็นดูของผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่าที่จะให้อภัยและสะกิดเตือนและบอกด้วยความปรารถนาดี หากแต่หลายครั้งเกิดกับผู้ใหญ่ ผู้ที่มากประสบการณ์ สิ่งที่เรียบง่าย หลายครั้งอาจไม่ง่ายนัก...เพื่อการเป็นตัวอย่างที่ดีในสังคม...
เป็นสิ่งที่ควรเรียนรู้ ช่วยกันเตือน ช่วยกันสะกิดเตือนกันด้วยความหวังดี ด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ด้วยความปรารถนาดี
#มารยาททางสังคม
#กาลเทศะ
#ตรรกะ
#สามัญสำนึก
#การเปลี่ยนแปลงด้วยหัวใจ
#ความเอื้ออาทร
#ความเมตตา
#CompassionateSystems
#สวัสดีขอบคุณขอโทษ
#ตัวอย่างที่ดี
#manners
โฆษณา