Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
AdminField
•
ติดตาม
24 ก.ค. 2023 เวลา 12:30 • ประวัติศาสตร์
ตำนานการบูชาพระประจำวันเกิด
นับแต่โบราณกาล (ตราบจนปัจจุบัน...) คนไทยส่วนมากมักให้ความสำคัญในเรื่องของการสักเสกเลขยันต์ โชคชะตาราศีต่าง ๆ ที่อาจจะมีผลพันพัวกับการดำรงชีวิตเข้าสักทาง จึงปรากฏภาพในช่องทางต่าง ๆ ที่มีผู้คนมากหน้าหลายตาพากันไปขุด ไปทู ไปทาตามต้นไม้ หรือกราบไหว้สิ่งต่าง ๆ ที่เชื่อว่าจะนำพาความมงคลมาให้ เช่น ต้นไม้ทรงประหลาด ตัวเงินตัวทอง หรือสัตว์ที่มีลักษณะทางกายภาพผิดแผกแตกต่างไปจากปกติ จนหลงลืมไปว่า เรายังมีศาสนาคอยเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจกันอยู่
แต่บางครั้งก็มีบางคนที่ไปหลงเชื่อกับสิ่งที่งมงายจนกลายเป็นการก่อตั้งลัทธิ ๆ หนึ่งขึ้นมาก็มี จึงทำให้สังคมทุกวันนี้ ไม่ต่างอะไรกับการถูกมอมเมา ประหนึ่งว่าพี้กัญชาเกินขนาดจนขาดสติไป ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการนับถือสิ่งเหนือธรรมชาติมีมาก่อนที่ประเทศไทยจะเกิดอารยธรรมเสียอีก นับเนื่องได้หลายพันปีด้วยซ้ำ
ประกอบกับทุกวันนี้สภาพทางสังคมมีแต่ความหวาดระแวง ง่อนแง่น และสิ้นหวัง เพราะรัฐบาลก่อน ไม่อาจจะให้การบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปราศจากความชอบธรรม ฝักใฝ่ในอำนาจ และไม่ทำตามนโยบายที่ได้เคยแถลงไว้ต่อรัฐสภา รวมถึงการประพฤติตนของพระภิกษุทุกวันนี้ เละเทะมากจนไม่อาจหาคำใดมาพรรณนาได้
ผู้คนทั้งมวลและคนส่วนมากจึงต้องหาอะไรสักอย่างเป็นที่พึ่งทางใจ แม้มันจะขัดต่อศีลธรรมไปก็บ้างตาม แต่อย่างว่านะครับ สมัยก่อนการนับถือสิ่งที่เหนือธรรมชาติมีมานานแล้วอย่างที่กล่าวไป ซึ่งโลกมีการหมุนรอบตัวเองและรอบพระอาทิตย์ทุกวันไม่หยุด ดังนั้น การพัฒนาจึงเกิดขึ้นตลอดเวลา
การนับถือสิ่งที่เป็นธรรมชาติก็ได้เขยิบสถานะขึ้นมาเป็นศาสตร์ที่ต้องอาศัยการเคลื่อนที่ของดวงดาวและการพยากรณ์จึงเกิดเป็นหลักหรือความเชื่อที่เรียกว่า “โหราศาสตร์” อีกด้านหนึ่งการขยับไปเป็นสิ่งที่เรียกว่า ศาสนา ไม่ก็ลัทธิ มีที่นับถือเทพเจ้าและไม่นับถือเทพเจ้า แต่ทุกอย่างล้วนมีคำสอนที่ต้องการขัดเกลาชนทั้งหลายให้เป็นศาสนิกชนที่ดีและพลเมืองที่ดี
แต่ถึงอย่างไร แม้จะมีการปวารณาตนว่า เป็นพุทธศาสนิกชนก็ตาม แต่ส่วนลึกในใจของบางคนก็ยังมีความเชื่อต่อหลักทางโหราศาสตร์อยู่ ซึ่งจะไปผนวกกับตำราหรือคัมภีร์ที่สำคัญอย่าง “มหาทักษา” ซึ่งเกี่ยวกับดาวพระเคราะห์ที่จะมีอิทธิพลต่อชีวิต เมื่อวันที่เกิดของผู้เกิดได้เวียนมาบรรจบในแต่ละปี โดยมากก็จะมีการสะเดาะเคราะห์ต่อชะตา บูชาเทพเจ้า รวมถึงพระเคราะห์ที่ได้เข้ามาครองหรือเสวยอายุ เพื่อป้องกันความไม่มงคลที่จะบังเกิด โดยหลัก ๆ แล้ว พระเคราะห์มีอยู่ 8 องค์ เรียกว่า “อัฐเคราะห์” ประกอบด้วย
■
พระอาทิตย์ เสวยอายุ 6 ปี
■
พระจันทร์ เสวยอายุ 15 ปี
■
พระอังคาร เสวยอายุ 8 ปี
■
พระพุธ เสวยอายุ 17 ปี
■
พระเสาร์ เสวยอายุ 10 ปี
■
พระพฤหัสบดี เสวยอายุ 19 ปี
■
พระราหู เสวยอายุ 12 ปี
■
พระศุกร์ เสวยอายุ 21 ปี
นอกจากนั้นแล้วยังมี “พระเกตุ” ซึ่งจะเสวยอายุอยู่ตลอดไป เมื่อรวมกับอัฐเคราะห์ข้างต้นแล้ว ก็จะได้พระเคราะห์จำนวนทั้งสิ้น 9 องค์ เรียกว่า “นพเคราะห์” รวมถึงจำนวนปีที่เสวยอายุของพระเคราะห์ทั้งหมด เมื่อนำมารวมกันจะได้เท่ากับ 108 ซึ่งถือเป็นเลขอันสิริมงคล
แผนผังตามตำรามหาทักษา (ภาพ: หนังสือ ลักษณะไทย: พระพุทธปฏิมา อัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย) พร้อมด้วยเทวรูปนพเคราะห์ประจำแต่ละวัน (ภาพ: กรมศิลปากร)
ด้วยเหตุนี้ คนไทยจึงนิยมบูชาพระเคราะห์ เพื่อให้เกิดเป็นความสิริมงคล พร้อมขจัดความชั่วร้ายต่าง ๆ ให้พ้นไป จนบางครั้งก็กลายเป็นความงมงาย แล้วละเลยต่อพระพุทธศาสนา จึงได้เกิดเป็นกุศโลบายประการหนึ่งขึ้นมา โดยการนำเอาพระพุทธรูปต่าง ๆ มาผสมผสานกับความเชื่อทางโหราศาสตร์ กลายเป็นความเชื่อใหม่ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้มีโอกาสบูชาพระพุทธรูป และชักนำให้พุทธศาสนิกชนไม่ให้หลงใหลในทางไสยศาสตร์มากจนเกินไป
โดยพระประจำวันเกิดที่เราทุกคนได้เห็นกันทุกวันนี้ ก็เป็นสิ่งที่โบราณจารย์ทั้งหลายได้มีการกำหนดไว้ตามดาวนพเคราะห์ ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ใน “ตำราพระพุทธรูปต่าง ๆ” ดังนี้
พระอาทิตย์ พระถวายเนตร์
พระจันทร์ พระห้ามสมุท
พระอังคาร พระไสยาศน์
พระพุทธ พระอุ้มบาตร
พระพฤหัสบดี พระสมาธิ
พระสุกร พระรำพึง
พระเสาร์ พระนาคปรก
พระราหู พระป่าเลไลย
พระเกษ พระสมาธิเพชร์
อนึ่ง ในทางราชสำนักจะใช้คำราชาศัพท์ที่สื่อถึงพระประจำวันเกิดว่า “พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร”
(ภาพ: Brass Prince)
พระประจำวันอาทิตย์
ได้แก่ พระพุทธูปปางถวายเนตร มีพุทธลักษณะเป็นพระในอิริยาบถยืน พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้ายประสานไว้ที่หน้าพระเพลา (ตัก)
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ได้พระนิพนธ์ถึงพุทธลักษณะของพระพุทธรูปดังกล่าวไว้ในตำราพระพุทธรูปต่าง ๆ ซึ่งมีเนื้อที่อิงไปถึงพุทธประวัติตอนหนึ่งว่า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จมายืนอยู่ ณ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือห่างจากรัตนบัลลังก์ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์พอสมควร แล้วพระองค์ทรงลืมพระเนตรทั้งสองข้างเพ่งมองไปอย่างไม่กะพริบ ทรงพิจารณาสถานที่แห่งนั้น อันเป็นเหตุให้พระองค์ทรงตรัสรู้
พระพุทธรูปปางถวายเนตร ประจำพระชนมวาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 (ภาพ: หนังสือ ลักษณะไทย: พระพุทธปฏิมา อัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย)
พระประจำวันจันทร์
ได้แก่ พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร มีพุทธลักษณะเป็นพระในอิริยาบถยืน ยกพระหัตถ์ทั้งสองขึ้นเสมอพระอุระ (อก) หงายฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองไปด้านหน้า
พระพุทธรูปปางนี้มีที่มาดังความในพุทธประวัติที่เล่าว่า เป็นตอนหนึ่งที่พระพุทธเจ้าได้แสดงพุทธปาฏิหารย์ทำลายทิฐิมานะของพวกชฎิล 3 พี่น้องในคืนที่ฝนตกหนักและน้ำท่วมสูง โดยพระพุทธองค์ได้เสด็จเดินจงกรมในกลางแจ้ง โดยที่น้ำไม่ท่วมพระวรกาย และไม่เปียกฝนแต่อย่างใด
พระประจำวันจันทร์อีกองค์หนึ่ง ได้แก่ พระพุทธรูปปางห้ามญาติ มีพุทธลักษณะอยู่ในอิริยาบถยืนเช่นเดียวกัน หากแต่ยกพระหัตถ์ขวาขึ้นเสมอพระอุระ ทอดพระหัตถ์ซ้ายลงข้างพระชงฆ์ (เข่า) เสมอกับพระวรกาย
สำหรับพระปางนี้ สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงเรียกว่า “ปางห้ามญาติ” แต่ไม่ได้มีรับสั่งถึงความเป็นมาของปางนี้ ในเวลาต่อมาหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์จึงได้กล่าวถึงความเป็นมาจากพุทธประวัติตอนหนึ่งว่า เป็นตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปทรงระงับการวิวาทระหว่างพระญาติวงศ์ฝ่ายพระพุทธบิดาและพระพุทธมารดาที่เกิดขึ้น อันมีเหตุจากการแย่งแม่น้ำโรหิณี
พระพุทธรูปปางห้ามญาติ (พยาธิ หรือพยาด) ประจำพระชนมวาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 (ภาพ: หนังสือ ลักษณะไทย: พระพุทธปฏิมา อัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย)
นอกจากจะมีการเรียกพระปางนี้ว่าปางห้ามญาตแล้ว ยังมีการเรียกพระปางนี้อีกแบบหนึ่งว่า “ปางห้ามพยาธิ” หรือ “ห้ามพยาด” โดยอาศัยพุทธประวัติตอนหนึ่ง เมื่อครั้งเมืองเวสาลี (ไวศาลี) เกิดฝนแล้ง ผู้คนอดตาย จนเกิดอหิวาตกโรคระบาด ทำให้พวกปีศาจเข้ามากินซากศพ แต่เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึง ก็ได้เกิดฝนตกลงมา พาให้ชำระล้างศพและสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ออกไป แล้วพระพุทธองค์เองก็ให้พระอานนท์สวดรัตนสูตรพร้อมกับปะพรมน้ำพระพุทธมนต์รอบเมือง ภัยจากฝนแล้ง อหิวาตกโรคและปีศาจจึงสงบลง
ซึ่งจากการแปรสภาพจากพระปางห้ามญาติมาสู่ปางห้ามพยาธินั้น พระไพศาล วิสาโล ได้สะท้อนมุมมองให้เห็นว่า คือความพยายามอย่างหนึ่งในการปรับพระพุทธศาสนาให้มีความเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น จึงทำให้พุทธประวัติพลอยถูกปรับให้มีความสมเหตุสมผลมากขึ้นตามไป
จะเห็นได้ว่า พระประจำวันจันทร์ มีพระพุทธรูปถึง 2 ปางด้วยกัน คือ ปางห้ามญาติ และปางห้ามสมุทร ซึ่งก็สร้างความสับสนให้กับผู้มีจิตศรัทธาที่อยากจะหามาบูชาไม่ใช่น้อย ความสับสนดังกล่าว ก็เป็นในเรื่องของพุทธลักษณะการยกพระหัตถ์ขึ้นเสมอพระอุระว่า สรุปแล้วยกพระหัตถ์ทั้งสองข้าง หรือข้างเดียวเป็นปางห้ามสมุทร หรือว่าปางห้ามญาติ
เรื่องนี้เคยเป็นประเด็นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เมื่อปี พ.ศ. 2374 โดยไม่สามารถหาข้อยุติได้ว่า ปางที่ยกพระหัตถ์ข้างเดียวหรือสองข้าง ปางไหนกันแน่ที่เป็นปางห้ามสมุทร ท้ายที่สุดแล้ว พระวชิรญาณเถระ หรือพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งต่อมาได้เสวยราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงตัดสินให้พระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะยกพระหัตถ์ขึ้นสองข้างเป็น”พระปางห้ามสมุทร” ส่วนพระที่ยกพระหัตถ์ข้างเดียวเป็น “พระปางห้ามญาติ”
พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร ประจำพระชนมวาร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 (ภาพ: หนังสือ ลักษณะไทย: พระพุทธปฏิมา อัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย)
พระประจำวันอังคาร
ได้แก่ พระพุทธรูปปางไสยาสน์ หรือปางปรินิพพาน
มีความเป็นมาจำเดิมแต่พุทธประวัติ ตอนที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพานที่พระแท่นศิลาระหว่างนางรัง (ต้นรัง) ทั้งคู่ ณ สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 1 แต่ประเทศไทยไม่ถือว่าเป็นปางปรินิพพาน เป็นแค่ปางทรงบรรทมคอยอสุรินทรราหู เมื่อเกิดจันทรุปราคาและสุริยุปราคา ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนปลาย รู้จักกันในนามของ “ปางอสุรินทรราหู”
มีที่มาจากพุทธประวัติตอนหนึ่งว่า เมื่อครั้งประทับ ณ เวฬุวันมหาวิหาร อสุรินทรราหู อุปราชของท้าวเวปฐิตติสุรบดินทร์ ผู้ครองอสุรพิภพได้ทำการคุกคามพระจันทร์และพระอาทิตย์ จนเกิดเป็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาและสุริยุปราคา พระพุทธองค์จึงต้องตรัสพระคาถาโปรดอสุรินทรราหู อสุรินทรราหูจึงยอมปล่อยพระอาทิตย์และพระจันทร์
พระพุทธรูปปางไสยาสน์ (หรือ ปรินิพพาน) ประจำพระชนมวาร สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี (ภาพ: หนังสือ การประดิษฐานพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี)
พระประจำวันอังคารอีกปางหนึ่ง ได้แก่ พระพุทธรูปปางห้ามพระแก่นจันทน์ เป็นพระพุทธรูปในอิริยาบถยืน ห้อยพระหัตถ์ขวาลงข้างพระวรกาย ฝ่าพระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นเสมอพระอุระ (อก) และยื่นออกไปข้างหน้าเป็นกิริยาทรงห้าม
อาจจะสงสัยว่า ทำไมพระปางนี้ถึงถูกจัดรวมเป็นพระประจำวันอังคารด้วยนั้น เห็นทีน่าจะมาจากพระราชนิยมส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งโปรดให้สร้างพระปางห้ามพระแก่นจันทน์ขึ้นเป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมวารสำหรับพระองค์เอง โดยในเรื่องนี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ตรัสประทานพระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) ผ่านลายพระหัตถ์ ซึ่งได้รวบรวมเป็นหนังสือ บันทึกเรื่องความรู้ต่าง ๆ เล่มที่ 4 ไว้ว่า
“...แต่ก่อนนี้วันอังคารจัดเปนพระนอน แล้วมาเปลี่ยนเสียเมื่อทำพระประจำวันของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเปนพระห้ามแก่นจันทน์ (อภยหัสต์ เบื้องขวา) ฟังเหตุกล่าวกันเปนว่าพระนอนนั้นดูขี้เกียจหนัก แต่แท้ที่จริงจะเปนด้วยทำองค์เล็กๆ ดูฟุบไปนั้นเองเปนหลักอันพึงรังเกียจ”
แล้วก็ได้เป็นธรรมเนียมของเจ้านายสืบมา แต่ก็ไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก จึงปรากฏเพียงการสร้างพระปางห้ามพระแก่นจันทน์เป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมวารของเจ้านายเพียงไม่กี่พระองค์ ประกอบด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7
สำหรับความเป็นมาก็สืบเนื่องจากพุทธประวัติ ตอนที่พระพุทธองค์ได้เสด็จไปโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระเจ้ากรุงสาวัตถีโปรดให้ช่างสลักพระพุทธรูปด้วยแก่นไม้จันทน์ เพื่อประดิษฐานไว้บนแท่นซึ่งพระพุทธองค์ทรงประทับอยู่เป็นนิจ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จกลับมา ปรากฏว่าพระพุทธรูปนั้นได้ลุกขึ้นให้พระพุทธองค์ทรงประทับ แต่พระพุทธเจ้าได้ทรงยกพระหัตถ์ห้ามไว้ ในตำราพระพุทธรูปต่าง ๆ สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงเรียกปางนี้ว่า “ห้ามพระแก่นจันทน์”
พระพุทธรูปปางห้ามพระแก่นจันทน์ ประจำพระชนมวาร สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 (ภาพ: หนังสือ ลักษณะไทย: พระพุทธปฏิมา อัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย)
พระประจำวันพุธ ได้แก่ พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร
โดยพระปางอุ้มบาตร มีพุทธลักษณะเป็นพระยืน พระหัตถ์ทั้งสองข้างถือหรืออุ้มบาตร จากพุทธประวัติกล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์ บรรดาพระประยูรญาติมิได้กราบบังคมทูลให้ไปรับบิณฑบาต พระพุทธองค์จึงเสด็จรับบิณฑบาตด้วยพระองค์เองตามปกติ จึงทำให้พระพุทธบิดาที่ได้ทอดพระเนตรเห็น ถึงกับตัดพ้อว่าพระองค์เป็นถึงวรรณะกษัตริย์ แต่ไฉนเลย...ถึงได้มาขอภิกขาจาร หรือเที่ยวขอหาอาหารอย่างนี้
พระพุทธองค์จึงตรัสว่า การบิณฑบาตคือกิจของสงฆ์ทุกรูป ซึ่งบุคคลไม่ควรประมาทในบิณฑบาตที่ตนรับ และเมื่อรับบิณฑบาตแล้วพึงต้องประพฤติธรรมให้สุจริต อันจะมาซึ่งความสุขในโลกนี้และโลกหน้า ซึ่งพระปางอุ้มบาตรนี้เป็นพระประจำสำหรับคนที่เกิดวันพุธตอนกลางวัน
อนึ่ง บางครั้งปางอุ้มบาตร ถูกเรียกว่า “ปางโปรดสัตว์” โดยอิงไปถึงพุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้ากำลังจะถูกช้างนาฬาคิรีซึ่งกำลังตกมันที่พระเทวทัตตั้งใจปล่อยมา เพื่อประทุษร้ายขณะทรงออกรับบิณฑบาต แต่ไม่ได้รับอันตราย ทำให้เชื่อกันว่า พระปางอุ้มบาตรมีไว้ป้องกันภยันตรายจากสัตว์ได้
พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร ประจำพระชนมวาร สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (ภาพ: หนังสือ ลักษณะไทย: พระพุทธปฏิมา อัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย)
พระประจำวันพุธอีกปางหนึ่ง คือ พระพุทธรูปพระปางป่าเลไลยก์ มีพุทธลักษณะเป็นพระประทับนั่งห้อยพระบาทบนพระแท่นหรือในตำราประทับบนก้อนศิลา พระหัตถ์ขวาหงายขึ้นบนพระชานุ (เข่า) ขวา พระหัตถ์ซ้ายคว่ำบนพระชานุซ้าย
ที่เรียกว่า “ป่าเลไลยก์” นั้น จากที่สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ได้ทรงค้นคว้ามาจากพุทธประวัติว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าประทับ ณ เมืองโกสัมพี พระภิกษุได้เกิดวิวาทกัน จึงได้เสด็จไปประทับลำพังในป่า แล้วได้มีช้างนามว่า “ปาลิเลยยกะ” ถวายตัวเป็นอุปัฏฐาก หรือผู้อุปถัมภ์ดูแล และได้มีลิงนำรวงผึ้งมาถวาย
ภายหลังเมื่อทั้งลิงและช้างตายก็ได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต ต่อมาจึงเรียกป่าตามชื่อช้างว่า “ป่าลิไลยก์” แล้วก็ได้แผลงมาเป็น “ป่าเลไลยก์” โดยพระปางนี้เป็นพระประจำสำหรับคนที่เกิดวันพุธตอนกลางคืน
พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ ประจำรัชกาล สมเด็จพระบรมราชาที่ 2 (สมเด็จพระเชษฐาธิราช, ภาพ: หนังสือ ลักษณะไทย: พระพุทธปฏิมา อัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย)
นอกจากเรื่องราวของพระประจำวันเกิดสำหรับผู้ที่เกิดวัดพุธ ซึ่งได้นำเสนอไปว่า มีพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร เป็นพระประจำวันพุธกลางวัน และพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ เป็นพระประจำวันพุทธกลางคืนนั้น แล้ววันพุธกลางวัน และวันพุธกลางคืนมีที่มาจากอะไร!?
เป็นที่น่าสังเกตว่า วันพุธมีการแบ่งเป็นช่วงกลางวันกลางคืน สืบเนื่องจากตามหลักทางโหราศาสตร์ที่ถือว่า มีดาวสำคัญอยู่ 8 ดวง โดยมีดาวราหูเป็นดาวดวงที่ 8 แต่ที่นี้สัปดาห์หนึ่งมีเพียงแค่ 7 วัน
ถ้าจะนับให้ครบตามจำนวนดาวสำคัญ จึงต้องมีการแบ่งวันตรงกลางสัปดาห์ออกเป็น 2 วัน ซึ่งวันตรงกลางสัปดาห์ คือ วันพุธ ประกอบกับการนับเวลาเกิดแบบไทยในสมัยโบราณ เริ่มนับตั้งแต่เวลา 06.00 – 05.59 น. ของอีกวัน แต่ในส่วนของวันพุธจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วงด้วยกัน ประกอบด้วย เวลา 06.00 – 17.59 น. นับเป็นวันพุธกลางวัน และเวลา 18.00 – 05.59 น. ของอีกวัน นับเป็นวันพุธกลางคืน
พระประจำวันพฤหัสบดี
ได้แก่ พระพุทธรูปปางสมาธิ ซึ่งมีพุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้ายบนพระเพลา (ตัก)
เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ปางตรัสรู้” มักมีสัญลักษณ์ของเรือนแก้วครอบไว้รอบพระพุทธรูป หมายถึง ประทับในแดนศักดิ์สิทธิ์ เพื่อสื่อถึงการตรัสรู้ของพระองค์อันพ้นจากวัฏสงสารทั้งปวง และเกิดหลักธรรมที่สำคัญอันเป็นหนทางแห่งการดับทุกข์อย่าง “อริยสัจ 4” ซึ่งก็มีบางตำนานกล่าวว่า
“เทวดาได้เนรมิตเรือนแก้วขึ้นทางทิศเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ เสด็จนั่งขัดสมาธิบนบัลลังก์พิจารณาพระอภิธรรมปิฎกสิ้น 7 วัน”
พระพุทธรูปปางสมาธิ ประจำพระชนมวาร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (ภาพ: หนังสือ ลักษณะไทย: พระพุทธปฏิมา อัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย)
พระประจำวันศุกร์
ได้แก่ พระพุทธรูปปางรำพึง โดยมีพุทธลักษณะเป็นพระยืน ยกพระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้ายประสานไว้บนพระอุระ
สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ในตำราพระพุทธรูปต่าง ๆ ว่า หลังจากที่พระพุทธเจ้า ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ได้ประทับเสวยวิมุตติสุขใต้ต้นไทร ทรงรำพึงปริวิตกว่า พระธรรมที่ทรงตรัสรู้นั้นมีความละเอียดอ่อนลึกซึ้ง ยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ จึงทรงท้อแท้พระทัย พร้อมกับทรงมีพระพุทธดำริที่จะไม่แสดงธรรมนั้น ทำให้บรรดาท้าวสหัมบดีพรหมและเทพยดาทั้งหลายจึงรีบไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ณ ที่ประทับ และพากันกราบทูลอารธนาให้ทรงแสดงธรรมโปรดสัตว์ทั้งหลาย
พระพุทธรูปปางรำพึง ประจำรัชกาล สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 7 (สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา, ภาพ: หนังสือ ลักษณะไทย: พระพุทธปฏิมา อัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย)
พระประจำวันเสาร์
ได้แก่ พระพุทธรูปปางนาคปรก โดยมีพุทธลักษณะเป็นพระประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา ประทับเหนือขนดนาคซึ่งชูศีรษะแผ่พังพานปรกพระเศียร
สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ในตำราพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ไว้ว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว ขณะพระองค์เสวยวิมุตติสุขใต้ต้นจิกนั้น ได้มีพระยานาค (พญานาค) นามว่า “มุจลินท์” มาขนดตัว 7 รอบล้อมพระวรกาย และแผ่พังพานปรกพระเศียรถวาย
พระพุทธรูปปางนาคปรก ประจำพระชนมวาร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (ภาพ: หนังสือ ลักษณะไทย: พระพุทธปฏิมา อัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย)
วันเกิดนอกจากจะมีวันอาทิตย์ถึงวันเสาร์แล้ว ก็ยังมีวันเกตุ คือ วันสำหรับผู้ที่ไม่ทราบวันเกิดของตัวเอง ซึ่งมีพระประจำวันเกิดเป็น “ปางขัดสมาธิเพชร” มีพุทธลักษณะเป็นพระนั่งไขว้พระชงฆ์ (เข่า) พระบาทขวาไขว้ซ้อนบนพระบาทซ้าย หงายฝ่าพระบาทขึ้น โดยที่พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้ายประสานกันบนพระเพลา นิ้วพระหัตถ์ทั้งห้าชี้ลงเบื้องล่าง
พระพุทธรูปปางขัดสมาธิเพชร ประจำพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (ภาพ: หนังสือ ลักษณะไทย: พระพุทธปฏิมา อัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย)
ซึ่งเป็นการประกาศถึงการพ้นแล้วจากการครอบคลุมของพญามารและปราศจากความยินดียินร้ายในโลก หรืออีกนัยหนึ่ง คือการที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นพระอรหันต์ ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์โดยสิ้นเชิง และตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
ถึงแม้ว่า การบูชาพระประจำวันเกิด จะมีประวัติความเป็นมา ตลอดจนประโยชน์ที่ได้ไม่มากหรือน้อยก็ตาม แต่สิ่งที่สำคัญในฐานะพุทธศาสนิกชนก็คือ การทำความดี ละเว้นความชั่ว และทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสอยู่เสมอ ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของพระพุทธศาสนา ที่จะนำมาซึ่งความสุข ความเจริญทั้งหลาย หากผู้ที่มีจิตตั้งมั่นนำมายึดถือเป็นแนวทางการปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป สมดังพุทธภาษิตที่ว่า
ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ
ผู้ฝึกตนได้ คือผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่มนุษย์
อ้างอิง:
●
ทำไมถึงต้องมีวันพุธกลางคืนกันนะ? โดย Aduang (
https://aduang.co/horoscope/11969
)
●
พระประจำผู้ไม่รู้วันเกิด : คอลัมน์ โลกสองวัย โดย มติชนออนไลน์ (
https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_497212
)
●
วันพุธมี 2 เวลา : คอลัมน์ โลกสองวัย โดย มติชนออนไลน์ (
https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_494830
)
●
หนังสือ ลักษณะไทย เล่มที่ 1 พระพุทธปฏิมา อัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย โดย ธนาคารกรุงเทพ (2551)
#AdminField #ชอบเล่าชอบแชร์แต่ไม่ชอบเป็นคนดีย์
#พระประจำวันเกิด
พระพุทธรูป
พระพุทธศาสนา
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย