Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Supawan’s Colorful World
•
ติดตาม
24 ก.ค. 2023 เวลา 12:30 • ท่องเที่ยว
Salamat Datang .. ยินดีต้อนรับสู่เกาะงาม นาม บาหลี
หากเอ่ยถึงบรรดา“เกาะสวรรค์” ดูเหมือนว่า “บาหลี” จะเป็นเกาะในดวงใจในอันดับต้นๆของหลายๆคน เพราะเกาะแห่งนี้มีมนต์เสน่ห์ตราตรึงมากมาย ทั้งธรรมชาติสงบที่ที่เราจะยังเห็นผืนป่า ทุ่งนาเขียวสด ทิวเขา ชายทะเล .. วิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ของผู้คนบนความศรัทธาทางศาสนา และศิลปะวัฒนธรรมที่ยังได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดี จนทำให้นักเดินทางทุกวัยหลายๆคนใฝ่ฝันจะไปสัมผัสให้ได้สักครั้งในชีวิต
บาหลี เป็นเกาะเล็กๆเกาะหนึ่งในกว่า 17,500 เกาะของอินโดนีเซีย ตั้งอยู่ระหว่างกลางของเกาะชวาและเกาะลอมบอก ประเทศอินโดนีเซีย … ตำนานปรัมปราของนิทานพื้นบ้านกล่าวว่า นักบวชผู้ยิ่งใหญ่คนหนี่งได้เนรเทศบุตรชายไม่เอาถ่านคนหนึ่งของตนให้ไปยังปลายสุดด้านตะวันออกของเกาะ แล้วใช้ไม้ขีดเส้นบนผืนทรายให้เกิดเป็นร่องน้ำ จนเกิดเป็นเกาะบาหลีขึ้นมา …
ตำนานนี้ดูจะเป็นจริงเป็นจังอยู่บ้าง ด้วยเหตุที่เชื่อว่า ผืนดินของบาหลีนั้นในอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของเกาะชวา ต่อมาเมื่อเปลือกโลกเคลื่อนตัว และน้ำในมหาสมุทรปรับระดับ เกาะหลายๆแห่ง รวมถึงเกาะบาหลีจึงไม่ติดกับแผ่นดินใหญ่ของชวาอีกต่อไป
เกาะบาหลีตั้งอยู่ใต้เส้นศูนย์สูตรเพียง 8 องศา ถูกแบ่งครึ่งด้วยภูเขาไฟที่ทอดตัวจากตะวันออกไปยังทิศตะวันตก … เป็นขุนเขาที่เป็นที่ก่อกำเนิดชีวิตและภูมิปัญญาของชาวบาหลี … ภูเขาสร้างทะเลสาบและแม่น้ำ แหล่งธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงผืนดินให้อุดมสมบูรณ์ และภูเขาไฟอากุงสูงเสียดฟ้าซึ่งชาวบาหลีเชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของเทพเจ้า
เชื่อกันว่าชาวบาหลีมีเชื้อสายของชาวมาเลย์และชาวโพลินีเชียน ที่ในยุคหลังมีบรรพบุรุษเป็นชาวชวาตอนกลางและตะวันออก รวมถึงมีการถ่ายทอดผสมผสานเชื้อสายชาวต่างชาติอีกหลายเชื้อชาติ ….
ชาวบาหลีส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู-บาหลี ทำให้เกาะแห่งนี้มีวิถี วัฒนธรรม ประเพณี อันเป็นเอกลักษณ์แตกต่างออกไปจากอินโดนีเซีย ประดุจดังเกาะสวรรค์ทางการท่องเที่ยวในสายตาของใครหลายๆคน(รวมทั้งฉันด้วยค่ะ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งชื่อเสียงที่ขจรขจายไปยังซีกโลกตะวันตก ด้วยความเป็นหมู่เกาะใหญ่ที่ห่างไกล ล้อมรอบด้วย 8 ทะเล 2 มหาสมุทร มีพื้นที่กว้างใหญ่ถึง 6 ล้านตารางกิโลเมตร และยังมีภูเขาไฟราวๆ 50 ลูกจากทั้งหมด 200 ลูกที่ยังคุกรุ่นอยู่
ตำนานการกำเนิดของบาหลีนั้น เล่าว่า .. พระพรหมและและบาตารา กูรู ปั้นดินเหนียวเป็นรูปมนุษย์แล้วนำไปอบ ชุดแรกไฟยังอ่อนจึงออกมาขาวซีด ชุดต่อมาไหม้จนดำเกรียม จนมาถึงชุดสุดท้ายเป็นสีน้ำตาลทองสมบูรณ์แบบ สององค์เทพเจ้าผู้เป็นบรรพบุรุษของชาวบาหลีจึงถือกำเนิดขึ้น
ประวัติศาสตร์ของบาหลีได้โลดแล่นผ่านยุคโบราณ ยุคประวัติศาตร์ โดยวนเวียนอยู่กับการเมือง การปกครองของกษัตริย์ตั้งแต่ครั้งอาณาจักรซันจายาที่กษัตริย์ปฏิบัติตนอย่างชาวฮินดูที่เคร่งครัด จนต่อมาสายใยวัฒนธรรมและการเมืองที่แนบแน่นระหว่างบาหลีและชวาใกล้ชิดกันมากขึ้น จึงมีการรับเอาวัฒนธรรมชวาเข้ามา ..
ยุคทองของบาหลีเริ่มขึ้นราวปี 1515 ช่วงเวลาที่นักบวช ชนชั้นสูง ทหารและช่างฝีมือแห่งจักรวรรดิมัชฌปาหิตเลือกที่จะย้ายถิ่นจากชวามาที่บาหลี อารยธรรมฮินดูในบาหลีจึงยิ่งเหนียวแน่นขึ้น และวัฒนธรรมบาหลีก็ปรับโฉม
… ในช่วงเวลานี้เองที่แก่นวัฒนธรรมของบาหลียุคปัจจุบันได้ก่อตัวขึ้นเป็นรูป เป็นร่างอย่างมาก จนเป็นพื้นฐานให้พัฒนามาสู่ดนตรี ภาษา การฟ้อนรำ ประติมากรรม และวรรณคดีในปัจจุบัน
บาหลีเผชิญกับชาติยุโรปครั้งแรกในศตวรรษที่ 16 อันเป็นผลมาจากการที่ชาติตะวันตกแข่งขันกันยึดหมู่เกาะเครื่องเทศที่อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกเป็นอาณานิคม … ช่วงแรกไม่มีชาติใดสนใจบาหลีมากนัก จนถึงปี 1597 ที่คณะสำรวจชาวดัตช์ ที่นำโดย คอนิเลยส์ เด เฮาส์มัน ได้เผยแพร่เรื่องราวมากมายเกี่ยวกับบาหลีให้คนตะวันตกได้รับรู้มากขึ้น
เดิมบาหลีปกครองแบบมีผู้นำเพียงคนเดียวหรืออาณาจักรเดียว .. ต่อมาเมื่อปลายศตวรรษที่ 18 อาณาจักรต่างๆถือกำเนิดขึ้นถึง 9 อาณาจักรท่ามกลางความโกลาหลของการแก่งแย่งอำนาจและสมบัติ โดยมีอาณาจักรกลุงกลุงเป็นอาณาจักรที่ยิ่งยงที่สุด ส่วนผู้นำในอาณาจักรที่เหลือต่างปกป้องสิทธิการเป็นราชาของตน แต่ในขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะยอมรับอาณาจักรที่เหนือกว่า
ในยุคนี้เองที่บาหลีมีการค้าทาสเกิดขึ้น โดยเชื่อกันว่ามีทาสบาหลี 8,000-10,000 คนในปัตตาเวียจากทาสทั้งหมดราว 15,000 คน
การค้าฝิ่น .. เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำความมั่งคั่งให้กับผู้ปกครองบาหลี โดยเริ่มแรกชาวดัตช์เป็นกลุ่มคนที่ผูกขาดในการนำฝิ่นเข้ามาแถบเอเซียใต้และเอเซียอาคเนย์ แต่ผู้ปกครองบาหลีไม่ยอมสยบอยู่ภายใต้อาณัติของชาวดัตช์ และถือว่าตนเองมีสิทธิเท่าเทียมในการค้าฝิ่น และนอกจากจะซื้อขายแล้วยังมีการสูบฝิ่นอย่างเป็นล่ำเป็นสันอีกด้วย ทั้งนี้รวมถึงในราชสำนักด้วย
บาหลีเผชิญกับโศกนาฏกรรมเมื่อภูเขาตัมโบราระเบิดอย่างรุนแรง ส่งผลให้ผู้คนอดอยาก ล้มตายมากมาย ตามมาด้วยการเกิดกาฬโลก ฝีดาษ และอหิวาห์หลายครั้ง จนชาวบาหลีล้มตายเป็นเบือ
ในช่วงศตวรรษที่ 19 ชาวดัตช์มองหาลู่ทางเข้าสู่บาหลี โดยเริ่มจากทางการค้าขาย จนถึงปลายปี 1830 ดัตช์เจรจาอย่างเปิดเผยกับเหล่าราชาของบาหลีในเรื่องทางการค้า การเมือง ทาส และการปล้นทรัพย์ โดยใช้สัญญาสันถวไมตรีและการค้าที่มีนัยแอบแฝงเพื่ออำนาจสูงสุดและผูกขาดของของชาวดัตช์
ดัชต์และบาหลีแตกคอกัน เมื่อบาหลีมีการติดต่อกับสิงคโปร์ เมืองขึ้นของอังกฤษ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของพืชผลของบาหลี และบาหลีลดการขายทาสให้ชาวดัตช์เพื่อสงวนแรงงานไว้ทำการเกษตร
ช่วงต้นศตวรรษที่ 1840 ราชาแห่งอาณาจักรบันดุง กลุงกลุง บูเลเล็ง และการางาเซ็ม ถูกชักจูงให้ลงนามในสนธิสัญญาที่ยอมรับอำนาจสูงสุดของดัตช์ (เพราะเข้าใจผิดว่า ดัตช์จะสนับสนุนกำลังทหารในการโจมตีอาณาจักรมะตะรัมแห่งลอมบอก) ทั้งๆ ที่ดัตช์ไม่มีเจตนาที่ต้องการปกครองบาหลี เพียงแต่จะกันท่าอังกฤษเท่านั้น
เมื่อถึงปี 1840 ดัตช์เริ่มมีความคิดที่จะครอบครองบาหลีมากขึ้นด้วยเหตุผล 2 ประการคือ เป็นการกันท่าชาติตะวันตกชาติอื่น โดยเฉพาะอังกฤษ และเพื่อหยุดยั้งชาวบาหลีในการปล้นทรัพย์จากเรืออับปางในเขตชายฝั่งบาหลี
ราชาบาหลียึดหลักสิทธิแห่งแนวหิน (ตาวัน การัง) ซึ่งถือว่าเรืออับปางเป็นของขวัญจากเทพเจ้าแห่งท้องทะเล เรือรวมทั้งสินค้าและทุกคนในเรือจะตกเป็นสมบัติของราชา ที่จะทรงแบ่งทรัพย์สินให้กับผู้ที่มีส่วนในการกู้ทรัพย์สินนั้นมาได้ …
.. ชาวบาหลีจึงเข้าปล้นเรือรบดัตช์ ชื่อ โอเฟเรสเล ที่มาเกยตื้นในปี 1841 อันนำมาซึ่งความโกรธแค้นกับชาวดัตช์อย่างยิ่ง และความขุ่นเคืองมีมากขึ้นเมื่อ กุสตี กตุต จลันติก์ ราชาแห่งบูเลเล็ง ปฏิเสธการลงนามในสนธิสัญญาฉบับใหม่อย่างไม่มีเยื่อใยในการเข้าอยู่ภายใต้ร่มเงาของดัตช์
ในปี 1846 ดัตช์ได้ใช้ปฏิบัติการทางทหารตอบโต้บูเลเล็ง ซึ่งหนุนหลังโดยการางาเซ็ม ขณะที่ราชาแห่งกลุงกลุงทำเพียงการอำนวยพร และอาณาจักรอื่นๆเลือกที่จะวางเฉย … ในช่วงต้นของสงคราม 2 ครั้ง บาหลีต่อต้านกองกำลังของดัตช์อย่างเข้มแข็ง หากแต่ในการสงครามครั้งที่ 3 นั้น ดัตช์โจมตีฐานที่มั่นของบาหลี ณ เมืองจาการากา ทำให้ชาวบาหลีล้มตายนับพัน ขณะที่ดัตช์สูญเสียทหารเพียง 33 คน
ในการสังหารหมู่ครั้งนี้ชาวดัตช์ได้เห็นพิธีกรรมปลิดชีพตนเองของชาวบาหลี ซึ่งตามประเพณีเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการสิ้นสุดของอาณาจักร .. พระชายาของจลันติก์ (พระอนุชาของราชาแห่งบูเลเล็ง) นำกลุ่มสตรีบาหลีสูงศักดิ์ซึ่งอยู่ในสภาพดั่งถูกสะกดจิต ดาหน้าเข้าหาแนวรบของดัตช์ และถูกยิงตาย …
.. ราชาแห่งบูเลเล็ง ถูกปลงพระชนม์ในขณะที่จลันติก์ทรงปลิดชีพด้วยยาพิษ … และเมื่อข่าวทรงทราบถึงราชาแห่งการางาเซ็ม พรองค์ทรงสังหารพระราชวงศ์ และปลงพระชนม์ตนเองในเวลาต่อมา
ราชาที่เห็นความปราชัยอยู่เบื้องหน้าจะไม่มีวันยอมมอบตัว ทางเลือกอันเดียวที่มีเกียรติ์ คือ การจบพระชนม์ชีพในพิธีกรรมอันแสดงถึงความกล้าหาญสมฐานะของกษัตริย์ พระราชวงศ์และบุคคลในราชสำนักก็เช่นเดียวกัน
พิธีกรรมดังกล่าวมีชื่อว่า “ปูปูตัน” ซึ่งหมายถึง “จุดสิ้นสุด” หรือ “จุดจบ” … เป็นผลให้วิถีชีวิตแบบเก่า และระบบกษัตริย์สิ้นสุดลง
บาหลีตกอยู่ในช่วงเวลาที่บ้านเมืองระส่ำระสาย โดยมีชาวดัตช์ปกครองและดำเนินการปราบปรามผู้แข็งขืนอย่างต่อเนื่อง … ในปี 1904 เรือ “ศรีกุมาลา” ที่มีเจ้าของเป็นคนจีนถูกปล้นหลังชนโขดหินอับปางที่ชายฝั่งซาร์นู ราชาแห่งบาดุงปฏิเสธที่จะชดใช้ค้าเสียหาย โดยได้รับการสนับสนุนจากราชาแห่งตาบานัน
ดัตช์จึงปิดล้อมชายฝั่งบาดุงและตาบานัน ในเดือนกันยายน 1906 ดัตช์เดินทัพสู่เดนปาซาร์และพบกับเมืองร้าง มีเพียงควันไฟลอยสูงขึ้นไปในท้องฟ้าเบื้องหลังกำแพงวัง แล้วเสียงกลองก็รัวขึ้นจากภายใน … ต่อหน้าชาวดัตช์ ประตูวังเปิดออก ราชาแห่งบาดุงประทับบนพระเกี้ยวทองที่แบกโดยลูกหาบ 4 คน ฉลองพระองค์สีขาวและเครื่องประดับที่งดงามเลอเลิศ พร้อมพระกริชฝังอัญมณี ติดตามด้วยขุนนาง องครักษ์ นักบวช พระชายา พระโอรสธิดา และข้าราชบริพาร ทั้งหมดแต่งกายคล้ายคลึงกันด้วยชุดขาวและเครื่องประดับ
ขบวนทั้งหมดหยุดอยู่ห่างจากกองทัพดัตช์ 100 ก้าว และเมื่อราชาส่งสัญญาณ นักบวชก็ปักกริชลงบนพระอุระของพระองค์ … อีกฉากหนึ่งของ ปูปูตัน ที่น่าสยดสยองก็ปรากฏขึ้นอีกครั้ง
คณะผู้ติดตามลงมือกับตัวเองด้วยกริช แล้วล้มลงกองนองเลือดอยู่กับพื้น … ขณะที่ผู้คนยังหลั่งไหลออกมาจากวัง …
ทหารบาหลีเข้าปะทะกองกำลังของดัตช์ด้วยอาวุธที่เป็นเพียงหอก กริช คันธนูและลูกศร ดัตช์ยิงกราดจนกองศพใหญ่ขึ้นๆ ทหารดัตช์เข้าปล้นทรัพย์จากซากศพและปล้นสะดมภ์ซากพระราชวัง … และในบ่ายวันเดียวกันนั้นเองที่เดนปาซาร์ เกิดฉากคล้ายกันนี้อีก ณ ราชสำนักเล็กๆแห่งเปมจูตัน ที่ซึ่งราชาชราและพระราชวงศ์ปลงพระชนม์ตนเอง แทนการยอมจำนน
“ปูปูตัน” ที่อาณาจักรบาดุง มีผู้สังเกตการณ์ชาวดัตช์บรรยายไว้อย่างละเอียดว่า “เมื่อปืนใหญ่หยุดยิง เจ้าชายเสด็จพร้อมคณะผู้ติดตาม ผู้หญิงและเด็ก รวมราว 100 คนไปยังบริเวณอันลับตานั้น แล้วทิ่มแทงกันและกันด้วยกริช
.. พวกเราพบร่างพวกเขากองทับกัน โดยมีพระศพของเจ้าชายอยู่ใต้ร่างของผู้ติดตามที่ภักดี ประหนึ่งจะถวายอารักขาพระองค์แม้ในยามมรณา และบรรดาหญิงสาวที่งดงามที่สุดที่เราได้เคยพบในบาหลีนอนไร้วิญญาณอยู่ข้างๆลูกของตน”
ละครฉากสุดท้ายของบาหลีเกิดขึ้นในอีก 2 ปีถัดมา ในปี 1908 ราชาแห่งกลุงกลุงคัดค้านที่ดัตช์บังคับผูกขาดการค้าฝิ่นในดินแดนของพระองค์ ชาวบาหลีเผาร้านฝิ่นของดัตช์ในกลุงกลุง และสังหารพ่อค้าฝิ่น ดัตช์จึงฆ่าและทำร้ายชาวบาหลีหลายคนเพื่อล้างแค้น
จากนั้นดัตช์เข้าโจมตีอาณาจักรกลุงกลุง ซึ่งนำไปสู่ “ปูปูตัน” ครั้งสุดท้าย เมื่อราชาแห่งกลุงกลุงในฉลองพระองค์สีขาว สะพายกริชประจำพระราชวงศ์ พร้อมประชาชนกว่า 200 คน ค่อยๆปรากฏตัวจากพระราชวัง … พรองค์ทรงคุกเข่าและปักพระกริชลงในธรณี ด้วยหมายว่าธรณีจะแยกเป็นรอยใหญ่ และสูบศัตรูสิ้นไป ตามคำทำนายโบราณแห่งกริชศักดิ์สิทธ์อันนี้
น่าเศร้าที่คำทำนายไม่เป็นจริง … กระสุนดัตช์ปลิดชีพองค์ราชา พระชายา 6 คนคุกเข่าลงรายล้อมพระศพ แล้วทิ่มแทงคมกริชเข้าสู่หัวใจตน … แล้วจากนั้นก็เป็นพิธี “ปูปูตัน” ของผู้ติดตาม
พระราชวังถูกเผาในวันที่ 16 เมษณายน 1908 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุด 600 ปีแห่งการปกครองบาหลี หน่อเนื้อเชื้อพระวงศ์ของจักรวรรดิมัชฌิปาหิต แห่งชวา ถูกกำจัดแล้วจนสิ้นซาก …
…. ความเศร้าใจมากมายในสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตถาโถมเข้ามา … แผ่นดินที่ฉันยืนอยู่เวลานี้เคยเป็นสุสานของเหล่าราชา และบรรพบุรุษของชาวบาหลี … ความโลภ ความอยากได้ และอำนาจ ได้สร้างโศกนาฏกรรมที่น่าเสียใจมาแล้ว แต่สิ่งเดียวกันไม่ได้เลือนหายไปในปัจจุบัน เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบเพื่อสร้างความชอบธรรมในการครอบครองของผู้ที่มีพลังมากกว่าเท่านั้น …
บันทึก
3
1
2
3
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย