25 ก.ค. 2023 เวลา 01:58 • หุ้น & เศรษฐกิจ

จีนสหรัฐขัดแย้งส่งผลกระทบต่อไทยอย่างไร

“สหรัฐและจีน” มีความสำคัญกับไทยทั้งในแง่ของการเป็นตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าที่สำคัญของไทย โดยในปี 2565 สหรัฐเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยและเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย ขณะที่จีนเป็นทั้งแหล่งนำเข้าและคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยแรงปะทะของสองประเทศนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อไทย
“ซัพพลายเชนโลก” แบ่งขั้วผลจีนสหรัฐขัดแย้ง แนะเปลี่ยนความท้าทายเป็นโอกาส
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า สี เฟิ่ง เอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงวอชิงตัน กล่าวในเวทีความมั่นคงแอสเพนในกรุงวอชิงตัน เมื่อวันพุธ (19 ก.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น ว่า จีนไม่หลบหนีจากการแข่งขัน แต่สหรัฐทำกับจีนอย่างไม่เป็นธรรมที่ห้ามจีนนำเข้าอุปกรณ์ผลิตชิปทันสมัย
“เหมือนกับการบังคับอีกฝ่ายให้สวมชุดว่ายน้ำล้าสมัยลงแข่ง ขณะที่คุณสวมชุดของสปีโด (Speedo)” ทูตสีให้ความเห็นอ้างถึงรายงานข่าวที่ว่า รัฐบาลวอชิงตันกำลังพิจารณาทบทวนโครงการลงทุนต่างประเทศ และจำกัดการส่งออกชิปเอไอไปยังจีนมากขึ้นอีกซึ่งเขาย้ำว่าจีนไม่ได้ต้องการทำสงครามการค้าหรือสงครามเทคโนโลยี
ท่าทีที่ไม่สู้ทีระหว่างสหรัฐและจีน ตอกย้ำรอยร้าวก่อนหน้านี้ นำไปสู่การสัมมนา “Decoupling ระหว่างสหรัฐและจีน ไทยได้หรือเสียประโยชน์” พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า สงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐกับจีนที่เกิดขึ้นและดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน
ได้เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในหลายมิติ หนึ่งในนั้นคือ การแยกตัวของห่วงโซ่อุปทาน (Decoupling) ระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งเกิดจากการที่ทั้งสองประเทศได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความมั่นคงและความยืดหยุ่นให้กับห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ของตัวเอง ไม่ให้พึ่งพาการเป็นแหล่งผลิตหรือตลาดของอีกฝ่ายมากเกินไป
ทั้งนี้ ในปัจจุบันได้เกิดการเคลื่อนย้ายทางด้านการค้าและการลงทุนบ้างแล้ว และมีแนวโน้มทวีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่อไทย ในด้านโอกาสการที่สหรัฐและจีน มีส่วนแบ่งตลาดในแต่ละฝ่ายลดลง จึงเกิดการทดแทนแหล่งนำเข้าสินค้าของทั้งสองประเทศ"
ไทยเป็นประเทศที่ได้ประโยชน์ในตลาดสหรัฐมากเป็นอันดับสองในอาเซียน รองจากเวียดนาม โดยส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจาก 1.3% เป็น 1.8% ระหว่างปี 2561-2565 ในขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของไทยในตลาดจีนไม่เปลี่ยนแปลงมากนักอยู่ที่ 2.1%
สินค้าไทยที่สามารถเข้าตลาดสหรัฐได้มากขึ้น เช่น เครื่องปรับอากาศ กล้องบันทึกภาพ ตู้เย็น และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำแบบไวแสง (Photosensitive semiconductor) และวงจรอิเล็กทรอนิกส์อื่น (เช่น image sensor, temperature sensor) และชิ้นส่วนรถยนต์ โดยเฉพาะในส่วนที่เป็น Aftermarket (ซึ่งส่วนใหญ่เป็น REM) รถแทรกเตอร์ และรถจักรยานยนต์ ขณะที่สินค้าไทยที่สามารถเข้าตลาดจีน ได้มากขึ้น เช่น รถจักรยานยนต์
ไม่เพียงในด้านการค้าไทยยังได้อานิสงส์ในส่วนของการย้ายฐานการผลิตของทั้งบริษัทข้ามชาติและบริษัทจีน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากความต้องการบรรเทาผลกระทบจากการแบ่งแยกห่วงโซ่อุปทานนี้
สำหรับการวิเคราะห์เชิงลึกของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ชี้ให้เห็นว่า สหรัฐ นำเข้าเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ จากไทยเพิ่มขึ้น และทำให้สหรัฐ กลายมาเป็นตลาดส่งออกสำคัญ ในกรณีฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์มีการโยกย้ายคำสั่งผลิตฮาร์ดดิสก์ที่สลับซับซ้อนขึ้นมาผลิตในไทยเพิ่มมากขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์สามารถเข้าสู่ตลาดสหรัฐ เพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งออกชิ้นส่วนของไทยไปตลาดจีนลดลงทั้งมูลค่าและสัดส่วน เนื่องจากแนวโน้มการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ไทยควรประเมิน “Supply chain” แต่ละอุตสาหกรรม ไทยอยู่ในช่วงใดบ้าง (ต้นน้ำ กลางน้ำ หรือปลายน้ำ) ซึ่งไทยต้องพยายามอยู่ในห่วงโซ่อุปทานให้ได้ โดยอยู่แบบสมาร์ทและยั่งยืน สงครามการค้าเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิต ขณะเดียวกันจีนได้ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนเช่นเดียวกับชาติตะวันตก ที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่กำหนดให้การลงทุนของภาคเอกชนคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้น
รองประธานและเลขาธิการ หอการค้าไทยในจีน กล่าวว่า จีนมีความพยายามเชื่อมโยงกับภายนอก โดยเฉพาะกับอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับไทยที่อยากจะเข้ามาร่วมมือทางการค้าและห่วงโซ่อุปทาน โดยไทยมีความได้เปรียบทางต้นทุนด้านโลจิสติกส์มากกว่าประเทศอื่นในอาเซียน จึงเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้นักลงทุนชาวจีนเข้ามาลงทุน
"ไทยต้องกำหนด Position ความร่วมมือกับจีนโดยกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย (Cluster) ให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น และไทยยังสามารถเป็น Twin Cluster ร่วมกับจีนได้มากขึ้น และสามารถร่วมมือกับประเทศในอาเซียนเพื่อต่อยอดทางการค้าได้การเสริมสร้างขีดความสามารถเป็นปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะด้านแรงงานและความรู้เชิงปฏิบัติการ
ความขัดแย้งของสองประเทศ อย่างสหรัฐและจีนได้ส่งผลกระทบไปถึงประเทศที่ 3 และ 4 ซึ่งหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบคือประเทศไทยซึ่งมีทั้งผลด้านดีและร้าย การรู้ทันสถานการณ์และบริหารจัดการให้ดีผลร้ายอาจกลายเป็นดี และผลดีจะดียิ่งๆขึ้นไป-bkkbiznews
โฆษณา