26 ก.ค. 2023 เวลา 00:00 • การศึกษา

มีของดีไม่จำเป็นต้องลอง จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 673/2510

หลังจากที่เราได้พาทุกท่านไปพบกับคดีแปลกๆ ของต่างประเทศกันมาพอสมควรแล้ว วันนี้เราจึงขอพาทุกท่านมาพบกับคดีแปลกๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยกันบ้าง
เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2506 ขณะที่นาย น. และ นาย ฉ. กำลังนั่งดื่มสุรากันอยู่นั้น ทั้งสองได้มีการพูดคุยกันเกี่ยวกับวิชาคาถาอาคม โดยนาย น. อวดอ้างว่าตัวเองเป็นผู้ที่อยู่ยงคงกระพัน และได้ท้าทายให้นาย ฉ. ทดลองใช้มีดฟันดู พร้อมกับหยิบมีดพร้ายื่นให้นาย ฉ. เพื่อให้สมดั่งที่ใจนาย น. ปรารถนา นาย ฉ. จึงได้ใช้มีดฟันไปที่นาย น. ทำให้นาย น. ได้รับบาดเจ็บ
ต่อมา นาย น. จึงได้ฟ้องนาย ฉ. เป็นคดีต่อศาล ขอให้นาย ฉ. ชดใช้ค่าเสียหายจากการที่นาย ฉ. ใช้มีดฟันดังกล่าว รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 36,834 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
โดยคดีดังกล่าวศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่า การที่นาย น. ท้าให้นาย ฉ. ใช้มีดฟันเพื่อทดลองคาถาอาคมนั้น เป็นการที่นาย น. ได้ยอมหรือสมัครใจให้นาย ฉ. ทำร้ายร่างกาย เป็นการยอมรับผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ตนเองตามกฎหมายจึงถือไม่ได้ว่านาย น. ได้รับความเสียหาย นาย น. จึงฟ้องให้นาย ฉ. รับผิดชำระค่าเสียหายไม่ได้
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันได้มีการบังคับใช้ พรบ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 โดยตามมาตรา 9 ของ พรบ. ดังกล่าว กำหนดว่า “ความตกลงหรือความยินยอมของผู้เสียหาย สำหรับการกระทำที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จะนำมาอ้างเป็นเหตุยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดเพื่อละเมิดมิได้”
ด้วยเหตุนี้ หากมีเหตุการณ์ดังเช่นที่เกิดขึ้นในคดีระหว่างนาย น. และนาย ฉ. ข้างต้น เกิดขึ้นในปัจจุบัน การที่นาย ฉ. ใช้มีดฟันนาย น. ย่อมถือเป็นการกระทำที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เพราะป็นการกระทำความผิดกฎหมายอาญา และแม้การใช้มีดฟันดังกล่าวจะเกิดจากการท้าทายหรือความยินยอมของนาย น. ก็ไม่อาจนำมาอ้างเอาการท้าทายหรือความยินยอมดังกล่าวมาเป็นเหตุยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดจากการละเมิดได้
ประกอบกับต่อมามีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5475/2561 ที่วินิจฉัยว่า การทำร้ายร่างกาย แม้จะเกิดจากผู้เสียหายสมัครใจเข้าวิวาทก็ตาม การกระทำดังกล่าวก็เป็นการละเมิดต่อผู้เสียหายและต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายอีกด้วย
นอกจากนี้ ที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่านาย ฉ. ไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่นานย น. นั้น เป็นเพียงการวินิจฉัยในส่วนความรับผิดทางละเมิดหรือางแพ่งเท่านั้น ส่วนความรับผิดทางอาญาอาญาปรากฏว่า ศาลในคดีอาญาได้มีคำพิพากษาลงโทษนาย ฉ. ฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้นาย น. ได้รับอันตรายสาหัส
ที่มา :
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 673/2510.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5475/2561.
จิตติ ติงศภัทิย์, คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรียงมาตรา ว่าด้วย จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ ละเมิด (ปรับปรุงโดย เขมภูมิ ภูมิถาวร ชวิน อุ่นภัทร อำนาจ ตั้งคีรีพิมาน, กองทุนศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2557).
โฆษณา