27 ก.ค. 2023 เวลา 04:00 • ไลฟ์สไตล์

เรียนรู้ 'ปรากฏการณ์งูเห่า'

(บทความนี้มีการใช้ "งู" เป็นภาพประกอบ)
🐍พฤติกรรม งูเห่า ในไทยอาจหมายถึง การทรยศ แต่รู้ไหมว่า "ปรากฏการณ์งูเห่า" ยังมีความหมายอื่นในมุมเศรษฐศาสตร์ด้วย และนอกจากนี้ ยังมีสัตว์ชนิดอื่น อาทิ กบ และ นกกระจอกเทศ ที่ถูกนำมาอธิบายพฤติกรรมมนุษย์เช่นกัน
จากบทความ เรียนรู้ 'ปรากฏการณ์งูเห่า' โดย ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ เล่าถึง ปรากฏการณ์งูเห่า หรือ Cobra Effect ว่า เกิดขึ้นในอินเดียสมัยอังกฤษปกครองเมื่อต้นทศวรรษ 1900’s
ทางการอินเดียพบว่า ในเมืองเดลี (เป็นเมืองหลวงในปี 1911 โดยย้ายจากกัลกัตตา และในปี 1927 เปลี่ยนชื่อเป็น New Delhi) มีงูเห่าชุกชุม จึงออกมาตรการให้ “สินบน” ในการจับงูที่ตายแล้วมาขึ้นเงิน โดยหวังว่าสิ่งล่อใจนี้จะช่วยให้ผู้คนช่วยกันกำจัดงูเห่า
ในตอนแรกโครงการรณรงค์เป็นไปด้วยดี ประชาชนมีรายได้จากการจับงู และงูที่เอามาขึ้นเงินก็มีจำนวนมากขึ้นทุกทีจนทางการสงสัย และพบว่าแท้จริงแล้วมีการ "เพาะงูเห่า" เพื่อเอามาขึ้นเงิน
ทางการจึงประกาศยกเลิกโครงการ เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ผู้เลี้ยงงูทั้งหลายจึงพร้อมใจกันปล่อยงู เพราะเลี้ยงไว้ก็ไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้นงูเห่าจึงออกมาเพ่นพ่านและคาดว่าจะมีจำนวนมากกว่าเมื่อตอนเริ่มโครงการด้วยซ้ำ
เรื่องนี้เป็นที่ฮือฮามาก เพราะมาตรการที่ใช้กลับ #ก่อให้เกิดผลในทางตรงข้ามกับที่ตั้งใจไว้ แรงจูงใจกลับให้รางวัลอย่างไม่ตั้งใจแก่ผู้ที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ในทางวิชาการเรียกว่า “Perverse Incentive” หรือ "แรงจูงใจที่ก่อให้เกิดผลกลับทาง"
นักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ Horst Siebert แห่ง University of Kiel ได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังและเขียนเป็นหนังสือออกมาในปี 2002 โดยยกตัวอย่างเรื่องงูเห่าดังกล่าว และตั้งชื่อปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นว่า Cobra Effect (CE)
ทั้งนี้ นอกจาก "ปรากฏการณ์งูเห่า" แล้ว จะเห็นว่า มนุษย์มักนำเอาสัตว์มาใช้ในการอธิบายเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างน่าสนใจเสมอ เช่น “กบในน้ำเดือด” กับ “ปรากฏการณ์นกกระจอกเทศ” ซึ่ง ดร.วรากรณ์ อธิบายปรากฏการณ์ไว้ดังนี้..
🐸 กบในน้ำเดือด
เรื่อง กบในน้ำเดือด มาจากเรื่องเล่ากันมาที่ว่า กบเมื่ออยู่ในหม้อน้ำบนเตาไฟที่ร้อนขึ้นอย่างช้า ๆ จะไม่กระโดดหนีออกมาจนในที่สุดก็ตาย อุปมาเหมือนกับมนุษย์ที่ไม่ปรับตัว มัวแต่พอใจกับสถานะที่เป็นอยู่โดยหารู้ไม่ว่าสิ่งรอบข้างกำลังเปลี่ยนแปลงและกว่าจะรู้ตัวก็สายเกินไปเสียแล้ว
ฟังแล้วดูเป็นอุปมาอุปมัยที่เป็นเหตุเป็นผลดี แต่มันเสียตรงที่ว่า "ไม่เป็นความจริง" เพราะ เมื่อน้ำร้อนขึ้น #กบจะโดดหนีออกมา
เรื่องเล่าเกี่ยวกับกบนี้มีมาเป็นร้อย ๆ ปีแล้วในโลกตะวันตก มีการทดลองใน ค.ศ. 1869 ว่าจริง ๆ แล้วกบโดดหนีแต่ก็ไม่มีใครเชื่อ จนในปี 1995 Douglas Melton อาจารย์ที่ฮาวาร์ดได้ทดลองและสรุปว่าไม่ใช่เรื่องจริงโดย บอกว่า “กบโดดออกจากหม้อเมื่อน้ำร้อนขึ้น มันไม่นอนอยู่เพื่อเอาใจมนุษย์หรอก” (เเละมันไม่อยากกลายเป็นกบต้มโคล้งให้มนุษย์อีกด้วย)
ข้อคิดจากเรื่องกบในน้ำเดือด คือ สิ่งที่เรียกว่า Creeping Normality ซึ่งหมายถึง “การคืบคลานสู่ความเป็นปกติ” กล่าวคือคนจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ว่าเป็นสถานการณ์ปกติได้หากมันเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ โดยไม่สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้น
🪶 ปรากฏการณ์นกกระจอกเทศ
เรื่องที่สองคือ ปรากฏการณ์นกกระจอกเทศ (Ostrich Effect) เป็นที่เชื่อกันมานานว่า เวลานกมันตกใจก็จะเอาหัวซุกทราย ดังนั้น มนุษย์จึงเอาไปเปรียบเทียบกับพฤติกรรมมนุษย์ในหลายลักษณะ เช่น
...ไม่ยอมไปตรวจสุขภาพ เพราะกลัวพบความจริงว่าป่วยแล้วจะเกิดความทุกข์
...ไม่ยอมทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพราะกลัวไม่สบายใจเมื่อรู้ความจริงเกี่ยวกับการใช้จ่าย
...ไม่ติดต่อธนาคารเมื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้ เพราะทุกข์ใจและหวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่าธนาคารอาจลืม
…ไม่รับฟังข้อมูลในเรื่องที่ตรงข้ามกับความเชื่อและความชอบของตน ฯลฯ
1
พฤติกรรมที่หลีกเลี่ยงทั้งหมดนี้ไม่เป็นคุณแต่อย่างใด แต่ก็ยังปฏิบัติกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เรื่องนกกระจอกเทศเอาหัวซุกทรายก็ผิดอีกแบบเดียวกับเรื่องกบ คนเข้าใจผิดเมื่อเห็นมันขุดหลุมใหญ่เพื่อวางไข่ และลงไปไข่ในหลุม มันก้มหัวลงไปใกล้ดินเพื่อพลิกไข่ให้ได้รับความร้อนทั่วถึงจึงนึกว่ามันเอาหัวซุกทราย
โฆษณา