Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Supawan’s Colorful World
•
ติดตาม
26 ก.ค. 2023 เวลา 04:45 • ท่องเที่ยว
Pura Ulan Danu Bratan .. วัดสวยกลางทะเลสาบ
วัดอูลันดานูบราตัน (Pura Ulan Danu Bratan) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ปูราบราตัน (Pura Bratan) … เป็นวัดกลางทะเลสาบ สร้างขึ้นเพื่อบูชาเทวีแห่งสายน้ำ Dewi Danu ของศาสนาฮินดูแบบบาหลี
วัดแห่งนี้มีเจดีย์ 11 ชั้น สูงเพรียวยื่นเข้าไปในทะเลสาบอุทิศแด่เทวีดานู … วัดนี้มีความสำคัญถึงขนาดที่มีรูปอยู่ในธนบัตรใบละ 50,000 ของอินโดนีเซียเลยทีเดียวค่ะ วัดแห่งนี้จึงถือว่าเป็นวัดริมน้ำที่มีชื่อเสียงมากอีกแห่งหนึ่ง
ก่อนจะเข้าไปถึงวัด จะมองเห็นทะเลสาบ กูนุงบาร์ตู หรือทะเลสาบแห่งภูเขาอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นทะเลสาบปากปล่องภูเขาไฟที่สงบนิ่งและใหญ่ที่สุดของเกาะ น้ำในทะเลสาบสีเข้มด้วยแร่ภูเขาไฟจากที่ราบสูงบาร์ตู ไหลลดหลั่นลงสู่ทะเลสาบเบื้องล่าง
“ภูเขาไฟ กูนุง บาร์ตู” สูง 1,717 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล .. บริเวณนี้จึงมีอากาศเย็นกว่าด้านล่างมาก ปากปล่องภูเขาไฟลูกนี้มีเส้นผ่าศูนย์กลางกว้างมากถึง 11 กิโลเมตร และลึก 180 เมตร … เป็นปล่องภูเขาไฟที่ใหญ่มากๆ .. อากาศบนนี้ดีจนไม่อยากเดินไปไหน
“กูนุง บาร์ตู” เป็นบริเวณที่มีความพิเศษมาก ไม่เหมือนที่ใดๆบนเกาะบาหลี .. อาณาบริเวณนี้ รวมเทือกเขาหลังทะเลสาบที่ล้อมทะเลสาบและที่ราบทั้งหมด ตลอดจนภูเขาไฟหลายลูกตรงกลางแอ่ง … กูนุง บาร์ตู จึงเป็นภูเขาไฟในปล่องภูเขาไฟ
เมื่อก่อน กูนุง บาร์ตู มีปากปล่องภูเขาไฟอยู่ 3 ปล่อง แต่ตอนนี้เบียดซ้อนเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆเป็น 6-7 ปล่องแล้ว และปรากฏการณ์เดียวกันนี้ยังคงเกิดอย่างต่อเนื่อง …
กูนุง บาร์ตูยังไม่หลับ ... ตามตำนานเล่าว่า พระศิวะ แบ่งเขามหาเมรุอันศักดิ์สิทธิ์ของฮินดูออกเป็น 2 ส่วน แล้วนำมาไว้ในบาหลี ซึ่งก็คือ ภูเขาไฟอากุง และบาร์ตู ซึ่งชาวบาหลีเคารพสักการะมาเนิ่นนาน … บาร์ตู เป็นสัญลักษณ์แห่งหญิง และอากุงเป็นชาย
“กูนุงบาร์ตู” มีปฏิกริยาทางภูเขาไฟครั้งล่าสุดเมื่อปี 1994 แต่หายนะครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในปี 1926 … บาร์ตูระเบิดรุนแรงในปี 1917 ทำลายบ้านเรือนราว 65,000 หลัง วัด 2,500 แห่ง และคร่าชีวิตผู้คนกว่าหนึ่งพันคน
.. ธารลาวาไหลท่วมหมู่บ้านเบื้องล่าง แต่กลับหยุดนิ่งสนิทหน้าวัดประจำหมู่บ้านอย่างน่าอัศจรรย์ ชาวบ้านจึงเชื่อว่าเป็นลางดี และยังคงอาศัยอยู่ในแถบนี้ต่อไป
แต่การระเบิดของ กูนุง บาร์ตู ในปี 1926 ได้ฝังกลบวัดทั้งวัด เว้นแต่แท่นบูชาสูงสุดที่อุทิศแด่พระแม่ทะเลสาบ ชาวบ้านได้อพยพขึ้นไปอยู่บนผาสูงเหนือบาร์ตู โดยนำแท่นบูชาที่พ้นภัยไปด้วย และเริ่มสร้างวัดที่สำคัญที่สุดเป็นอันดับสองของบาหลี รองจาก “วัดเบซาร์กิ” คือ “ปูรา อูลุน ดานู บาร์ตู”
ลานจอดรถมีทางเดินลงไปยังวัดต่างๆในบริเวณนี้ ... มีสวนสวยด้วยไม้ดอกไม้ใบให้แวะชมและถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก
ด้านซ้ายมือก่อนผ่านประตูผ่าซีกเข้าไปยังลายด้านใน เป็นที่ตั้งของวัดพุทธศาสนา มีเจดีย์ขนาดย่อมตั้งอยู่ และมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ด้วย ..
ดังนั้น นอกจากการเป็นศาสนสถานฮินดู (ปูรา) แล้ว ยังสันนิษฐานว่าเคยใช้เป็นพุทธสถานอีกด้วย
สถาปัตยกรรมวัดบาหลี
ศาสนาเป็นหัวใจสำคัญสำหรับจิตวิญาณอันสร้างสรรค์ของชาวบาหลี ความสามารถทางศิลปะไม่น้อย จึงถูกทุ่มเทไปเพื่อวัดวาอาราม
“วัดบาหลี” หรือ “ปูรา” .. ผสานรูปลักษณ์และประโยชน์ใช้สอยอย่างกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม ดังจะเห็นจากศาลาโปร่ง และประตูสลักสูงใหญ่
บริเวณศักดิ์สิทธิ์ในวัดบาหลีล้อมรอบด้วยกำแพง แต่เปิดโล่งสู่ฟ้า เช่นเดียวกับเทวสถานศักดิ์สิทธิ์ทั่วเขตแปซิฟิก และในส่วนอื่นของอินโดนีเซีย
ก่อนศตวรรษที่ 14 วัดพุทธและฮินดูของชวาโบราณสร้างจากก้อนหินแกรนิตที่ทนต่อสภาพอากาศและแผ่นดินไหวนับศตวรรษ .. แต่วัดบาหลีส่วนมากสร้างด้วยอิฐ ไม้ และแฝกมุงหลังคา ซึ่งต้องเปลี่ยนใหม่ทุก 20-30 ปี และวัดหนึ่งๆ มักจะมิได้สร้างเสร็จในคราวเดียว
ปูรา บราตัน .. สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1633 เพื่อเป็นศาสนสถานประกอบพิธีกรรมบูชาเทวีแห่งน้ำ (คล้ายคติพระแม่คงคา) ของชาวบาหลีพระนามว่า เดวีดานู (Dewi Danu)
เนื่องด้วยพื้นน้ำแห่งนี้จัดเป็นแหล่งชลประทานที่สำคัญของเกาะมาตั้งแต่โบราณ .. หอเมรุความสูง 11 ชั้นนั้นสร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่พระศิวะ รวมทั้งพระปารวตี
ประตูผ่าซีกของวัดของ ปูรา อูลุน ดานู บาร์ตู หนึ่งในวัดชลประทานสำคัญของบาหลีดูงามสง่า แต่เรียบง่าย … เปิดสู่ลานกว้างขวางของวัด มองเห็นหอเมรุยืนทะมึนทาทาบท้องฟ้า ดูเป็นความแตกต่างสุดขั้ว แต่งดงาม
“บาเล โกโดง” .. เป็นหอโบราณที่เก็บรักษาโบราณวัตถุ มีระฆังทองคำแท้ ที่ราชาซีงาราจา ทรงถวายเพื่อไถ่โทษที่ลบหลู่ทวยเทพ เป็นอาทิ
“ปูรา อูลุน ดานู บราตู” .. เป็นวัดบนแหลมเล็กๆที่ยื่นจากชายฝั่ง เจดีย์เก่าแก่เล็กๆที่โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมหลังคาทรงสูงซ้อนกันหลายชั้นตั้งอยู่ในน้ำ ด้านหลังเป็นขุนเขา มีหมอกลงมาบางๆ .. เป็นภาพที่ดูแล้วสบายตา สงบนิ่งงดงามที่หาดูไม่ได้ง่ายๆ
สิ่งที่โดดเด่นของวัดนี้ก็คือ ปูราสูงเพรียว แบบลัทธิไศวะ ที่ยื่นเข้าไปในทะเลสาบอุทิศแด่เทวีดานู … มุงด้วยฟางซ้อนกันถึง 11 ชั้น ซึ่งจำนวนหลังคาสำหรับเทพจะมีจำนวนเป็นเลขคี่เสมอ
บาหลีจัดว่าเป็นดินแดนแห่งจิตนิยมมีพิธีกรรมบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และธรรมชาติผสานกันอย่างลงตัว มีภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ จนกลายเป็นวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นมาก อีกทั้งงานจิตรกรรมและปฏิมากรรมต่างๆของบาหลีมีเอกลักษณ์สวยมีเสน่ห์แฝงไปด้วยคติธรรมและความเชื่อ
พิธีกรรมที่วัดแห่งนี้มักจะเกี่ยวพันแนบแน่นกับการบูชา อ้อนวอนขอน้ำทำเกษตรกรรมจากทะเลสาบ “ดาเนา บาร์ตู” ที่อยู่ใกล้ๆ ทีมีทางแม่น้ำและบ่อธรรมชาติมากมายตามไหล่เขา … ที่นี่ ปีละครั้ง .. หัวหน้าซูบะก์ท้องถิ่นจะมาร่วมหารือเรื่องการปันน้ำสู่ที่นา และสักการะเทวีดานู พระแม่แห่งทะเลสาบ
บริเวณวัดค่อนข้างเย็นสบายและสงบรื่นรมย์ จะมีบางครั้งที่เห็นเจ็ทสกีโฉบเข้ามาในสายตาอยู่บ้าง วัดนี้สร้างขึ้นในตอนต้นศตวรรษ 1600 โดยราชาแห่งเมิงวี และเป็นวัดชลประทานที่สำคัญของบาหลี
บรรยากาศและสีสันริมทะเลสาบ มองเห็นเรือแบบพื้นเมืองจอดเรียงรายอยู่ริมฝั่งหลายลำ ที่นี่คงมีกิจกรรมทางน้ำ ทั้งพายเรือในทะเลสาบ การล่องเรือให้เลือกเพลิดเพลิน
วัดอีกแห่งหนึ่งในบริเวณเดียวกัน
สระน้ำ จากด้านหนึ่งของวัด
เราเดินทางออกจากวัด …ฉันอดไม่ได้ที่จะหันกลับไปดูความงดงามคลาสสิกของเจดีย์ขอบทะเลสาบอีกครั้ง .. รถเคลื่อนไปตามถนน และดูเหมือนว่า “ปูรา อูลุน ดานู บาร์ตู” จะเดินตามมาส่งเรา ทำให้ฉันคิดถึงฉายาอีกอย่างหนึ่งของบาหลี “แดนสวรรค์แห่งสุดท้ายบนโลกมนุษย์”
บันทึก
2
1
2
2
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย