26 ก.ค. 2023 เวลา 09:00 • การเมือง

การจัดสวัสดิภาพช้างในปางช้างตามกฎหมายไทย

ช้างมีความผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยอย่างลึกซึ้งและเป็นระยะเวลายาวนานทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ โดยเฉพาะความผูกพันใกล้ชิดกับสถาบันหลักสำคัญของชาติ ได้แก่ ๑) สถาบันชาติที่ในอดีตคนไทยใช้ช้างในการศึกสงคราม ช้างเป็นขุนพลร่วมรบและเป็นกำลังสำคัญในสมรภูมิเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารเพื่อกอบกู้และรักษาเอกราชให้แผ่นดินไทยมาโดยตลอด จนได้รับการยกย่องให้เป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำชาติไทยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒
และต่อมาได้มีการประกาศใช้ธงช้างเผือกในสมัยรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๖ เป็นธงชาติไทย ก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้ธงไตรรงค์ดังเช่นในปัจจุบัน ๒) สถาบันศาสนา ซึ่งจะพบเห็นช้างได้จากภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถและประติมากรรมซึ่งอยู่ภายในบริเวณวัดที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนา
และ ๓) สถาบันพระมหากษัตริย์ที่ถือว่าช้างเผือกคู่บุญบารมีของพระมหากษัตริย์ โดยในอดีตช้างจะเป็นพระราชพาหนะให้แก่พระมหากษัตริย์ในการเดินทางและออกสงครามทำยุทธหัตถี และนอกจากที่ช้างจะมีความเกี่ยวข้องกับสถาบันหลักของชาติดังกล่าวแล้ว คนไทยยังใช้ประโยชน์จากช้างในการคมนาคมขนส่ง รวมทั้งในอุตสาหกรรมป่าไม้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำช้างมาเลี้ยงเพื่อการธุรกิจเชิงอนุรักษ์และให้ความบันเทิงแก่นักท่องเที่ยวที่มีอยู่หลายแห่งในประเทศไทยที่เรียกกันว่า “ปางช้าง ”
ปางช้างในประเทศไทยที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มีกระจายอยู่เกือบทุกภูมิภาคของประเทศไทย เช่น ภาคเหนือ มีปางช้างอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และลำปาง ภาคอีสาน มีปางช้างอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ ภาคกลาง มีปางช้างอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภาคตะวันออก มีปางช้างอยู่ที่เมืองพัทยา ภาคตะวันตก มีปางช้างอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี และภาคใต้มีปางช้างอยู่ในจังหวัดภูเก็ตและ
สุราษฎร์ธานี
โดยปางช้างในแต่ละที่จะมีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสใกล้ชิดกับช้างที่ไม่แตกต่างกัน กิจกรรมที่ทำให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสใกล้ชิดกับช้าง อาทิเช่น การจัดให้มีการแสดงของช้างในแบบต่าง ๆ คือ การแสดงช้างเตะฟุตบอล วาดรูป และเล่นดนตรี บางแห่งจัดให้มีการนั่งช้าง การนั่งแหย่งบนหลังช้าง (การขี่ช้างชมธรรมชาติ) และการอาบน้ำช้าง
แต่ปางช้างที่เป็นศูนย์อนุรักษ์ช้าง เช่น “ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ” จะมีกิจกรรมการแสดงช้างที่แตกต่างจากปางช้างอื่น ๆ คือ ไม่เน้นความสนุกสนานมากนัก แต่จะเน้นการแสดงที่เป็นเรื่องการทำงานของช้าง โดยเฉพาะเรื่องการทำไม้ ซึ่งรายได้จากการแสดงของช้างในปางช้างต่าง ๆ จะนำมาใช้ในการดูแลช้าง ปางช้าง ควาญช้าง รวมถึงการรักษาพยาบาลแก่ช้างที่ได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ ปางช้างบางแห่งยังจัดให้มีพิพิธภัณฑ์ช้างเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ความเป็นมาของช้างรวมถึงข้อมูลอื่น ๆ เกี่ยวกับช้างอย่างถูกต้องอีกด้วย
ที่มาภาพ www.freepik.com
ธุรกิจปางช้างในประเทศไทยได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งยุโรป เอเชีย และอเมริกา โดยที่สัดส่วนของนักท่องเที่ยวจากเอเชียมีมากถึงร้อยละ ๖๐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวไทยที่นิยมการท่องเที่ยวในรูปแบบนี้ เนื่องจากการจัดกิจกรรมของปางช้างที่มีอยู่หลากหลายจึงสร้างความพึงพอใจให้แก่นักท่องเที่ยวที่มาจากภูมิภาคต่าง ๆ เช่น นักท่องเที่ยวจากประเทศจีนจะนิยมกิจกรรมการนั่งแหย่งบนหลังช้าง (Trekking) และการแสดงโชว์ของช้าง
ในขณะที่นักท่องเที่ยวจากประเทศทางยุโรปไม่นิยมปางช้างที่จัดแสดงการโชว์ขี่ช้าง เนื่องจากเห็นว่าการแสดงโชว์ดังกล่าวควาญช้างจะต้องใช้โซ่และตะขอในการบังคับช้างเพื่อให้ทำกิจกรรมเหล่านั้น ซึ่งเห็นว่าเป็นการทารุณกรรม ทำให้ปางช้างในประเทศไทยหลายแห่งต้องปรับเปลี่ยนกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างช้างกับนักท่องเที่ยวแทนการโชว์ความสามารถพิเศษ
นอกจากนี้ ยังมีแนวความคิดที่ว่า ช้างในปางช้างถูกเลี้ยงในพื้นที่จำกัดไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระและไม่สามารถแสดงออกทางพฤติกรรมตามธรรมชาติได้ ซึ่งถือว่าปางช้างแห่งนั้นไม่เหมาะสมต่อการเข้าเยี่ยมชมเพราะช้างไม่ได้มีความเป็นอยู่ตามธรรมชาติที่ต้องการมีพื้นที่กว้างในการเดิน แทะเล็มหญ้า และมีสังคมกับช้างด้วยกัน แต่หากช้างในปางช้างแห่งนั้นไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระหรือแสดงออกทางพฤติกรรมตามธรรมชาติได้ สถานที่นั้นก็ไม่เหมาะสมสำหรับช้าง
รวมทั้งนักอนุรักษ์บางกลุ่มที่ยังมีความเชื่อว่าปางช้างที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าใกล้ช้างมากพอที่จะสามารถขี่ อาบน้ำ และสัมผัสช้างได้ นั่นหมายถึงช้างในปางนั้นได้รับการฝึกฝนอย่างทารุณโหดร้ายเพื่อทำลายสัญชาตญาณสัตว์ป่า จากแนวความคิดดังกล่าว จึงทำให้มีการนำหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) มาใช้เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตใหม่ให้แก่ช้างเลี้ยงในแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งต่อมาได้มีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การจัดสวัสดิภาพช้างในปางช้าง พ.ศ. ๒๕๖๓ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๓
ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔ ประกอบกับมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. ๒๕๕๗ เพื่อให้ช้างในปางช้างได้รับการเลี้ยงหรือการดูแลให้มีความเป็นอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม มีสุขภาพอนามัยที่ดี มีที่อยู่ อาหารและน้ำอย่างพอเพียง โดยกำหนดให้เจ้าของช้างและควาญช้างดำเนินการจัดสวัสดิภาพช้างในปางช้างตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ดังนี้
ที่มาภาพ www.freepik.com
๑. การจัดการด้านอาหารและน้ำ
๑) จัดให้ช้างได้รับอาหารที่มีคุณภาพ ปริมาณ ความหลากหลายของอาหาร และความถี่ของการให้อาหารอย่างเหมาะสมและเพียงพอ วันละไม่น้อยกว่าร้อยละ ๔ ของน้ำหนักตัว
๒) จัดให้ช้างได้รับน้ำที่สะอาดและเพียงพอตลอดทั้งวัน
๓) จัดให้ช้างได้รับอาหารเสริมและแร่ธาตุอย่างเหมาะสม
๒ การจัดการด้านพื้นที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม
๑) จัดให้ช้างอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ถูกสุขลักษณะ มีอุณหภูมิที่เหมาะสม อากาศถ่ายเทสะดวก
๒) มีโรงเรือนหรือสถานที่พักสำหรับช้างระหว่างวันในขณะที่ช้างไม่ได้ทำงาน
๓) มีโรงเรือนหรือสถานที่พักสำหรับช้างในช่วงเวลากลางคืนซึ่งมีพื้นที่อย่างเพียงพอที่ช้างจะสามารถลุกขึ้นยืน เดิน และลงนอนได้โดยสะดวก
๔) มีสถานที่ให้ช้างหลบแดดและฝนได้อย่างเพียงพอสำหรับช้างทุกเชือก
๕) จัดการขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลออกจากปางช้างอย่างเหมาะสม
๖) มีหลัก หรือหมุด และอุปกรณ์มัดล่ามที่ปลอดภัย หรือมีวิธีการควบคุมช้างให้อยู่ในบริเวณที่กำหนด
๓. การจัดการด้านสุขภาพอนามัย
๑) เจ้าของช้างต้องดำเนินการตามระบบป้องกันโรคระบาดและระบบควบคุมโรคระบาดในช้างตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. ๒๕๕๘ และจัดให้ช้างทุกเชือกได้รับวัคซีนป้องกันโรค การถ่ายพยาธิ และคำแนะนำของสัตวแพทย์เป็นประจำทุกปี
๒) ควาญช้างต้องได้รับการอบรมในการสังเกตความผิดปกติของช้างและการปฐมพยาบาลช้างเบื้องต้น
๓) จัดให้มียาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นในการรักษาพยาบาลช้างเบื้องต้นอย่างเพียงพอ
๔) จัดให้มีมาตรการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส (Elephant Endotheliotropic Herpes Virus : EEHV) และจัดให้มีการสุ่มตรวจโรควัณโรคช้างในปางช้างอย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง
๔. การจัดการด้านพฤติกรรมตามธรรมชาติ
๑) จัดให้ช้างทุกตัวสามารถแสดงพฤติกรรมในการหาอาหาร การเดิน การเล่น การนอน การผสมพันธุ์ การสื่อสารหรือปฏิสัมพันธ์กับช้างเชือกอื่น และจำกัดพฤติกรรมลักษณะก้าวร้าวที่เป็นอันตรายต่อช้างเชือกอื่น
๒) มีแผนจัดการกับช้างตกมันและช้างอาละวาดได้อย่างเหมาะสม
๓) ห้ามใช้งานช้างที่กำลังตกมัน
๕. การจัดการด้านสภาวะทางจิตใจ
๑) การปฏิบัติต่อช้างต้องเป็นไปตามหลักวิธีการควบคุมบังคับช้าง การสื่อสารกับช้างและการเข้าหาช้าง โดยไม่ทำให้ช้างหวาดกลัวหรือหวาดระแวง เว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็นเพื่อป้องกันอันตรายต่อชีวิต ทรัพย์สิน หรือสัตว์อื่น
๒) จัดให้มีบริเวณเฉพาะเพื่อแยกกักสำหรับช้างที่นำเข้ามาใหม่ และช้างที่มีความหวาดกลัวหรือหวาดระแวง
๓) มีการให้ความรู้และข้อควรระวังแก่ผู้มาเยี่ยมหรือนักท่องเที่ยวที่เข้ามาทำกิจกรรมกับช้างเพื่อป้องกันมิให้ช้างตื่นตกใจ หวาดกลัว หรือเกิดความเครียด
๔) การหย่านมให้กระทำได้เมื่อลูกช้างมีอายุไม่น้อยกว่า ๓๐ เดือน โดยคำนึงถึงขนาดตัวและความสูงของลูกช้าง
๕) จัดให้แม่ช้างพักท้องอย่างน้อย ๑๒ เดือน
๖. เจ้าของช้างจัดให้มีควาญช้างอย่างเพียงพอ สำหรับดูแลช้างแต่ละเชือกให้ได้รับการจัด สวัสดิภาพอย่างเหมาะสม
๗. การใช้ช้างเพื่อทำงานหรือเพื่อการแสดง ต้องคำนึงถึงสภาพร่างกายและจิตใจของช้างและปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังนี้
๗.๑ การใช้ช้างเพื่อขี่เป็นพาหนะ
๑) ช้างที่ใช้ขี่แบบหลังเปล่า ต้องมีอายุตั้งแต่ ๑๐ ปี จนถึง ๖๐ ปีบริบูรณ์ หรือมีความสูงจากพื้นถึงไหล่ของช้าง ไม่น้อยกว่า ๑.๕๐ เมตร
๒) ช้างที่ใช้ขี่แบบนั่งแหย่ง ต้องมีอายุตั้งแต่ ๑๕ ปี จนถึง ๖๐ ปีบริบูรณ์ หรือมีความสูงจากพื้นถึงไหล่ของช้าง ไม่น้อยกว่า ๒.๐๐ เมตร
๓) การบรรทุกคนหรือสิ่งของ น้ำหนักบรรทุกรวมต้องไม่เกินร้อยละ ๑๐ ของน้ำหนักตัวของช้าง และไม่เกิน ๓๕๐ กิโลกรัม
๔) กำหนดเวลาทำงานปกติไม่เกิน ๘ ชั่วโมงต่อวัน ระยะเวลาทำงานจริงไม่เกิน ๔ ชั่วโมงต่อวัน ระยะเวลาทำงานติดต่อกันแต่ละครั้งต้องไม่เกิน ๑ ชั่วโมง และกำหนดเวลาพักช้างหลังทำงานแต่ละครั้งไม่น้อยกว่า ๑๕ นาที
๕) ระยะเวลาการฝึกช้างเพื่อขี่เป็นพาหนะ ต้องไม่เกินวันละ ๑ ชั่วโมง
๗.๒ การใช้ช้างเพื่อการแสดง
๑) ช้างที่จะใช้ในการแสดง ต้องมีอายุตั้งแต่ ๓ ปี จนถึง ๖๐ ปีบริบูรณ์
๒) ลักษณะการแสดงต้องไม่เป็นการแสดงที่มีผลกระทบต่อสวัสดิภาพของช้างหรืออาจก่อให้เกิดอันตรายต่อช้าง เช่น การให้ช้างยืนสองขา การยืน นั่ง หรือเดินบนอุปกรณ์ต่าง ๆ การขับขี่อุปกรณ์ล้อเลื่อน การใช้เสียงดัง
๓) กำหนดเวลาทำงานปกติไม่เกิน ๘ ชั่วโมงต่อวัน ระยะเวลาทำงานจริงไม่เกิน ๔ ชั่วโมงต่อวัน ระยะเวลาทำงานติดต่อกันแต่ละครั้งต้องไม่เกิน ๑ ชั่วโมง และกำหนดเวลาพักช้างหลังทำงานแต่ละครั้งไม่น้อยกว่า ๑๕ นาที
๔) ระยะเวลาการฝึกช้างเพื่อการแสดง ต้องไม่เกินวันละ ๑ ชั่วโมง
๗.๓ การใช้ช้างเพื่อประกอบกิจกรรมร่วมกับช้าง
๑) ช้างที่จะใช้งาน ต้องมีอายุตั้งแต่ ๓ ปี จนถึง ๖๐ ปีบริบูรณ์
๒) กำหนดเวลาทำงานปกติไม่เกิน ๘ ชั่วโมงต่อวัน ระยะเวลาทำงานจริงไม่เกิน ๔ ชั่วโมงต่อวัน ระยะเวลาทำงานติดต่อกันแต่ละครั้งต้องไม่เกิน ๑ ชั่วโมง และกำหนดเวลาพักช้างหลังทำงานแต่ละครั้งไม่น้อยกว่า ๑๕ นาที
๓) ระยะเวลาการฝึกช้างเพื่อประกอบกิจกรรมร่วมกับช้าง ต้องไม่เกินวันละ ๑ ชั่วโมง
ที่มาภาพ www.freepik.com
๗.๔ การใช้ช้างเพื่อการชักลาก
๑) ช้างที่จะใช้ชักลาก ต้องมีอายุตั้งแต่ ๒๕ ปี จนถึง ๕๐ ปีบริบูรณ์
๒) น้ำหนักสำหรับการชักลาก ช้างหนึ่งเชือกต้องไม่เกินร้อยละ ๕๐ ของน้ำหนักตัว
๓) กำหนดเวลาทำงานปกติไม่เกิน ๔ ชั่วโมงต่อวัน
๔) ระยะทางในการชักลากทางราบ ครั้งละไม่เกิน ๕๐๐ เมตร และกำหนดเวลาพักช้างหลังทำงานแต่ละครั้งไม่น้อยกว่า ๑๕ นาที
๕) ระยะทางในการชักลากทางลาดชัน ครั้งละไม่เกิน ๑๐๐ เมตร และกำหนดเวลาพักช้างหลังทำงานแต่ละครั้งไม่น้อยกว่า ๑๕ นาที
๘. การบันทึกและจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับช้างในปางช้าง
การบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับช้างแต่ละเชือกโดยให้เจ้าของช้างเก็บรักษาตลอดอายุของช้างเชือกนั้นประกอบด้วย
๑) หลักฐานการขึ้นทะเบียนตามที่กฎหมายกำหนด และหมายเลขไมโครชิพ
(ถ้ามี)
๒) ประวัติสุขภาพ เช่น การตรวจสุขภาพ การเจ็บป่วย การตกมัน การได้รับวัคซีนป้องกันโรค การตรวจคัดกรองโรค การผสมพันธุ์ และการตกลูก
๓) ประวัติการใช้งานช้างตามที่อธิบดีกรมปศุสัตว์ประกาศกำหนด
๙. การควบคุมและจับบังคับช้าง ต้องกระทำอย่างเหมาะสม เท่าที่จำเป็น และพอสมควรแก่เหตุ
๑) ควาญช้างต้องได้รับการอบรมการควบคุมและจับบังคับช้าง รวมถึงการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ถูกต้องตามหลักวิธีการควบคุมบังคับช้างและคำนึงถึงสวัสดิภาพช้างเป็นสำคัญ
๒) การใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ในการควบคุมและจับบังคับช้างสามารถกระทำได้ในกรณีที่ช้างอาจกระทำอันตรายต่อชีวิต ทรัพย์สินและสัตว์อื่น
๑๐. การจัดเตรียมแผนสำรองกรณีเกิดโรคระบาด ภัยพิบัติ และเหตุฉุกเฉินอื่นที่อาจส่งผลกระทบต่อการจัดสวัสดิภาพของช้างอย่างร้ายแรง
จากการพิจารณาศึกษาถึงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่าง ๆ ที่กำหนดในประกาศฯ ฉบับนี้แล้ว จึงอาจพิจารณาเห็นได้ว่าได้มีการนำหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ตามหลักอิสรภาพสากลมาใช้เพื่อให้ช้างมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจอย่างครบถ้วนและเหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจปางช้างในประเทศ รวมทั้งยังมีข้อกำหนดที่เป็นการจัดสวัสดิภาพในการใช้งานและการแสดงของช้างในปางช้างอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การจัดสวัสดิภาพช้างในปางช้างบรรลุผลสำเร็จตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. ๒๕๕๗ และประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การจัดสวัสดิภาพช้างในปางช้าง พ.ศ. ๒๕๖๓ จะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนอย่างพร้อมเพรียงกันในการปฏิบัติ ควบคุมและติดตาม เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลในทางปฏิบัติในการส่งเสริมสวัสดิภาพและคุ้มครองช้างให้สมกับที่เป็นสัตว์ประจำชาติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป.
ที่มาภาพ www.freepik.com
โฆษณา