26 ก.ค. 2023 เวลา 06:52 • ท่องเที่ยว

Jatiluwih Rice Terrace .. ไปแลนา ที่บาหลี

ฉันเชื่อว่าชาวบาหลีมีความรัก ภูมิใจ และหวงแหนศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณของตน .. ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เพียงสะท้อนผ่านสถาปัตยกรรมและงานศิลปะการปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนตามแบบดั้งเดิม แต่ยังเห็นได้จากการดำรงชีวิต … ชาวบาหลียังทำกสิกรรมแบบดั้งเดิม ผู้คนเดินทางไปวัดเป็นประจำแม้ไม่มีนักบวช
พื้นที่ส่วนใหญ่ของบาหลีเป็นภูเขาสูง โดยเฉพาะพื้นที่ทางตอนเหนือของเกาะเป็นแนวภูเขาไฟที่ยังมีภูเขากูนุงอากุง คุกรุ่นอยู่ โดยยอดเขานี้เป็นยอดสูงสุดของเกาะที่สูงถึง 3,142 เมตร พื้นที่ราบของเกาะอยู่ทางตอนใต้ ขณะที่ภาคกลางได้อานิสงส์จากลาวาภูเขาไฟที่เคยระเบิดมาแล้วจึงมีความอุดมสมบูรณ์กว่าแหล่งอื่น
ยอดภูเขาสูงเสียดฟ้าเกาะเกี่ยวเมฆฝนที่เคลื่อนตัวจากมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ ที่ได้กลายเป็นสายฝนพรั่งพรูเฉลี่ยถึงปีละ 85 นิ้วต่อปี สายน้ำไหลจากภูเขาลงสู่ตอนใต้และออกสู่มหาสมุทรอินเดีย …
น้ำเหล่านี้ได้กัดเซาะหินภูเขาไฟอ่อน ทำให้เกิดเป็นหุบเหวลึกมากมายกระจายอยู่ทั่วไป
เนื่องจากพื้นที่ของเกาะบาหลีส่วนมากลาดชัน ดังนั้น เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการใช้ผืนดิน ชาวบาหลีจึงนำระบบการทำนาแบบขั้นบันไดมาใช้ … การเพาะปลูกและทำนาแบบขั้นบันไดจึงเป็นภูมิทัศน์ที่มีเสน่ห์เฉพาะตัวของเกาะบาหลี ที่ถูกถ่ายทอดผ่านปลายพู่กันของจิตรกรมากมาย ออกมาเป็นภาพวาดที่งดงาม …
แม้ว่าจะมีน้ำมากมายสำหรับการเพาะปลูก แต่ชาวบาหลีต้องหาทางนำน้ำจากแม่น้ำมาสู่ทุ่งนา .. และทั่วๆไปแล้ว การสร้างเขื่อนทำได้ยากลำบากมากเนื่องจากภูมิประเทศที่เป็นหุบเขาที่แคบและชัน
ระบบชลประทาน Subak Rice ที่โดดเด่นของบาหลี
เกษตรกรบาหลีมีระบบการส่งน้ำที่ใช้กันมานับศตวรรษ อันประกอบด้วยเครือข่ายที่ซับซ้อนของทางส่งน้ำและอุโมงค์ที่เรียกว่า “ซูบะก์” (Subak) โดยเจาะหินและสร้างรางไม้ไผ่เพื่อส่งน้ำ …
.. เคยมีจารึกกล่าวถึงระบบส่งน้ำในบาหลีว่ามีมาตั้งแต่ปี 944 ทางส่งน้ำบางสายยาวถึง 1 กิโลเมตร ซึ่งต้องใช้ช่างมืออาชีพในการสร้างและดูแลอุโมงค์เหล่านี้โดยเฉพาะในการนำน้ำขึ้นไปสู้ชั้นบนสุด และปล่อยให้ไหลลงสู่นาข้าวตามแรงดึงดูดของโลก
ระบบชลประทานนี้มีความสำคัญยิ่งต่อชาวนาทุกคน ต้องร่วมแรงร่วมใจกัน … ชาวนาทุกคนจึงเป็นสมาชิกของกลุ่มปันน้ำซึ่งใช้น้ำจากแหล่งเดียวกัน มีหัวหน้ากลุ่มที่เรียกว่า Klian Subak ได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิก
 
Subak ที่ใหญ่กว่าซึ่งถูกป้อนโดยคลอง ระดับต่ำสุดเรียกว่า tempek .. จะคอยดูแลให้สมาชิกรักษาซ่อมแซมคูและฝายให้มีสภาพที่ดีอยู่เสมอ และมีการกำหนดเวลาเปิดและปิดประตูน้ำของคลองส่งน้ำ เพื่อให้แน่ใจว่าพื้นที่เพาะปลูกได้รับการเหลื่อมกันและจัดสรรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียมที่สุด
Subaks เชื่อมโยงกับวัดบนภูเขาหรือ Pura Masceti ซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของ 1 ใน 2 วัดริมทะเลสาบ เหล่านี้คือ Pura Batu Karu ซึ่งประสานการชลประทานในบาหลีตะวันตก และ ปุรา อูลุน ดานู บนทะเลสาบเบราตันซึ่งกั้นระหว่างทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศใต้ของเกาะบาหลี
สำหรับชาวบาหลี … น้ำคือของขวัญจากเทพเจ้า ที่ต้องมีการน้อมรำลึกถึงอย่างเหมาะสมด้วยเครื่องสักการะและการสวดบูชา
วัดแห่งทะเลสาบซึ่งอุทิศต่อเทวีดานู พระแม่ธารา จึงเป็นสถาบันที่ดูแลระบบชลประทานของเกาะ โดยมี “ปูรา อูลุน ดานู บราตัน” รับผิดชอบทางด้านตะวันตก และ “ปูรา อูลุน ดานู บาร์ตู” ดูแลภาคเหนือ ใต้ และตะวันออก …
นักบวชในวัดจะเป็นผู้กำหนดปฏิทินการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวในแต่ละวัน ชาวนาจะรู้เวลาที่จะได้รับน้ำ และเวลาที่จะต้องปล่อยน้ำให้ซาบะห์อื่น .. ตามพื้นที่รับน้ำต่างๆ จะพบวิหารแห่งธาราขนาดเล็กอยู่ทั่วไป เช่นเดียวกับศาลแห่งธาราที่ผู้คนนำเครื่องสักการะมาเซ่นไหว้เป็นประจำ
ด้วยการผสมผสานคุณค่าดั้งเดิมอันศักดิ์สิทธิ์เข้ากับระบบที่เป็นระเบียบสูง .. ดังนั้น Subak ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการทำนาข้าวของชาวบาหลีที่ไม่เหมือนใครจึงเป็นการแสดงถึงหลักคำสอนเรื่องจักรวาลวิทยา Tri Hita Karana ของ ชาวบาหลี
ทั้งหมดนี้ เป็นภาพสะท้อนที่จับต้องได้ของความคิดและความเชื่อดั้งเดิมของชาวบาหลีที่มีรากฐานมาจากแนวคิดนี้ .. อันได้แก่ ความตระหนักว่ามนุษย์จำเป็นต้องรักษาความสัมพันธ์อันกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า มนุษย์กับเพื่อนมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติในชีวิตประจำวัน
แนวคิดเฉพาะดังกล่าว ปรากฏชัดในอัจฉริยภาพแห่งการสร้างสรรค์ของชาวบาหลี และประเพณีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์อันเป็นผลจากปฏิสัมพันธ์อันยาวนานของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างชาวบาหลีและวัฒนธรรมฮินดู
ดังนั้น .. ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการเกษตร ธรรมชาติ หรือมรดก Jatiluwih และนาข้าวอื่นๆ ในบาหลียังคงเป็นสถานที่สำคัญที่ควรอนุรักษ์ไว้และต้องคงอยู่อย่างยั่งยืนสำหรับคนรุ่นอนาคต
ภาพนาข้าวขั้นบันไดที่งดงาม จึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวทั้งหมด … ผืนนาอันเอ่อท้นด้วยน้ำพร้อมให้ดำนา อีกไม่นานต้นกล้าจะโผล่ยอดเขียวสดขึ้นพ้นน้ำ .. ต่อมาลำต้นสีเหลืองทอง ค้อมตัวอ่อนช้อยด้วยน้ำหนักของรวงข้าว ..
.. สุดท้าย ผืนดินโคลนว่างเปล่า รอคอยต้นกล้าใหม่อีกครั้ง … ทั้งหมดล้วนเป็นผลจากการวางแผนทางกสิกรรมและทางสังคมอย่างรอบคอบ
อันที่จริงแล้ววงจรการปลูกข้าว ต้องถึงพาการจัดการทางศาสนาพอๆกับเกี่ยวพันกับธรรมชาติ และเรื่องราวทางสังคม …
.. ชาวบาหลีเชื่อว่าข้าวที่งอกงามคือ “พระแม่เทวีศรี” จึงได้รับความเคารพเฉกเช่นมารดาแห่งภิภพ และจะถวายเครื่องสักการะอย่างเหมาะสมตลอดช่วงเวลาเพาะปลูก
.. ก่อนและหลังฤดูเพาะปลูกจะมีพิธีบูชาพระแม่ธรณี รวมถึงมีการสร้างศาลประจำไร่นา ให้เป็นที่สิงสถิตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้ที่คอยช่วยดูแลพืชผลให้งอกงาม
สำหรับเรา แค่ได้นั่งรถชมวิวนาขั้นบันไดที่มีสีสันแตกต่างกันไปตามฤดูกาลไปทั่วเกาะก็คุ้มค่าแล้วค่ะ … ตามไหล่เขามีการทำนาแบบขั้นบันไดอยู่ทั่วไป โดยบริเวณที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ นาข้าวขั้นบันได จาตีลูวีห์ (Jatiluwih) ซึ่งเป็นนาขั้นบันไดที่ใหญ่ที่สุดในบาหลี
Jaliluwih Rice Terrace.. ประกอบด้วยนาข้าวกว่า 600 เฮกตาร์ที่ไหลไปตามภูมิประเทศไหล่เขาของเทือกเขาบาตูการู .. พื้นที่ของนาข้าวแห่งนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของนาข้าวที่สวยงามโดดเด่นของบาหลี ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว นักปีนเขา นักปั่นจักรยาน และช่างภาพ
นาข้าวขั้นบันได Jatiluwih ตั้งอยู่บนเนินเขาสูงตระหง่านเหนือระดับน้ำทะเล 850 เมตร มีทิวทัศน์ที่สวยงามของนาข้าวขั้นบันไดโค้งมนซึ่งได้รับการชลประทานโดยใช้ระบบน้ำส่วนกลางที่น่าประทับใจซึ่งพัฒนาโดยเกษตรกรชาวบาหลี
.. รวมถึงเป็นตัวแทนของระบบ Subak ในฐานะภูมิทัศน์วัฒนธรรมของบาหลี ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจาก UNESCO ในเดือนมิถุนายน 2555
Jatiluwih ได้รับการยอมรับจาก UNESCO ให้เป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมของโลก และไม่อนุญาตให้มีการพัฒนาโรงแรมระดับดาวและโรงแรมในเมือง .. เว้นแต่สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวที่มีความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และร้อยละ 70 ของพื้นที่จะต้องถูกปล่อยทิ้งไว้ตามธรรมชาติเป็นผืนนาหรือพื้นที่เพาะปลูก
หมุ่บ้าน Jatiluwih .. ตั้งอยู่ที่เชิงเขา Batukaru ในหมู่บ้าน Jatiluwih ของ Tabanan Regency ครอบคลุมพื้นที่ 22.3 ตร.กม.ตั้งอยู่ที่ความสูงประมาณ 700 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล มีภูมิอากาศแบบเขตร้อน, ความชื้นในอากาศ 70-85% ภูมิประเทศ : 70% เป็นเนินเขา 20% ที่ราบ และ 10% ลาดชัน
พื้นที่กว้างขวางของนาขั้นบันไดที่ได้รับการบำรุงรักษาเป็นอย่างดีอย่างไม่น่าเชื่อ .. ซึ่งมีอายุย้อนไปถึงต้นศตวรรษที่ 9 .. เป็นบ้านของ 7 subak แต่ละ subak ประสานงานโดยผู้ควบคุมน้ำหลัก (Pekaseh) หนึ่งคน
เทพีแห่งข้าวเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Bhatari หรือ Dewi Sri ซึ่งเป็นแม่ของข้าว ในฐานะที่เป็นอาหารหลักของหมู่เกาะอินโดนีเซีย Dewi Sri ไม่เพียงได้รับการเคารพในบาหลีเท่านั้น แต่ยังเป็นที่สักการะบนเกาะชวาและเกาะผลิตข้าวอื่นๆ ด้วย
เราตื่นตาตื่นใจไปกับผืนนาขั้นบันไดที่กว้างใหญ่ นาข้าวเขียวขจีที่ทอดยาวไปตามภูเขาทั้งลูก จากจุดสูงสุดไปจนถึงจุดที่ตีนเขาบรรจบกับทะเล
ในช่วงที่เราเดินชมความมามของภูมิประเทศ แหล่งวัฒนธรรมยูเนสโก Jatiluwih .. เราได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของเกษตรกรท้องถิ่นที่ทำงานในไร่นา ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีในการถ่ายรูปไปด้วย
ระเบียงนา ที่ได้รับการสลักเสลาแกะสลักอย่างประณีตของ Jatiluwih จนออกมาเป็นเหมือนงานศิลป์ที่เดินดูได้ไม่เบื่อ .. แต่ละแห่งสามารถมองเห็นได้จากที่นี่ พร้อมกับระบบชลประทานที่สลับซับซ้อนที่วิ่งระหว่างกัน
นักท่องเที่ยวสามารถสูดอากาศบริสุทธิ์ ชื่นชมทัศนียภาพอันงดงาม และสัมผัสบรรยากาศที่เงียบสงบ .. ไม่เพียงแต่จะเป็นจุดที่สมบูรณ์แบบสำหรับการเพลิดเพลินกับช่วงเวลาผ่อนคลาย แต่ยังรวมถึงความกระตือรือร้น และวันที่น่าตื่นเต้นในธรรมชาติที่สวยงามในมรดกของยูเนสโก
โฆษณา