31 ก.ค. 2023 เวลา 05:39 • หุ้น & เศรษฐกิจ

โอกาสจากจีนที่โตช้าลง - Blockdit Originals โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร

เศรษฐกิจจีนนั้นมีแนวโน้มจะเติบโต้ช้าลงกว่าในอดีต นักวิเคราะห์มองว่า New Normal ใหม่จากนี้ไปอาจอยู่ในช่วงการเติบโตร้อยละ 4-5 จากปัญหาอสังหาฯ ปัญหาโครงสร้างประชากร ปัญหาสงครามการค้า ฯลฯ
3
ถ้าเทียบกับประเทศอื่น บางคนก็บอกไม่ขี้เหร่ แต่ถ้าเทียบกับอดีตของจีนที่เคยเติบโตในระดับร้อยละ 8-10 ก็เหมือนจากคนหนุ่มสาวที่กำลังวังชาเต็มที่กำลังเริ่มค่อยๆ หมดพลัง
ไม่ใช่แค่คนจีนที่ควรกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีน แต่คนทั้งโลกก็ควรกังวล เพราะจีนเคยเป็นหัวรถจักรของการเติบโตของเศรษฐกิจโลก อย่างแม้ในปีนี้จีนจะโตได้เพียงร้อยละ 5 แต่การเติบโตของจีนก็ถือเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของการเติบโตทั้งหมดของโลกเลยทีเดียว ถ้าต่อไปจีนโตต่ำลงอีก สหรัฐฯ ก็น่าจะต้องหนาว เอเชียก็น่าจะต้องหนาว และไทยที่พึ่งพาเศรษฐกิจจีนในระดับสูงทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวก็ต้องหนาวเช่นกัน
3
มีนักธุรกิจใหญ่ท่านหนึ่งเคยสอนผมไว้อย่างคมคายว่า ในทุกปัญหา ยิ่งเป็นโอกาส การเติบโตที่ช้าลงของจีน คนที่มองไม่เห็นโอกาสก็อาจถอนตัวออกจากจีน หรือคิดเลิกคบกับจีนเริ่มมองหาเพื่อนใหม่ แต่คนที่มองเห็นโอกาส ก็จะตระหนักในศักยภาพที่จีนยังคงมี
1
ศักยภาพนี้มาจากขนาดมโหฬารของตัวคูณ เพราะถึงแม้จีนจะเติบโตเพียงร้อยละ 4-5 แต่อย่าลืมว่า 4-5%คูณขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก เอาเพียงขนาดเศรษฐกิจของปักกิ่งเมืองเดียวก็ใหญ่กว่าขนาดเศรษฐกิจไทยทั้งประเทศแล้ว
2
Joe Ngai นักวิเคราะห์ชื่อดังจาก McKinsey คำนวณว่าใน Worst case หรือกรณีเลวร้ายที่สุด หากเศรษฐกิจจีนเติบโตต่ำเตี้ยเพียงร้อยละ 2 แต่เมื่อคูณกับขนาดมโหฬารของเศรษฐกิจจีน ภายในเวลา 10 ปี ก้อนการเติบโตใหม่ทั้งหมดของจีนจะมีขนาดเท่ากับขนาดเศรษฐกิจของอินเดียในปัจจุบันเลยทีเดียว ซึ่งเป็นเค้กก้อนใหญ่โตมโหฬารมาก
1
ส่วนหากเป็นในกรณีปกติ คือจีนเติบโตได้ที่ร้อยละ 5 ภายในเวลา 10 ปี การเติบโตใหม่ทั้งหมดของจีนจะเท่ากับขนาดเศรษฐกิจปัจจุบันของอินเดีย ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย รวมกันเลยทีเดียว
3
Joe Ngai จึงมีคำพูดติดปากที่มักจะบอกกับนักลงทุนว่า หากถามว่าใครจะเป็นจีนคนต่อไป (อินโดนีเซีย เวียดนาม หรืออินเดีย?) ในมุมของเขากลับจะตอบเหมือนเดิมว่า จีนคนต่อไปยังคงเป็นจีนเหมือนเดิม (The Next China is China)
4
นี่ยังไม่นับว่าการแข่งขันห้ำหั่นทางธุรกิจในจีนก็น่าจะลดลง เพราะนักลงทุนต่างชาติจากฝั่งสหรัฐฯ และยุโรปเริ่มถอนตัวออกจากสมรภูมิ เพราะความเสี่ยงเรื่องความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ในอดีตนักธุรกิจไทยมักบ่นว่าเข้าไปในจีน การแข่งขันสูงและร้อนแรงมาก เพราะต้องแข่งกับทั้งธุรกิจจีนและกับทั้งธุรกิจชั้นนำจากชาติตะวันตก แต่ตอนนี้นักธุรกิจไทยหลายคนมักกลับมาเล่าว่า เมื่อไปเยือนจีนแล้วได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น เพราะจีนเองก็อยากจะชวนไทยและธุรกิจจากประเทศกำลังพัฒนาเข้าไปลงทุนแทนที่ธุรกิจจากตะวันตก
2
มีการศึกษาของ Bain ประเมินว่าจากปี ค.ศ. 2022 – 2030 จีนจะมีชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นอีก 250 ล้านคน ในขณะที่ในอินเดีย จะมีชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นเพียง 36 ล้านคน ในอาเซียนรวมกันทั้งหมดจะมีชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น 27 ล้านคน และในแอฟริกาทั้งหมดจะมีชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น 9 ล้านคน จะเห็นว่าตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพมากที่สุดก็ยังคงเป็นจีนอยู่นั่นเอง
4
เมื่อการเติบโตภายในของจีนลดลง นักธุรกิจจีนเองก็จะเริ่มแสวงหาโอกาสจากการเติบโตทางเศรษฐกิจจากภายนอกมากขึ้น นี่จึงเป็นสาเหตุที่นักธุรกิจจีนสนใจอาเซียนภาคพื้นอย่างมากไม่ว่าจะเป็นลาว กัมพูชา เวียดนาม เพราะมองว่าประเทศเหล่านี้เติบโตจากจุดที่ต่ำ ทำให้ยังมีศักยภาพในการเติบโตในอัตราที่สูง
3
จึงเป็นโอกาสใหม่ของนักธุรกิจไทยที่จะพาร์ตเนอร์กับธุรกิจจีนในการบุกตลาดอาเซียนร่วมกัน และใช้ประโยชน์จากการเติบโตในภูมิภาคนี้ร่วมกัน
2
ในฝั่งของธุรกิจไทยที่ต้องการบุกตลาดจีน ในช่วงขาลงทางเศรษฐกิจของจีน ก็มีโอกาสที่จะได้ของดีราคาถูก และได้ Know How ใหม่ๆ ในราคาถูก บริษัทจีนเองมีเทคโนโลยีหลายอย่างที่สามารถเอามาปรับใช้กับตลาดไทยได้ และในช่วงขาลงทางเศรษฐกิจ ก็เป็นโอกาสของบริษัทชั้นนำของไทยที่จะเฟ้นหาบริษัทจีนที่มีศักยภาพและมีเทคโนโลยี โดยอาจเข้าซื้อกิจการหรือขอซื้อสิทธิการใช้เทคโนโลยีได้ในราคาที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับกิจการหรือเทคโนโลยีใกล้เคียงกันจากฝั่งตะวันตก
2
ปรัชญาจีนมีความเชื่อเรื่องวงจรขึ้นลงและวงจรฤดูกาล เมื่อมีขาขึ้นก็ต้องมีขาลง เมื่อลงถึงจุดหนึ่งก็กลับขึ้นอีกครั้ง เช่นเดียวกับนโยบายของภาครัฐและทัศนคติของรัฐจีนต่อภาคธุรกิจ เมื่อเข้าโหมดเคร่งครัดถึงจุดหนึ่งก็ต้องผ่อนคลาย เมื่อผ่อนคลายถึงจุดหนึ่งก็กลับมาโหมดเคร่งครัดอีกครั้ง เราจะเห็นประวัติศาสตร์จีนจากยุคเคร่งครัดของประธานเหมา มาสู่ยุคผ่อนคลายของเติ้งเสี่ยวผิง ก่อนจะดีดกลับไปสู่การเคร่งครัดภายใต้สีจิ้นผิง หลายคนจึงเชื่อว่าถึงจุดหนึ่งในอีกไม่นาน ลูกตุ้มนาฬิกาจะเหวี่ยงกลับไปอีกฝั่งอีกครั้ง
1
จีนจะเดินไปในทิศทางใดภายหลังหมดยุคของสีจิ้นผิง? หากดูจากผู้นำรุ่นใหม่ๆ ของจีน เราจะพบว่ามีประวัติจากเทคโนแครตและนักวิทยาศาสตร์สูงกว่าในยุคอดีตมาก และหากใครเคยคุยกับคนหนุ่มสาวของจีน ก็จะพบว่ามีแนวคิดเป็นมิตรธุรกิจและทัศนคติเสรีกว่าในอดีต ถึงจุดหนึ่งคงไม่แปลกที่จีนจะดีดกลับและดีดแรงอีกครั้ง
ถึงตอนนั้นเมื่อหมดช่วงฤดูหนาว ก็ต้องถามว่าในฤดูหนาว เราได้รีบตักตวงโอกาสไว้ ดังเช่นธุรกิจที่เคยเข้าจีนในยุคเริ่มต้นการปฏิรูปของเติ้งเสี่ยวผิงที่คนทั่วโลกยังมองจีนด้วยความไม่มั่นใจ ซึ่งต่อมาได้ประโยชน์มหาศาลจากยุครุ่งเรืองของจีน หรือเราจะมองเห็นโอกาสเฉพาะเวลาที่ทุกคนมองเห็นว่าเป็นโอกาสพร้อมกันหมด ซึ่งย่อมหมายถึงการแข่งขันที่สูงและก้อนเค้กที่แย่งกันจนอาจไม่ใช่โอกาสจริงอีกต่อไป
2
โฆษณา