Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Anuj
•
ติดตาม
27 ก.ค. 2023 เวลา 02:33 • การเมือง
การหย่ากันระหว่างสหรัฐและจีน
การหย่า (Decoupling) ระหว่างสหรัฐและจีนเกิดขึ้นในกระบวนโลกาภิวัตน์ซึ่งเป็นอารยธรรมหลักของโลกในปัจจุบัน เป็นเหตุการณ์ใหญ่ ที่ส่งผลให้เกิดการล่มสลายและการเปลี่ยนผ่านของอารยธรรมมนุษย์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน มันเป็นยุคใหม่ทั้งยุค ใช้เวลานาน
สหรัฐและจีนเปรียบเหมือนเสาหลักที่ค้ำจุนกระบวนโลกาภิวัตน์ไว้ ทั้งสองมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่มาก ทิ้งห่างลำดับที่สามไม่เห็นฝุ่น และมีงบประมาณทางทหารและความมั่นคงรวมกันมากกว่างบประมาณทางทหารของประเทศอื่นทั้งโลก
ในรอบ 20 กว่าปีที่ผ่านมา สหรัฐทำหน้าที่เหมือนเป็นผู้จัดระเบียบโลก ส่วนจีนทำหน้าที่เหมือนหัวรถจักรของเศรษฐกิจโลก แต่มันจะไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป ทั้งสองต่างมีเหตุผลที่จะหย่ากัน
สหรัฐเห็นว่าตนเองถูกเอาเปรียบหลายประการด้วยกัน ได้แก่
ก) ต้องเสียเปรียบดุลการค้าอย่างต่อเนื่องในจำนวนที่เพิ่มขึ้น เป็นเวลาหลายสิบปี เพื่อช่วยการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก เปิดทางให้หลายประเทศที่เดินนโยบายพาณิชย์นิยม มีจีนเป็นต้นได้เติบโตอย่างรวดเร็ว กลายเป็น “โรงงานของโลก” และไล่ทันอเมริกา
ข) สหรัฐต้องสูญเสียฐานอุตสาหกรรม ถูกจีนขโมยความรู้และเทคโนโลยีไปเป็นอันมาก
ค) สหรัฐต้องเป็นเหมือนหนังหน้าไฟ รับแต่ผลเสีย ไม่ได้รับผลดีของการจัดระเบียบโลก นั่นคือต้องใช้จ่ายงบประมาณมหาศาลในการจัดระเบียบในตะวันออกกลาง ถูกประณามว่าเป็นผู้กระหายสงครามไม่รู้จบ ถ้าทำสำเร็จ ประเทศอื่นมีจีนเป็นต้น ก็เข้าขยายการค้าการลงทุน ถ้าไม่สำเร็จ สหรัฐก็จะถูกรุมประณาม แม้จากพันธมิตรของตนเอง และถูกประเมินว่าเสื่อมถอยแล้ว
การหย่าขาดจากจีนในกระบวนโลกาภิวัตน์ สหรัฐมีเป้าหมายดังนี้คือ ก) ลดการขาดดุลการค้าปริมาณมหาศาลลง ข) ฟื้นฐานอุตสาหกรรมของตนอีกครั้ง สนับสนุนการลงทุนในประเทศ รวมทั้งนโยบาย”ซื้อผลิตภัณฑ์อเมริกา” ค) ผลักดันให้บรรดาประเทศที่ได้รับผลดีจากการจัดระเบียบโลก ต้องออกค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น สหรัฐจะไม่ควักกระเป๋าคล่องเหมือนเดิม และจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศที่เข้าร่วมหัวจมท้ายด้วยกันเท่านั้น มีแคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น เป็นต้น
สำหรับจีนมีเหตุผลในการหย่าคือ
ก) จีนได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในกระบวนโลกาภิวัตน์อย่างต่อเนื่องและรุนแรงขึ้น วิกฤติเหล่านี้กล่าวถึงที่สุดแล้วเกิดจากสหรัฐและตะวันตกที่เป็นศูนย์กลาง นับแต่ปี 2008 เหตุการณ์นี้ยิ่งชัดเจน ดังนั้นถ้าหากไม่หย่าเศรษฐกิจของตนออกจากสหรัฐลงเสียบ้าง โดยหันมาเน้นการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น จีนก็จะตกอยู่ในวังวนของวิกฤติเศรษฐกิจอย่างไม่รู้จบ
ข) วิกฤติเศรษฐกิจโลกนั้น สามารถเข้าใจได้ว่า เกิดจากการชักใยของสหรัฐเอง โดยอาศัยความเป็นใหญ่ทางเงินดอลล่าร์สหรัฐ การควบคุมในการทำธุรกรรมทางธุรกิจ การควบคุมตลาดทุนและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ไปจนถึงการเหนือกว่าทางเทคโนโลนี
ค) จีนมีช่องทางในการขยายเศรษฐกิจและตลาดได้มากในหมู่ประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ ที่มีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจจีนก็มีขนาดใหญ่มาก เปรียบเหมือนมหาสมุทร ไม่ได้เป็นห้วงน้ำเล็กอย่างญี่ปุ่น ซึ่งถูกกดดันจากสหรัฐได้ง่าย
จีนมีแนวทางในการหย่าจากสหรัฐดังนี้คือ ก) เพิ่มสัดส่วนของการบริโภคในประเทศแทนการส่งออกมากขึ้น ข) พึ่งตนเองทางเทคโนโลยีกระทั่งขึ้นนำ ค) สร้างโครงการแถบและทาง เพื่อให้จีนเป็นศูนย์กลางการผลิต การค้า การลงทุนในภูมิภาคต่างๆของโลก ได้แก่เอเชีย แอฟริกา ละตินอเมริกา และยุโรปถ้าเป็นไปได้ ง) ส่งเสริมความแข็งแกร่งของเงินหยวน สร้างสถาบันการเงิน โครงสร้างพื้นฐานในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ สร้างตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ของตน
การหย่าขาดระหว่างสหรัฐกับจีนจึงมีจุดประสงค์ร่วมกันคือ ทำให้เศรษฐกิจของทั้งสองไม่ต้องผูกพันเกี่ยวข้องกันมากเหมือนเดิม ที่เมื่อเศรษฐกิจของประเทศหนึ่งชะลอตัว เศรษฐกิจของอีกประเทศหนึ่งก็ชะลอตัวตามไปด้วย ถ้าการหย่าสำเร็จเราก็อาจเห็นเศรษฐกิจสหรัฐชะลอ แต่เศรษฐกิจจีนรุ่งเรือง หรือกลับกัน
แต่การหย่ากันในกระบวนโลกาภิวัตน์เป็นไปได้ยาก ประเทศทั้งหลายมีระบบเศรษฐกิจ-การเมืองที่ซับซ้อนเกินกว่าที่จะดำรงอยู่ตามลำพัง เช่นประเทศไทยโดยพื้นฐานต้องรวมกับประเทศอื่นในกลุ่มอาเซียน ต้องค้าขายกับจีนและประเทศอื่นที่ไม่ใช่จีน จึงดำรงอยู่ได้
การหย่ากันในกระบวนโลกาภิวัตน์ จึงมีแต่ทำให้เกิดผลเสีย-เสียแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สหรัฐย่อมไม่อาจเข้มแข็งไปกว่าเดิม เช่นเดียวกับจีน ว่าไปแล้วทั้งโลกพลอยอ่อนแอไปด้วย ความอ่อนแอดังกล่าวแสดงออกเช่น
ก) ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวยาวนาน ช่องว่างทางเศรษฐกิจขยายตัว
ข) สังคมขาดความแน่นเหนียว แนวโน้มแตกแยก
ค) ความอ่อนแอของรัฐ คือการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ของการเป็นรัฐสมัยใหม่ได้ การสูญเสียความชอบธรรมในการใช้อำนาจ และการไม่อาจเป็นต้นแบบของค่านิยมอุดมการณ์แห่งชาติได้
ความอ่อนแอดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นอย่างสุดขีด เราอยู่ในกระบวนเปลี่ยนผ่านที่มีความหลากหลาย มนุษย์ยังคงมีศักยภาพที่จะอยู่รอด
ภาพประกอบบทความโดย กันต์รพี โชคไพบูลย์
1
ความคิดเห็น
ข่าวรอบโลก
การเมือง
บันทึก
3
4
3
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย