29 ก.ค. 2023 เวลา 00:05 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

บทความ Blockdit ตอน Oppenheimer Moment (อ่านประกอบดูหนัง Oppenheimer)

เมื่อสหรัฐฯตัดสินใจพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ในโครงการแมนฮัตตัน (รหัส Project Y) พวกเขาอยากได้ผู้นำโครงการเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เคยได้รับรางวัลโนเบล เพราะจะมีบารมีพอดึงนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำทั่วประเทศมาร่วม แต่ในที่สุดก็ไม่ได้ให้นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล ยกตำแหน่งให้คนที่ถือว่าหนุ่มมากคนหนึ่งเป็นผู้นำทีม
5
เจ. รอเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์
ออพเพนไฮเมอร์อายุแค่ 38 ตอนทำโครงการแมนฮัตตัน เขาเป็นคนฉลาด ทะเยอทะยาน มีเสน่ห์ในการโน้มน้าวใจคน
เขาเก่งทั้งทางวิทยาศาสตร์และวิชาทางภาษาศาสตร์ อ่านมาก รู้รอบตัว เรียนภาษาละตินและสันสกฤต เพื่อที่จะอ่านต้นฉบับได้ และเรียนเร็วมาก ครั้งที่เขาไปสอนที่เนเธอร์แลนด์ เขาบรรยายเรื่อง ควอนตัม เมคานิกส์ เป็นภาษาดัตช์ ทั้งที่เพิ่งเรียนภาษานี้มาแค่หกอาทิตย์
และเขาก็พิสูจน์ว่าเขาทำงานนี้ได้ดีเยี่ยม ออพเพนไฮเมอร์ไม่ได้แค่รวมพลนักวิทยาศาสตร์แล้วชี้นิ้วสั่งงาน เขาลงไปร่วมกระบวนการคิด ทำงาน และทำให้พวกนั้นส่งการบ้าน (คล้ายๆ สตีฟ จ๊อบส์ ในยุคเรา) นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากที่ร่วมทำงานกับเขาบอกว่า หลายปีที่ ลอส อลามอส เป็นช่วงเวลาทำงานที่ มีความสุข
1
เหตุผลหนึ่งที่ออพเพนไฮเมอร์ยอมร่วมโครงการก็เพราะเขาเชื่อว่าระเบิดมหาประลัยจะรับประกันสันติภาพในโลก
1
ทว่าหลังจากเห็นฤทธิ์ระเบิดรหัส Trinity ซึ่งส่งควันสูงกว่าภูเขาเอเวอเรสต์ นักฟิสิกส์หลายคน เช่น ลีโอ ไซลาร์ด เดวิด ฮิลล์ ฯลฯ ก็ร่วมลงชื่อในจดหมาย ขอให้ประธานาธิบดีทรูแมนสั่งทิ้งระเบิดในที่รกร้าง แค่แสดงอานุภาพของระเบิดปรมาณู เพื่อให้ญี่ปุ่นยอมแพ้โดยไม่ต้องทำลายล้างเมืองใดเมืองหนึ่ง (ลีโอ ไซลาร์ด ก็คือคนที่ไปหาไอน์สไตน์ เพื่อให้เซ็นชื่อในจดหมายเสนอให้ประธานาธิบดีโรสเวลท์สร้างระเบิดปรมาณู)
ออพเพนไฮเมอร์กลับเห็นตรงข้าม เขาให้เหตุผลว่าเรื่องนี้เป็นการตัดสินใจของรัฐบาล หน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์คือสร้างระเบิดอย่างเดียว แต่ความจริงคือเขาเชื่อว่าหากไม่สาธิตการทำลายล้างให้เห็นประจักษ์ ญี่ปุ่นไม่มีวันยอมแพ้ และทหารอเมริกันที่กำลังจะบุกญี่ปุ่นก็ต้องตายไปจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ออพเพนไฮเมอร์มองไกลถึงผลที่จะตามมา คือการแข่งขันสร้างอาวุธ เขาเสนอฝ่ายทหารว่าสหรัฐฯควรบอกโซเวียตเรื่องโครงการแมนฮัตตัน เพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันสร้างอาวุธกัน เบื้องบนปฏิเสธ เห็นว่าออพเพนไฮเมอร์ไร้เดียงสามากในเรื่องการเมืองโลก
1
เมื่อข่าวทิ้งระเบิดฮิโรชิมาเดินทางมาถึง ลอส อลามอส ทางวิทยุกระจายเสียง เหล่านักวิทยาศาสตร์ได้ยินประกาศของประธานาธิบดีว่าการทิ้งระเบิดที่ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จ ก็ปรบมือดังสนั่น ออพเพนไฮเมอร์ก็รู้สึกดี ปราศรัยกับทีมงานแสดงความยินดีที่ทำงานสำเร็จ บอกว่าเสียดายที่ไม่ได้ใช้ระเบิดกับพวกนาซี
4
เนื่องจากพวกเขาได้ยินข่าวฮิโรชิมาทางวิทยุ จึงไม่เห็นภาพความเลวร้ายของระเบิด แต่หลังจากรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ว่างานของพวกเขาคร่าชีวิตพลเรือนไปเรือนแสน ความรู้สึกของพวกเขาก็เปลี่ยนไป
ในภาพยนตร์ ขณะที่ออพเพนไฮเมอร์กล่าวคำปราศรัยแสดงความยินดีกับเพื่อนร่วมงานที่ทำสำเร็จ นัยน์ตาของเขาแห้งแล้ง มองเห็นภาพหายนะของคนตายด้วยระเบิด
2
ออพเพนไฮเมอร์ ในภาพยนตร์เรื่อง Oppenheimer
เขาเคยเชื่อว่าการสร้างระเบิดจะช่วยยุติสงคราม แต่มันกลับเป็นการเริ่มต้นของปฏิกิริยาลูกโซ่ของการแข่งขันสร้างอาวุธ
หลายอาทิตย์หลังทิ้งระเบิด ออพเพนไฮเมอร์ขอเข้าพบประธานาธิบดีทรูแมน เพื่อให้สร้างสันติภาพโดยปราศจากระเบิดนิวเคลียร์ เขาบอกว่ามือของเขาเปื้อนเลือด
2
ทรูแมนหงุดหงิด ก็ตัดบทจบการสนทนา บอกคนสนิทว่า อย่าให้ไอ้ขี้แยนี่เข้าออฟฟิศนี้อีก
2
ว่าแล้วก็เปิดไฟเขียวให้สร้างระเบิดที่ร้ายแรงกว่าระเบิดฮิโรชิมาถึงพันเท่า คือระเบิดไฮโดรเจน นำทีมโดย เอ็ดเวิร์ด เทลเลอร์
1
เอ็ดเวิร์ด เทลเลอร์ (Edward Teller เจ้าตัวชอบใจที่ชื่อย่อ E.T. ของเขาพ้องกับคำ Extra Terrestrial) เป็นเซียนฟิสิกส์ชาวฮังการี สมาชิกคนหนึ่งในกลุ่ม The Martians
1
ที่มาของคำว่า The Martians (มนุษย์ดาวอังคาร) เริ่มที่นักฟิสิกส์ เอนริโค เฟอร์มี คุยกับเพื่อนว่า จักรวาลมีดวงดาวมากมายที่อายุมากกว่าดวงอาทิตย์ของเรา ในช่วงอายุของจักรวาลที่ยาวขนาดนี้ ด้วยจำนวนดวงดาวมากมายขนาดนี้ ก็น่าจะมีชาวต่างดาวมาเยือนโลกเรานานมาแล้ว และหลายครั้งด้วย แต่กลับยังไม่มีสิ่งมีชีวิตต่างดาวปรากฏตัวให้เราเห็น ดังนั้นบางทีจักรวาลไม่มีสิ่งทรงภูมิปัญญาอื่นๆ
1
เอ็ดเวิร์ด เทลเลอร์ ในภาพยนตร์เรื่อง Oppenheimer
นักฟิสิกส์ ลีโอ ไซลาร์ด (Leo Szilard) ผู้มีอารมณ์ขันก็บอกว่า ทำไมจะไม่มีสิ่งทรงภูมิปัญญาต่างดาวเล่า มีซี พวกนั้นก็อยู่ในกลุ่มเรานี่แหละ เรียกว่าฮังกาเรียนไง
นักวิทยาศาสตร์ชาวฮังการีเหล่านี้จึงเรียกตนเองว่า The Martians ส่วนมากเป็นยิว ย้ายไปปักหลักที่สหรัฐฯในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20
กลุ่ม The Martians มีเซียนนักวิทยาศาสตร์อีกหลายคน เช่น พอล แอร์ดิช (Paul Erdos อัจฉริยะทางคณิตศาสตร์ ในวัยสามขวบเขาสามารถคำนวณจำนวนวินาทีที่เพื่อนคนหนึ่งของพ่อแม่ใช้ชีวิตมา), พอล ฮาลมอส (Paul Halmos), ธีโอดอร์ ฟอน คาร์แมน (Theodore von Karman), จอห์น ฟอน นิวแมนน์ (John von Neumann - คนที่เสนอไอเดียเครื่องจักรสร้างเครื่องจักร ซึ่ง อาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก นำไปเขียนในนวนิยาย 2010) ยูจีน วิกเนอร์ (Eugene Wigner นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล) และอีกมากมาย
2
The Martians มีบทบาทสร้างระเบิดปรมาณูตั้งแต่วันแรก เทลเลอร์เป็นคนขับรถพา ลีโอ ไซลาร์ด กับ ยูจีน วิกเนอร์ ไปหาไอน์สไตน์ที่บ้าน เพื่อให้เซ็นชื่อบนจดหมายเสนอให้ประธานาธิบดีโรสเวลท์สร้างระเบิดปรมาณู เทลเลอร์ก็เป็นสมาชิกรุ่นแรกของโครงการแมนฮัตตัน และมีความขัดแย้งกับออพเพนไฮเมอร์
2
เริ่มที่ออพเพนไฮเมอร์ตั้งให้ ฮานส์ เบเธอ (Hans Bethe) เป็นหัวหน้าแผนกทฤษฎี เทลเลอร์เห็นว่าเขารู้มากกว่าและมาก่อน (ต่อมาเบเธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์)
เรื่องที่สองคือเทลเลอร์ไม่เห็นด้วยกับวิธีทำระเบิดแบบ fission ของออพเพนไฮเมอร์ เขาคิดว่ามีวิธีที่ทรงพลังกว่านั้น คือระเบิดแบบ fusion (ระเบิดไฮโดรเจน) แต่ไอเดียของเขาถูกออพเพนไฮเมอร์ยิงทิ้ง และหลังสงครามออพเพนไฮเมอร์ก็ต่อต้านการสร้างระเบิดไฮโดรเจนของเขาอย่างโจ่งแจ้ง จนเทลเลอร์ไม่พอใจ
4
ออพเพนไฮเมอร์ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเอช-บอมบ์ (รหัสนาม Super) เริ่มที่ไม่เชื่อว่าทำได้จริง แต่เมื่อเห็นว่าทำได้จริง เขาก็ไม่ได้ต่อต้าน แต่ก็ขัดแย้งตัวเองอีก เขาเห็นว่าการสร้างระเบิดไฮโดรเจนจะดึงเงินไปจากการสร้างระเบิดปรมาณูเดิม
3
ออพเพนไฮเมอร์เห็นว่าการพัฒนาระเบิดไฮโดรเจนตอกย้ำว่าโลกกำลังเข้าสู่โหมดแข่งขันสร้างอาวุธ โลกกำลังเข้าสู่สถานะอันตราย ออพเพนไฮเมอร์จึงต่อต้านระเบิดไฮโดรเจน และเรียกร้องให้มีการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ในระดับนานาชาติ
1
แต่หลายคนเบื้องบนในสหรัฐฯมิได้ต้องการสันติภาพแบบนี้ พวกเขาต้องการเป็นเจ้าโลก โดยเฉพาะเมื่อสงครามเย็นกับโซเวียตกำลังเริ่มต้น
เป็นที่มาของการทำลายออพเพนไฮเมอร์ โดยใช้อำนาจศาลพิเศษ แต่หลังสงคราม ออพเพนไฮเมอร์เป็นวีรบุรุษของชาติ ทำลายออพเพนไฮเมอร์ตรงๆ ไม่ได้ แต่อาจผลักดันเขาให้หลุดออกจากผู้กำหนดนโยบายเรื่องอาวุธมหาประลัย
2
ออพเพนไฮเมอร์กับนายพลเลสลี โกรฟ์ส ในภาพยนตร์เรื่อง Oppenheimer
ออพเพนไฮเมอร์ บนปก TIME magazine มิถุนายน 1954 หลังจากถูกถอด Q clearance
นั่นคือหาข้ออ้างที่จะยุติ security clearance ของเขา
1
security clearance คือการอนุญาตเข้าสู่ข้อมูลระดับสูงของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ระดับสูงๆ เช่น ออพเพนไฮเมอร์ คือ Q clearance ระดับต่ำกว่านั้นคือ L clearance
กลุ่มที่ต้องการกำจัดออพเพนไฮเมอร์พบจุดอ่อนของเขาอย่างง่ายดาย นั่นคือเขามีประวัติเกี่ยวข้องกับพวกคอมมิวนิสต์ แม้จะไม่ใช่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์สหรัฐฯ แต่เขาก็ส่งเงินไปช่วยสงครามสเปน เรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ ฯลฯ นอกจากนี้น้องชายของเขา ภรรยาของเขา ก็เคยเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์สหรัฐฯ
2
ทุกอย่างเข้าทางทำลายออพเพนไฮเมอร์
การสอบสวนออพเพนไฮเมอร์เกิดขึ้นในปี 1954 กระทำโดย The Atomic Energy Commission (AEC) เพื่อสอบสวน สำรวจเบื้องหลัง การกระทำต่างๆ ของเขา
การสอบสวนกินเวลาสี่สัปดาห์ ออพเพนไฮเมอร์ให้การนาน 27 ชั่วโมง
ศาลพิเศษตั้งธงแล้วว่าจะล้มออพเพนไฮเมอร์ ฝ่ายที่จะล้มออพเพนไฮเมอร์มีหลายคนหลายองค์กร เช่น เอฟบีไอซึ่งดักฟังโทรศัพท์ของเขามานานหลายปี ส่วนบุคคลที่เป็นหัวหอกโค่นออพเพนไฮเมอร์คือ ลูอิส สตรอส์ (Lewis Strauss) ประธาน AEC
ลูอิส สตรอส์ สนับสนุนการสร้างระเบิดไฮโดรเจน และเคยถูกออพเพนไฮเมอร์เหยียบตีนหลายครั้ง เช่น ให้การต่อคองเกรสเรื่องการส่งออก radioactive isotopes ให้นอร์เวย์ ทำให้สตรอส์หน้าแตก หลายเรื่องรวมกันทำให้มันกลายเป็นเรื่องส่วนตัวไป
2
ฝ่ายสอบสวนนำนักวิทยาศาสตร์หลายคนมาให้การ เช่น เอ็ดเวิร์ด เทลเลอร์ เออร์เนสต์ ลอว์เรนซ์ ฯลฯ
เอ็ดเวิร์ด เทลเลอร์ แม้ไม่เห็นด้วยกับการสอบสวนครั้งนี้ และสามารถปฏิเสธที่จะไม่ให้การก็ได้ แต่เขาก็เข้าให้การว่าออพเพนไฮเมอร์จงรักภักดีต่อชาติก็จริง แต่ก็เห็นว่า หลายครั้งออพเพนไฮเมอร์กระทำการที่ทำให้เขาไม่แน่ใจ ดังนั้นเขาอยากเห็นหน้าที่นี้อยู่ในมือของคนอื่นที่เขาไว้ใจมากกว่า
1
เทลเลอร์กล่าวว่า ไม่น่าจะให้ Q clearance แก่ออพเพนไฮเมอร์อีกต่อไป
เพื่อนนักวิทยาศาสตร์ไม่ให้อภัยเทลเลอร์ที่ให้การต่อต้านออพเพนไฮเมอร์เหมือนหักหลังกัน ไม่มีใครอยากร่วมงานกับเทลเลอร์อีก
2
ส่วนนักฟิสิกส์ที่เคยร่วมงานกับออพเพนไฮเมอร์ เออร์เนสต์ ลอว์เรนซ์ (ในหนังแสดงโดย Josh Hartnett) หนีการให้การโดยอ้างเรื่องสุขภาพ แต่พูดนอกรอบว่า ไม่ควรให้ออพเพนไฮเมอร์เกี่ยวข้องกับโครงการอาวุธปรมาณูอีก ลูกน้องหลายคนของลอว์เรนซ์ก็ให้การต่อต้านออพเพนไฮเมอร์ ทำให้เกิดความบาดหมางกันในวงการฟิสิกส์
ออพเพนไฮเมอร์ให้การ ในภาพยนตร์ Oppenheimer
คำพิพากษาคือให้ยกเลิก Q clearance ของออพเพนไฮเมอร์ ส่งผลให้เขาไม่อาจมีบทบาทใดๆ กับรัฐบาลสหรัฐฯอีก
หลายคนเห็นว่าออพเพนไฮเมอร์ก็คือโสเครติสหรือกาลิเลโอยุคใหม่ ที่ถูกระบบล่าแม่มดทำลาย
1
สันติภาพโลกมิได้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ
สองปีก่อนที่ออพเพนไฮเมอร์หลุดจากวงจร เทลเลอร์ก็ได้นำทีมสร้างระเบิดไฮโดรเจน ห้องทดลองอยู่ที่ลิเวอร์มอร์ แคลิฟอร์เนียจนสำเร็จในปี 1952 มันมีอำนาจทำลายล้างสูงกว่าระเบิดปรมาณูฮิโรชิมาถึงพันเท่า
3
การจุดระเบิดไฮโดรเจน Ivy Mike สำเร็จเป็นครั้งแรก 1 พฤศจิกายน 1952
ในเวลาเดียวกัน กองทัพสหรัฐฯก็รวมวิทยาการสร้างระเบิดปรมาณูเข้ากับเทคโนโลยีจรวด V-2 ของนาซี เพราะหลังสงครามเลิก ทั้งสหรัฐฯและโซเวียตพากันแย่งชิงตัวนักวิทยาศาสตร์ที่สร้าง V-2 ไป สหรัฐฯคว้าสมาชิกนาซีตัวเบิ้ม เวอร์เนอร์ ฟอน บราวน์ ไปได้ มอบสัญชาติอเมริกันให้ ให้ ฟอน บราวน์ พัฒนาสร้างจรวดไปดวงจันทร์ ส่วนเทคโนโลยี V-2 เมื่อรวมกับระเบิดปรมาณู ก็กลายเป็นขีปนาวุธข้ามโลก
1
ในตำนานกรีกมีเรื่องของโพรมีเธียส (Prometheus) หรือเทพแห่งไฟ โพรมีเธียสขโมยไฟจากเทพแห่งโอลิมเปียมาให้มนุษย์ ไฟในความหมายนี้ก็คือวิทยาการ ความรู้ อารยธรรม
2
ผลคือโพรมีเธียสถูกเทพซูสลงโทษนิรันดร์ ถูกตรึงกับก้อนหิน และถูกอินทรีจิกกินตับ ตับที่ถูกกินจะงอกใหม่ชั่วคืน แล้วถูกจิกกินอีกในวันรุ่งขึ้น เป็นนิรันดร์
หลังถูกปลดจากวงจรอาวุธมหาประลัย ออพเพนไฮเมอร์ก็กลายเป็นฤาษีเก็บตัว เขายังบรรยายเป็นระยะ แต่ความรู้สึกผิดกัดกินเขา เขาเป็นเหมือนโพรมีเธียส ถูกลงโทษด้วยความรู้สึกผิดจิกกินทุกวันตลอดชีวิต
2
ในปี 1959 ประธานาธิบดี ดไวท์ ไอเซนฮาวเออร์ เสนอชื่อ ลูอิส สตรอส์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แต่นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งในโครงการแมนฮัตตัน เดวิด ฮิลล์ (คนที่ร่วมเซ็นชื่อในจดหมายที่ขอให้ประธานาธิบดีทิ้งระเบิดในที่รกร้าง ในหนังแสดงโดย Rami Malek) ให้การว่าสตรอส์ซึ่งสนับสนุนให้สร้างระเบิดไฮโดรเจน ต้องการแก้แค้นที่ออพเพนไฮเมอร์ทำให้เขาเสียหน้ามาหลายหน เป็นตัวการจัดฉากเล่นงานออพเพนไฮเมอร์
1
หลังคำให้การ สตรอส์ก็ถูกสภาเขี่ยตกจากการเสนอชื่อ
(ในภาพยนตร์ ท่อนนี้เป็นภาพขาวดำ เป็นเหตุการณ์ในปี 1959 คนละท่อนกับฉากสอบสวนออพเพนไฮเมอร์)
1
หนึ่งในวุฒิสมาชิกที่ออกเสียงเขี่ยสตรอส์ชื่อ จอห์น เอฟ. เคนเนดี ที่ไม่กี่ปีต่อมากลายเป็นประธานาธิบดี
1
ประธานาธิบดีเคนเนดีขอโทษออพเพนไฮเมอร์ในเรื่องนี้ และตั้งใจจะมอบรางวัล Fermi Award รางวัลสำคัญทางวิทยาศาสตร์ให้ออพเพนไฮเมอร์ (เงินรางวัลห้าหมื่นเหรียญในสมัยนั้น ราวครึ่งล้านในยุคนี้) แต่เคนเนดีถูกลอบสังหารก่อนในปี 1963 ประธานาธิบดีจอห์นสันจึงเป็นคนมอบรางวัลแทน
1
คนหนึ่งที่ได้รับเชิญไปงานมอบรางวัลคือเทลเลอร์ เทลเลอร์ยื่นมือให้ออพเพนไฮเมอร์จับ ทั้งสองจับมือกัน แต่เมื่อเทลเลอร์ยื่นมือให้ภรรยาออพเพนไฮเมอร์จับ เธอปฏิเสธ
1
เหตุการณ์สร้างระเบิดปรมาณูที่ตามมาด้วยการทำลายคนที่ต่อต้านนโยบายอาวุธของสหรัฐฯ มีความสลับซับซ้อน เราเห็นคนทุกแบบในบทบาทต่างๆ
1
ออพเพนไฮเมอร์เป็นคนที่มีบุคลิกซับซ้อน มีความขัดแย้งในตัวเองสูง เป็นมนุษย์สีเทา เป็นส่วนผสมของมนุษย์ introvert กับ extrovert สลับไปมา เขายังสลับไปมาระหว่างอัจฉริยภาพกับความโง่เขลา
2
คนที่ทำงานใกล้ชิดกับออพเพนไฮเมอร์บอกว่า เขาฉลาดระดับอัจฉริยะ แต่ก็ตัดสินผิดๆ โง่ๆ อยู่เสมอ เช่น ไปเหยียบตีนคนอื่น ดูหมิ่นสตรอส์ต่อหน้าสาธารณะหลายครั้ง บางครั้งก็แสดงวุฒิภาวะต่ำ วางยาพิษในแอปเปิลของอาจารย์
ลูอิส สตรอส์ เป็นคนฉลาด บ้าอำนาจ เจ้าคิดเจ้าแค้น
แฮร์รี ทรูแมน เป็นผู้นำ เป็นนักการเมือง จึงไม่สนใจผลกระทบของระเบิดต่อปัจเจก เขามองว่าระเบิดปรมาณูก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือบรรลุเป้าหมายทางการเมืองและคะแนนเสียงได้
1
เอ็ดเวิร์ด เทลเลอร์ เป็นคนฉลาดและความเชื่อมั่นในตัวเองสูง และความฉลาดก็มาพร้อมอีโก้ และรักโลภโกรธหลงอย่างมนุษย์ทั่วไป และบางครั้งมันก็บดบังการตัดสินใจที่ถูกต้อง
1
นายพลเลสลี โกรฟส์ มองการณ์ไกล เขาอาจไม่ฉลาดเท่านักวิทยาศาสตร์ที่เขาเรียกมาใช้งาน แต่ฉลาดในการเลือกคน การเลือกออพเพนไฮเมอร์ถือว่าเป็นการเลือกบุคลากรที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งของโลก
1
ลีโอ ไซลาร์ด เป็นตัวแทนนักวิทยาศาสตร์ที่รู้ว่ากำลังทำเรื่องเลวร้าย แต่อยากให้ผลที่ออกมาเป็นเรื่องดี ความรู้สึกว่าทำเรื่องถูกและความรู้สึกผิดทำให้เขาเสนอให้ทิ้งระเบิดในที่รกร้าง
2
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ แนะนำให้สร้างอาวุธอันตราย และเสียใจที่ทำ กรณีไอน์สไตน์บอกเราว่ามนุษย์ทุกคนเมื่อถึงจุดตัดสินใจระหว่างผิดกับผิด ก็มักเลือกอันหนึ่ง
7
หนังเรื่อง Oppenheimer สะท้อนว่านักวิทยาศาสตร์กับนักการเมืองก็ไม่ต่างกันคือมีอีโก้และอคติ ความฉลาดกับนิสัยเป็นคนละเรื่องกัน
ไม่ว่านักวิทยาศาสตร์ในฝั่งธัมมะ (เช่น สหรัฐฯ) หรือฝั่งมาร (เช่น นาซีเยอรมนี) ก็มีอีโก้
ในตอนท้ายภาพยนตร์เรื่อง Oppenheimer เป็นฉากออพเพนไฮเมอร์คุยกับไอน์สไตน์ ไอน์สไตน์ให้คำแนะนำออพเพนไฮเมอร์เกี่ยวกับชีวิต มันเป็นเช่นนั้นเอง นักวิทยาศาสตร์เป็นเพียงอุปกรณ์ชิ้นหนึ่ง ได้รับคำชื่นชมเมื่อใช้งาน หลังจากหมดหน้าที่ก็ถูกสลัดทิ้ง ถ้าเข้าใจสัจธรรมนี้ ก็จะไม่ฟูมฟาย
12
ในท้ายเรื่องออพเพนไฮเมอร์จินตนาการเห็นภาพโลกทั้งใบถูกทำลาย เขาเห็นว่าสิ่งประดิษฐ์นี้เริ่มต้นทำลายโลกเรียบร้อยแล้ว
3
ระเบิดปรมาณูปลดปล่อยด้านมืดที่สุดของมนุษย์ออกมา ผ่านไปหลายสิบปี สหรัฐฯกลายเป็นเจ้าโลกและตำรวจโลก แผ่บารมีชี้นิ้วสั่งสอนคนไปทั่วโลก โลกวุ่นวายขึ้น ซับซ้อนขึ้น
3
มันอาจไม่ใช่ความผิดของนักวิทยาศาสตร์ที่สร้างอาวุธ เพราะมนุษย์มีนิสัยชอบทำลายอยู่แล้ว ไม่ว่าวิทยาการใดๆ ก็ถูกนำไปใช้ในทางเลวร้ายเสมอ
4
ผ่านไปหลายสิบปีหลังการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ญี่ปุ่น โลกเรายังคงมี มหาระเบิดž ที่ซ่อนอยู่ในรูปโฉมใหม่ เช่น การพัฒนาวิทยาการ AI ในวันนี้ซึ่งเราไม่รู้ว่ามันจะนำพาโลกไปที่จุดใด จะปลดปล่อยความชั่วร้ายใด เราเรียกความขัดแย้งนี้ว่า Oppenheimer Moment
2
โลกไม่เคยขาดแคลน Oppenheimer Moment
สำหรับเราชาวโลกที่อยู่ภายใต้ Oppenheimer Moment ครั้งใหม่ๆ เราจะถูกตรึงกับก้อนหิน ถูกอินทรีจิกกินตับ ตับที่ถูกกินจะงอกใหม่ชั่วคืน แล้วเราจะถูกจิกกินอีกในวันรุ่งขึ้น เป็นนิรันดร์
5
โฆษณา