• แว่นที่มีกำลังสายตามากเกินจริง มีผลอย่างไร ?

ปัญหาสายตาที่เกิดจากความผิดปกติของการหักเหของแสงในดวงตาของเรานั้น สามารถทำให้เกิดปัญหา 3 ปัญหานั่นก็คือ ปัญหาสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง
แต่ในวันนี้ ขอมาอธิบายเกี่ยวกับการจ่ายแว่นที่ไม่ตรงกับค่าสายตาจริงๆของคนไข้ ในเคสที่เป็น สายตาสั้นและสายตายาวกันก่อน เพราะน่าจะเป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจได้ง่ายกว่าปัญหาสายตาเอียง และการจ่ายค่าสายตาเกินจริงส่วนใหญ่จะพบในคนไข้ที่เป็นสายตาสั้นมากกว่าสายตายาว ส่วนในคนไข้ที่เป็นสายตายาวส่วนใหญ่จะพบการจ่ายเลนส์ที่น้อยเกินจริงจากค่าสายตาของคนไข้
• สายตาสั้น หรือ Myopia เป็นภาวะที่แสงจากระยะอนันต์กระทบกับวัตถุ สะท้อนเข้าสู่ดวงตาผ่านระบบการหักเหต่างๆแล้วไปโฟกัสที่บริเวณด้านหน้าของจอตา วิธีการแก้ไขปัญหาของคนสายตาสั้นก็คือ การใช้ Minus Lens หรือ เลนส์เว้า ที่มีคุณลักษณะในการกระจายแสง เพื่อผลักแสงที่โฟกัสอยู่บริเวณด้านหน้าจอตา ให้เลื่อนออกไปตกที่บริเวณจอตาพอดีจึงจะสามารถมองเห็นภาพได้ชัด
สามารถอ่านการแก้ไขปัญหาของคนสายตาสั้นเพิ่มเติมได้ที่ https://voradaoptometry.com/knowleage/detail/34
• สายตายาว หรือ Hyperopia เป็นภาวะที่แสงจากระยะอนันต์กระทบกับวันถุ สะท้อนเข้าสู่ดวงตาผ่านระบบการหักเหต่างๆแล้วไปโฟกัสที่บริเวณด้านหลังจอตา
วิธีการแก้ไขปัญหาของคนสายตาสั้นก็คือ การใช้ Plus Lens หรือ เลนส์นูน ที่มีคุณลักษณะในการรวมแสง เพื่อดึงแสงที่โฟกัสอยู่บริเวณด้านหลังจอตา ให้เลื่อนเข้าไปตกที่บริเวณจอตาพอดี
สามารถอ่านปัญหาของคนสายตายาวเพิ่มเติมได้ที่ https://voradaoptometry.com/faq/detail/8
ในการใช้เลนส์เว้าและเลนส์นูนแก้ไขปัญหาถ้าใช้ได้อย่างถูกต้อง ใช้กำลังเลนส์ที่เหมาะสมกับค่าสายตาก็จะไม่มีผลใดๆตามมา
แต่ถ้าหากว่า เราใช้กำลังเลนส์ที่มากเกินค่าสายตาจริงๆของเรา หรือ เรียกกันว่าการจ่ายเลนส์แบบ Overminus หรือ Overplus จะเกิดอะไรขึ้นกับกลไกลการมองเห็นเราของเรากันบ้างเดี๋ยวเรามาดูกัน
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การตรวจหาค่าสายตา เป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดในการทำแว่นตาอันหนึ่ง เพราะถ้าการตรวจได้ค่าสายตาที่มากเกินจริงหรือน้อยเกินจริง ก็จะมีผลกับการจ่ายเลนส์แว่นตาให้กับคนไข้ได้
อย่างเช่น การตรวจได้ค่าสายตาที่มากเกินจริง อาจเกิดจากปัจจัยต่างๆที่ไม่ทราบได้เพราะแต่ละที่ที่ตรวจก็จะมีปัจจัยและแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน อาจเกิดจากมาตรฐานของอุปกรณ์ การไม่ได้ควบคุมความสว่าง ระยะห้องตรวจ รวมถึงวิธีการตรวจด้วยก็เป็นได้ หรือสามารถขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆได้อีกมากมาย อาจทำให้กลไกการเพ่งของเลนส์ตา ไม่ได้อยู่ในสภาพที่ Relax Accommodation ทำให้ได้ค่าสายตาที่มากเกินจริงได้
เรามาแยกออกเป็น 2 กรณี เมื่อเราได้ค่าสายตาที่มากเกินจริง คือ
1. กรณีของคนที่มีปัญหาสายตาสั้นแล้วได้ค่าสายตาที่มากเกินจริง = จ่ายเลนส์ที่มากกว่าค่าสายตาจริงของคนไข้
ในการแก้ไขปัญหาสายตาสั้นเราจะใช้เลนส์เว้า เพื่อผลักแสง จากที่มันเคยโฟกัสอยู่ด้านหน้าจอตาผลักให้มันเลื่อนไปตกที่จอตาพอดี
แต่ถ้าเราจ่ายเลนส์เว้าที่มีกำลังมากเกินไป มันก็จะผลักแสงให้ไปตกเลยบริเวณจอตานั่นคือ ไปตกที่ด้านหลังจอตา ( เหมือนได้กลายเป็นคนสายตายาวไปโดยไม่คาดคิดอีก ) ทำให้เวลาเราสวมแว่นอันนี้ เลนส์ตาของเราก็จะต้องคอยป่องออกเพื่อดึงแสงให้มาตกให้ตรงกับจอตาพอดีตลอดเวลา
ยิ่งจ่ายเลนส์ที่มากเกินจริงมากเท่าไหร่ เลนส์ตาของเราก็จะทำงานหนักมากยิ่งขึ้น อาจะทำให้เกิดอาการไม่สบายตาต่างๆตามมาทั้งนี้เราหมายถึงการมองที่ระยะไกล
และที่น่าเป็นห่วงไปมากกว่านั้นคือ การมองในระยะใกล้ของคนไข้ ในคนปกติเวลาที่เรามองวัตถุในระยะใกล้ แสงจะโฟกัสที่ด้านหลังจอตาของเราอยู่แล้ว และร่างกายของเราก็จะสร้างกระบวนการเพ่งหรือการ Accommodation ขึ้นมาเพื่อดึงแสงให้มาโฟกัสที่บริเวณจอตา
แต่ถ้าคนไข้ใส่แว่นที่ Overminus ที่ระยะไกล โดยที่ต้องมีการเพ่งที่ระยะไกลอยู่แล้ว พอเปลี่ยนมามองที่ระยะใกล้ก็จะต้องใช้กำลังในการเพ่งมากกว่าเดิม จะมากกว่าแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่ากำลังเลนส์มัน Over ไปมากแค่ไหน ผลที่ตามมาก็คือ คนไข้จะมีปัญหาไม่สบายตาเวลามองใกล้ หรืออาจจะเพ่งไม่ไหวจนเห็นเป็นภาพเบลอไปเลยก็เป็นได้
2. ในกรณีของคนที่มีปัญหาสายตายาวแล้วได้ค่าสายตาที่มากเกินจริง = จ่ายเลนส์ที่มากกว่าค่าสายตาจริงของคนไข้
ในการแก้ปัญหาของคนสายตายาวจะใช้เลนส์นูน เพื่อดึงแสงให้มาโฟกัสบริเวณจอตา จากตอนแรกแสงไปโฟกัสที่ด้านหลังของจอตา
แต่ถ้าเราจ่ายเลนส์นูนที่มีกำลังมากเกินไป หรือ Overplus เลนส์นูนมันก็จะดึงแสงมาโฟกัสที่ด้านหน้าจอตามากเกินไป ( และเราก็กลายเป็นคนสายตาสั้นไปโดยปริยาย ) ทำให้เวลาสวมแว่นอันนี้ จะมีอาการเหมือนกับคนที่เป็นสายตาสั้น นั่นคือมองไกลๆไม่ชัด ความไม่ชัดจะมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่ากำลังเลนส์มัน over ไปมากน้อยแค่ไหน
ส่วนการมองในระยะใกล้อาจจะมองเห็นได้ชัดเพราะ ในคนปกติเวลามองวัตถุในระยะใกล้แสงจะไปโฟกัสหลังจอตาอยู่แล้ว ถ้าบังเอิญเลนส์นั้นมัน over พอดีกับกำลังเลนส์ที่จะต้องดึงแสงให้มาโฟกัสบริเวณจอตาพอดี ก็จะทำให้มองใกล้ได้ชัด แต่คำว่าบังเอิญ ก็แสดงว่าคงจะมีเปอร์เซนต์อยู่ไม่มากเท่าไหร่
ดังนั้นในการทำแว่นแต่ละตัว มีขั้นตอนและรายละเอียดต่างๆมากมายที่ต้องคำนึงถึง หากลืมหรือพลาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปก็อาจทำให้แว่นที่คนไข้จะได้ใช้นั้น ไม่สบายตาเท่าที่ควร
วันนี้ขอลาไปก่อนและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้เป็นประโยชน์กับผู้อ่านและผู้สนใจไม่มากก็น้อยนะคะ
Content by : Worada Saraburin , O.D.
อ่านความรู้อื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ : https://voradaoptometry.com/
Facebook Page : Vorada Optometry
Location : 102 ม.2 ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา 24190
โฆษณา