• อาการไม่สายตา จากการมองหน้าจอ SMARTPHONE เกิดจากอะไร

ในปัจจุบันปฎิเสธไม่ได้ว่า Smartphone เป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตอีกสิ่งหนึ่ง
นอกเหนือจากปัจจัยสี่ ที่ประกอบไปด้วย อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และในยุคปัจจุบัน Smarphone ถือว่าเป็นปัจจัยที่ 5 ที่เราไม่สามารถขาดได้เลย เนื่องจากเทคโนโลยีต่างๆก็พัฒนาและออกแบบมาให้เราสามารถอำนวยความสะดวก สร้างความบันเทิง การศึกษา รวมถึงการทำงานผ่าน Smartphone เพียงเครื่องเดียวได้
มีผู้ปกครองหลายคนมาปรึกษา เพราะกังวลและเป็นห่วงลูกหลานว่าดวงตาจะเป็นอะไรไหม เวลาที่ต้องเรียนออนไลน์ หรือ เล่นเกมส์อยู่หน้าจอโทรศัพท์เป็นเวลานาน วันนี้จะมาเขียนอธิบายให้ทุกคนเข้าใจกันว่า การจ้องหน้าจอนานๆมันจะเกิดอาการอะไร แล้วอาการที่เกิดมันมีสาเหตุมาจากอะไร
อาการหลักๆที่พบในคนที่ใช้สายตาอยู่หน้าจอ Smartphone เป็นเวลานานๆก็คือ
1. อาการ Asthenopia ( ปวดตา ปวดหัว ปวดระหว่างคิ้ว เคืองตา แสบตา แพ้แสง หรือมีอาเจียนร่วมด้วย )
2. อาการตามัวเมื่อเปลี่ยนระยะการมอง
3. อาการตาแห้ง
  • 1.
    อาการ Asthenopia ( ปวดตา ปวดหัว ปวดระหว่างคิ้ว เคืองตา แสบตา แพ้แสง หรือมีอาเจียนร่วมด้วย )
• สาเหตุแรกและเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดอาการ Asthenopia ก็คือ Uncorrect Refractive Error หรือ ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาสายตาที่มีอยู่ โดยเฉพาะในคนที่มีปัญหาสายตาเอียงและสายตายาว ซึ่งปัญหาสายตาเอียงจะพบในคนส่วนมาก มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะตรวจแล้วไม่พบ
แล้วทำไมคนที่มี สายตาเอียงและสายตายาว ถึงมีอาการมากกว่าคนอื่น ?
นั่นเป็นเพราะว่า
ในการมองเห็นภาพๆหนึ่ง จะเกิดขึ้นได้เมื่อแสงกระทบกับวัตถุ เข้าดวงตาของเราผ่านระบบการหักเหต่างๆ แล้วไปตกที่บริเวณจอตาพอดี จึงจะสามารถมองเห็นภาพนั้นๆได้อย่างชัดเจน
แต่ในกรณีของคนที่มีปัญหาสายตาเอียง แสงเมื่อหักเหเข้าตาแล้ว จะไม่ได้ไปโฟกัสเป็นจุด หรือ Focal point ที่บริเวณจอตา แต่จะหักเหเกิดเป็นเส้นหรือ Focal line ซึ่งจะมีตำแหน่งที่สามารถมองเห็นภาพได้ชัดแต่ไม่ได้ชัดเป๊ะ นั่นคือตำแหน่งของ Circle of least เราจึงต้องทำการเพ่งเพื่อทำให้เห็นภาพได้ชัดมากขึ้น
เช่นเดียวกับในกรณีของคนที่มีปัญหาสายตายาว แสงเมื่อหักเหเข้าตาแล้ว จะไปโฟกัสบริเวณด้านหลังของจอตา ทำให้เราต้องมีการ Accommodation หรือการเพ่ง เพื่อดึงจุดโฟกัสนั้นให้มาตกตรงกับจอตา
โดยมีคีย์เวิด ที่เราจำเป็นต้องรู้คือ
เมื่อมองวัตถุระยะใกล้ = เลนส์ตาต้องทำการเพ่ง
ดังนั้นในคนที่มีปัญหาสายตาเอียงและสายตายาวที่ปกติเวลามองไกลๆก็ต้องเพ่งเพื่อให้มองชัดอยู่แล้ว บวกรวมไปกับต้องเพ่งเมื่อวัตถุใกล้เข้ามา กลายเป็นว่าต้องเพ่งเป็น 2 เท่าของคนที่มีสายตาปกติ จึงทำให้เกิดอาการล้าตา ปวดตา ไม่สบายตา และลามทำให้ปวดหัว หรืออาเจียนได้
ซึ่งวิธีการแก้ไขสาเหตุนี้ก็คือ การใช้แว่นสายตาที่มีค่าสายตาที่ถูกต้องและพอดีกับค่าสายตาของเราเอง
• อีกสาเหตุหนึ่งของอาการ Asthenopia ก็คือ
ตาเขตาเหล่ซ่อนเร้น ( Phoria ) คือ ภาวะที่กล้ามเนื้อตาทั้งสองข้างทำงานไม่ปกติ
ในคนไข้ที่มีปัญหา Phoria ตำแหน่งพักของตาคนไข้ จะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งตาตรง แต่จะอยู่เข้ามาด้านจมูกหรือออกไปทางหู มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับปริมาณมุมเหล่ว่ามีปริมาณกี่ปริซึมไดออปเตอร์
เมื่อตำแหน่งตาของคนไข้ไม่ตรง ก็เลยต้องมีแรงที่สร้างมาดึงตากลับมาเพื่อรวมภาพ เรียกว่า Resrve ซึ่งจะต้องมีปริมาณเป็นสองเท่าของปริมาณมุมเหล่ของคนไข้ถึงจะเพียงพอต่อการรวมภาพให้เป็นภาพๆเดียวได้ หากปริมาณ Reserve เป็น 2 เท่าของปริมาณ Phoria ปัญหาก็จะไม่เกิดขึ้น
แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นต่อเมื่อ Reserve มีปริมาณไม่เพียง ทำให้ตาไม่สามารถรวมภาพเป็นภาพๆเดียวหรือเห็นเป็นภาพซ้อนเกิดขึ้น หรือในคนไข้บางคนอาจยังสามารถรวมภาพได้อยู่แต่กล้ามเนื้อตาต้องใช้แรงในการรวมภาพต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ จนทำให้กล้ามเนื้อตาล้า และเกิดอาการ Asthenopia ตามมาได้
สาเหตุนี้เป็นสาเหตุที่สำคัญแต่ตรวจพบได้ยาก ไม่ใช่ว่าประชากรส่วนน้อยที่จะเป็น แต่พบไม่บ่อยเพราะประชากรส่วนน้อยที่จะได้รับการตรวจมากกว่า
ปัญหา Binocular function เป็นปัญหาที่ละเอียดเกินกว่าจะเสียบเลนส์แค่ชัดไม่ชัดแล้วจะรู้ได้ แต่ต้องทำการหาปริมาณของ Demand หรือมุมเหล่ และ Reserve คือแรงในการดึงตาเข้า - ออก และทำการวินิจฉัยอีกครั้งว่าปัญหาที่เกิดนั้น เกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร ขาด Reserve ในการเหลือบตาเข้า - ออก อย่างไร
ซึ่งการแก้ไข Phoria นี้ ก็ขึ้นอยู่กับว่า สาเหตุของปัญหานั้นเกิดมาจากอะไร และแก้ไขไปตามสาเหตุ เช่น การจ่ายเลนส์ปริซึม การจ่ายAddition หรือการทำ Visual Therapy
2.อาการตามัวเมื่อเปลี่ยนระยะการมอง
อย่างที่พูดถึงคีย์เวิร์ดในการมองใกล้ไว้ว่า
เมื่อมองวัตถุที่ระยะใกล้ = เลนส์ตาต้องทำการเพ่ง
ในขณะที่เลนส์ตากำลังเพ่งเพื่อปรับโฟกัส กล้ามเนื้อ Ciliary muscle จะหดตัว เลนส์แก้วตาจะป่องออก
ดังนั้นเวลาที่เราจ้องมองหน้าจอติดต่อกันเป็นเวลานานๆ จะทำให้เลนส์ตาเกิดการเพ่งค้าง จนทำให้กล้ามเนื้อ Ciliary muscle หดตัวจนเป็นตะคริว เมื่อเราต้องการเปลี่ยนระยะในการมอง เลนส์ตาจึงไม่สามารถคลายตัวและปรับโฟกัสได้เหมือนกับคนปกติ
ซึ่งการแก้ไขอาจพิจารณาในการใช้เลนส์ลดเพ่งหรือเลนส์บวกอ่อนๆเพื่อช่วยลดการเพ่งของดวงตาได้
3. อาการตาแห้ง
เกิดจากในขณะที่เราทำการเพ่งมองวัตถุเป็นเวลานานๆ อัตราการกระพริบตาจะลดลง ทำให้น้ำตามาเคลือบผิวกระจกตาได้ไม่เพียงพอ ทำให้รู้สึกเคืองตา คันตา แสบตา และตาแดง
อาการไม่สบายตาต่างๆที่เกิดขึ้นเมื่อมองหน้าจอเป็นเวลานานๆ ส่วนใหญ่แล้วมักมาจากสาเหตุของปัญหาสายตาที่ไม่ได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องที่ถูกปิดและหมักไว้มาเรื่อยๆ พอทนไม่ไหวก็จะแสดงอาการออกมา ทำให้เราสนใจที่จะหาทางออกของปัญหา ซึ่งการแก้ไขอย่างตรงจุดไม่ใช่การใช้เลนส์กรองแสงสำเร็จรูป แต่เป็นการใช้เลนส์แว่นตาที่เหมาะสมกับค่าสายตา และปัญหาสายตาที่เราเป็นมากกว่า
การแก้ไขการหักเหของแสง Refractive Error , ระบบ Accommodation ,และระบบ Binocular Function .ให้กลับมาทำงานให้เป็นปกติ คือการแก้ไขสาเหตุหลักของปัญหา
ส่วนเลนส์กรองแสงนั้น ในบางคนก็อาจจะมีผลทำให้รู้สึกสบายตาขึ้นเพราะเลนส์ประเภทนี้จะมีสีที่ออกเหลืองหน่อยๆ ทำให้ใส่แล้วรู้สึกลดความจ้าของแสงได้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
หวังว่าบทความนี้ จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านและผู้สนใจไม่มากก็น้อย ขอขอบคุณทุกท่านที่คอยติดตามและเป็นกำลังใจให้ในทุกๆบทความ
หากท่านใดมีคำถามหรือสงสัยเรื่องใดที่อยากให้เขียนอธิบาย ก็สามารถทักมาบอกทาง Page Facebook ของเราได้ ถ้าไม่เหนือความสามารถจนเกินไปก็จะพยายามมาเขียนให้ทุกๆท่านได้อ่านกันต่อไป
Content by : Worada Saraburin , O.D.
ติดตามความรู้อื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ : https://voradaoptometry.com/
Facebook Page : Vorada Optometry
Location : 102 ม.2 ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา 24190
เบอร์ติดต่อ : 065 - 949 - 9550
โฆษณา