Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
aomMONEY
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
31 ก.ค. 2023 เวลา 10:00 • ประวัติศาสตร์
บทเรียนจากการล้มของธนาคารในสหรัฐอเมริกา
วันที่ 9 ธันวาคม 2565 ธนาคาร Silvergate ในอเมริกาซึ่งมีการทำแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคริปโต รับฝากและปล่อยสินเชื่อคริปโต ประกาศล้มละลาย
3 เดือนต่อมา ในวันที่ 10 มีนาคม 2566 ธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดใน Silicon Valley และขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา ประสบกับปัญหาการขาดสภาพคล่อง เนื่องจากเงินฝากจำนวนมากถูกถอนออกมา ธนาคารมีลูกค้าเงินฝากส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม Venture Capital และมีการลงทุนและปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่ม Startups
แม้ธนาคาร SVB จะพยายามแก้ไขปัญหาสภาพคล่องด้วยการเพิ่มทุนแต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เนื่องจากคนแห่ถอนเงิน ทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจ ... ที่ว่าจะขายหุ้นระดมทุน เลยขายไม่ได้ เกมส์จบทั้งที่ยังไม่เริ่ม
ตามมาด้วยการปิดตัวของ Signature Bank ในวันที่ 12 มีนาคม 2566 ธนาคารนี้มีเพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2544 เดิมมีลูกค้าส่วนใหญ่ในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่ในปี 2551 เริ่มมีการทำธุรกิจกับกลุ่มคริปโตมากขึ้น มีเงินฝากจากกลุ่มนี้อยู่ในพอร์ตเงินฝากถึง 30% ในช่วงที่ตลาดคริปโตเติบโต
สาเหตุของการขาดเสถียรภาพทางการเงิน
📌ทั้งสามธนาคารมีโครงสร้างทางธุรกิจคล้ายกัน นั่นคือ มีฐานลูกค้าที่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่ม Startup คริปโต และบริษัทลงทุน (Venture Capital) ด้านเทคโนโลยีและบริการด้านสุขภาพ
ตลาดขาลงของคริปโตและกลุ่มธุรกิจด้านเทคโนโลยี เกิดขึ้นหลังภาครัฐทั่วโลกมีการปรับกฏระเบียบและภาษีที่ทำให้ธุรกิจในกลุ่มเทคโนโลยีมีต้นทุนสูงขึ้น แถมด้วยการสูญเสียความเชื่อมั่นกับ crypto exchange รวมถึงการขาดทุนของ tech project ของบริษัทใหญ่
นอกจากนี้ ธุรกิจในสายเทคโนโลยีโดยส่วนใหญ่รวมถึงธุรกิจขุดเหรียญคริปโตอาศัยพลังงานในการดำเนินงานและการผลิต เมื่อราคาพลังงานสูงขึ้น กลุ่มธุรกิจเหล่านี้ก็มีต้นทุนการดำเนินงานและการผลิตสูงขึ้น
กลุ่มเทคโนโลยีอยู่ในขาลงมาเรื่อยๆ ตั้งแต่สถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้น แถมมีปัญหาผุดมาอย่างต่อเนื่อง ธนาคารที่ลงทุนในธุรกิจกลุ่มนี้ไม่ว่าจะเป็นบริษัทใหญ่หรือ startups ก็ต้องโดนผลกระทบกันไป
ส่วนธุรกิจในกลุ่ม Venture Capital ประสบกับปัญหาการระดมทุน เนื่องจากดอกเบี้ยในตลาดสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นและกำไรของธุรกิจกลุ่มนี้ลดลง
>> ทำให้ธนาคารทั้งสามที่มีฐานลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ได้รับผลกระทบมากกว่าธนาคารทั่วไปที่มีฐานลูกค้าที่กระจายตัวไปในหลายอุตสาหกรรม
📌 อีกสาเหตุหนึ่ง คือ การดำเนินธุรกิจของธนาคารมีการบริหารสินทรัพย์และหนี้สินที่ไม่สอดคล้องกัน ทางเศรษฐศาสตร์ เราเรียกว่า asset-liabilities mismatch
ใครนึกไม่ออกว่าคืออะไร ให้นึกถึงการดำเนินธุรกิจของธนาคารในประเทศไทยก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งค่ะ
นั่นคือ มีการระดมเงินทุนระยะสั้น ผ่านเงินฝากระยะสั้น ทำให้เมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดสูงขึ้น ต้นทุนดอกเบี้ยเงินฝากสูงขึ้นตาม
แต่ในขณะเดียวกัน ธนาคารนำเงินทุนนี้ไปลงทุนในตราสารหนี้รวมถึงพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาล ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยคงที่ ... มูลค่าของตราสารหนี้ที่ลดลงเมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดสูงขึ้น ทำให้มูลค่าสินทรัพย์ของธนาคารลดลง
เมื่อการปรับตัวของดอกเบี้ยในขาหนี้สินและสินทรัพย์ไม่สอดคล้องกัน ก็เกิดปัญหาทันที เพราะต้นทุนสูงขึ้น แต่รายได้เท่าเดิม
ในขณะเดียวกันการขายตราสารหนี้เพื่อระดมเงินทุนของธนาคารก็ยิ่งทำให้มูลค่าตราสารหนี้ที่ยังถืออยู่ลดลงด้วย และหากธนาคารใช้พันธบัตรระยะยาวเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนขั้นที่ 1 อัตราส่วนของกองทุนก็จะลดลงไปด้วย
ผลกระทบและสัญญาณเตือนแก่ระบบธนาคารทั่วโลก
แม้ว่าสถาบันคุ้มครองเงินฝากของสหรัฐฯ คุ้มครองเงินฝากจำนวนเงินไม่เกิน USD 250,000 ต่อผู้ฝาก แต่ลูกค้าส่วนใหญ่ของ SVB เป็นลูกค้าบริษัทที่มีมูลค่าเงินฝากต่อรายสูงกว่าวงเงินคุ้มครอง ทำให้เงินฝากส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกคุ้มครอง
การขาดทุนจากการขายพันธบัตรของ SVB และภาระดอกเบี้ยฝั่งหนี้สิน (เงินฝาก) ที่สูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ฝากเงินในกลุ่ม Venture Capital และ Startup มีความเสี่ยงไม่ได้รับเงินคืนครบถ้วนถ้า SVB ล้ม เมื่อผู้ฝากไม่มั่นใจว่าจะได้เงินคืนครบจากธนาคาร ก็ถอนเงินออก
เมื่อมีการไหลออกของเงินฝากมากขึ้น การขาดสภาพคล่องภายในธนาคารก็เกิดตามมา ความกังวลของบรรดาเจ้าของเงินฝากเหล่านี้ขยายต่อไปที่ Signature Bank ที่มีลักษณะโครงสร้างการทำธุรกิจที่คล้ายกันกับ SVB ทำให้เกิด Bank Run ในวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม 2566
การเทขายตราสารหนี้ของ SVB ทำให้มูลค่าตราสารหนี้ในตลาดลดลง ซึ่งหากตลาดเกิดแตกตื่น ขายตราสารหนี้ทิ้งกลัวราคาตกไปกว่านี้ ก็อาจส่งผลกระทบต่อมูลค่ากองทุนตราสารหนี้ทั่วโลกได้
🖍 กรณีการล้มละลายของธนาคารในสหรัฐและปัญหาการขาดสภาพคล่องของ SVB นี้ กำลังเตือนธนาคารทั่วโลกที่มีการลงทุนในตราสารหนี้สูงขึ้นกว่าในอดีต และมีการลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีและ startups มากขึ้น ดังนี้
- ธนาคารควรระมัดระวังในการบริหารสินทรัพย์และหนี้สินให้มีความสอดคล้องกันทั้งในเรื่องระยะเวลาและระดับความเสี่ยง
- การดำเนินธุรกิจธนาคารควรให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยงและมีกระบวนการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม
- ฐานเงินฝากไม่ควรปล่อยให้มีการกระจุกตัวในกลุ่มธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง และ
- การลดลงของมูลค่าตราสารทุนหรือคล้ายทุนสามารถส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินของธนาคาร จึงควรนำเข้ามาร่วมคำนวณอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่หนึ่ง เพื่อให้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของกองทุน
นับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2551 ธนาคารทั่วโลกให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ
และในปัจจุบัน วิธีการบริหารความเสี่ยงจำเป็นต้องมีเครื่องมือและการคำนวณที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ตามขอบเขตการดำเนินธุรกิจธนาคารที่ขยายไปยังภาคการลงทุนมากขึ้น และยังมีความซับซ้อนของรูปแบบตราสารหนี้และตราสารทุนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา
ธนาคารในประเทศไทยจึงจำเป็นต้องเรียนรู้และปรับวิธีคิดและการทำงานให้คำนึงถึงการบริหารความเสี่ยงมากขึ้น เน้นสร้างความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจ ไม่ใช่เพียงแต่เน้นการขายหรือผลกำไรเท่านั้น
==========
ดร. นงนุช ตันติสันติวงศ์ (เพจ : Dr. Nuch Tantisantiwong )
Visiting Academic
School of Electronics and Computer Science
University of Southampton, UK
==========
#aomMONEY #Opinion #DrNuch #SVB #บทเรียนจากการล้มของธนาคารในสหรัฐ #Silvergate #SiliconValleyBank #StartUp #BankRun
1 บันทึก
7
4
1
7
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย