28 ก.ค. 2023 เวลา 11:32 • ท่องเที่ยว

ถ้ำช้าง .. Goa Gajar อูบุด บาหลี

Salamat Pagi … แปลว่า “อรุณสวัสดิ์ค่ะ” หลังจากเพลิดเพลินไปกับโบราณสถานที่สำคัญหลายๆแห่งในบาหลี วันนี้เราจะไปเยือนสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่น่าชม
ถ้ำช้างเป็นสถานที่สำคัญ … ที่นี่ไม่มีช้างเหมือนชื่อของถ้ำ ยกเว้นรูปปั้นพระคเนศเศียรช้างที่อยู่ในจารึกโบราณ … นาการาเกอร์ตากามา จากปี 1365 กล่าวถึงสถานที่ในบาหลีที่เรียกว่า ลวากาจะห์ หรือแม่น้ำคชลาธาร อันเป็นที่พำนักของพระในพุทธศาสนา และคชลาธาร อาจจะหมายถึงแม่น้ำปตานูซุ่งอยู่ใกล้ถ้ำแห่งนี้ก็ได้
ต้นกำเนิดที่แน่นอนของถ้ำจะไม่เป็นที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับการทำสมาธิ .. นิทานพื้นบ้านเรื่องหนึ่งกล่าวว่าวัดนี้ถูกสร้างขึ้นโดยเล็บมือของ Kebo Iwa ยักษ์ในตำนาน
อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบรูปแบบแล้ว สถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้น่าจะมีอายุตั้งแต่สมัยอาณาจักรบาหลี ในศตวรรษ ที่ 11 ภายในถ้ำมีทั้งภาพฮินดูและภาพพุทธ เนื่องจากภายในถ้ำมีองคชาติและโยนีซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระอิศวร และภาพพระพิฆเนศวร .. ขณะที่ริมแม่น้ำมีภาพแกะสลักของสถูปและฉัตร ซึ่งเป็นภาพของพุทธศาสนา
ด้านหน้าของวัด ณ ทางเข้า ซึ่งเป็นที่ตรวจบัตรเข้าชมวัด .. ณ จุดนี้ผู้มาเยือนสามารถขอยืมผ้านุ่งทับหรือผ้าแถบเพื่อมัดเอวก่อนเข้าบริเวณวัดได้
การเข้าถึงวัดมีทางเดียว คือ การเดินลงไปตามบันไดทางลง
ภาพของสระน้ำ เมื่อมองจากด้านบน ก่อนลงไปถึงระดับพื้นดิน
สระอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์ หน้าถ้ำ .. มีไว้รองรับสายน้ำที่พุ่งไหลออกมาจากนาภีของเหล่ารูปสลักขนาดใหญ่ สถานที่อาบน้ำกว้างขวางแห่งนี้ไม่ได้ถูกขุดค้นจนกระทั่งปี 1950 … ชาวบาหลีเชื่อว่า น้ำให้ชีวิต จึงมักจะพบสระศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้ในวัดหลายๆแห่ง
รูปปั้นสตรี 7 องค์ (จากจำนวนนี้ 1 องค์ถูกทำลายเนื่องจากแผ่นดินไหว) ถือเหยือกน้ำที่แสดงถึงแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ 7 สายของอินเดีย ได้แก่ แม่น้ำคงคา แม่น้ำสรัสวดี แม่น้ำยมุนา แม่น้ำโกดาวรี แม่น้ำสินธุ แม่น้ำคาเวรี และแม่น้ำนาร์มาดา
.. ศิลปินชาวบาหลีมีฝีมือในการสลักหินสูง รูปสลักเสลาที่เราเห็นที่นี่จึงดูอ่อนช้อยสวยงาม
ถ้าช้าง ขุดพบเมื่อปี 1922 แต่เชื่อว่ามีอายุเก่าแก่ย้อนไปถึงศตวรรษที่ 11 ปากถ้ำเป็นเศียรยักษ์ดูน่ากลัว ตาโปน จ้องมองลงมาในขณะที่ปากอ้ากว้างมองเห็นเขี้ยว มือทั้งสองของรูปปั้นดูราวกับกำลังง้างทางเข้าให้แยกออก …
รูปลักษณ์นี้ทำให้บางคนคิดถึงแม่มดรังดา แต่ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เชื่อว่า ปากถ้ำที่แกะสลักด้วยมือนี้ถูกแยกและแบ่งเป็นสอง เฉกเช่นที่พระศิวะทรงดันมหาคีรีแห่งจักรวาลให้แตกเป็น กูนุงอากุง ซึ่งคือบุรุษเพศ ละ กูนุง บาร์ตู ซึ่งคืออิสตรี
บริเวณรอบๆถ้ำมีรูปสลัก แกะเป็นมนุษย์และสัตว์วิ่งหนีจากใบหน้าที่อยู่ปากถ้ำด้วยอาการขวัญผวา
ภายในถ้ำตื้นๆแห่งนี้มีทางเดินยาว 13 เมตร นำไปสู่ทางแยกรูปตัวทีกว้าง 15 เมตร … สถานชั้นในนี้มืด อับชื้น และมีช่องเล็กๆหลายช่อง และมีควันธูปตลบอบอวล
เชื่อกันว่าอาจจะเคยเป็นที่จำศีลภาวนาของเหล่าฤษีหรือดาบส ปลายด้านหนึ่งของทางเดินมีรูปปั้นพระคเนศ 4 กร
และเทพที่ฉันไม่สามารถจะบอกได้ว่าเป็นองค์ใด .. พร้อมมีเครื่องเซ่นสักการะอยู่ด้านหน้าของรูปสลัก
ด้านหนึ่งมีศิวลึงค์ 3 องค์ ที่สลักขึ้นจากศิลาก้อนหนึ่งและตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน และเนื่องจากพระคเนศเป็นโอรสของพระศิวะ และลึงค์มีไว้เพื่อบูชาพระศิวะ จึงมีผู้สรุปว่า โกอา ฏาจะห์ คือวัด
เมื่อเดินกลับขึ้นมาจากวัดและถ้ำ .. ด้านนี้เป็นที่ตั้งของร้านอาหารและคาเฟ่ที่ตกแต่งอย่างสวยงาม
ภูมิทัศน์ที่สวยงามของการตกแต่งภายในร้าน มีบรรยากาศของบาหลีดั้งเดิมอบอวล
แวะดื่มน้ำ ทานอาหารเบาๆหลังการเดินขึ้น-ลงเขา .. Good idea ค่ะ
โฆษณา