7 ส.ค. 2023 เวลา 16:42 • ไลฟ์สไตล์

ตอนที่สะดุด(หลุมรายจ่าย)ล้ม จะลุกขึ้นใหม่ได้ไหม

ทราบหรือไม่ว่า กรมธรรม์ชีวิตที่เราถืออยู่นั้น เราสามารถดึงเงินออกมาใช้ได้ด้วยนะ แต่จะมีวิธีการอย่างไรบ้าง และมีข้อดีข้อเสียอย่างไรนั้น จะเล่าให้ฟังกัน
กรมธรรม์ทุกฉบับ (ยกเว้นกลุ่มกรมธรรม์ควบการลงทุน) เมื่อชำระเบี้ยต่อเนื่องตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป จะมีมูลค่าเงินสดเกิดขึ้นตามตารางแห่งมูลค่าในกรมธรรม์ ที่แนบไว้ในเล่มกรมธรรม์ 3 มูลค่า คือ
1. มูลค่าเวนคืนเงินสด
2. กรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ
3. การประกันภัยแบบขยายระยะเวลา
กรมธรรม์ประกันชีวิตที่ใคร ๆ มักคิดว่าเป็นภาระในยามที่ต้องจ่ายเบี้ยประกันทุก ๆ ปี แต่ในวันหนึ่งที่เกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น กรมธรรม์ประกันชีวิตก็เปรียบเหมือนแสงเทียนที่ส่องแสงสว่างในวันที่ไฟฟ้าดับมืดมิด พอให้มีเวลาคิดแก้ไขและหาทางเดินให้กับชีวิตต่อไปได้
หากวันนีงเราพบเรื่องฉุกเฉินที่จำเป็นต้องใช้เงินด่วน แล้วค้นพบว่าตนเองได้ทำประกันชีวิตเก็บไว้ โปรดเบาใจได้ว่า อย่างน้อยเราก็สามารถดึงเงินออกมาใช้บรรเทาเหตุการณ์นั้นๆได้ โดย
๑.​ การเวนคืนกรมธรรม์ หรือ ปิดเล่มกรมธรรม์ หรือ เวนคืนเงินสด
๒. การกู้เงินจากกรมธรรม์
💸 การเวนคืนกรมธรรม์ หรือที่เรียกว่า "มูลค่าเวนคืนเงินสด"
คือ การขอรับเงินคืนก่อนที่จะครบอายุกรมธรรม์ตามที่บริษัทกำหนด
จำนวนเงินคืนดังกล่าว สามารถตรวจสอบได้ในช่อง "มูลค่าเวนคืนเงินสด" จากตารางแสดงผลประโยชน์ของสัญญา ซึ่งระบุภายในเล่มกรมธรรม์ที่ได้รับจากบริษัทประกันชีวิต โดยปกติมูลค่าเวนคืนเงินสด เกิดขึ้นตั้งแต่สิ้นปีที่ 2 เป็นต้นไป และมักจะแสดงตัวเลขเงินคืน 1 หน่วย ต่อ จำนวนเงินเอาประกันภัย 1,000 บาท หากต้องการคำนวณเป็นมูลค่าตัวเลขเงินที่จะได้รับ ให้นำตัวเลขดังกล่าวไปคูณด้วย 1,000 บาทแทน
❗️ทันที่ที่มีการใช้สิทธิเวนคืนเงินสด หรือ ปิดเล่มกรมธรรม์ หรือ เวนคืนกรมธรรม์
👉🏻 ความคุ้มครองต่างๆที่เคยมีตามกรมธรรม์นั้น จะสิ้นสุดลงทันที
💸 การกู้เงินจากกรมธรรม์
เพราะชีวิตคือความไม่แน่นอน บางครั้งชีวิตก็อาจจะต้องพบเจอเหตุสุดวิสัยทางการเงิน หรือเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ต้องใช้เงินด่วน โปรดทำใจให้สบายๆ หายใจเข้าลึกๆ เพราะเราสามารถกู้เงินจากเล่มกรมธรรม์ของเราเองได้ เป็นมูลค่า 70-90% ของมูลค่าเวนคืนเงินสด ณ สิ้นปีกรมธรรม์ที่ได้ชำระเบี้ยไปแล้ว
❗️ การ "กู้" เงินจากกรมธรรม์ จะมีของแถมมาโดยอัตโนมัติ คือ ดอกเบี้ยที่ต้องชำระ ซึ่งจะระบุเป็นเงื่อนไขอยู่ภายในเล่มกรมธรรม์ของเราอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 6 - 8% ต่อปี
สาเหตุที่เราไม่สามารถกู้เงินได้เต็มจำนวนของมูลค่าเวนคืนเงินสดนั้น เนื่องจากบริษัทประกันชีวิต จะต้องสำรองเงินไว้ เพื่อแปลงมูลค่าเป็น “การประกันภัยแบบขยายระยะเวลา” เพราะอาจจะเกิดสภาวะที่กรมธรรม์อยู่ในสถานะ ไม่ปกติ นั่นคือ มูลค่าเวนคืนเงินสดไม่พอที่จะกู้จ่ายเบี้ยอัตโนมัติ จึงเกิดการแปลงกรมธรรม์กลายเป็นกรมธรรม์แบบขยายระยะเวลาทันที เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้เอาประกันภัย คือ มีความคุ้มครองประกันชีวิตเหลืออยู่
จะเห็นว่า บางครั้งเบี้ยประกันชีวิตที่ต้องจ่ายทุกๆปีนั้น อาจจะดูเหมือนหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างหนึ่ง หรือ จะมองว่าเป็นภาระก็ย่อมได้ แต่ชีวิต คือ ความไม่แน่นอน หากเราต้องประสบกับเรื่องฉุกเฉินทางการเงิน ไม่แน่ว่า ภาระและความรับผิดชอบทุกๆปีเล่มนี้ อาจจะเป็นดั่ง น้ำทิพย์ช่วยชีวิตในยามหิวกระหาย หรือ แสงไฟในวันที่มือมิดก็ได้นะ
โฆษณา