Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สิงห์นักอ่าน
•
ติดตาม
29 ก.ค. 2023 เวลา 01:21 • หนังสือ
📚 รีวิวสรุปหนังสือ “วิธีพาตัวเองออกจากกล่องใบเล็ก” 📚
📚 รีวิวสรุปหนังสือ “วิธีพาตัวเองออกจากกล่องใบเล็ก” ความลับง่ายๆ ที่จะเปลี่ยนชีวิตของคุณไปอย่างสิ้นเชิง และนำพาองค์กรเติบโตได้อย่างยั่งยืน 📚
เขียนโดย The Arbinger Institute
แปลไทยโดย สำนักพิมพ์ We Learn
🔥หากถามว่าปัญหาหลักที่ทุกคนนั้นต้องเจอทั้งการใช้ชีวิต ครอบครัวและการทำงานคืออะไร?
👉🏻 หลายคนอาจจะทราบเป็นอย่างดีและตอบได้ทันทีเพราะตอนที่กำลังอ่านอยู่นี้ก็กำลังมีปัญหานี้อยู่พอดี นั่นก็คือ “ปัญหาเรื่องคน” ไงครับ
ปัญหาโลกแตกที่ไม่ว่าจะเป็นการเจอเพื่อนร่วมงานที่เรารู้สึกว่านิสัยไม่ดี เจ้านายที่แย่สุด ๆ ภรรยาหรือแฟนที่เอาแต่ใจและเจ้ากี้เจ้าการ หรือแม้กระทั่งลูกที่มีนิสัยที่ไม่ได้ดั่งใจ...😆
ที่สำคัญไปกว่านั้นคือปัญหาเรื่องคนแก้ไขได้ยากมากและหลายคนเองยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าปัญหาที่ตัวเองเจอจะแก้ได้อย่างไร
📌 เมื่อเร็ว ๆ นี้ผมมีโอกาสได้เข้าอบรม workshop เกี่ยวกับ “Outward Mindset” หรือ “กรอบความคิดแบบมองออก” พร้อมวิธีการนำไปใช้ นอกจากได้ความรู้และเทคนิคการนำ Outward Mindset ไปใช้จริงแล้ว ยังได้หนังสือติดไม้ติดมือมาด้วยหนึ่งเล่มครับ SEAC
📍 หนังสือ “วิธีพาตัวเองออกจากกล่องใบเล็ก” หรือชื่อหนังสือในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษคือ “Leadership and Deception” เป็นหนังสือที่จะเปิดโลกใหม่และสอนให้ทุกคนรู้วิธีการที่จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องคนข้างต้นได้ และยังสามารถช่วยให้องค์กรที่นำแนวคิดนี้ไปใช้สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดและยั่งยืนอีกด้วยครับ
👉🏻 หนังสือเล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวผ่านตัวละครเอก ชื่อว่า “ทอม คัลลัม” ผู้บริหารระดับสูงไฟแรงของบริษัทแซกกรัมที่ต้องเข้าประชุมตัวต่อตัวกับรองประธานของบริษัทที่ชื่อว่า “บัด เจฟเฟอร์สัน”
ซึ่งวัตถุประสงค์ของการประชุมครั้งนี้นอกจากจะเป็นการให้ feedback ด้านการทำงานกับทอมแล้ว บัดยังชวนให้ทอมหวนคิดถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมาทั้งด้านการทำงานรวมไปถึงชีวิตครอบครัว ว่าทอมนั้นมีปัญหาอย่างไร...
🔥 สิ่งที่น่าสนใจคือ ตัวทอมเองไม่รู้มาก่อนเลยว่าตนเองมีปัญหาเหล่านี้อยู่ คือ การที่ทอมติดอยู่ใน ”กล่อง” นั่นเองครับ
“กล่อง” ที่ว่านั้นคืออะไร แล้วทำไมเมื่อเราอยู่ในกล่องจึงเป็นปัญหาได้ขนาดนี้ครับ? 🧐🧐🧐
……………..
“การติดอยู่ในกล่องเป็นอย่างไร” 📦
ปัญหาของการที่คนเรานั้นติดอยู่ในกล่องคือเราจะมองไม่เห็นใครเลยนอกจากตัวเอง เราจะมองว่าคนอื่นนั้นเป็นเพียง “สิ่งของ” ไม่ใช่ “มนุษย์” ทำให้เราไม่สนใจอะไรทั้งนั้น เราจะสนใจแค่ตัวเราเองเท่านั้น และที่สำคัญเลยครับเราจะมองคนอื่นเป็น “ต้นตอของปัญหา” ตลอดเวลา ซึ่งอาการแบบนี้ในหนังสือเรียกอีกอย่างว่า “การหลอกตัวเอง” หรือ “Self-Deception“
ในขณะเดียวกันบทสนทนาของบัดและทอมที่เกี่ยวกับปัญหาที่ทอมกำลังเผชิญอยู่นั้น บัดได้ยกตัวอย่างที่เขาเองที่ก็เคยติดอยู่ในกล่องเช่นกัน
👉🏻 ตอนที่บัดได้รับภารกิจด่วนต้องเดินทางไปประชุมต่างเมืองเพื่อทำโครงการสำคัญให้สำเร็จ ซึ่งทีมงานทั้งหมดนั้นได้นั่งทำงานอยู่ที่ชั้น 25 แต่บัดที่มาถึงเป็นคนสุดท้ายกลับต้องไปนั่งปักหลักทำงานอยู่อีกชั้นหนึ่งเพียงคนเดียว โดยการประชุมทีมและข้อมูลต่าง ๆ นั้นจะอยู่ที่ชั้นที่ 25 แต่บัดเองแทบไม่เคยไปที่ชั้น 25 เลย ซึ่งมีหลายต่อหลายครั้งที่บัดโดนตำหนิที่ไม่ทราบข้อมูลที่สำคัญ ทำให้บัดมองว่าทำไมคนอื่นถึงมีแต่ปัญหา ทั้งที่ตัวเขาพยายามทำงานอย่างเต็มที่แต่มีข้อจำกัดมากมาย
ในที่สุดเมื่อถึงวันที่ต้องส่งงาน บัดเป็นคนเดียวทีทำงานไม่เสร็จทั้งหมด โดยหัวหน้าของเขาในขณะนั้น “ลู” จึงมอบหมายงานนั้นให้เพื่อนร่วมงานอีกคนทำ แต่ลูไม่ได้มีท่าทีโกรธเคืองบัดแต่อย่างไร แต่กลับให้กำลังใจบัดที่เป็นกำลังสำคัญของทีมและบอกว่าบัดคงไม่ทำให้ทีมผิดหวังอีกในครั้งหน้า...
💡 ตัวอย่างเหตุการณ์ที่บัดได้เล่าให้ทอมฟังข้างต้นนั้นแสดงให้เห็นว่า บัดมองแต่ว่าคนอื่นเป็นปัญหา และไม่รู้เลยว่าตัวเองมีปัญหาทั้งที่จริง ๆ แล้วบัดน่าจะทำอะไรได้หลาย ๆ อย่างเพื่อให้สามารถทำงานให้สำเร็จ
นี่แหละครับอาการที่เรียกว่า “การหลอกตัวเอง” หรือ “การอยู่ในกล่อง” นั่นเองครับ 💡
ซึ่งเราสามารถสรุปลักษณะของคนที่อยู่ในกล่องได้ดังนี้ครับ
🔴 มองคนอื่นเป็นแค่วัตถุ สิ่งของ ไม่สนใจไม่แคร์
🔵 ความต้องการของตัวเองสำคัญที่สุด ความต้องการของคนอื่นไม่สำคัญเท่า
🟢 คนอื่นเป็นต้นตอของปัญหาเสมอ
……………..
“ความแตกต่างระหว่างการอยู่ในกล่องกับการอยู่นอกกล่อง” 🥡
👉🏻 บัดได้ยกตัวอย่างอีกหนึ่งเหตุการณ์ให้กับทอมฟังว่า ระหว่างที่เขาเดินทางโดยเครื่องบินที่สามารถเลือกที่นั่งได้ตามใจชอบครั้งหนึ่ง
สายการบินได้มีการประกาศว่าผู้โดยสารบนเที่ยวบินลำนี้ทำการจองมาไม่เต็มเครื่อง ซึ่งทำให้มีที่นั่งว่างอยู่ และบังเอิญว่ามีที่นั่งข้างตัวเขาว่างอยู่พอดี บัดจึงรู้สึกดีใจมาก และพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อที่ไม่อยากให้ผู้โดยสารคนอื่นมานั่งข้างเขา โดยเอากระเป๋าเอกสารวางไว้บนที่นั่งที่ว่าง แถมทำท่าทางเป็นอ่านหนังสือพิมพ์โดยกางกว้างขวาง เพื่อให้ที่นั่งตรงนั้นไม่มีคนอยากนั่งมากที่สุด 🙅♂️
👉🏻 ในขณะเดียวกัน บัดได้ยกตัวอย่างถึงการเดินทางกับอีกสายการบินของเขาและภรรยา ซึ่งบัดได้เจอเหตุการณ์ที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงคือ ตัวเขาและภรรยากำลังมองหาที่นั่งว่างสองที่ติดกัน ทันใดนั้นก็มีผู้หญิงคนหนึ่งมาเสนอว่าสามารถนั่งที่ของเธอได้เลย โดยเธอจะขยับที่นั่งให้เอง
ถามว่าในเรื่องเล่าของสองเหตุการณ์นี้ความแตกต่างอยู่ตรงไหนกันครับ?
💡 ในกรณีแรกบัดมองว่าตัวเองสำคัญกว่าคนอื่น และความต้องการที่นั่งของคนอื่นนั้นไม่สำคัญเท่า ซึ่งแน่นอนครับว่าบัดนั้นทำตัวอยู่ในกล่อง
ในทางตรงกันข้าม ผู้หญิงคนที่เห็นอกเห็นใจบัดและมองบัดกับภรรยาเป็น “มนุษย์” คนหนึ่งนั้นเห็นความต้องการของผู้อื่นสำคัญเท่ากับของตัวเอง ซึ่งคือพฤติกรรมของการอยู่นอกกล่องครับ ✅
เมื่อมองย้อนกลับไปในกรณีของบัดที่ทำงานไม่สำเร็จแต่”ลู” กลับไม่กล่าวโทษบัด แถมให้กำลังใจและให้ความเชื่อใจ ทำให้บัดนั้นรู้สึกได้ถึงความแตกต่างและอยากที่จะให้ความร่วมมือและพัฒนาตัวเอง
🔥 เคล็ดลับความสำเร็จคือการที่ลูทำตัวอยู่นอกกล่องเสมอ เขามองทุกอย่างโดยไม่มีอคติ มองเห็นคนอื่นเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน ทำให้เขาค้นพบวิธีสร้างบริษัทแซกกรัมด้วยวัฒนธรรมและวิธีการคิดแบบนี้ ซึ่งเมื่อผู้คนที่ได้สัมผัสวัฒนธรรมแบบนี้และถูกมองเป็นมนุษย์เหมือน ๆ กัน ก็มีแนวโน้มที่จะปฏิบัติแบบเดียวกันด้วยครับ
1
💡 ลองคิดดูกันครับว่าถ้าสังคมที่เราอยู่หรือในองค์กรที่เราทำงานมีแต่คนที่อยู่ในกล่อง หรือ เต็มไปด้วยคนที่อยู่นอกกล่อง จะมีความแตกต่างกันขนาดไหนครับ...🤔
……………..
“คนเราเข้าไปอยู่ในกล่องได้อย่างไร”
บัดได้เล่าเรื่องต่อไป เมื่อครั้งที่ลูกชายเค้ายังเป็นทารกอยู่ มีหลายครั้งที่ลูกชายเค้าร้องในเวลากลางดึก แว่บแรกของความคิดคือบัดควรจะลุกขึ้นไปดูลูกชายที่ร้องอยู่ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เขากลับทำสิ่งที่ตรงกันข้ามโดยไม่รู้ตัว คือ เขากลับนอนเฉย ๆ ฟังเสียงเด็กร้อง โดยคาดหวังว่าภรรยาของเขาคงจะตื่นและลุกไปจัดการเอง!
💡 ความคิดในตัวอย่างที่บัดเล่านี้ ในหนังสือเล่มนี้เรียกว่า “การทรยศตัวเอง” ครับ
ซึ่งมีอีกตัวอย่างที่หลายคนอาจจะเคยเจอ เช่น กรณีที่เรามีข้อมูลบางอย่างที่สำคัญและเป็นประโยชน์กับเพื่อนร่วมงานและคิดว่าต้องบอกคนอื่นต่อ แต่เรากลับเลือกที่จะไม่บอก ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม นี่ก็คือตัวอย่างการทรยศตัวเอง
👉🏻 การทรยศตัวเองนี่แหละครับที่เป็นสิ่งที่ทำให้เราเข้าไปอยู่ในกล่อง
เมื่อเราทรยศตัวเองเราก็จะมองโลกในแบบที่หาเหตุผลมารองรับการกระทำของเราเองว่าถูกไปหมด เราจะเริ่มเข้าข้างตัวเอง มองแต่ตัวเอง และเข้าไปอยู่ในกล่อง และเริ่มการกล่าวโทษผู้อื่นครับ 🙅♂️
เมื่อเวลาผ่านไปกล่อง ๆ นั้นก็จะกลายเป็นนิสัยที่ติดตัวเราไปเลยครับ ไม่ว่าเราจะไปไหนหรือทำอะไรก็จะเหมือนกับเราแบกกล่อง ๆ นั้นไปกับเราด้วยเสมอ
ยิ่งไปกว่านั้นครับเมื่อเราอยู่ในกล่อง และปฏิบัติต่อคนอื่นด้วยวิธีแบบเดียวกัน มันจะไปกระตุ้นให้คนอื่น ๆ เข้าไปอยู่ในกล่องด้วยเช่นกันครับ! 😖
📍 ลองนึกภาพในกรณีที่ทำงานอยู่ในองค์กรนะครับ หากแต่ละคนจ้องแต่จะอยู่ในกล่อง โดยสนใจแต่ผลลัพธ์ของตนเอง ไม่สนใจเรื่องของคนอื่นเลย เขาก็จะกระตุ้นให้คนอื่นทำแบบเดียวกัน เกิดเป็นการสมรู้ร่วมคิดและลุกลามไป จนผลลัพธ์ที่จะตามมาก็คือการที่แต่ละคนหรือแต่ละแผนกมีเป้าหมายต่างกันและตั้งตัวเป็นศัตรูกัน
……………..
“แล้วเราจะออกนอกกล่องได้อย่างไร” 🤔
💡 จริง ๆ แล้วตอบคำถามนี้ได้ง่าย ๆ เลยครับ เมื่อไหร่ก็ตามที่เรานั้นมองคนอื่นเป็น “มนุษย์” คนหนึ่งแล้วนั่นแหละครับที่เราอยู่นอกกล่องแล้วครับ
การพูดคุยระหว่างบัดกับทอมทำให้ทอมย้อนเล่าไปถึงกรณีของตัวเขาเองที่หลังจากเขาได้เรียนรู้เรื่อง “กล่อง” จากบัดแล้วทำให้เขาคิดแก้ไขบางอย่าง ทั้งที่ก่อนหน้าเขาปฏิบัติไม่ดีต่อเพื่อนพนักงานที่ดันไปใช้ห้องประชุมที่เขาใช้เป็นประจำแล้วดันลบข้อมูลของเขาออกจากกระดาน หรือไปถึงเรื่องที่ทอมปฏิบัติต่อภรรยาและลูกของเขาในฐานะสิ่งที่ต่ำต้อยกว่านั้น
ทันใดที่เขาคิดได้ ทำให้เขารู้สึกอยากปฏิบัติต่อคนอื่นในฐานะ “มนุษย์” คนหนึ่ง อยากที่จะออกนอกกล่องเพื่อใครสักคน เวลานั้นแหละครับตัวเขาก็ได้อยู่นอกกล่องเรียบร้อยแล้ว
ทันทีที่เราหยุดต่อต้านคนอื่น เราก็จะออกมานอกกล่อง เป็นอิสระจากความคิดและความอคติที่เข้าข้างแต่ตัวเอง ซึ่งจะเห็นได้ว่าหนทางต่อการออกนอกกล่องก็อยู่ต่อหน้าเรานี่เอง ซึ่งก็คือ การเปลี่ยนความคิดต่อคนที่ยืนอยู่ต่อหน้าเราเสีย และเลิกการทรยศต่อตัวเองและทำเพื่อคนอื่นแทน
……………..
“บทสรุป”
ในบทสุดท้ายของหนังสือ หนังสือได้สรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับ “กล่อง” รวมไปถึงการนำไปใช้ไว้ดังนี้ครับ
1️⃣ การทรยศต่อตัวเองนั้นนำไปสู่การหลอกตัวเอง และการเข้าไปอยู่ในกล่อง
2️⃣ เมื่ออยู่ในกล่องคุณจะจดจ่ออยู่แต่กับตัวเอง ไม่ใช่ผลลัพธ์
3️⃣ คุณจะออกมานอกกล่องได้ก็ต่อเมื่อคุณเปลี่ยนความคิด เลิกต่อต้านคนอื่น
4️⃣ อย่ามองหากล่องของคนอื่น หาแค่ของตัวเองก็พอแล้ว
5️⃣ อย่ากล่าวหาว่าคนอื่นอยู่ในกล่อง แต่ให้พยายามทำตัวอยู่นอกกล่องจะดีกว่า
6️⃣ ไม่แปลกที่เราจะเคยอยู่ในกล่อง จงขอโทษและจากนั้นให้เดินหน้าแก้ไข และพยายามช่วยเหลือคนอื่น
7️⃣ อย่าจดจ่อกับความผิดพลาดของคนอื่น ให้จดจ่อกับสิ่งที่เราสามารถทำเพื่อช่วยพวกเขาได้
……………..
📌 หนังสือ“วิธีพาตัวเองออกจากกล่องใบเล็ก” ทำให้เราเข้าใจครับว่าแนวคิดเกี่ยวกับ “กล่อง” เป็นแนวคิดที่น่าจะสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาเรื่อง “คน” ที่เป็นปัญหาที่เราทุกคนต้องเจอเหมือน ๆ กัน ได้ดีทีเดียวครับ
💡ปัญหาต่าง ๆ นั้นส่วนใหญ่เกิดจากความคิดของเราที่อยู่ในกล่อง ซึ่งเมื่อเราเป็นแบบนั้น มันก็ง่ายที่จะกระตุ้นให้คนรอบข้างเข้าไปอยู่ในกล่องได้ง่าย ๆ เช่นกัน ซึ่งผลที่ตามมาก็คือกมักจะมีปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีกอย่างต่อเนื่องและบานปลายออกไปเรื่อย ๆ ครับ
❤️ ในชีวิตของเรานั้นผมค่อนข้างมั่นใจครับว่า การที่เราคิดแบบนอกกล่อง หรือจะเรียกอีกอย่างได้ว่า “Outward Mindset” น่าจะทำให้ตัวเรารวมถึงคนรอบตัวมีความสุขมากขึ้น เพราะในเมื่อเรามองคนอื่นเป็น “มนุษย์” และไม่ด้อยค่าความต้องการของเขา ก็น่าจะทำให้เราดำเนินชีวิตไปด้วยกันได้อย่าง “เข้าอกเข้าใจกัน” เป็นอย่างดี
และในกรณีของการทำงานในองค์กรก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อเราอยู่ในตำแหน่งของผู้นำ ผู้นำที่คนจะเลือกที่จะติดตามก็คือผู้นำที่อยู่นอกกล่อง ที่มีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น และสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นปฏิบัติตามและทำงานอย่างเต็มความสามารถ 🌟
🌈 เมื่อไหร่ก็ตามที่องค์กรใด ๆ มีคนส่วนใหญ่ที่อยู่นอกกล่องแล้ว ก็น่าที่จะทำให้องค์กรนั้น ๆ มีศักยภาพการแข่งขันที่สูงกว่าองค์กรอื่น ด้วยทรัพยากรที่มีค่าที่สุดขององค์กร นั่นคือกรอบความคิดหรือ mindset ที่ดีของคนในองค์กรที่นั่นเองครับ
#OutwardMindset #BookReview #รีวิวหนังสือ #สิงห์นักอ่าน
ป.ล. ถ้าไม่อยากพลาดการติดตามการรีวิวหนังสือดี ๆ แบบละเอียดยิบ ฝากกด Like กดติดตามเพจ รวมถึงยังติดตามได้อีกหนึ่งช่องทางใน facebook : สิงห์นักอ่าน
11 บันทึก
11
14
11
11
14
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย