29 ก.ค. 2023 เวลา 01:24 • ปรัชญา

อนุปุพพิกถา ๕ และ อริยสัจ ๔

- การศึกษาตามลำดับลุ่มลึกลงสู่การพ้นทุกข์ -
เป็นพระธรรมเทศนาที่แสดงเนื้อความลุ่มลึกลงไปโดยลําดับ เพื่อขัดเกลาอัธยาศัยของผู้ฟังให้ประณีตยิ่งขึ้น จนจิตของบุคคลนั้นพร้อมที่จะเข้าใจในสัจธรรม จึงทรงแสดงอริยสัจธรรม ๔ อันเป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา อนุปุพพิกถามี ๕ ประการ คือ
อนุปุพพิกถา ๕
~~~~~~~~
๑. ทานกถา
กล่าวถึงการให้ การเสียสละ อันเป็นเหตุแห่ง ความสุขทั้งหลาย เป็นบ่อเกิดแห่งสมบัติทั้งหลาย เป็นที่ตั้งแห่งโภคะ ทั้งหลาย ทานย่อมให้สวรรค์สมบัติ พรหมสมบัติ จักรพรรดิสมบัติ สาวกบารมีญาณ ปัจเจกโพธิญาณ อภิสัมโพธิญาณ ทานจึงเปรียบดุจ แผ่นดินใหญ่
[อ่านต่อ ทานกถา]
๒. สีลกถา
กล่าวถึงความประพฤติที่ดีงาม ศีลย่อมให้สมบัติในโลกนี้และโลกหน้า เครื่องประดับใดจะงดงามเช่นกับผู้ที่มีศีลย่อมไม่มีกลิ่นใดจะหอมฟังทั้งตามลมและทวนลม เช่น กลิ่นของผู้มีศีลย่อมไม่มี พระพุทธองค์จึงตรัสศีลไว้ในลําดับต่อจากทาน
[อ่านต่อ สีลกถา]
๓. สัคคกถา
เรื่องสวรรค์ กล่าวถึงทิพยสุขทิพยสมบัติที่น่าปรารถนาอันจะพึงได้รับ จากผลแห่งทานและศีลที่กระทําแล้ว ย่อมได้ในสวรรค์ พระพุทธองค์จึงทรงแสดงสัคคกถาไว้ในลําดับต่อจากศีล
๔. กามาทีนวกถา
พระพุทธองค์ตรัสว่า แม้ความสุขในสวรรค์ ก็ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่ควรยินดีพอใจเพียงแค่สวรรค์ เปรียบเหมือนบุคคลประดับช้างให้งดงามแล้ว กลับตัดเอางวงของช้างไป จึงแสดงโทษ และความต่ำทราม ความเศร้าหมองของกามว่า กามทั้งหลายมีสุขน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก พระพุทธองค์จึงตรัสกามาที่นวกถา ไว้ในลําดับต่อจากสวรรค์
[อ่านต่อ กามาทีนวกถา]
๕. เนกขัมมานิสังสกถา
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเรื่องของทาน ศีล สวรรค์ และโทษของกามทั้งหลายแล้ว ทรงแสดงอานิสงส์ ของการออกจากกาม ชี้แจงให้เห็นคุณของเนกขัมมะ คือการออกบวช เพื่อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่สิ้นทุกข์ ซึ่งจักเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งโลกนี้และโลกหน้า
[อ่านต่อ เนกขัมมานิสังสกถา]
อริยสัจ ๔
~~~~~
เมื่อทรงทราบว่าบุคคลนั้น มีจิตที่ปราศจากกิเลส มีจิตที่ปราศจากนิวรณ์ คือ กามฉันทนิวรณ์ เป็นต้น มีจิตที่เบิกบานผ่องใส ประกอบด้วยปีติและปราโมทย์ สมบูรณ์ด้วยศรัทธาในสัมมาปฏิบัติแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงประกาศอริยสัจธรรม ๔ ประการ ที่พระองค์ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง คือ ทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทยอริยสัจ ทุกขนิโรธ อริยสัจ และ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เพื่อให้บุคคลนั้นพิจารณา เห็นสัจธรรม ตรัสว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา”
เมื่อบุคคลนั้นพิจารณา ตามกระแสแห่งพระธรรมเทศนา ประจักษ์แจ้งธรรมนั้นแล้วด้วยตนเอง บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อฟังคําสอนของผู้อื่นอีก นอกจากคําสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอแสดงตนเป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ หรือขอบรรพชาอุปสมบทในที่สุดนี้ เป็นพระมหากรุณาคุณที่พระพุทธองค์ทรงมีต่อคฤหัสถ์ ผู้มีอุปนิสัย ที่จะได้บรรลุธรรม (ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒/๑ หน้า ๖๕-๗๐)
[อ่านต่อ อริยสัจ ๔]
โฆษณา