29 ก.ค. 2023 เวลา 11:49 • ท่องเที่ยว

Pura Gunung Kawi ..หุบผากษัตริย์แห่งบาหลี

การเข้าไปเที่ยววัดในบาหลี ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะต้องเสียค่าเข้าขม .. เมื่อยามไปวัด ชาวบาหลีค่อนข้างเข้มงวดในเรื่องของเครื่องแต่งกายที่เหมาะสม รวมถึงมีกฎกติกามารยาทที่ต้องปฏิบัติตามธรรมเนียมของคนท้องถิ่น คือผู้หญิงต้องนุ่งโสร่งกรอมเท้า ผู้ชายต้องสวมกางเกงขายาว และทุกคนจะต้องมีผ้าคาดเอว ที่เรียกว่า อุมปัล แบบพื้นบ้านพันรอบเอว แต่ถ้าใครไม่ได้เตรียมผ้าไว้คนเฝ้าวัดจะมีให้ยืม โดยอาจจะต้องมีการบริจาคเงินเล็กๆน้อยๆให้กับวัด
นอกจากนั้นยังห้ามไม่ให้ผู้หญิงที่มีประจำเดือน หรือผู้ที่มีบาดแผลเลือดออกเข้าวัดเป็นอันขาด เพราะชาวบาหลีเชื่อกันว่าพื้นดินภายในบริเวณวัดมีความศักดิ์สิทธิ์ โลหิตจึงไม่สมควรต่อเขตศักดิ์สิทธิ์ …
วัด Pura Gunung Kawi ถือว่าเป็นวัดที่ศักดิ์สิทธิ์ ผู้เข้าชมทุกคนต้องแต่งกายที่เหมาะสมซึ่งประกอบด้วยผ้าโสร่งที่มีผ้าคาดเอว และจึงเดินลงบันไดหลายร้อยขั้นเพื่อไปสู่หุบเขาด้านล่าง ก่อนจะไปถึงวัด
ทุกคนเดินไปตามทางเดินซึ่งชาวบ้านทำเป็นขั้นบันไดตามทางลาดชันลงไปตามหุบเขา .. ตลอดทางมีร้านค้า ร้านขายเครื่องดื่ม และร้านขายของที่ระลึก เรียงรายลงไปเกือบตลอดแนว
เนื่องจากพื้นที่ของเกาะบาหลีส่วนมากลาดชัน ดังนั้น เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการใช้ผืนดิน ชาวบาหลีจึงนำระบบการทำนาแบบขั้นบันไดมาใช้
… การเพาะปลูกและทำนาแบบขั้นบันไดจึงเป็นภูมิทัศน์ที่มีเสน่ห์เฉพาะตัวของเกาะบาหลี ที่ถูกถ่ายทอดผ่านปลายพู่กันของจิตรกรมากมาย ออกมาเป็นภาพวาดที่งดงาม …
ปูรา อูนุง กาวี .. ตั้งอยู่ ณกลางหุบเขาที่งดงามที่มองเห็นแม่น้ำปากรีซัน (Pakerisan) อันศักดิ์สิทธิ์อยู่เบื้องล่าง .. แม่น้ำสายนี้ไหลผ่าน วัดน้ำศักดิ์สิทธิ์ Tirta Empul ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางเหนือ 1 กิโลเมตร
ประตูสกัดจากหิน ก่อนเข้าถึงบริเวณวัด
จันดี หรือบริเวณผนังด้านนอกของตัววัด มีหินสกัดตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 11 ซึ่งเป็นอนุสรณ์ที่ตัดออกมาจากหน้าผาหินโดยเลียนแบบอาคารจริง เป็นโพรงที่มีกำบังสูงตระหง่านสูง 8 เมตรตัดเข้าไปในหน้าผาสูงชัน และยังคงอยู่ในสภาพดีเยี่ยม
.. ทั้งหมดเชื่อว่าเป็นอนุสรณ์สถานของราชวงศ์วรมาเทวา ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มมีธรรมเนียมศพของราชวงศ์ ที่กษัตริย์และราชินีจะได้รับการบูชายิ่งหลังสวรรคต … แต่ที่นี่ไม่ใช่ที่ฝังพระศพ ด้วยไม่เคยปรากฏว่าจันดีมีอัฐิหรือเถ้ากระดูกของผู้ตายบรรจุอยู่
จันดีหลักทั้ง 5 มีทฤษฎีที่บอกไว้ว่า สร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติกษัตริย์อุทายานา (Udayana) พระมเหสีมเหนทราทัตตา (Mahendradatta) พระโอรสทั้ง 2 ของพระองค์ และ พระสนม … อีกทฤษฎีหนึ่งเสนอว่า เป็นการสดุดีพระโอรสของกษัตริย์ อุทายานา พระนามว่า อานะก์ วุงซุง (Anak Wungsu) ผู้ปกครองบาหลีในช่วงศตวรรษที่ 11 และเหล่าพระชายาของพระองค์
จันดีอีก 4 ที่อีกฝั่งแม่น้ำมีไว้สำหรับพระสนม จันดีลำดับที่ 10 ซึ่งตั้งอยู่โดดเดียวห่างออกไป (ไม่ได้ถ่ายรูปมาค่ะ) อาจมีไว้สำหรับขุนนางในราชสำนักชั้นสูง หรือนักบวช
ถ้ำตื้นๆด้านข้าง .. อาจจะเป็นวถานที่นั่งสมาธิของนักบวช
ภายในวัดมีลักษณะของวัดบาหลี คือ มีศาลาไร้ผนัง แท่นบูชา ประตูแกะสลัก
วัดในศาสนาฮินดูที่มิได้อยู่ในครอบครองของครอบครัวใด เรียกว่า ปูรา หมายความถึง ป้อม วัง หรือเมือง … แต่ก็ยังมีผู้เชื่อว่า คำว่า ปูรา มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า “ที่ว่างระหว่างกำแพง” จึงมักจะเห็นปูราแต่ละแห่งล้วนมีกำแพงล้อมรอบ ..
ปกติ ปูรา จะถูกผสานรูปแบบและประโยชน์ใช้สอยให้กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม ดังจะเห็นได้จาก ศาลาโปร่ง และประตูสลักสูงใหญ่ … ลานวัดชั้นนอก จะเป็นที่โล่ง … วันตีลัน เป็นศาลาใหญ่ไม่มีผนังใช้จัดการแสดง … ที่มุมกำแพงชั้นนอกอาจสร้างเป็นหอคอย ซึ่งมีท่อนไม้กลวงแขวนไว้ตีสัญญาณการมาถึงและการจากไปของเทพเจ้า
เมื่อจะเข้าวัดต้องเดินผ่านประตูผ่าซึก ที่เรียกว่า จันดี เบินตาร์ ที่ดูเหมือนรูปสามเหลี่ยมสูงที่ถูกผ่าครึ่งแล้วแยกเป็นสองส่วน ซึ่งเชื่อว่าอาจจะมีความสัมพันธ์กับอนุสรณ์สถานของกษัตริย์ ซี่งพัฒนามาจากการบูชาบรรพชนในยุคก่อน …
นอกจากนี้ จันดี เบินตาร์ ยังอาจเป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งองค์ประกอบของโลก เป็นครึ่งของบุรุษและสตรี รวมถึงเป็นสัญลักษณ์การเปิดประตูจากโลกแห่งวัตถุ สู่ภพแห่งจิตวิญญาณภายในวัด
ลานชั้นกลางที่ล้อมรอบด้วยกำแพง แต่เปิดโล่งสู่ท้องฟ้า จะมีสิ่งก่อสร้างมากขึ้น มีที่สำหรับวงกาเมลัน มีอาคารสำหรับเตรียมเครื่องบูชาและการแสดงหุ่นเงา
ลานชั้นใน .. มีซุ้มทางเข้าที่มีขั้นบันไดทั้ง 2 ข้าง เหนือช่องประตูเป็นพระพักตร์และพระหัตถ์ของ เทพโบมา ที่หลายคนคงคิดว่าน่ากลัว แต่นี่เป็นสัญลักษณ์ของการไม่สามารถให้กำเนิดโอรสของพระวิษณุและพระนางอีบู เปรตีวี (พระแม่ธรณี) … โบมาทรงปราบมาร เช่นเดียวกับอสูรกายหินที่เฝ้าทั้ง 2 ด้านของประตูที่มีที่บูชาเล็กๆอยู่ข้างๆสำหรับวางเครื่องสักการะ
ภายในลานชั้นใน ยังมีแท่นบูชา เรียงเป็นแถวตามแนวภูเขา-ทิศตะวันออก แท่นบูชาส่วนใหญ่จะเป็นช่องไม้ทึบเล็กๆบนฐานอิฐและหินที่ก่อสูงขึ้น มีหลังคาที่มุงด้วยหญ้าแฝก หรือใยตาล …
แต่ที่สำคัญที่สุดและโดดเด่นที่สุด คือ หอเมรุ หรือหอบูชา อันเปรียบดังเขาพระสุเมรุในจักรวาล หลังคามุงบใยพืชนี้หากมีหลายชั้นจะเป็นเลขคี่เสมอ ตั้งแต่ 3-11 ชั้น ยิ่งเป็นเมรุของเทพที่สำคัญๆจะยิ่งมีชั้นมากขึ้น
บริเวณศาสนพิธีของบาหลีจะไม่มีหอสวด แต่จัดอาสนะไว้บนพื้นเพื่อสวดหน้าแท่นบูชา ไม่ว่าฝนจะตกแดดจะออกแค่ไหน หรือในยามทิวาหรือราตรี …
วัดในบาหลีมีศาสนวัตถุโบราณ แต่จะไม่มีการนำออกมาบ่อยๆ จะนำออกมาใช้ในงานพิธีเท่านั้น โดยเชื่อว่าทวยเทพจะมาสถิตยังแท่นบูชาและในวัตถุเหล่านั้นในพิธีโอดาลัน … วัดในบาหลีจึงแทบจะไม่มีรูปเคารพของเทพเจ้า ยกเว้นรูปสลักหินขนาดใหญ่เท่านั้น
แท่นบูชาที่สำคัญที่สุดของวัด คือ บัลลังก์ดอกบัว ของอัครเทพ ซังห์ยัง วีดี วาซา ที่จะตั้งอยู่ในมุมแนวของภูเขา-ทิศตะวันออก อันเป็นตำแหน่งที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในลานชั้นใน … แท่นจะมีลักษณะเป็นที่นั่งหินสูงที่สื่อถึงจักรภพ ฐานเป็นตัวเต่า บดาวัง นาลา แห่งโลกบาดาลของจักรวาล ร้อยรัดด้วยงู 2 ตัว คือ บาซูกีและอานันตาโบ รวมเป็นฐานของจักรภพ … ชั้นที่ลดหลั่นเปรียบดังสวรรค์ชั้นต่างๆ และบนสุดเป็นบัลลังก์เปิด
ในงานเทศกาลต่างๆ จะมีการประดับประดาบริเวณวัด และแท่นบูชาด้วยมาลี มาลา และภูษาอาภรณ์อย่างเหมาะสม
ในช่วงที่ฉันเคยมาเยี่ยมชมที่นี่เมื่อแครั้งก่อน ตรงกับวันที่วัดมีพิธีฉลองพอดี จึงขอนำบรรยากาศมาฝากค่ะ
วัดมีส่วนในวิถีชีวิตของชาวบาหลีอย่างเปิดเผย … ชาวบาหลีไม่ได้ไปวัดเป็นประจำ แต่จะไปวัดในวันศักดิ์สิทธิ์ที่กำหนดไว้
ในช่วงพิธีต่างๆ เช่นพิธีครบรอบของวัด ที่รู้จักกันในชื่อ พิธีโอดาลัน ' piodalan ' ทุกปี .. อันเป็นวาระที่เทพเจ้าลงมาเยือนวัดต่างๆ ซึ่งจะครบรอบและจัดพิธีขึ้นทุกๆ 210 วัน (6 เดือน) ตามรอบพิธีกรรม หรือ 355 วันในปฏิทินจันทรคติ
ใกล้พิธีโอดาลัน … วัดจะคึกคักด้วยชาวบ้านที่มาทำความสะอาดลานวัด คลี่แถบผ้าและธงทิว ประดับประดาแท่นบูชาและรูปปั้นด้วยภูษาและเครื่องตกแต่ง มีการตั้งเสาไม้ไผ่สูงที่เรียกว่า “บาเตน (Batan)” ตกแต่งด้วยทางมะพร้าวสานเป็นรูปต่างๆอย่างสวยงาม
ชาวบาหลีมีชีวิตแนบแน่นอยู่กับขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ประเพณีหนึ่งที่น่าสนใจคือประเพณีบูชาเทพเจ้าและทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพชนที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งถือปฏิบัติปีละ 2 ครั้ง
ในวันที่มีประเพณีดังกล่าว หญิงชาวบาหลีจะเอาอาหารและขนมใส่พานเทินศีรษะเดินไปเทวาลัย เห็นแล้วน่าทึ่งว่าทำไมจึงเทินสิ่งของได้มากมายอย่างนั้นโดยไม่ตกหล่นเลย … ที่น่าแปลกก็คือ มีแต่ผู้หญิงเท่านั้นที่เทิน ไม่มีผู้ชายทำเช่นนั้นเลย
ใครบางคนบอกว่า … เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายเทิน สิ่งของบนศีรษะยิ่งมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งแสดงฐานะของผู้เทินเท่านั้น
ผู้หญิงบาหลีจึงถูกหัดให้เทินของบนศีรษะตั้งแต่เด็กๆ และเทินไปจนแก่ .. ฉันเห็นผู้หญิงบาหลีทั่วๆไปรูปร่างดีมาก คนอ้วนไม่เจอเลยค่ะ และการที่รับการฝึกเรื่องเทินของบนศีรษะตั้งแต่เด็ก เลยทำให้หาคนหลังโกงยาก
ของบูชาที่ใส่พานเทินบนศีรษะนั้น ประกอบด้วยผลไม้ประจำถิ่นเป็นส่วนใหญ่ เช่น แอปเปิ้ล ชมพู่ กล้วย จัดใส่พานรวมกับขนมและดอกไม้ แต่งด้วยใบมะพร้าวและใบกล้วยสานเป็นรูปทรงต่างๆอย่างงดงาม …
สำหรับขนมนั้นก็เป็นขนมซึ่งทำเป็นพิเศษสำหรับพิธีนี้ มีหลายชนิดที่คล้ายกับขนมทางปักษ์ใต้บ้านเราใช้ทำบุญเดือนสิบ เช่น ขนมท่อนใต้ ขนมลา ข้าวพอง ถั่วตัด งาตัด ซึ่งล้วนมีคามหมาย
เราเดินทางไปเยือน ปูรา อูนุง กาวี ในวันฟ้าใส … เมื่อไปถึงที่หมาย มองเห็นผู้คนในเครื่องแต่งกายพื้นเมืองสวยงาม สีสันสดใส ผู้หญิงประดับประดาเนื้อตัวด้วยเครื่องประดับตามฐานะ เดินทยอยไปทำบุญ
ผู้หญิงที่มีสิ่งของเทินอยู่บนศีรษะมาถึงเทวาลัย .. ก็จะเอาสิ่งของที่เทินมาวางบูชาตรงสถานที่ที่ทางเทวาลัยจัดไว้ให้ แล้วนั่งบนพื้นตรงหน้าเจดีย์ ทำพิธีสวดมนต์อุทิศส่วนกุศลให้ผู้วายชนม์
รูปศักดิ์สิทธิ์จะถูกนำออกมาให้นักบวชประดับด้วยดอกไม้ เครื่องตกแต่งและผืนผ้า … ท้ายสุด เทพจะเสด็จมาสถิตในรูปเคารพเพื่อเฝ้าดูฝูงชน จะมีการบูชา ถวายเครื่องสักการะและความสำราญ …
วงกาเมลันประโคมดนตรี มีการขับขานลำนำศักดิ์สิทธิ์ อ่านบทกวี … รายล้อมด้วยผู้คนหลายร้อยคนที่ต้องการเฝ้าเทพเจ้า
นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปร่วมสังเกตการณ์ในการทำ และถ่ายภาพได้ แต่มีข้อควรปฏิบัติ คือ .. ไม่ให้ใช้แฟลช อย่ายืนตรงหน้านักบวช หรือเดินตัดหน้าผู้มาสวดมนต์หรือสักการะ
… ไม่ควรยืนขณะที่ผู้อื่นกำลังสวดมนต์ ควรถอยไปด้านหลังรอจนเสร็จพิธี และไม่ควรให้ศีรษะอยู่สูงกว่าศีรษะของนักบวช
"ชานัง" .. กระทงดอกไม้ใบน้อย ที่สตรีชาวบาหลีได้ประดิษฐ์ขึ้นจากใบมะพร้าวอ่อน ประดับด้วยดอกไม้หลากสีหลายชนิด มีข้าว มีขนม อย่างละเล็กละน้อย ตั้งไว้เพื่อบูชา และทักทานอำนาจทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่วร้าย อันจะนำมาซึ่งความสงบสุขของทุกสรรพสิ่งในโลก
… ด้วยความเชื่อที่ว่า โลกดำรงอยู่อย่างสงบสุขและพรั่งพร้อมได้ ก็เพราะความสมดุลกันระหว่างอำนาจของเทพเจ้าและภูตผี ระหว่างคุณวามความดีและความชั่ว ระหว่างสีดำและสีขาว
เหล่าผู้หญิงจะเตรียมเครื่องบูชาจากดอกไม้ ใบไม้ และวัสดุจากพืชที่กินได้
พวกผู้ชาย จะตั้งแท่นบูชา และโครงสร้างที่ทำด้วยไม้ ไม้ไผ่ และมุงใยด้วยพืช … ที่น่าสนใจคือ เหล่าชายหลายวัยจะเป็นผู้ปรุงอาหารเพื่อเลี้ยงดูผู้มาช่วยงาน อันเป็นงานที่ผู้ชายไม่ทำเมื่ออยู่บ้าน
โฆษณา