30 ก.ค. 2023 เวลา 02:59 • สิ่งแวดล้อม

จับตา พ.ร.บ. EPR กฎหมายที่ทำให้ “การผลิตแค่ให้ขายได้” ไม่พออีกต่อไป

(บทความจาก :กรุงไทย SME FOCUS Issue 39 คอลัมน์ SME Go Green)
เชื่อว่าผู้ประกอบการหลายท่านอาจเคยได้ยินคำว่าหลักการ EPR (Extended Producer Responsibility) กันมาบ้างแล้ว หลักการ EPR มีความหมายว่า การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตต่อผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ของตนเองที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นับตั้งแต่กระบวนการคิด ผลิต จำหน่าย รวบรวม เก็บกลับ จนถึงการกำจัดและการรีไซเคิลด้วย หรือที่เรียกว่า ‘วงจรชีวิตทั้งหมดของผลิตภัณฑ์’ นั่นเอง
3
เพราะฉะนั้นแต่เดิมที่ผู้ผลิตคิดเพียงแค่การออกแบบสินค้าให้มีความสวยงามและน่าซื้อ ด้วยการใช้วัสดุที่ซับซ้อน บรรจุภัณฑ์สวยงาม เพื่อให้ลูกค้าเต็มใจควักกระเป๋าจ่ายอย่างเดียวนั้นไม่ได้แล้ว เพราะผู้ผลิตต้องคำนึงถึงขั้นตอนการนำกลับมารีไซเคิลด้วย
ยิ่งประเภทของวัสดุหลากหลายและซับซ้อนมากเท่าไร ก็จะยิ่งยากต่อการรีไซเคิลและการจัดการมากเท่านั้น รวมถึงหากสินค้าของคุณหลุดรอดไปในธรรมชาติ คุณอาจจะต้องเสียค่าปรับตามหลักการ EPR ด้วย
2
EPR ถูกนำมาใช้กับสินค้าบริโภคในชีวิตประจำวันอย่างขวดน้ำดื่ม ที่อาจเก็บภาษีกับผู้ผลิตที่ใช้ฉลาก PVC เนื่องจากกำจัดได้ยากกว่า หรืออาจครอบคลุมไปถึงสินค้าอุปโภคขนาดใหญ่ เช่น รถยนต์ ที่เมื่อหมดอายุการใช้งาน ก็ต้องมีขั้นตอนการรวบรวม การถอดประกอบ และการกำจัดชิ้นส่วนอย่างเหมาะสมด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นผู้ผลิตจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงวัสดุที่ใช้ เพื่อให้ง่ายต่อการนำมาแปรรูปหรือรีไซเคิลและกำจัดในอนาคตด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกฎหมายในแต่ละประเทศที่กำหนดว่าจะครอบคลุมมากน้อยแค่ไหน
หลักการ EPR ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่แต่อย่างใด แถมยังถูกใช้มานานกว่า 30 ปีแล้ว โดยเยอรมนีเป็นประเทศแรก ๆ ที่นำหลักการนี้มาใช้ ซึ่งในปัจจุบันมี 65 ประเทศทั่วโลกใช้ EPR และกว่า 45 ประเทศที่ออกเป็นกฎหมาย EPR ภาคบังคับ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างสิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฯลฯ
1
แม้ในประเทศไทยจะยังไม่มีกฎหมาย หรือ พ.ร.บ. ที่ว่าด้วย EPR โดยตรง แต่ภาครัฐได้มีแนวคิดที่จะร่างกฎหมายนี้ขึ้นมาจริงจัง โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยหลักการ EPR และเริ่มมีการร่าง พรบ.ส่งเสริมการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน และ พรบ.จัดการซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์แล้ว นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องรีบเตรียมการรับมือและวางแผนธุรกิจตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
3
ผลกระทบต่อธุรกิจ
จริงอยู่ที่ว่าหากกฎหมายนี้ออกมาแล้ว ภาคธุรกิจน้อยใหญ่จะต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน อย่างต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการที่ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบผลิตภัณฑ์ของตนหลังจากออกไปสู่ผู้บริโภค ซึ่งอาจทำได้โดยจัดจุดรับบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วคืน แล้วนำไปรีไซเคิล หรือกำจัดอย่างเหมาะสม
หรือค่าใช้จ่ายที่ต้องให้กับภาครัฐในกรณีที่ไม่สามารถจัดการเองได้ เช่น ในแคลิฟอร์เนียมีการกำหนดค่าธรรมเนียมและกฎระเบียบใหม่เกี่ยวกับผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว โดยให้สมาชิกในอุตสาหกรรมพลาสติกต้องบริจาคเงินราว ๆ 5 พันล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 2 แสนล้านบาท ในช่วง 10 ปี เพื่อใช้ในการรีไซเคิลและกำจัดผลิตภัณฑ์
ผู้ประกอบการจะมีวิธีการรับมือได้อย่างไร
• เริ่มแรกคือ ศึกษาหลักการ EPR ให้มากที่สุด โดยเฉพาะแผนนโยบายของภาครัฐที่มีออกมา เพื่อนำมาปรับปรุงการผลิตให้สอดคล้องกับกฎหมาย
• วางแผนการรวบรวมเก็บกลับสินค้าเพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ หรือการพัฒนาวิธีการรีไซเคิล โดยหันมาให้ความสำคัญกับการ ‘ผลิตเพื่อให้จัดการหลังการใช้ได้’ เช่นเดียวกับการ ‘ผลิตสินค้าให้ขายได้’
• วิเคราะห์ผลกระทบทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นจากการปรับตัวในการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับกฎหมาย
3
อย่างไรก็ดีแม้ผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบทางตรงจากกฎหมาย EPR แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราควรหยุดหรือคัดค้านกระบวนการ EPR เพราะนี่ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันแก้ปัญหามลพิษจากขยะ ซึ่งควรต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน
3
โฆษณา