30 ก.ค. 2023 เวลา 09:29 • ศิลปะ & ออกแบบ

เทคนิค prompt เอไอ

ผู้บริโภคในปัจจุบันล้วนคุ้นเคยกับเรื่องราวของวิชวลเอฟเฟ็กต์ (visual effects : VFX) และภาพที่สร้างจากคอมพิวเตอร์ (computer-generated imagery : CGI) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้การสร้างภาพเหมือนจริงง่ายขึ้น และเพิ่มความรู้สึกของการดื่มด่ำ (sense of immersion)
เป็นเพราะเครื่องมือยุคใหม่เหล่านี้ที่ทำให้เราเพลิดเพลินกับภาพยนตร์เรื่องโปรด โดยเครื่องมือแอนิเมชันเหล่านี้มีมาระยะหนึ่งแล้ว ในขณะที่เทคโนโลยีใหม่กำลังสร้างคลื่นลูกใหญ่ในอุตสาหกรรมเนื้อหา (content industry) นั่นคือ เครื่องสร้างภาพเอไอ (AI Image Generators)
บทนำ
(Introduction)
เครื่องสร้างภาพเอไอ เป็นเครื่องมือที่สร้างข้อความเป็นรูปภาพด้วยเอไอ กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น เนื่องจากนำเสนอวิธีที่ง่ายกว่าในการสร้างรูปภาพ ที่ทั้งดึงดูดสายตาและมีความเชื่อมโยงกับเนื้อหา ด้วยเครื่องมือเอไอเหล่านี้ เราจะสามารถแสดงแนวคิดหรือจินตนาการ เป็นภาพได้ในเวลาไม่กี่วินาที ในความเป็นจริง เทคโนโลยีที่ปฏิวัติวงการนี้ มีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงโลกของการสร้างสรรค์เนื้อหาภาพได้อย่างสมบูรณ์
ด้วยเหตุนี้ เพื่อจะใช้งานเครื่องมือเอไอเหล่านี้ อย่างมีประสิทธิภาพและได้ประสิทธิผลที่ดีเยี่ยม เราจึงต้องมาเรียนรู้ทำความเข้าใจ เกี่ยวกับการให้ข้อความแก่เอไอ ซึ่งมีศัพท์เทคนิคเรียกกันว่า Prompt ดังคำกล่าวที่ว่า “Prompt ที่ดีเป็นแกนหลักของผลลัพธ์ที่ดี” (Good prompts are the backbone of good outputs) สิ่งนี้เป็นจริงสำหรับเอไออย่าง ChatGPT และอีกมากมาย แต่ในขณะที่ ChatGPT ให้การตอบสนองอย่างดีเยี่ยม แม้ว่าข้อความจะค่อนข้างพื้นฐาน หรือไม่ชัดเจน
Technique of AI Prompt
แต่เครื่องสร้างภาพเอไอ มักจะต้องการความใส่ใจในรายละเอียดมากกว่า และต้องใช้ความพยายามมากกว่า ก่อนที่คุณจะได้สิ่งที่ต้องการ และคงต้องยอมรับว่า การใช้งานเครื่องสร้างภาพเอไอ เป็นส่วนของศิลป์มากกว่าศาสตร์ แต่บทความนี้ก็ได้นำเสนอโครงสร้างของ รูปแบบข้อความ หรือ prompt สำหรับเอไองานศิลป์ (AI art prompt) โดยจะให้คำและสำนวนเริ่มต้นที่ ท่านผู้อ่านสามารถใช้เพื่อทำให้ได้รูปภาพที่น่าประทับใจ
โครงสร้างของ prompt
(Structure of Prompt)
เราจะมาเริ่มต้นกันที่ โครงสร้างของ prompt แม้ว่าจะไม่มีข้อกำหนดรูปแบบโครงสร้างที่ตายตัว แต่ก็มีโครงสร้างสำคัญที่นิยมใช้กัน โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่ง ประกอบด้วย เนื้อหาภาพ (image content) หรือ หัวเรื่อง (subject) คำอธิบายการกระทำ (description of action) สถานะ (state) และอารมณ์ (mood) ส่วนที่สอง ประกอบด้วย รูปแบบศิลปะ (art form) สไตล์ (style) และ การอ้างอิงศิลปิน (artist references)
ส่วนที่สาม ประกอบด้วย การตั้งค่าเพิ่มเติม (additional settings) เช่น แสง (lighting) สี (colors) และการจัดเฟรม (framing) นอกเหนือจากที่กล่าวมา หากต้องการเพิ่มองค์ประกอบอื่นๆ ลงใน prompt อย่าลืมคั่นด้วยเครื่องหมายจุลภาค (comma) วิธีนี้จะช่วยให้โมเดลเอไอตีความ prompt ได้เร็วขึ้น และช่วยให้คุณจำสิ่งที่คุณขอได้ง่ายขึ้นด้วย ที่สำคัญ prompt ต้องไม่ยาวหรือสั้นจนเกินไป
Structure of Prompt
โดยปกติจะอยู่ที่ประมาณ 60-300 ตัวอักษร ซึ่งเครื่องสร้างภาพเอไอ แต่ละเครื่อง ก็อาจตอบสนองต่อจำนวนตัวอักษรใน prompt ได้ดีไม่เท่ากัน จึงควรใส่ไว้ที่ค่าเฉลี่ยโดยประมาณดังกล่าว
รูปแบบภาษาที่จะใช้ใน prompt จะให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน ปกติแล้วถ้าใช้ภาษาที่ชัดเจนไม่คลุมเครือ ก็จะได้ผลลัพ์ใก้ลเคียงกับความต้องการ แต่ถ้าใช้ภาษาแบบบทกวี (poetic) หรือเชิงนามธรรม (abstract) ก็จะได้ผลลัพธ์ที่น่าประหลาดใจ และเกินความคาดคิด ด้วยเหตุนี้ ท่านก็สามารถเลือกใช้รูปแบบภาษาที่จะให้ผลลัพธ์ตรงกับวัตถุประสงค์ หรืออาจใช้รูปแบบที่ผสมผสาน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจมากขึ้น และเมื่อท่านมีประสบการณ์มากขึ้น ก็จะสามารถเล่นกับโครงสร้าง ความยาว และสไตล์ของ prompt ได้อย่างช่ำชอง และมีเอกลักษณ์
Prompt รูปแบบศิลปะ
(Prompt for art style)
ต่อไปเราจะมาลงลึกในรายละเอียดของแต่ละองค์ประกอบในโครงสร้าง prompt ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น เริ่มจากส่วนที่หนึ่ง เนื้อหาภาพ เช่น สุนัขในสวน จากนั้นค่อยใส่ การกระทำ เช่น นั่ง เดิน หรือ วิ่ง ตามด้วย สถานะ เช่น สนุกสนาน หวาดกลัว หรือ ตื่นเต้น ปิดท้ายด้วย อารมณ์ เช่น กลางฝนพรำในตอนเช้า ตะวันยามอัสดง หรือ ฟ้าหม่นต้นเหมันต์ ต่อไปก็เป็นส่วนที่สอง ให้ใส่ รูปแบบศิลปะ เช่น
• ภาพถ่าย (Photograp) ใช้เมื่อต้องการภาพเหมือนจริง (realistic pictures) โดยสามารถระบุการจัดเฟรม (framing) สภาพแสง (lighting conditions) ประเภทกล้อง (type of camera) ไปจนถึงข้อมูลจำเพาะของกล้องและเลนส์ (camera and lens specifications)
• ภาพวาด (painting) สามารถระบุ เทคนิค (Techniques) เช่น เป็นภาพวาด สีน้ำมัน หรือสีน้ำ ตามด้วย สไตล์ (style)) หรือ การเคลื่อนไหวทางศิลปะ (Art movements) เช่น แนวอิมเพรสชันนิสม์ (impressionism) หรือ เซอร์เรียวลีสต์ (Surrealism) ปิดท้ายด้วย ชื่อศิลปิน (Artist names) และหากมีการเผยแพร่ภาพ ก็ควรให้เครดิตศิลปินที่ใช้เป็นแรงบันดาลใจด้วย แต่เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร ก็สามารถลองผสมเทคนิค สไตล์ และศิลปิน เข้าด้วยกัน
Prompt for art style
• ภาพประกอบ (Illustration) สามารถระบุเทคนิค เช่น ภาพวาดดินสอ (Pencil drawing) ภาพสเก็ตถ่าน (Charcoal sketch) ภาพการ์ตูน (Cartoon) หรือ ภาพโป้สเตอร์ (Poster)
นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบอื่นๆ เช่น ศิลปะดิจิตอล (Digital art) ฟิล์มภาพนิ่ง (Film stills) ประติมากรรม (Sculpture) ศิลปะตัดแปะ (Collage) ศิลปะข้างถนน (Street art) ศิลปะสิ่งทอ (Textile art) ศิลปะจัดวาง (Installation art) ศิลปะเซรามิก (Ceramic art) หรือ ภาพพิมพ์หิน (Lithography) โดยท่านยังสามารถผสมผสานรูปแบบศิลปะมากกว่าหนึ่งเข้าด้วยกันได้ด้วย เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แปลกใหม่มากขึ้น
Prompt จัดเฟรมและแสง
(Prompt Frames and lighting)
เราจะไปกันต่อในส่วนที่สาม เริ่มจากการจัดเฟรม ในความหมายทั่วไป การจัดเฟรม จะหมายถึง การวางตำแหน่งวัตถุหรือเนื้อหาในรูปภาพ เราสามารถใช้เพื่อกำหนดองค์ประกอบภาพได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่า การควบคุมการจัดเฟรมอาจเป็นเรื่องยาก ขึ้นอยู่กับว่า เราเขียนส่วนแรกของ prompt อย่างไร
ตัวอย่างเช่น ตอนแรกเราใช้ prompt ว่า “A man stands in front of a burning building, strong determined attitude” เราก็จะได้ดังภาพ A ในรูปที่ 1 แต่ถ้าจัดใหม่เป็น “a man with strong determined attitude, burning building background, close-up shot” ก็จะได้ดังภาพ B ในรูปที่ 1
รูปที่ 1 แสดงภาพทดสอบการจัดเฟรมของภาพ
โดยสำนวน close-up shot จะถูกใช้สำหรับการกำกับภาพยนตร์และงานกล้อง เราจึงสามารถใช้สำนวนอื่นได้ด้วย เช่น ภาพกว้าง (wide shot) หรือ มุมมองภาพ (point-of-view)
ในด้านของการจัดแสง ซึ่งจะใช้มากในการถ่ายภาพ ทั้งยังถือเป็นสิ่งสำคัญ และสามารถเปลี่ยนรูปลักษณ์ของภาพ (look and feel) ได้ เราสามารถใช้สำนวนการจัดแสงเช่น แสงอ่อน (soft light) แสงเข้ม (hard light) หรือแม้แต่ แสงที่น่าทึ่ง (dramatic lighting) นอกจากนั้น เรายังสามารถพูดถึงช่วงเวลาของวัน เช่น ช่วงเช้า (morning) ช่วงอาทิตย์ตก (sunset) หรือ ชั่วโมงทอง (golden hour) คือ ช่วงเวลาสั้นๆ หลังจากดวงอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้า และก่อนดวงอาทิตย์ตกในตอนเย็น โดยจะขึ้นกับแต่ละฤดูกาลด้วย
นอกจากนี้ เรายังสามารถเล่นกับโทนสี (color schemes) เพื่อเพิ่มอิทธิพลต่อสีของวัตถุ แสง รูปลักษณ์ และความรู้สึกของภาพทั้งหมด นอกจากนี้ เรายังสามารถเพิ่ม ระดับรายละเอียดและความสมจริง (Level of detail and realism) โดยราสามารถระบุใน prompt เป็น 4k หรือ 8k เพื่อให้คำสั่งโมเดลเอไอ เพิ่มระดับรายละเอียดในภาพ แต่จะไม่มีการเพิ่มความละเอียดจริงของภาพผลลัพธ์ คือขนาดของภาพจะยังเท่าเดิม เพียงแต่มีรายละเอียดมากขึ้น
และหากภาพที่ได้ยังดูไม่สมจริงมากพอ ก็สามารถเพิ่มสำนวน realistic หรือ ultrarealistic และยังสามารถระบุ Unreal Engine เพื่อรับความรู้สึกที่คุ้นเคยของภาพ ที่เรนเดอร์ (render) โดยใช้เอนจิ้นเกม (game engine) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ช่วยสร้างภาพสมจริงภายในเกมคอมพิวเตอร์ กล่าวโดยสรุป การเขียนข้อคามใน prompt ควรคำนึงถึงรายละเอียดดังต่อไปนี้
Prompt Frames and lighting
• ในส่วนของหัวเรื่อง ควรระบุถึง ผู้คน (people) วัตถุ (objects) หรือสถานที่ (locations) พร้อมคำอธิบาย
• ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่า มีความชัดเจนที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยใช้คำพูดเชิงบวก (positive words) ควรหลีกเลี่ยง แนวคิดที่เป็นนามธรรม (abstract concepts) และคำที่ขัดแย้งกัน (conflicting terms)
• ควรเพิ่มคำหลัก (keywords) หรือวลี (phrases) ที่มีสุนทรียภาพ (aesthetic) และมีสไตล์ (style) เพื่อให้ได้ภาพที่คุณต้องการ
• ควรใช้ภาพอ้างอิง (reference image) เพื่อแสดงสไตล์และหัวเรื่อง ที่จะใช้เป็นต้นแบบในการสร้างภาพ เพื่อเป็นแนวทางให้เอไอ สร้างภาพได้ตรงความต้องการของเรา
• ควรทำการทดสอบ (test) และรับ prompt แนะนำ (prompts revised) ผ่านตัวอย่าง prompt ที่มีคนใช้มาก่อน เพื่อให้ได้ภาพที่ตรงกับความต้องการมากขึ้น
• ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่า ใน prompt ควรระบุ เทคนิค และสไตล์ บางอย่างที่จะทำให้ได้ภาพที่มีคุณภาพสูง
รูปแบบ Prompt ที่ใช้กัน
(Common Prompt Formats)
หลังจากเครื่องสร้างภาพเอไอ ได้รับความนิยม และมีการนำไปประยุกต์ใช้กันอย่างแพร่หลาย ทำให้มีผู้คิดค้นรูปแบบของ Prompt ลักษณะต่างๆ ขึ้นมาใช้งานมาก ต่อไปนี้จะเป็นตัวอย่างของ prompt ที่มีการใช้งานกันอยู่ ในแวดวงของผู้ใช้ เครื่องสร้างภาพเอไอ โดยจะแบ่งเป็นกลุ่มหลักๆ ได้ดังนี้คือ
1.คำคุณศัพท์ (Adjective Prompts) โดย คำคุณศัพท์ (adjectives) จะมีบทบาทสำคัญในการเขียน prompt ซึ่งจะใช้เพื่ออธิบายอารมณ์และเทคนิค (emotion and technique) ที่ช่วยให้ได้ภาพที่ต้องการ โดยคำคุณศัพท์ที่ใช้ มักจะประกอบด้วย แนวคิด (conceptual) สุนทรียะ (aesthetic) ชีวลักษณะ (biomorphic) และความสวยงาม (beautiful) ตัวอย่างเช่น สมจริง (realistic) มีสีสัน (colorful) ชีวลักษณะ (biomorphic) ฝีแปรง (brushwork) คลาสสิก (classic) ฉลาด (clever) และ ซับซ้อน (complex)
2.สไตล์ศิลปะ (Art Style Prompts) โดยภายใน prompt ต้องระบุสไตล์ทางศิลปะ ยกตัวอยางเช่น การสร้างภาพศิลปะของผู้หญิง ที่มีสไตล์ สมัยใหม่ (Modern) ศิลปะพิกเซล (Pixel art) ความสมจริง (Realism) ความเหนือจริง (Surrealism) นามธรรม (Abstract) เอกซเพรสชันนิส (Expressionism) วิชาการ (Academic) ภาพแอ็กชั่น (Action painting) สุนทรียะ (Aesthetic) แนววาดภาพทั้งหมด (Allover painting) ศิลปะแง่มุม (Angular art) ศิลปะหยิบยืม (Appropriation art) สถาปัตยกรรม (Architecture) ศิลปะประดิษฐ์ (Artifice)
ศิลปะอัตโนมัติ (Automatism) ศิลปะก้าวหน้า (Avant-garde) บาโรก (Baroque) ศิลปะเบาเฮาส์ (Bauhaus) ศิลปะร่วมสมัย (Contemporary) ศิลปะคิวบิสม์ (Cubism) ไซเบอร์พังค์ (Cyberpunk) ศิลปะดิจิตอล (Digital art) แฟนตาซี (Fantasy) อิมเพรสชั่นนิส (Impressionism) มินิมอล (Minimal) และอีกมากมาย ตัวอย่าง prompt คือ “Cyberpunk style city street at night, Expressionism” หรือ “Action painting of a cottage near a pond, spring time”
Common Prompt Formats
3.ป้อบไอคอน (Pop Icons Prompts) เพื่อเพิ่มความสนุกสนานให้กับภาพ เราสามารถเพิ่มไอคอนวัฒนธรรมสมัยใหม่ยอดนิยม โดยอาจเป็น ฮีโร่ในการ์ตูน (comic heroes) ตัวละครในภาพยนตร์ (movie characters) หรือ ตัวเอกในวิดีโอเกม (protagonists in video game) ที่คุณต้องการ ตัวอย่าง prompt คือ “Pikachu, cinematic, digital art” หรือ “Iron man, cinematic lighting, high resolution 3D render”
4.พอร์ตเทรต (Portraits Prompts) อาจเป็นไปได้ทั้งภาพเหมือน คน และ สัตว์ โดยควรจะระบุเทคนิคการสร้างภาพ เช่น ภาพวาดสีน้ำ (painting) หรือ ภาพถ่ายเหมือนจริง (photorealistic) ตัวอย่าง prompt คือ “Portrait of a Sci-Fi man, peaceful, digital art” หรือ “portrait of an old lady wearing a dress, photorealistic”
5.แฟนตาซี (Fantasy Prompts) ซึ่งอาจระบุองค์ประกอบแฟนตาซีบางอย่างใน prompt เช่น ภาพบ้านแฟนตาซีในธรรมชาติ (fantasy house in nature) ทิวทัศน์แฟนตาซีที่สวยงาม (beautiful fantasy scenery) และยังสามารถเลือกธีมที่ต้องการเพิ่มเติม เช่น ยุคกลาง (medieval) และอื่นๆ
นอกจากนี้ ยังสามารถเพิ่มคำต่างๆ ลงใน prompt เช่น มหากาพย์ (epic) หรือ เหนือจริง (surreal) ตัวอย่าง prompt คือ “Cottage overgrown with trees and grassland, high-fantasy, digital art” หรือ “Medieval German castle, surrounded by mountains, high fantasy, epic, digital art”
เครื่องมือเพิ่มเติมพิเศษ
(Extended special tools)
ตอนนี้เราได้ผ่านความรู้พื้นฐานต่างๆ ในการสร้าง prompt ต่อไปเราจะมาคุยเกี่ยวกับ เครื่องมือและคำแนะนำ เพิ่มเติม ที่จะช่วยให้เราบรรลุถึงสถานะ ความเป็นนักจินตนาการในตำนาน (Legendary Imaginator)
• ทำวิศวกรรมย้อนกลับภาพจริง (Reverse engineer real images) เพื่อค้นหา prompt จากภาพที่ต้องการ ผ่านเครื่องมือของ CLIP Interrogator ซึ่งเป็นโมเดลเอไอ ที่โฮสต์ของ Hugging Face ซึ่งจะทำการตรวจสอบภาพ และสร้าง prompt ของภาพนั้น ซึ่งเราสามารถใช้ผลลัพธ์นั้น เพื่อสร้าง prompt ที่มีรายละเอียดมากขึ้น และป้อนลงในเครื่องสร้างภาพเอไอ
• ภาพต่อภาพ (Image-to-image) สำหรับเครื่องสร้างภาพเอไอ prompt ถือเป็นเพียงตัวเลือกหนึ่ง เพราะเรายังสามารถใช้รูปภาพต้นแบบ เพิ่อเป็นแรงบันดาลใจ และปรับแต่งเพิ่มเติมด้วย prompt
Extended special tools
• เอไอสร้างภาพส่วนเกิน (AI outpainting) เราสามารถอัปโหลดภาพไปยังโมเดลสร้างภาพเอไอ เพื่อให้ช่วยสร้างภาพที่อยู่นอกเหนือจากเฟรมภาพเดิม หรือขยายให้ภาพมีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้สามารถสร้างภาพที่ใหญ่ขึ้นจากภาพที่มีรายละเอียดน้อย โดยเราสามารถลองใช้โมเดลเอไอดังกล่าวได้ที่ neural.love
• ปรับแต่งค่าการสร้างภาพอย่างละเอียด (Fine-tune generation settings) ในเครื่องสร้างภาพเอไอบางรุ่น เช่น Stable Diffusion จะยอมให้คุณปรับการตั้งค่าการสร้างขั้นสูงได้ ตัวอย่างเช่น เพิ่มหรือลดจำนวนขั้นตอน เปลี่ยนวิธีการประมวลผลภาพสุดท้ายที่ควรจะเป็นได้ โดยขั้นตอนเพิ่มเติมทั้งหมดมักจะนำไปสู่รายละเอียดที่มากขึ้น
• ฝึกฝนโมเดลสร้างภาพเอไอเอง (Train your own AI image model) เครื่องมือเอไอ เช่น Leap AI จะช่วยให้เราฝึกฝนโมเดลสร้างภาพของเราเอง เพื่อให้เข้ากับรูปลักษณ์ และสัมผัส (unique look and feel) ที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร เพื่อลดความแปรปรวนของเอาต์พุต (variance in outputs) ที่จะได้รับจากโมเดลสร้างภาพทั่วไป
• แก้ไขภาพด้วยเอไอ (Edit images with AI) เราสามารถเลือกส่วนของรูปภาพและปรับเปลี่ยนโดยใช้prompt ในเครื่องมือแก้ไขภาพ เช่น Canva หรือ Photoshop
• ใช้ ChatGPT เพื่อสร้าง prompt ที่ดีขึ้น (Use ChatGPT to generate better text prompts) เราสามารถใช้ AI เพื่อสร้าง prompt AI โดยการขอให้แชทบอทเอไอ เขียน prompt ให้ เพื่อปลดล็อกด้าน สุนทรียภาพ (aesthetics) องค์ประกอบ (compositions) หรือ รูปแบบผสมผสาน (subject combinations) ใหม่ๆ ที่น่าจะเป็นไปได้
บทสรุป
(Conclusion)
อาจกล่าวได้ว่า เครื่องสร้างภาพเอไอ เป็นส่วนย่อย (subset) ของแอปพลิเคชั่นปัญญาประดิษฐ์ ที่ใช้เทคนิคการเรียนรู้เชิงลึกขั้นสูง เพื่อสร้างภาพ อัลกอริทึมเหล่านี้สามารถสร้างภาพใหม่ ที่คล้ายกับภาพถ่าย (photographs) หรือภาพวาดจริง (paintings) จำลองรูปแบบศิลปะ (simulate artistic styles) เปลี่ยนแปลงภาพที่มีอยู่เดิม (alter existing images) และแม้กระทั่งสร้างภาพที่แปลกใหม่และภาพจินตนาการ (novel and imaginative visuals)
กลไกขับเคลื่อนพื้นฐาน (primary driving force) ที่อยู่เบื้องหลังเครื่องสร้างภาพเอไอ ก็คือการใช้แบบจำลองการสร้าง (generative models) ซึ่งสามารถสร้างภาพ ที่สอดคล้องกับ ข้อความสำหรับสร้างภาพ หรือ Prompt
กล่าวโดยสรุปแล้ว การสร้างภาพด้วยเอไอ เป็นเรื่องสนุกมาก และจะมีความสามารถดีขึ้นเรื่อยๆ พร้อมสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น แต่จงตระหนักไว้เสมอ เกี่ยวกับจริยธรรม (ethics) ของการใช้ภาพที่สร้างโดยเอไอ แน่นอนว่า เราอาจต้องใช้เวลาอยู่บ้าง เพื่อทำให้ถูกต้อง แต่ตราบใดที่เรายังมีความคิดในการทดลอง และทำซ้ำไปเรื่อยๆ ในที่สุดเราก็จะได้ผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้ จาก prompt ที่เราสร้าง
(ศิลป์บันเทิงเดินทาง ep1. เทคนิค prompt AI)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา