Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Feeling good
•
ติดตาม
31 ก.ค. 2023 เวลา 09:20 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี
Delightfully Deceitful ซีรีส์ที่เผยคมมืดของจิตวิทยา
***หมายเหตุ เนื่องจากเป็นบทวิเคราะห์ จึงอาจมีการสปอยเนื้อหาบางส่วน***
บทความและหนังสือมากมายนำเสนอการนำหลักจิตวิทยามาปรับใช้ให้ชีวิตดีขึ้น เช่น การจูงใจคนใน 'How to Win Friends & Influence People', การรับมือกับคนที่ไม่ดีกับเราใน 'The Asshole Survival Guide' เป็นต้น
หากแต่ซีรีส์เกาหลีเรื่อง 'Delightfully Deceitful' ได้นำเสนอการใช้หลักจิตวิทยาในมุมที่อาจขัดต่อศีลธรรม อย่างชื่อซีรีส์ก็บอกว่า มีเรื่องต้มตุ๋นหลอกลวงอยู่
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในโลกแห่งความเป็นจริงก็มีเรื่องพวกนี้อยู่เหมือนกัน
'Delightfully Deceitful' มีชื่อเกาหลีว่า '이로운사기' /อี-โร-อุน-ซา-กี/ ซึ่งแปลว่า การหลอกลวงที่เป็นประโยชน์ [사기 แปลว่า การต้มตุ๋น การหลอกลวง]
ซีรีส์เรื่องนี้เป็นของ tvN ที่ออกอากาศในปี ค.ศ. 2023 เป็นซีรีส์ยุคปัจจุบัน แนวล้างแค้นเป็นหลัก สืบความเป็นรอง
นางเอกชื่อ 'อี โรอุม' ออกเสียงคล้ายคำแรกในชื่อเรื่องภาษาเกาหลีเลย ไม่รู้ว่าคนแต่งตั้งใจหรือเปล่า 😅
อี โรอุมเป็นอดีตนักโทษคดีฆาตกรรมพ่อแม่ตนเอง ที่ได้รับการปล่อยตัวก่อนโทษครบกำหนดเพราะมีการพบเบาะแสในภายหลังว่า ฆาตกรเป็นคนอื่น
ดังนั้นหลังถูกปล่อยตัว โรอุมจึงหาทางแก้แค้นคนที่ทำให้พ่อแม่ตนเองต้องตาย โดยใช้การหลอกลวงสารพัดวิธีให้ได้แต่ละสิ่งที่ต้องการ เรียกได้ว่า เป็นนักต้มตุ๋นตัวแม่เลยทีเดียว
นางเอกมีเพื่อนร่วมทีมที่มาช่วยในการแก้แค้นครั้งนี้ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชะตากรรมด้วยกันตั้งแต่เด็ก โดนฝึกให้เป็นอาชญากรภายในมูลนิธิที่ชื่อว่า 'จอกมก'
ส่วนพระเอกชื่อ 'ฮัน มูยอง' เป็นทนายความ ที่เป็นโรค hyper-empathy syndrome (โรคเห็นใจคนอื่นมากเกินไป) เขาเกิดสนใจเคสของนางเอกขึ้นมา จึงได้เข้าหาตั้งแต่ที่นางเอกเพิ่งออกมาจากเรือนจำ จากนั้นก็นำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ไกลเกินกว่าทนายและลูกความ นั่นคือ ส่วนหนึ่งของแก๊งต้มตุ๋นนั่นเอง
ซีรีส์เรื่องนี้ไม่ได้นำเสนอแค่การต้มตุ๋นอันแยบยล ยังมีเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจด้วย อย่าง การฝึกเด็กในมูลนิธิจอกมก สถาบันปั้นอาชญากร ก็เป็นอีกประเด็นใหญ่ที่ซีรีส์คอยสอดแทรกเนื้อหาขึ้นมาตลอดเรื่อง
อี โรอุม (ชอน อูฮี) - ฮัน มูยอง (คิม ดงอุก) 《ภาพจาก IMDB》
"การหลอกลวงที่ว่านอนสอนง่าย"
ในบางครั้งที่นางเอกออกโรงต้มตุ๋นชาวบ้าน ทุกอย่างดูง่ายดายเข้าแผนเข้าทางไปหมด เพียงเพราะคนที่ถูกต้มและตุ๋นจนเปื่อย เชื่อฟังและทำตาม โดยใช้เวลาตัดสินใจอันรวดเร็ว
เริ่มจากภารกิจแรกของนางเอกเลย นางปลอมตัวเป็นตำรวจ ไปร้านค้าของแบรนด์เนมและเครื่องประดับ ขอยึดของที่ต้องสงสัยไปตรวจสอบ เหล่าเจ้าของร้านและพนักงานก็รีบนำของออกมาให้ตามรายการที่ตำรวจตัวปลอมบอก
ตอนช่วยเพื่อนที่ชื่อ 'ริงโก้' (Ring Go) ที่ถูกแก๊งมาเฟียทำร้าย เพราะริงโก้เป็นคนไปหาคนรับจ้างเปิดบัญชี แต่เด็กมัธยมที่รับจ้างเปิดบัญชีชิงถอนเงินไปก่อน ทำให้แก๊งมาเฟียสูญเสียเงินไปจำนวนมาก
นางเอกปลอมเป็นอัยการโทรไปหาหัวหน้าแก๊งมาเฟีย ไม่ต้องใช้เวลาโน้มน้าวใจมากมาย หัวหน้าแก๊งก็พร้อมทำตามทุกขั้นตอน
โคฟเสียงเป็นอัยการ 《ภาพจาก HANCINEMA》
ทั้ง 2 สถานการณ์นี้ นางเอกปลอมเป็นผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ทางกฎหมาย อ้างชื่อองค์กรที่ดูน่าเชื่อถือ อย่าง สำนักงานอัยการ ที่ใคร ๆ ก็คงรู้จักว่ามีอยู่จริงและศักดิ์สิทธิ์พอสมควร อีกทั้งการได้ข้องเกี่ยวกับตำรวจและอัยการในเรื่องที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายย่อมน่ากลัว หากไม่ให้ความร่วมมืออาจติดคุกติดตารางก็เป็นได้ ทำให้อีกฝ่ายเชื่อฟังและยอมทำตามได้ง่าย
มีภารกิจที่นางเอกปลอมตัวเป็นศาสตราจารย์ที่ดูเป็นคนสำคัญ บินมาจากต่างประเทศ เพื่อที่จะขอเข้าไปภายในศูนย์ดูแลผู้ป่วย
ถึงแม้ไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในที่นั้น แต่ด้วยตำแหน่งที่สูงเทียบเท่าเจ้านายของพนักงานที่คุยด้วย และมีการอ้างถึงความสำคัญของธุระ ทำให้พนักงานจำต้องยอมให้บัตรผ่านไป คงเพราะไม่อยากถูกเบื้องบนตำหนิ
"การหลอกลวงที่น่าจูงใจ"
แนวทางการโน้มน้าวใจมีหลัก ๆ 2 ทาง ได้แก่
1. Central route ขอเรียกว่า "ทางตรง" เข้าประเด็นตรง ๆ ใช้เหตุและผลมาสนับสนุน
2. Peripheral route ขอเรียกว่า "ทางอ้อม" ใช้ความดูดี ถูกจริต โดนใจ เข้าช่วย
การโน้มน้าวหรือชักจูงสามารถใช้ทั้งทางตรงและทางอ้อมผสมรวมกันได้ ทำอย่างไรก็ได้ให้อีกฝ่ายได้เห็นสิ่งที่เขาต้องการหรือสนใจ เมื่อได้เห็นสิ่งที่ต้องการหรือสนใจอยู่ตรงหน้า จะมีอคติหรือความเอนเอียงเกิดขึ้นในใจ จะให้ความสำคัญกับอย่างอื่นลดลง
แต่ถ้าสังเกตดี ๆ ในเรื่องนี้นางเอกมักใช้ทางตรงเป็นหลัก เหตุผลส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะอีกฝ่ายมักเป็นคนที่มีความต้องการบางอย่างมาก ๆ นางเอกจึงจับจุดตรงนี้มาใช้ ยิงไปที่ประเด็นนั้น
เริ่มด้วยตัวอย่างซอฟต์ ๆ ด้วยภารกิจหลอกลวงที่ต่อจากการได้ของแบรนด์เนมและเครื่องประดับราคาแพงมา คือ การชักจูงให้สองสามีภรรยานัก (ขาดทุน) พนัน มาเป็นสปอนเซอร์ให้
《ภาพจาก Kpopmap》
อี โรอุมแต่งตัวดูดี ดูงาม ก็ทำคะแนนความน่าสนทนาพาทีด้วยไปหลายคะแนนแล้ว ต่อมายังได้อีกหลายแต้ม เมื่อนางแสดงความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์ อีกทั้งยังอธิบายเหตุผลประกอบว่า ความสามารถของนางสามารถช่วยให้นางทำเงินมาแล้ว สองสามีภรรยาที่ไม่อยากแพ้พนันย่อย ๆ ก็สนใจอย่างมาก ย่อมมีใจเอนเอียงเข้าหานางเต็ม ๆ
สถานการณ์ที่เล่าไปยังไม่ค่อยดูเป็นนักต้มตุ๋นมากสักเท่าไร ต้องมาดูการหลอกเอาเงินกองใหญ่รวดเดียวรับจบอันนี้ของนางเอก เราขอยกให้เป็นตัวอย่างการจูงใจคนที่... จะว่าดีก็ดูจะไม่เหมาะสม เอาเป็นคำว่า แพรวพราว แทนแล้วกัน
อี โรอุมหลอกเงินกองโตได้อย่างไร?
นางปลอมเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็ก หลอกให้ครอบครัวหนึ่งจ่ายเงินจำนวนมาก เพื่อแลกกับการให้ลูกชายของครอบครัวนั้นได้เข้าไปในสถาบันที่จะช่วยให้เขาได้กลายเป็นเด็กที่เหนือคนอื่น
《ภาพจาก KDramaStars》
ผู้เชี่ยวชาญธรรดา ๆ คงไม่สามารถจูงใจให้ติดกับได้อย่างรวดเร็ว นางเอกอ้างตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันระดับโลก สร้างความน่าเชื่อถือได้เพียงเอ่ยชื่อสถาบันออกมา
สารที่ใช้ชักจูงดูมีหลักการ มีเหตุมีผล แต่เป็นสิ่งที่นางเอกแต่งขึ้นมา แต่พ่อแม่เด็กไม่รู้หรอก เพราะไม่ได้มีความรู้ด้านจิตวิทยาเด็ก ดังนั้นจึงดูทั้งน่าเชื่อถือและน่าจูงใจ อีกทั้งนางเอกยังกระตุ้นให้พ่อแม่เด็กกังวลถึงอนาคตของลูกชาย แล้วเสริมท้ายด้วยวิธีการแก้ไข ยิ่งทำให้พ่อแม่เด็กกระโจนลงหลุมกับดัก
นางยังใช้เรื่องพื้นฐานของมนุษย์มาเล่นด้วย
คนเราย่อมอยากอยู่เหนือคนอื่นไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง ไม่แปลกที่การทำให้ลูกตัวเองโดดเด่นเหนือคนอื่นจะเป็นประเด็นที่พ่อแม่ให้ความสนใจมากยิ่งกว่าการรณรงค์การลดเวลาดูจอ
นอกจากนี้คนเรามักจะชอบอะไรที่หามาได้ยาก มีอยู่จำกัด เพราะจะทำให้ตัวเราดูพิเศษ เหนือคนอื่น ดังนั้นพ่อแม่เด็กคนนั้นจึงยอมจ่ายเงินมหาศาลเพื่อหวังจะให้ลูกชายได้ดิบได้ดี
"สับขาโหดเหมือนโกรธกัน"
***Trigger warning: มีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรง***
พักจากเรื่องลวงหลอกให้หลงกลหลงทางแต่ไม่มีทางได้หลงรักแน่ 🤷
มาดูวิธีการฝึกและการจัดการเด็ก ๆ ของประธานมูลนิธิจอกมกกันบ้าง รายนี้ก็ไม่เบา
มูลนิธิจอกมกนำเด็กที่มีพรสวรรค์แต่ฐานะที่บ้านไม่ค่อยดี มาฝึกเป็นอาชญากร ฝึกอย่างเข้มด้วยเคล็ดไม่ลับ 'ความรุนแรง'
เด็กคนหนึ่งชื่อ 'นา ซูโฮ' หรือชื่อเล่น 'นาซ่า' มักถูกทำร้ายร่างกาย เพื่อเป็นการสั่งสอนให้เขาเชื่อฟังและทำตามคำสั่ง
อี โรอุมถูกจับได้ว่าจะหนีออกมาจากจอกมก ก็ถูกจับให้มาดูพ่อแม่ตนเองถูกยิง และบ้านตนเองถูกเผา
ในตอนท้าย ๆ เมื่อประธานจอกมกเผยตัวตน เขาข่มขู่อี โรอุม ด้วยวิธีการหลากหลาย แต่วิธีหนึ่งก็ไม่พ้นการใช้ความรุนแรง ทั้งต่อตัวโรอุมโดยตรง และต่อคนอื่นเพื่อสร้างความเครียด ความกดดันให้โรอุม
ประธานจอกมกไม่ได้โกรธเกลียดเด็ก ๆ ที่เขารับมาอยู่ในมูลนิธิ แม้ตอนนี้กำลังหันหน้าปะทะกับเขาก็ตาม เขาเพียงเลือกใช้ความรุนแรงมาเป็นวิธีการหนึ่งในการนำพาเด็ก ๆ พวกนั้นให้กลับไปเป็นทีมของเขา
การใช้ความรุนแรงเพื่อสั่งสอน เพื่อให้อีกฝ่ายเชื่อฟัง ยอมทำตาม หรือยอมจำนน เรียกว่า 'Instrumental aggression' เป็นการใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือให้ได้บางสิ่งบางอย่าง
พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงสามารถเกิดขึ้นมาเองได้ ด้วยปัจจัยทางชีววิทยาในตัวมนุษย์ แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้จากการเรียนรู้
การที่นางเอกเติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมที่มีการใช้ความรุนแรง ก็ไม่แปลกที่พอโตมาเป็นผู้ใหญ่จะมีพฤติกรรมก้าวร้าวในบางครั้งบางตอน
นอกจากการซึมซับการใช้ความรุนแรงมาโดยไม่รู้ตัว นางเอกก็ได้เรียนรู้ว่า การใช้ความรุนแรงสามารถทำให้คนอื่นเชื่อฟังได้ โดยเฉพาะกับนา ซูโฮ ที่เติบโตมาในมูลนิธิจอกมกด้วยกัน
"จิตวิทยาของปืน"
คนทั่วไปจัดปืนอยู่ในหมวดหมู่สิ่งของที่ไม่ดี เพราะปืนทำให้คนบาดเจ็บและล้มตายได้ พระเอกของเรื่องก็คงคิดแบบนี้เหมือนกัน ลึก ๆ แล้วล่ะนะ
อี โรอุมต้องการปืนที่ถูกใช้ในเหตุฆาตกรรมพ่อแม่ของตน แต่ฮัน มูยอง พระเอกที่ก็ยังมีความเป็นคนธรรมด๊าธรรมดา ไม่อยากให้โรอุมได้ปืนกระบอกนั้นไป เพราะเขาเชื่อว่า การแก้แค้นมีจุดจบที่ดีกว่านั้นได้ ดีกว่าการที่มือจะต้องเปื้อนเลือด
โรอุมไม่เคยฆ่าใครตายด้วยน้ำมือของตนเอง แล้วทำไมมูยองถึงคิดว่า โรอุมจะใช้ปืนฆ่าคนอื่นได้?
จากมุมมองที่คนเรามีต่อปืนว่า เป็นสิ่งที่สามารถทำร้ายผู้อื่นได้ ทำให้การได้ครอบครองปืนสามารถกระตุ้นความก้าวร้าว ความคิดมุ่งร้าย และความคิดที่จะนำมันไปลงโทษใครสักคนได้
The finger pulls the trigger, but the trigger may also be pulling the finger.
Berkowitz
(แปล นิ้วเหนี่ยวไกปืน แต่ในขณะเดียวกัน ไกปืนก็อาจจะกำลังดึงนิ้วอยู่ด้วย)
《ภาพจาก HANCINEMA》
แม้พระเอกที่แสนดีรู้อานุภาพของปืนที่มีต่อจิตใจ ก่อนตัดสินใจใช้ปืน เขายังดูคิดหนัก แต่เมื่อได้เหนี่ยวไกไปนัดหนึ่งแล้ว ซึ่งเป็นการช่วยไม่ให้นางเอกถูกทำร้ายปางตายได้ แต่หนึ่งนัดนั้นดูเหมือนจะไม่เพียงพอต่อความคิดความรู้สึกที่ถูกกระตุ้นขึ้นมา
นอกจากปืนจะกระตุ้นความก้าวร้าวในตัวเราได้แล้ว ปืนก็อาจจะสามารถกระตุ้นให้เราตัดสินใจได้ เพราะการยิงปืนไม่จำเป็นต้องอยู่ในระยะประชิด การที่ตัวเราอยู่ห่างจากอีกฝ่าย ในทางจิตวิทยา ก็ทำให้เรารู้สึกเหินห่างจากอีกฝ่ายด้วย
'Delightfully deceitful' เอาจริง ๆ ก็เป็นซีรีส์แนวอาชญากรรมนั่นแหละ แต่มีลูกเล่นหลากหลายอย่าง และก็มีความดาร์กและความน่าสนใจของ back story อยู่ด้วย ถึงแม้จะทำเรื่องในอดีตที่มีจุดหนึ่งที่พระเอกนางเอกได้เจอกันเหมือนซีรีส์เกาหลีมากมาย
มีอีกหลายแง่มุมที่ซีรีส์เรื่องนี้นำเสนอได้น่าสนใจเลยทีเดียว ในเรื่องจิตวิทยาก็มีอีก ทั้งเรื่องโรคเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากเกินไปของพระเอก เรื่องจิตแพทย์ที่มีความเกี่ยวข้องกับการดูแลเด็กในมูลนิธิจอกมก
โดยรวมก็ถือว่า เป็นซีรีส์ที่ดี ดูเพลิน ดูสนุก ไม่เครียดเกิน 👍
ซีรีส์เกาหลี
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย