Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Phyathai Nawamin Hospital
•
ติดตาม
31 ก.ค. 2023 เวลา 03:07 • สุขภาพ
ไข้เลือดออกใกล้ตัวกว่าที่คิด เป็นซ้ำอาจรุนแรงกว่าเดิม
ไข้เลือดออกเกิดจากการถูกยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรคนี้กัด ซึ่งหากยุงได้กัดและดูดเลือดผู้ที่มีเชื้อมาก่อน และไปกัดคนอื่นต่อ ก็จะแพร่เชื้อนี้ไปได้เรื่อยๆ
ยุงลายที่นำโรคมี 2 ชนิด ชนิดแรกคือ ยุงลายบ้าน มีแหล่งเพาะพันธุ์เป็นน้ำนิ่ง น้ำขังในบริเวณบ้าน เช่น แอ่งน้ำ ที่รองขาตู้กับข้าว แจกันดอกไม้ โอ่งที่ไม่ได้ปิดฝา ภาชนะต่างๆ ยางรถยนต์ที่วางทิ้งไว้และมีน้ำขังเมื่อฝนตก ชนิดที่สองคือยุงลายสวน มีแหล่งเพาะพันธุ์ในสวน ตามต้นไม้ แอ่งน้ำ ตอไม้ที่มีน้ำฝนขัง
ในทางระบาดวิทยา พบว่าแหล่งน้ำขังที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายพบมากในบริเวณที่พักอาศัยของคน รวมถึงวัด และโรงเรียน
ไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่นที่เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขมายาวนาน
ในแต่ละปี ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกหลายหมื่นราย บางปีพบมากกว่าแสนราย ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเล็กและเด็กวัยเรียน ภูมิภาคที่พบบ่อยคือภาคใต้และภาคกลาง และในกรุงเทพฯ ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับปริมาณฝนและความหนาแน่นของประชากร ช่วงที่พบบ่อยคือช่วงเดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนกันยายน
-อาการของโรค
เราควรสงสัยถึงการติดเชื้อไข้เลือดออกเมื่อมีอาการไข้สูงแบบเฉียบพลัน ปวดเมื่อยตามตัวมาก โดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณหลังในช่วง 1-3 วันแรก เบื่ออาหาร อาการคล้ายการติดเชื้อไวรัสทั่วๆไป แต่มัก “ไม่พบ” อาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม เจ็บคอ มีน้ำมูก
-การตรวจวินิจฉัย
อาการในช่วง 1-3 วันแรกแยกได้ยากจากการติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น การตรวจเลือดไม่พบความผิดปกติชัดเจน แพทย์อาจทำการตรวจดูภาวะเลือดออกง่าย โดยใช้เครื่องวัดความดันรัดที่ต้นแขน เพื่อดูว่ามีจุดเลือดออกให้เห็นหรือไม่ ปัจจุบันการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการมีความก้าวหน้า สามารถตรวจพบการติดเชื้อไข้เลือดออกจากการตรวจเลือด ทราบผลได้ภายในเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
-ความรุนแรงของโรค
ไข้เลือดออกในเด็กส่วนใหญ่มีความรุนแรงไม่มาก อาจมีอาการไข้ไม่กี่วันและหายเองได้
ในผู้ใหญ่อาจพบอาการรุนแรง โดยมีอาการที่เป็นสัญญาณบ่งชี้คือ มีอาการปวดท้อง อาเจียน กินไม่ได้ อ่อนเพลียมาก ซึมลง มีเลือดออกตามที่ต่างๆ เช่น เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดา จุดเลือดออกตามตัว
ความรุนแรงของโรค เกิดจากเชื้อไวรัสทำให้มีการทำลายของเกล็ดเลือดซึ่งมีหน้าที่ในการหยุดเลือดออก ทำให้มีเลือดออกได้ง่าย อาจพบจ้ำเลือดตามตัว เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดา เลือดออกทางเดินอาหาร เลือดออกในสมอง
นอกจากนี้ไวรัสยังทำให้มีการรั่วซึมของสารน้ำออกนอกหลอดเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ลดลง เกิดอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยหอบ ซึมลง ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ ซึ่งถือว่าเป็นไข้เลือดออกที่มีอาการรุนแรง ต้องเข้ารับการรักษาทันที
-การเป็นซ้ำและความรุนแรงของโรค
ไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ เมื่อติดเชื้อแล้วร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้น แต่สามารถที่จะติดสายพันธุ์อื่นได้ การติดเชื้อซ้ำในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์อื่นอยู่แล้วจะกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยารุนแรง อาการของการติดเชื้อซ้ำจึงมีความรุนแรงกว่าเดิม
เชื้อไวรัสไข้เลือดออกสามารถเกิดอาการได้หลายระบบของร่างกาย อันตรายที่เกิดจากไวรัสไข้เลือดออกเกิดได้จากตัวไวรัสไปทำให้เกิดการอักเสบที่อวัยวะนั้นโดยตรง และเกิดจากการรั่วของสารน้ำในร่างกายเป็นปริมาณมาก นอกจากทำให้ความดันโลหิตต่ำแล้ว ยังส่งผลให้การทำงานของอวัยวะต่างๆ เสียไปจากการมีเลือดไปเลี้ยงไม่พอ ความรุนแรงของโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออก ตัวอย่างเช่น
ติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง
เลือดออกในอวัยวะต่างๆ เช่น ทางเดินอาหาร ในสมอง
ภาวะช็อกจากการที่เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ไม่พอ
การหายใจล้มเหลวจากสารน้ำที่รั่วไปท่วมที่ปอด
ตับวายจากตัวไวรัสเอง และจากการที่เลือดไปเลี้ยงไม่พอ
การรักษา
การติดเชื้อไข้เลือดออกส่วนใหญ่หายได้เอง การพักผ่อนที่เพียงพอเป็นสิ่งที่จำเป็น
พยายามใช้ยาให้น้อย ยาแก้อักเสบหรือยาปฏิชีวนะไม่มีผลต่อการรักษา
หากมีอาการรุนแรง เช่น ซึมลง หอบเหนื่อย อาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด ปวดท้องมาก ให้รีบไปโรงพยาบาลทันที
ข้อควรระวัง
ยาแก้ปวดจำพวกแอสไพรินและ NSAID เช่น ibuprofen รวมถึงยาชุด ห้ามใช้ในการรักษาไข้เลือดออก
ควรใช้ยาพาราเซตามอลเท่าที่จำเป็น เช่น มีไข้สูงหรือปวดมาก เพราะยาพาราเซตามอลอาจทำให้เกิดตับอักเสบ โดยเฉพาะในรายที่มีปัญหาเรื่องตับอยู่แล้ว
-วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก
วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกได้รับการรับรองการใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศในเขตร้อนและมีการแพร่ระบาดของไข้เลือดออกมากในแต่ละปี วัคซีนสามารถป้องกันการเกิดไข้เลือดออกได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ ประสิทธิภาพของวัคซีนสามารถป้องกันการเกิดไข้เลือดออกได้ร้อยละ 65.6 สามารถลดความรุนแรงของโรคได้ร้อยละ 93.2 และลดอัตราการนอนโรงพยาบาลได้ร้อยละ 80.8
วัคซีนนี้ใช้ในผู้ที่มีอายุ 9-45 ปี โดยจะได้ผลดีในผู้ที่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อนแล้ว เพราะการติดเชื้อซ้ำจะมีอาการรุนแรงกว่าการติดเชื้อครั้งแรก
จากสถิติของสำนักระบาดวิทยา พบกลุ่มผู้ติดเชื้อสูงสุดคือกลุ่มเด็กวัยเรียน อายุ 10-14 ปี รองลงมาได้แก่กลุ่มอายุ 5-9 ปี ในประเทศไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ผู้ที่อายุมากกว่า 15 ปีส่วนใหญ่เคยติดเชื้อมาแล้ว โดยที่อาจไม่มีอาการ หรืออาการน้อยมาก การฉีดวัคซีนจึงแนะนำในกลุ่มอายุมากกว่า 15 ปี โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติเคยติดเชื้อมาก่อน
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย