31 ก.ค. 2023 เวลา 11:05

เมื่อเป้าหมายชีวิตคือการทํางานในองค์กรเทคฯชั้นนําระดับโลกควรเตรียมตัวอย่างไรดี?

อยากทำงานในองค์กรเทคโนโลยีระดับโลก แต่ไม่รู้ว่าควรเตรียมตัวอย่างไร? มาร่วมฟังประสบการณ์จากตัวจริงที่ได้ร่วมงานกับบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ระดับสากลทั้ง Facebook Headquarters, Google, Twitter และ Lyft พร้อมไขเคล็ดลับและปลดล็อกสกิลตัวเองให้มีโอกาสร่วมงานกับบริษัทเทคระดับโลก! 🌍
ผ่าน Tech ConNEXT Talk ที่งาน Tech ConNEXT Job Fair 2023 ในหัวข้อ: “เมื่อเป้าหมายชีวิตคือการทำงานในองค์กรเทคฯ ชั้นนำระดับโลก ควรเตรียมตัวอย่างไรดี?” กับ คุณเพชร วรรณิสสร Principal - Corporate Venture Capital จาก Banpu PCL
🟥 จุดเริ่มต้นของการทำงานในบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก
ผมเป็นเด็กที่เรียนโรงเรียนไทยมาตลอดจนได้มีโอกาสไปเรียนต่อปริญญาตรีทางด้าน Computer Science in Engineering ที่ University of Michigan ประเทศสหรัฐอเมริกา ตอนนั้นความฝันคือการได้ร่วมงานกับบริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ เช่น Google และ Facebook
ในช่วงระหว่างเรียนและจบการศึกษาได้มีโอกาสไปฝึกงานกับบริษัท Local เพราะคิดว่าการไปฝึกงานเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประสบการณ์ สร้างความรู้และสร้างโปรไฟล์ที่ดีให้กับเราได้
หลังจากที่เราได้สะสมประสบการณ์ทั้งการทำงานและการสัมภาษณ์เรียบร้อยก็ได้ไปยื่นเรซูเม่เพื่อสมัครตำแหน่ง Software Engineering Intern ที่ Facebook เพราะมีความเชื่อว่าในอนาคต Facebook จะยิ่งใหญ่และอยากเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จนั้นแต่กว่าจะได้ประสบความสำเร็จโดยการเข้าไปทำงานใน Facebook แต่ก็โดนปฏิเสธหลายรอบในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเพราะฉะนั้นกว่าจะมาถึงจุดที่ได้เข้าไปทำงานในนั้นจริง ๆ ก็ต้องใช้ความพยายามพอสมควร
ในปี 2010 และ 2012 ได้มีโอกาสเข้าไปฝึกงานกับ Facebook ในฐานะ Software Engineering Intern ทุกอย่างในนั้นดูรวดเร็วไปหมด เพราะช่วงนั้น Facebook มีการแข่งขันกับบริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่หลาย ๆ แห่ง
ฉะนั้นจะมีการอัปเดตและปล่อยโปรดักต์ใหม่ทุกอาทิตย์ เลยทำให้เราได้ซึมซับกับวัฒนธรรม “Move Fast And Break Things” คือ Learn Fast, Failed Fast เรียนรู้และลงมือทำเพื่อพัฒนาไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วและไม่กลัวที่จะผิดพลาด แต่ถ้าเกิดปัญหาก็พร้อมเรียนรู้และแก้ไขอย่างเร็วที่สุดเพื่อนำสิ่งนั้นไปพัฒนาตัวเองทำให้เดินหน้าต่อไปได้
นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่ช่วยผลักดันไอเดียให้กับคนในองค์กรนั่นก็คือ Hackathon โดยในทุก ๆ ไตรมาสจะมีการรวมตัวกันเพื่อแบ่งปันไอเดียและพัฒนาโปรดักต์หรือฟีเจอร์ใหม่ ๆ
นอกจากนั้นในปี 2011 ผมได้ลองสมัครเข้าไปทำงานในตำแหน่ง Software Engineer ที่ Google หลังจากนั้นในปี 2013 ก็ได้ย้ายไปทำงานตำแหน่งเดียวกันที่ Twitter และตามมาด้วยการได้ร่วมงานกับ Lyft บริษัทที่ให้บริการ Ride Hailing ที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจาก Uber ซึ่งมีชื่อเสียงในประเทศสหรัฐอเมริกา และในปัจจุบันได้ทำงานที่ Banpu PCL ในตำแหน่ง Principal - Corporate Venture Capital
🟥 รูปแบบและวัฒนธรรมการทำงานกับองค์กรไอทีระดับโลกเป็นอย่างไร
ผู้นำขององค์กรและตัวโปรดักต์ของแต่ละอุตสาหกรรมค่อนข้างส่งผลต่อรูปแบบและวัฒนธรรมในการทำงานเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างวัฒนธรรมของสองบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น Facebook และ Google
หากให้เปรียบเทียบตัวโปรดักต์ของทั้ง 2 องค์กรแล้ว Facebook จะเป็น Social Media เพราะฉะนั้นการคิด โปรดักต์หรือฟีเจอร์ใหม่ ๆ จำเป็นต้องทำให้เร็วทำให้ไว ผิดพลาดได้แต่ต้องพร้อมที่จะปรับแก้ไขอย่างทันท่วงที ในขณะเดียวกัน Google ค่อนข้างที่จะมีความชัดเจนในโปรดักต์ นั่นคือ Search Engine หรือเครื่องมือที่ใช้สำหรับค้นหาข้อมูลบนโลกอินเตอร์เน็ต เพราะฉะนั้นการทำงานที่ Google ค่อนข้างที่จะต้องรอบคอบระมัดระวังอาจจะไม่ได้รวดเร็วแต่ต้องเป๊ะและมีข้อผิดพลาดให้น้อยที่สุด
นอกเหนือจากนั้นวัฒนธรรมการทำงานที่ชอบของทั้ง 4 องค์กรที่เคยร่วมงานทั้ง Facebook, Google, Twitter และ Lyft คือ ไม่ว่าคุณจะเป็นพนักงานในระดับไหนคุณจะสามารถรู้ข้อมูลได้ว่าเกิดอะไรขึ้นภายในบริษัทบ้าง เพราะเขาจะเน้นเรื่อง Transparency หรือความโปร่งใสในองค์กร และมีความเชื่อถือในตัวพนักงานว่าจะไม่ทำให้ความลับของบริษัทรั่วไหล นอกจากนี้พนักงานทุกคนมีสิทธิ์ตั้งคำถาม แสดงออกถึงความคิดเห็น แบ่งปันไอเดียของตัวเองได้อย่างเปิดกว้าง
ถ้าให้เลือกวัฒนธรรมการทำงานจาก 4 องค์กรที่เคยร่วมงานที่ชอบมากที่สุด คือชอบวัฒนธรรมการทำงานที่ Lyft เพราะที่ Lyft ค่อนข้างมีแพชชั่นเกี่ยวกับโปรดักต์ของตัวเองมาก ๆ โดยในทุกอาทิตย์จะมีการสรุปว่าในแต่ละอาทิตย์เราได้สร้างผลกระทบเชิงบวกในวงกว้างด้วยโปรดักต์ของเรามากน้อยเพียงใด
🟥 การทำงานในระดับสากล
องค์กรระดับสากลส่วนใหญ่จะมี Autonomy หรือการให้สิทธิ์พนักงานใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองในการสรรค์สร้างโดยไม่ต้องเป็นเนื้องานหรือโปรเจ็กต์งานที่ปกติตัวเองหรือทีมรับผิดชอบ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อก่อนที่ Google จะมีโปรแกรมที่ชื่อว่า 20% โดยในวันทำงาน 5 วัน พนักงานสามารถเลือก 1 วัน เพื่อไปสำรวจงานจากทีมอื่นหรือไป Up Skill ทักษะที่ใกล้เคียงกับงานของทีมตัวเองได้
นอกจากนี้ยังมีการซัพพอร์ทและผลักดันพนักงานทุกระดับมี Ownership แม้คุณจะเป็นพนักงานที่เพิ่งจบใหม่ องค์กรก็จะให้โอกาสคุณได้ลองสร้างสรรค์ พัฒนาและตัดสินใจในโปรเจ็กต์ของตัวเองได้
🟥 คนรุ่นใหม่ควรเตรียมตัวอย่างไร เพื่อให้ได้ทำงานในองค์กรเทคฯ ระดับโลก
ถ้าอยากทำงานในองค์กรเทคฯ ระดับโลก สิ่งที่คุณควรทำมีดังนี้
✅ คุณต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าคุณต้องการทำงานด้านไหน โดย Specialist ในด้านใดในด้านหนึ่งก่อน
✅Up-skill ให้ตรงกับตำแหน่งที่จะสมัครตามที่แต่ละบริษัทต้องการ
✅หาประสบการณ์ เช่น การไปฝึกงานกับบริษัทเทคฯ ต่าง ๆ เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์และสร้างโปรไฟล์
✅ที่สำคัญถ้าอยากทำงานในสายเทคฯ คุณจำเป็นต้องหมั่นเรียนรู้ว่าเทรนด์โลกที่
กำลังมาคืออะไร และมี Lifelong Learning Mindset หรือแนวคิดในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
✅สร้างโปรไฟล์หรือทำ Resume โดยการพยายามใส่ข้อมูลที่เน้นประสบการณ์และตัวเลขในการวัดผลที่สร้างผลกระทบเชิงบวกของโปรดักต์หรือฟีเจอร์ที่ตรงกับตำแหน่งที่เราจะสมัคร
✅การสัมภาษณ์งาน แนะนำให้ซ้อมพูดและฝึกพรีเซนต์ตัวเองเยอะ ๆ เพราะ Resume เปรียบเสมือนด่านแรกที่จะทำให้ HR สนใจคุณ หลังจากนั้นจะได้งานหรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับการตอบคำถามของคุณ ถ้าเราเตรียมตัวสัมภาษณ์ได้เป็นอย่างดีก็จะทำให้คุณมีชัยไปกว่าครึ่ง
นอกจากนี้การฝึก Technical Skills ก็สำคัญไม่แพ้กัน ยกตัวอย่างเช่น การสัมภาษณ์งานของตำแหน่ง Software Engineering นอกเหนือจากการพูด-คุยเรื่องประสบการณ์แล้วในการสัมภาษณ์ก็จะมีการยกสถานการณ์ตัวอย่างมาให้เขียน Code กันตอนสัมภาษณ์เลย เพื่อดูทักษะในการเขียน Code วิธีคิดและตรรกะในการแก้ปัญหาของคุณหรือบางองค์กรก็จะมอบโปรเจ็กต์มาให้คุณโดยมีช่วงเวลาให้คุณทำแล้วนัดสัมภาษณ์อีกรอบก็มีเช่นกัน
สำหรับเด็กจบใหม่ที่กำลังสนใจงานด้านสายเทค แล้วไม่รู้ว่าจะไปสายไหนดี ถ้ามีความรู้ด้านคณิตศาสตร์ สถิติหรือ Data science คิดว่างานด้านสาย AI และ Data เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจและน่าจะมีโอกาสให้น้อง ๆ ได้สำรวจกันค่อนข้างเยอะ แต่ถ้าไม่ชอบก็อาจจะดูเป็นงาน Front end development พัฒนาแอปพลิเคชั่น หรือ Mobile application development และ Backend Development ที่มีความซับซ้อนขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง ทั้งนี้สามารถเลือกด้านที่เราชอบและมีความสุขกับด้านนั้น ๆ ได้เลย
🟥 สิ่งที่จะทำให้ไม่ถูก Layoff ได้ง่ายๆ
ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาบริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ประกาศ Layoff ค่อนข้างเยอะ และส่วนตัวก็เคยเห็นเพื่อน ๆ ในทีมที่ทำงานด้วยกันถูก Layoff กันไปหลายรอบเลยทำให้เข้าสัจธรรมว่า จริง ๆ แล้วเราก็เป็นเหมือนหนึ่งในฟันเฟืองที่องค์กรต่าง ๆ ก็ให้ความสำคัญแต่ในแง่ของธุรกิจบางครั้งก็จำเป็นต้อง Layoff เพื่อทำให้ธุรกิจไปต่อได้
ถ้าอยากลดผลกระทบหรืออัตราการโดน Layoff ให้ตัวเองคือเราต้องมีความรู้เฉพาะด้านของโปรดักต์นั้น ๆ หากไม่มีเราก็อาจจะเกิดผลกระทบต่องานได้ เพราะฉะนั้นคุณต้องพยายามเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญและมีผลงานที่ทำให้องค์กรรู้สึกขาดเราไม่ได้
🟥 บริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ vs บริษัทสตาร์ทอัพ สภาพแวดล้อมและรูปแบบการทำงานใดเหมาะกับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นอาชีพด้านเทคโนโลยีมากกว่ากัน
ในมุมมองส่วนตัว การทำบริษัทใหญ่และบริษัทเล็กมี ข้อดีต่างกัน ถ้าบริษัทใหญ่จะทำให้ เรียนรู้ระบบ และเห็นภาพรวม มีการเทรนนิ่งที่ชัดเจน อาจจะได้เปรียบสำหรับน้อง ๆ ที่จบใหม่ ในขณะที่ บริษัทเล็ก ๆ หรือสตาร์อัพอาจจะเคลื่อนตัวเร็วทำให้ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองเยอะ แต่จะเติบโตได้ไวมากกว่า ถ้าส่วนตัวแนะนำว่าให้ไปทำงานบริษัทใหญ่ ๆ ก่อนแล้วหากมีแพชชั่นค่อยย้ายไปทำสตาร์ทอัพหรือทำบริษัทของตัวเองอะไร ๆ ก็จะง่ายมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ไม่ได้มีสูตรตายตัวเพราะแต่ละคนก็มุมมอง ความคิดและความชอบแตกต่างกัน
🟥 คำแนะนำให้กับคนที่เพิ่งเริ่มต้นอาชีพด้านเทคโนโลยีและมีความฝันที่จะทำงานในบริษัทเทคฯ ระดับโลก
แนะนำให้หาบริษัทเทคฯ ระดับโลกที่มีออฟฟิศตั้งอยู่ที่ประเทศไทยให้ได้ก่อน โดยก่อนหน้านั้นอาจจะลองไปหาประสบการณ์ในบริษัทอื่น ๆ ก่อนเพื่อสร้างโปรไฟล์หลังจากนั้นก็เอาผลงานของคุณไปสมัครที่องค์กรระดับโลกที่มีสาขาในไทยที่คุณอยากทำ เช่น หากคุณอยากทำงานกับ Google อาจจะสมัครงานกับ Google ในไทยก่อน เพื่อสะสมประสบการณ์ก่อน
หลังจากนั้นค่อยหาโอกาสเพื่อทำเรื่องไปทำงานที่ต่างประเทศก็ได้ ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด เพราะการสมัครทำงานที่ต่างประเทศอาจจะยากกว่าถ้าเราไม่ได้จบจากประเทศนั้น ๆ หรืออีกหนึ่งวิธีคือการไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ
อย่างเช่น การเรียนต่อที่อเมริกาจะมี Work Permit หรือใบอนุญาตประกอบอาชีพสำหรับชาวต่างชาติให้คุณสามารถทำงานที่นั่นได้ประมาณ 3 ปี นี่จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ถือเป็นใบเบิกทางที่ดีสำหรับคนที่อยากทำงานในองค์กรเทคฯ ระดับสากล
อีกข้อแนะนำหนึ่งคืออย่ายอมแพ้ แม้จะถูกปฏิเสธ เพราะกว่าที่ผมจะได้ร่วมงานกับบริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ อย่าง Facebook และ Google ก็โดนปฏิเสธหลายรอบเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นความพยายามและการเรียนรู้อยู่เสมอจะทำให้คุณได้ทำงานกับองค์กรในฝันได้แน่นอน
โดยสรุปหากคุณมีเป้าหมายในการทำงานในองค์กรเทคฯ ชั้นนำระดับโลก การเริ่มศึกษาคุณสมบัติของตำแหน่งงานที่เราต้องการก่อนนั้นเป็นจุดริ่มต้นที่ดี แล้วจึงพยายามพัฒนาสกิลของเราให้เท่าทันความต้องการของตลาดงานอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นเราอาจจะไม่จำเป็นต้องเก่งมาก แต่จำเป็นต้องหมั่นเรียนรู้อยู่เสมอ
อ่านบทความได้ที่ : bit.ly/3Yi8MMK
มาร่วม CONNEXT THE DOT ก้าวสู่โลกการทำงานอย่างมั่นใจไปด้วยกัน
——————————————————

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา