31 ก.ค. 2023 เวลา 10:19 • การศึกษา

เรื่องเล็กๆน้อยๆกลับช่วยครูปฐมวัยได้มาก

หลายครั้งที่ครูนึกขอบคุณการเตรียมตัวของผู้ปกครองที่ช่วยให้เด็กๆได้มาเรียนด้วยความพร้อมและมีความสุข
หน้าที่ของครูปฐมวัยนั้น นอกจากการนำเสนอบทเรียนแล้วยังมีเรื่องตามสถานการณ์ต่างๆมากมายเป็นทุนเดิม อาทิ การสอนดูแลความสะอาดร่างกาย การไต่ถามข้อมูลเพื่อให้เข้าใจเด็กยิ่งขึ้น การติดตามเรื่องอารมณ์และคอยช่วยเหลือตามจำเป็น หน้าที่หลักครูปฐมวัยหากให้พูดตามจริง มันหนักในตัวของมันอยู่แล้ว
หากผปค.ได้เข้าใจและช่วยเตรียมในเรื่องเล็กๆน้อยๆได้ จะทำให้เด็กไม่ต้อง "กังวล" กับเรื่องที่ไม่ควรมากเกินไป จดจ่อกับสถานการณ์ตรงหน้าได้ดีขึ้น ฝึกในเรื่องหลักให้เก่งก่อนแล้วค่อยไปฝึกเรื่องรองของชีวิต
1. การแต่งกายของเด็กๆ: โรงเรียนที่ไม่มีเครื่องแบบ การฝึกให้เด็กเลือกเสื้อผ้าที่ "ธรรมดา" เป็นเรื่องที่นอกจากจะช่วยให้เขารู้จักหน้าที่ของสิ่งของมากกว่ามองเป็นวัตถุนิยมแล้ว ยังช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้มีสมาธิขึ้น เอาจิตไปจดจ่อกับการเล่นกับเพื่อน การคิดสร้างสรรค์ เปิดโลกตรงหน้าได้กว้างกว่าการมากังวลว่า
"วันนี้ชุดฉันสวยนะ ทุกคนมาชมสิ"
"วันนี้ฉันเป็นเจ้าหญิงนะ ชุดนี้เหนือกว่าสิ่งใด"
ครูไม่ได้บอกว่าเด็กเล็กควรใส่แต่ชุดเฉิ่มๆ แต่สำหรับวัยนี้เราควรปลูกฝังทัศนคติ "ข้าวของมีไว้ใช้ เสื้อผ้ามีไว้ใส่" เน้นไปที่ "หน้าที่" และ "กาลเทศะ" ของสิ่งนั้นก่อนที่จะให้คุณค่ากับแฟชั่นและวัตถุนิยม เด็กบางคนยึดมั่นกับ "ชุดกระโปรงฟูๆ" จนยอมละทิ้งการปีนป่าย การเล่นสำรวจ การวิ่งเล่นทะยานไปกับเพื่อน สำหรับครูครูมองว่าได้ไม่คุ้มเสีย
เมื่อเขารู้กาลเทศะ มี self esteem เพียงพอ ในวันที่พร้อม ลูกคุณแม่จะรู้จักคำว่า "แฟชั่น" ในแบบของตัวเอง
2. ของไม่จำเป็นสร้างความคับข้องใจเมื่อนำมาโรงเรียน: อะไรที่ไม่จำเป็นแล้วลูกอยากนำมา เช่น พวงกุญแจ การ์ด ตุ๊กตา ของเล่น หรือแม้กระทั่งกิ๊บติดผมรุ่มร่าม ฯลฯ ของเหล่านี้ดึงดูดสมาธิและนำพาไปสู่ความคับข้องใจได้ง่าย เด็กๆวัยนี้ยังมีความเป็นศูนย์กลางจักรวาลเขาจะทะเลาะกันได้ง่าย อาจจะเสียใจเมื่อของพังจนไม่เป็นอันร่ำเรียนหรือเรื่องลามใหญ่โตจนไปทะเลาะกับอีกครอบครัว ได้รับประสบการณ์ไม่พึงประสงค์โดยไม่จำเป็น
ไม่ว่าลูกเรามีเจตนานำไปแบ่งกับเพื่อนหรือนำไปเล่นเอง ฯลฯ ครูอยากชวนมองในมุมที่ว่าให้ลูกลองไปหาอย่างอื่นเล่นที่โรงเรียนเถอะ ลองเล่นโดยเริ่มจากไม่มีอะไรจะได้ฝึกความคิดยืดหยุ่น ความคิดสร้างสรรค์บ้าง
หากลูกอยากนำของไปอวดเพื่อน ครูอยากชวนมองในมุมที่ว่าเขากำลังหันไปพึ่งพาวัตถุมากกว่าการทำตนให้มีคุณค่าหรือเปล่า ทำไมลูกเราจึงเริ่มใช้วิธีนี้ ลองหาต้นเหตุแล้วแก้ไขสิ่งแวดล้อม
แถ้าลูกบอกว่า "คนนั้นเอาไปได้" "คนนี้ใส่ชุดเจ้าหญิงได้" "คนนี้เอาดาบเจไดไปได้" เราสามารถเล่นบทใจดีแต่ไม่ใจอ่อน
"แม่รู้ว่าหนูอยากเอาไปบ้าง แต่ของที่เราจะเอาไปโรงเรียนมีแค่ในรายการนี้เท่านั้น" หรือ
"แม่รู้ว่าหนูก็อยากแต่งชุดเจ้าหญิงไปบ้าง แต่ชุดที่เราจะใส่ไปโรงเรียน ตั้งอยู่ตรงนี้ กองใหญ่ๆนี้คือชุดใส่ไปโรงเรียน เลือกจากตรงนี้นะคะ"
ยิ้มหวาน ลูบหัวเบาๆ เรากำลังสอนสิ่งที่มีคุณค่ามากให้กับเขานั่นคือ inhibit
3. ให้ลูกเรารู้ว่าของใช้ของเขาคืออะไร ใช้งานอย่างไร ดูแลตัวเองยังไง เขากินอะไร ไม่กินอะไร: ข้อนี้สำคัญมากเลยค่ะ เด็กควรได้รู้จักตนเองก่อนที่จะรู้จักเรื่องราวนอกบ้านเสียอีก บางครั้งเราเผลออยากรีบสอนหนังสือแล้วลืมสอนเรื่องตัวเขา ลืมบอกชื่ออาหารที่เขากิน ลืมชี้ให้เขารู้หนูชอบกินมะม่วงเปรี้ยว หนูชอบกินไก่โดยเฉพาะส่วนสะโพกนะ หนูชอบไข่เจียวกรอบๆมากกว่าไข่ตุ๋น ถ้าแผลเล็กน้อยแบบนี้หนูขอแค่ล้างสบู่นะเพราะหนูเคยเป็นแป๊บเดียวก็หาย เวลาอาบน้ำต้องถูรักแร้เป็นพิเศษนะเพราะฟองชอบเกาะตรงนี้
รู้วิธีใช้สิ่งของของตนเอง รู้ว่าถุงผ้าที่แม่ให้มาใช้ทำอะไร รู้วิธีเปิดฝากระติกน้ำตัวเอง รู้วิธีใช้ของที่ตนเองนำมา
เมื่อลูกเรารู้ตัวรู้ตน เวลาเขามาโรงเรียนจะง่ายมากเพราะเขามั่นใจเพราะเราหยอดประสบการณ์ใส่ไว้ให้แล้ว นี่คือเรื่องที่ยิ่งใหญ่ คือพื้นฐานของการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ ถ้าเกิดวันหนึ่งเราไม่อยู่ยังพอจะวางใจได้ว่าลูกเราก็รู้เรื่องและพอจะบอกคนอื่นได้ว่าเขาต้องการอะไร เขาชอบไม่ชอบอะไร รู้ว่าต้องดูแลตัวเองตามวัยอย่างไร
กลับกันถ้าเราสังเกตเอาเอง ลูกบ้วนทิ้งก็ไปเปลี่ยน พอได้จานใหม่เด็กก็กินและรับรู้แค่ว่าอร่อยแต่ไม่รู้หรอกว่าตัวเองกินอะไร รู้ว่ามีกระติกน้ำแต่ไม่รู้ใช้ยังไง อาบน้ำถูยังไงให้สะอาดไม่รู้หรอกเพราะไม่เคยถูกฝึก เราเลือกเสื้อผ้าให้เสมอหรือให้เขาเลือกโดยไม่มีกฎกติกา เราพลาดโอกาสมอบประสบการณ์ชีวิตให้เขาทั้งๆที่บทเรียนอยู่ตรงหน้าทุกวัน วันละ 2-3 ครั้ง
เด็กที่ได้ฝึกฝนพอมาโรงเรียนเขาจะสามารถพึ่งพาตนเองได้ง่าย เมื่อรับประทานอาหารเขาจะพอเดาได้ว่าเมนูนี้จะกินเยอะหรือกินน้อย คาดเดารสชาติได้ วางแผนเป็น บอกครูได้ว่าต้องการอะไร พึ่งพาตนเองได้ เด็กก็จะมั่นใจใช้ชีวิตในโรงเรียนได้ราบรื่นขึ้น
4. ให้เด็กรู้จังหวะของชีวิต ทำตารางให้เห็นว่าเราไปโรงเรียนวันนี้ถึงวันนี้ กลับบ้านมาเราจะทำอะไร เด็กต้องการจังหวะชีวิตที่สม่ำเสมอคาดเดาได้ แจ้งเขาหากมีอะไรเปลี่ยนแปลง เช่น จะมารับช้า จะมารับไว ใครจะมารับ เด็กเล็กเราอาจใช้วิธีดูตารางกิจวัตรที่โรงเรียนแล้วบอกเขาว่า "แม่จะมารับหลังนอนกลางวัน" แทนการบอกเวลาเป็นตัวเลขเพราะเด็กเล็ก 2-3 ขวบดูเวลาไม่เก่งแล้วเขาจะกังวลสองเรื่อง
ครูเห็นหลายบ้านที่เตรียมลูกมาพร้อม เด็กมาโรงเรียนครั้งแรกก็ร้องไห้ตามปกติสักระยะแต่พอปรับตัวได้ เขาจะปรับตัวได้อย่างมั่นใจ เริ่มต้นเรียนรู้ได้ไวเพราะมีความมั่นคงภายใน มีเรื่องให้หยุดพักติดตันน้อยกว่า ได้ก้าวไปตามวัยและเดินต่อไปได้แบบสวยงาม
เวลาของเด็กเล็กเป็น critical period ถ้าไม่ทำวันนี้ ไปทำวันต่อไปจะยากขึ้นมาก inhibit ไม่สอนวันนี้วันต่อไปจะสอนยากมาก กาลเทศะไม่สอนวัยนี้วัยต่อไปจะสอนยากขึ้น เรื่องเล็กน้อยเหล่านี้(ที่ไม่ใช่เรื่องเล็ก)ช่วยได้จริงๆค่ะ
#บันทึกครูมอนเตสซอรี
#montessoriguidesdiary
โฆษณา