Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Human_record
•
ติดตาม
1 ส.ค. 2023 เวลา 11:00 • ประวัติศาสตร์
บทที่ 1 บทนำ
โบราณคดีคืออะไร ?
Archaeology มาจากศัพท์ภาษากรีก 2 คำ คือ “archaeos” แปลว่า “เก่าแก่” และ “logos” แปลว่า “วิชา” หรือ “ความรู้” จากรากศัพท์โบราณคดีจึงเน้นไปที่ประวัติความเป็นมาของสิ่งต่าง ๆ เริ่มจากการศึกษาความเก่าแก่ของโลกเปลี่ยนมาเป็นศึกษาความเก่าแก่ของมนุษยชาติ โดยวิชาโบราณคดีเริ่มต้นจากการสะสมและการ “ขุด” หาของเก่า มักจะเป็นผู้ดี (nobility) และชนชั้นกลาง (bourgeoisie) ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ซึ่งเป็นเพียงอาสาสมัคร นักสะสม หรือนักโบราณคดีแฝง (pseudoarchaeologist) ไม่ใช่นักโบราณคดีตามแนวคิดปัจจุบัน
จนคริสต์ศตวรรษที่ 18 ยุคแสงสว่างทางปัญญา (enlightenment) มีการค้นคว้าเกี่ยวกับความเก่าแก่ของโลกภายใต้กรอบ Antiquarianism ซึ่งมีส่วนให้หลักฐานเกี่ยวกับมนุษย์ถูกค้นพบมากขึ้น จนไปสู่การเกิดวิชาโบราณคดีในคริสต์ศตวรรษที่ 19
โบราณคดีสัมพันธ์กับวิชาอื่นอีก เช่นมานุษยวิทยา (Anthropology) ประวัติศาสตร์ (History) ประวัติศาสตร์ศิลปะ (Art History) ไปจนถึงศาสตร์ที่อยู่ห่างออกไป เช่น ธรณีวิทยา (Geology) ภูมิศาสตร์ (Geography) นิเวศวิทยา (Ecology) รวมไปถึงศาสตร์ที่อาจสงสัยว่ามีความสัมพันธ์กับโบราณคดีได้อย่างไร เช่น ฟิสิกส์ (Physics) เคมี (Chemistry) พฤษศาสตร์ (Botany) คณิตศาสตร์ (Mathematics) และสถิติ (Statistics)
นักโบราณคดีบางคนจึงมองว่าการศึกษาวิจัยทางโบราณคดีเป็นลักษณะสหวิทยาการ (interdisciplinary study) โบราณคดีจัดเป็นสาขาวิชาหนึ่ง (discipline) กล่าวได้ว่า “โบราณคดีในสำนึกปัจจุบันคือการศึกษาอดีตของมนุษย์ โดยผ่านกระบวนการการค้นพบและการวิเคราะห์วัฒนธรรมทางวัตถุอย่างเป็นระบบ”
การศึกษาอดีตของมนุษย์มีกระบวนการและขั้นตอนแตกต่างจากสาขาวิชาอื่น เนื่องจากหลักฐานทางโบราณคดี (archaeological record) มักเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตซึ่งอยู่ใต้ดินหรือใต้น้ำเป็นจำนวนมาก นักโบราณคดีได้พัฒนาวิธีการศึกษาของตนอย่างต่อเนื่อง เช่น กระบวนการเก็บข้อมูล กระบวนการวิเคราะห์ และกระบวนการตีความ เพื่ออธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ในอดีต ซึ่งจะนำไปสู่ควาามเข้าในสังคมวัฒนธรรมของมนุษย์ โดยในปัจจุบันแนวทางของโบราณคดีมีเป้าหมายหลัก 4 ประการ คือ
1. เพื่อเปิดเผยลักษณะต่าง ๆ ของอดีต คือการพรรณนาและจัดจำแนกหลักฐานทางกายภาพ เช่น แหล่งโบราณคดี (archaeology site) และโบราณวัตถุ (archaeological finds) ที่พบ ออกเป็นหมวดหมู่ โดยพิจารณาบริบท (context) ของสถานที่ (space) และเวลา (time) เพื่อพรรณนาวัฒนธรรมของมนุษย์
2. เพื่อค้นหาบทบาทหน้าที่ (function) ของหลักฐานต่าง ๆ เพื่อสร้างภาพพฤติกรรมของมนุษย์ในอดีต โดยวิเคราะห์รูปร่าง หรือรูปทรงสัณฐาน และความสัมพันธ์ระหว่างหลักฐานที่พบ หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นการจำลองภาพวิถีชีวิตของมนุษย์ในอดีตขึ้นมาใหม่ (reconstruct)
3. เพื่อค้นหากระบวนการทางวัฒนธรรม (cultural process) ว่าเกิดขึ้น ดำเนินไป และเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวาลาอย่างไร และด้วยสาเหตุใด
4. เพื่อเข้าใจความหายทางวัฒนธรรมภายใต้บริบทเชิงสัญลักษณ์ คุณค่า และโลกทัศน์
นอกจากเป้าหมาย 4 ประการข้างต้นแล้ว โบราณคดีในปัจจุบันยังมีเป้าหมายแตกต่างกันระหว่าง “โบราณคดีโลกเก่า” และ “โบราณคดีโลกใหม่” โดยนักโบราณคดีโลกเก่า เช่น ยุโรปและแอฟริกาที่มีพื้นฐานทางด้านประวัติศาสตร์มาก่อน เน้นการหาข้อมูลภาคสนาม ตรวจสอบแบบแผนการตั้งถิ่นบานและการอยู่อาศัย สร้างภาพระบบเศรษฐกิจ และวิเคราะห์รูปแลลโบราณวัตถุ เพื่อจัดจำแนกเป็นหมวดหมู่ ความแตกต่างในเป้าหมายนี้อาจเนื่องมาจากนักโบราณคดีโลกเก่าคิดว่าการศึกษาโบราณคดีและก่อนประวัติศาสตร์ เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ของพวกเขาเอง
ในขณะที่โบราณคดีโลกใหม่ เช่น อเมริกัน มมองว่าโบราณคดีเป็นส่วนหนึ่งของวิชามานุษยวิทยา ซึ่งเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับมนุษย์ทุกด้าน ทุกเวลา และทุกสถานที่ และเห็นว่าการศึกษาทางโบราณคดีเป็นการศึกษาวัฒนธรรมของมนุษย์ทั่วไป โดยเฉพาะมนุษย์ที่ไม่อยู่ในวัฒนธรรมตะวันตก เป็นการศึกษาวัฒนธรรมผู้อื่น ไม่ใช่วัฒนธรรมของพวกเขาเอง
อ้างอิง
หนังสือ
- สว่าง เลิศฤทธิ์. (2547). โบราณคดี: แนวคิดและทฤษฏี. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน).
ที่มาภาพ
-
https://www.britannica.com/science/archaeology
ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความสนใจ ผิดพลาดประการใดขออภัยมา ณ ที่นี้
แนวคิด
มนุษย์
โบราณคดี
บันทึก
2
1
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย