31 ก.ค. 2023 เวลา 14:30 • ความคิดเห็น

งาน เงิน ชีวิต ความสัมพันธ์?

คำอธิบายผู้เชี่ยวชาญว่าทำไมเราเริ่มตั้งคำถามเมื่อโมงยามชีวิตเข้าสู่ช่วงวัยกลางคน
เคยได้ยินเรื่อง ‘วิกฤติวัยกลางคน’ (Midlife Crisis) ไหมครับ?
อาการวิตกกังวล ตั้งคำถามกับประเด็นต่างๆ ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เงิน ชีวิต ความฝัน ความสัมพันธ์ ฯลฯ
เริ่มสงสัยในสิ่งที่ทำว่ามันเป็นอย่างที่มันควรจะเป็นอยู่รึเปล่า? งานที่ทำใช่ที่ต้องการไหม? เงินที่เก็บมาจะพอใช้เหรอ? เส้นทางที่เดินมาตลอด ทำงานอย่างแข็งขันกำลังนำไปสู่เป้าหมายที่อยากจะไปจริงๆ ใช่ไหม? เรากำลังปีนเขาลูกที่อยากจะปีนอยู่จริงไหมนะ? คนรอบๆ ตัว คนรัก ความสัมพันธ์ จากที่ก่อนหน้านี้ดูไม่ได้มีปัญหาอะไร ตอนนี้ทุกอย่างกลายเป็นคำถามไปซะหมด
ที่สำคัญคือมันเริ่มกระทบกับชีวิตและคนรอบๆ ตัวด้วย
อาการความเครียดแบบนี้ บางคนเริ่มเร็วหน่อย ช่วงวัย 30 กว่าๆ เข้าสู่วัย 40 ก็เริ่มตั้งคำถาม บางคนก็อาจจะช้ากว่านั้นสักหน่อย (แต่ก็จะไม่เกิน 60 ปี) เหตุผลที่เราเรียกมันว่าวิกฤติวัยกลางคนก็เพราะอาการแบบนี้มักจะเกิดขึ้นช่วงวัยกลางคนนี่แหละ
มันเป็นช่วงเวลาที่เราเริ่มมองย้อนกลับไปในชีวิต ตั้งคำถามกับการตัดสินใจ เริ่มเชื่อมต่อจุดต่างๆ ว่าเราเคยเป็นใคร ตอนนี้เป็นใคร และกำลังจะเป็นใครในอนาคต
มันคือช่วงเวลาที่ “อดีต ปัจจุบัน และอนาคต มาบรรจบกัน” ชารอน เรย์ (Sharon Wray) ผู้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องวิกฤติวัยกลางคนกล่าวเอาไว้ได้อย่างชัดเจน
เอมี่ โมริน (Amy Morin) นักจิตบำบัดและนักเขียนหนังสือขายดีระดับนานาชาติ (หนังสือของเธอที่หลายคนอาจจะรู้จักคือ "13 สิ่งที่คนเข้มแข็งเขาไม่ทำกัน”) กล่าวนักวิจัยหลายคนเชื่อว่าวิกฤติวัยกลางคนนั้นเป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้นมากกว่า เป็นความเชื่อที่ว่าพอเข้าสู่ช่วงวัยนี้จะเริ่มทำอะไรที่สุดโต่งสักอย่างในชีวิต
มีการทำแบบสอบถามเช่นกันพบว่ามีเพียง 26% เท่านั้นรู้สึกว่าตัวเองประสบกับวิกฤติวัยกลางคน และส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดเพราะอายุ แต่เป็นเหตุการณ์บางอย่างในชีวิตที่ทำให้รู้สึกว่ากำลังเกิดวิกฤติวัยกลางคน อย่างเช่นการจากไปคนรักในครอบครัว (พ่อแม่ พี่น้อง สามี/ภรรยา) การหย่าร้าง ตกงาน หรือการย้ายที่ทำงาน ฯลฯ
#สัญญาณของวิกฤติวัยกลางคนมีอะไรบ้าง?
ด้วยความที่ “วิกฤติวัยกลางคน” ไม่ได้เป็นโรคที่มีการวินิจฉัยอย่างเป็นทางการ มันเลยเป็นคอนเซปต์ที่ยากสำหรับนักวิจัยจะทำการศึกษาด้วย แถมยังมีการโต้แย้งกันค่อนข้างเยอะว่าจริงๆ แล้ววิกฤติวัยกลางคนต้องมีลักษณะอาการแบบไหน
โมรินกล่าวว่า “วิกฤติของคนหนึ่ง อาจจะไม่ใช่วิกฤติของอีกคนก็ได้”
แต่ส่วนใหญ่จะบอกว่าวิกฤติวัยกลางคนจะมีความรู้สึกกลัวเรื่องความเป็นความตาย หรือความต้องการที่จะกลับไปเป็นหนุ่มสาวอีกครั้ง แต่โดยทั่วไปอารมณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตวัยกลางคนอาจไม่ต่างจากความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตช่วงอื่นๆ ในชีวิตมากนัก
ซึ่งสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (The American Psychological Association) กล่าวว่าวิกฤตทางอารมณ์เห็นได้ชัดจาก “การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ชัดเจนและฉับพลัน” ตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมีทั้ง
* ละเลยสุขอนามัยส่วนบุคคล
* พฤติกรรมการนอนที่เปลี่ยนไป
* น้ำหนักลดหรือเพิ่มเป็นพิเศษ
* การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่เด่นชัด เช่น โกรธมากขึ้น หงุดหงิด เศร้า หรือวิตกกังวล
* ไม่สนใจ/ใส่ใจในงานประจำหรือความสัมพันธ์รอบๆ ตัว
#สาเหตุของวิกฤติวัยกลางคนมีอะไรบ้าง?
สำหรับหลายคนช่วงวัยกลางคนคือจังหวะชีวิตที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น หน้าที่การงาน ความรับผิดชอบในชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป อาจจะต้องกลายเป็นผู้ดูแลพ่อแม่ที่สูงอายุ บางคนอาจจะเข้าสู่ช่วงวัยที่ลูกๆ เติบโตไปเรียนต่อมหาวิทยาลัย หรือบางทีรู้สึกว่าลูกวัยรุ่นนั้นโตเร็วจนรับไม่ทัน
บางคนช่วงนี้อาจจะส่องกระจกแล้วเริ่มเห็นริ้วรอยของความชราภาพชัดเจนมากขึ้น อาจจะป่วย เริ่มสุขภาพไม่แข็งแรง วิ่งแล้วหอบไม่ฟิตเหมือนเดิม เดินขึ้นบันไดแล้วปวดขา ก้มแล้วปวดหลัง ฯลฯ
ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้เริ่มตั้งคำถามกับชีวิตและเกิดความรู้สึกเสียดายกับเรื่องต่างๆ ที่เคยผ่านมา
เหมือนเป็นจังหวะที่คิดถึงอดีตว่าพลาดอะไรไปบ้าง แล้วตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่ แล้วอีกไม่นานก็จะจากโลกนี้ไปแล้ว พอความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นก็จะกลายเป็นการตั้งคำถามแล้วว่า “แล้วถ้าเกิดว่าวันนั้นเลือก...”
บางคนอาจจะรู้สึกเสียดายที่ไม่ได้เลือกสายอาชีพหนึ่ง บางทีเป็นเรื่องความสัมพันธ์กับใครสักคน หรือโอกาสที่จะได้มีชีวิตที่แตกต่างออกไปจากตรงนี้ ทำไมช่วงนั้นดูมีความสุขดี ตอนนี้ช่างแตกต่างกันจัง
หรือสำหรับบางคนอาจจะรู้สึกว่าต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างแล้ว มองย้อนกลับไปไม่ช่วยอะไร ตอนนี้แหละที่ต้องลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับอีกครึ่งชีวิตที่เหลือ
#เป็นช่วงเวลาที่ความสุขต่ำสุด
มีการศึกษาหลายชิ้นที่บ่งบอกว่าความสุขในช่วงชีวิตของมนุษย์จะทำกราฟเป็นลักษณะรูปตัว “U” ซึ่งมันจะค่อยๆ ลดลงตั้งแต่ช่วงปลายวัยรุ่นแล้วมาต่ำสุดช่วงอายุ 40++ หลังจากนั้นก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นหลังวัย 50++ แต่จะเพิ่มขึ้นก็ต่อเมื่อเริ่มค้นพบตัวเองอีกครั้ง เหมือนเป็นการหาเป้าหมายในอีกครึ่งชีวิตเจอนั่นเอง แต่ข้อมูลตรงนี้อาจจะพบมากกว่าในกลุ่มคนที่มีรายได้สูงมากกว่ากลุ่มคนที่มีรายได้น้อย
บางคนอาจจะรู้สึกเหมือนภาวะซึมเศร้าในช่วงระยะเวลานี้ มีข้อมูลในประเทศอเมริกาว่าผู้หญิงวัย 40-59 ปีนับว่ามีอัตราส่วนเป็นโรคซึมเศร้ามากที่สุดถึง 12.3% และผู้ชายวัย 45-54 ปีก็มีอัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในทุกช่วงวัยด้วย (โดยเฉพาะชายผิวขาว)
วิกฤติวัยกลางคนทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า? หรือภาวะซึมเศร้าทำให้เกิดวิกฤติวัยกลางคน? หรือบางทีความรู้สึกซึมเศร้าที่ประสบช่วงวัยกลางคนคือวิกฤติวัยกลางคน?
แล้ววิกฤติวัยกลางคนทำให้ความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นไหม? คำถามเหล่านี้ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดเพราะมันระบุไม่ได้ว่าวิกฤติวัยกลางคนนั้นแตกต่างจากสภาวะวิกฤติทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากช่วงอื่นยังไง
#แล้วมันมีข้อดีไหม?
สิ่งหนึ่งที่โมรินบอกว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้และมีโอกาสสร้างผลลัพธ์ในทางบวกคือ “ความอยากรู้อยากเห็น” (Curiosity)
“นักวิจัยพบว่าคนที่กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตหนึ่งส่วนสี่ของชีวิต (quarter-life crisis) หรือวิกฤติวัยกลางคน จะรู้สึกถึงความอยากรู้อยากเห็นที่เพิ่มมากขึ้นกับตัวเองและโลกที่กว้างขึ้น”
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าความกังวลและความไม่แน่นอนที่กำลังรู้สึกนี่แหละที่ทำให้พร้อมเปิดรับไอเดียใหม่ๆ อาจจะเป็นแนวคิด การทำงาน ทางออกกับชีวิตที่สร้างสรรค์ขึ้น สร้างโอกาสใหม่ๆ และกลายเป็นเป้าหมายในชีวิตครั้งใหม่ที่ทำให้หลุดพ้นจะวิกฤติและกลับมามีความสุขอีกครั้งหนึ่ง
แอนน์ ดักลาส (Ann Douglas) ผู้เชี่ยวชาญและผู้เขียนหนังสือ “Navigating the Messy Middle: A Fiercely Honest and Wildly Encouraging Guide for Midlife Women” คู่มือการรับมือช่วงเวลายุ่งเหยิงวัยกลางคนของชีวิต บอกว่าเราทุกคนควรจะหยุดและสะท้อนถึงสิ่งที่เราเรียนรู้และการเติบโตที่ผ่านมา
“ท้ายที่สุดแล้ว เราก็ไม่ได้มีชีวิตซังกะตายไปตลอด : คุณต้องเรียนรู้และเติบโตทุกก้าวของการเดินทาง”
และที่สำคัญก็คือกว่า “การได้เห็นตัวเองเติบโตนั้นเป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าคุณมีชีวิตอยู่ เป็นหนึ่งในของขวัญมากมายของการเป็นมนุษย์ : สามารถตั้งคำถามกับความคิดของตัวเองและถามตัวเองด้วยคำถามสำคัญๆ อย่าง ‘ที่เชื่อนั้นจริงเหรอ?’ และ ‘ฉันยังรู้สึกแบบนั้นอยู่รึเปล่า?’”
วิกฤติวัยกลางคนอาจจะทำให้คุณตั้งคำถามกับทุกอย่างในชีวิต งาน เงิน ชีวิต ความสัมพันธ์
ถึงแม้จะดูน่ากลัว แต่มันก็เป็นหมุดหมายสำคัญที่ช่วยเตือนว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องของธรรมชาติ
การเปลี่ยนแปลงบางครั้งเจ็บปวด แต่ไม่มีอะไรแย่ไปกว่าอยู่เฉยๆ แล้วติดอยู่กับสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเราอีกต่อไป
เราไม่จำเป็นต้องเป็นคนเดิมในอดีต และถ้าอยากเปลี่ยนอนาคตก็ต้องตอนนี้
นั่นคือธรรมชาติและความเป็นมนุษย์ที่สุดแล้ว
#aomMONEY #MoneyStorytelling #MidlifeCrisis #วัยกลางคน #วิกฤติวัยกลางคน #ปัญหาชีวิต #วัย40 #ความสุข #การเงิน
โฆษณา