31 ก.ค. 2023 เวลา 21:45 • ประวัติศาสตร์

เส้นทางชีวิตของออพเพนไฮเมอร์

ก่อนจะพูดถึงตัวหนัง อยากให้ทำความรู้จักกับออพเพนไฮเมอร์ และทราบรายละเอียดที่ทั้งมีและไม่มีในหนังกันก่อนครับ
จูเลียส โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ เกิดที่นิวยอร์ก เมื่อปี 1904 ครอบครัวของเขาเป็นชาวยิวเชื้อสายเยอรมันที่อพยพมาตั้งรกรากที่สหรัฐฯ เขาเป็นเด็กหัวดี แต่ด้วยความที่ขี้อาย รูปร่างผอม เขาจึงถูกเพื่อนรังแกอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ชอบขลุกตัวอยู่กับการเรียนและหนังสือวิทยาศาสตร์
ใครจะไปคิดว่านั่นกลับเป็นโอกาสในการเรียนรู้ ศึกษา และเป็นช่วงเวลาที่เขาค้นพบว่าตัวเองชอบภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก ออพเพนไฮเมอร์เรียนเกรด 3 – 4 จบภายใน 1 ปี จากนั้นก็ข้ามไปเรียนครึ่งเทอมของเกรด 8 และเขาฉายแววถึงขั้นที่ว่า New York Mineralogical Club หรือสมาคมที่ศึกษาเกี่ยวกับแร่วิทยาเชิญไปบรรยายก่อนที่จะรู้ว่าเขาเป็นเด็กชายอายุเพียง 12 ปี
ออพเพนไฮเมอร์เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในภาควิชาเคมี โดยมีนักฟิสิกส์รางวัลโนเบลอย่าง เพอร์ซีย์ บริดจ์แมน เป็นอาจารย์ผู้สอน จากนั้นเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และเรียนจนจบปริญญาเอกด้านฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยเกิททิงเงิน ประเทศเยอรมนี ขณะมีอายุเพียงแค่ 23 ปี สมัยเรียนที่ฮาร์วาร์ด ออพเพนไฮเมอร์กระตือรือร้นขนาดลงเรียน 6 ตัว จากปกติต้องเรียนเทอมละ 4 ตัว และการเรียนที่ฮาร์วาร์ดทำให้เขาได้ใกล้ชิดกับวิชาคณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม และปรัชญา หล่อหลอมให้เขาเป็นนักคิดและมีบุคลิกที่ซับซ้อน
ในขณะที่การเรียนที่เคมบริดจ์เผยให้เห็นแง่มุมอื่นของชายคนนี้ เขาไม่ค่อยถูกกับผู้สอนอย่าง แพทริก แบล็กเก็ตต์ เท่าไหร่นัก ถึงขั้นฉีดสารเคมีอันตรายในลูกแอปเปิลจนอาจารย์เกือบจะกินเข้าไปแล้ว
นอกจากนี้ยังเป็นชายที่สูบบุหรี่จัดไม่แพ้ตัวละคร ทอมมี่ เชลบี้ (Tommy Shelby) ในซีรีส์ Peaky Blinders และเป็นคนที่เวลาโฟกัสกับอะไรมาก ๆ จะไม่กินข้าว ทั้งยังเต็มไปด้วยความรู้สึกหดหู่ซึมเศร้าอยู่เป็นช่วง ๆ ถึงขั้นว่าเมื่อเพื่อนล้อเล่นว่าจะแต่งงานกับแฟนสาวของเขา ออพเพนไฮเมอร์เข้าไปบีบคอเพื่อนคนนั้น แล้วบอกกับน้องชายที่ชื่อ แฟรงก์ ว่าสำหรับเขาแล้ว ฟิสิกส์จำเป็นกว่าเพื่อน
ออพเพนไฮเมอร์พูดได้ถึง 6 ภาษา นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ ได้แก่ กรีก ละติน ฝรั่งเศส เยอรมัน ดัตช์ รวมถึงสันสกฤต เขาจึงศึกษาคัมภีร์ภควัทคีตาของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูได้อย่างลึกซึ้ง
และอีกเรื่องหนึ่งที่น่าพูดถึง คือเราอาจได้ยินชื่อออพเพนไฮเมอร์ควบคู่กับคำว่าปรมาณูอยู่เสมอ ๆ แต่อันที่จริงนอกเหนือจากนั้น ชายคนนี้ก็มีบทบาทสำคัญในการทำงานวิจัยเกี่ยวกับดาราศาสตร์ สสารกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ทฤษฎีสนามควอนตัม ทฤษฎีสัมพัทธภาพ กลศาสตร์ควอนตัม และอีกมากมาย และเขายังเป็นนักฟิสิกส์คนแรก ๆ ที่พูดถึงการมีอยู่ของหลุมดำอีกด้วย
จากชีวิตบุรุษอัจฉริยะผู้นำความตายมาสู่โลกใบนี้ สู่ Oppenheimer หนังใหม่ของคริสโตเฟอร์ โนแลน
ข้ามมาถึงช่วงที่จะเปลี่ยนชีวิตเขาและโลกใบนี้ไปตลอดกาล คือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นายพลเลสลี โกรฟส์ (Leslie Groves) ยื่นข้อเสนอให้ออพเพนไฮเมอร์คุมโปรเจกต์แมนฮัตตัน (Manhattan Project)
ที่มีเป้าหมายถึงการคิดค้นและพัฒนาสุดยอดอาวุธปฏิกิริยาลูกโซ่ เพื่อแข่งขันก่อนเยอรมนีจะทำสำเร็จ สงครามการแข่งกับเวลา อเมริกัน vs นาซี และ ออพเพนไฮเมอร์ vs แวร์เนอร์ ไฮเซ็นเบิร์ก (Werner Heisenberg) เพื่อนเก่าสมัยมหาลัยขณะเรียนที่เยอรมนี จึงเริ่มต้นขึ้น (ใช่แล้วครับ ไฮเซ็นเบิร์กคนนี้แหละที่เป็นต้นแบบฉายาของ วอลเตอร์ ไวท์ (Walter White) ในซีรีส์ Breaking Bad)
ด้วยความที่โปรเจกต์นี้เป็นโปรเจกต์ลับสุด ๆ และเป็นการทดลองเกี่ยวกับระเบิดปรมาณู จึงต้องทำการทดลองที่ห่างไกลผู้คน ออพเพนไฮเมอร์เลือกสถานที่คือลอส อลามอส (Los Alamos) อยู่ทางตอนเหนือของรัฐนิวเม็กซิโก เป็นโลเคชันในการก่อสร้างเมืองลึกลับและสถานที่วิจัยคิดค้นโปรเจกต์พลิกกระแสสงครามโลกด้วยความตั้งใจคือยุติสงครามครั้งนี้ โดยโครงการนี้รวบรวมสุดยอดทีมนักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะไว้ด้วยกันทั้ง ริชาร์ด ไฟน์แมน, ฮันส์ เบเธอ, เอ็ดเวิร์ด เทลเลอร์, เออร์เนสต์ ลอว์เรนซ์, ลีโอ ซีลาร์ด และอีกมากมาย
โครงการแมนฮัตตันเป็นโปรเจกต์ลับสุดยอดขนาดว่า ผู้รับหน้าที่ก่อสร้างอาคารบ้านเรือนและศูนย์วิจัยไม่รู้ว่าตัวเองกำลังสร้างอะไรอยู่ ได้แต่ทำตามที่นักวิทยาศาสตร์บอก ส่วนนักวิทยาศาสตร์ที่มาทำงานที่นี่ 2 ปีครึ่งก็เหมือนหายตัวไปจากโลกใบนี้ราวกับโดนเอเลียนลักพาตัว ไม่มีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
นอกจากนี้ เมืองนี้ยังเหมือนไม่มีอยู่บนโลก อยู่ห่างจากเมืองที่ใกล้ที่สุดราว ๆ 60 กิโลเมตร ทาสีเขียวเพื่อกลมกลืนกับต้นไม้ใบหญ้าในบริเวณใกล้เคียง และตกดึกจะไม่มีไฟตามทางเพื่อไม่ให้ใครก็ตามหาเจอ โดยทุกคนจะมีบัตรประจำตัว บัตรสีขาวของนักวิทยาศาสตร์ ส่วนบัตรสีน้ำเงินเป็นของคนงาน ซึ่งจะไม่มีทางล่วงรู้สิ่งที่เป็นความลับของที่นี่
ชายคนนี้จะนำสหรัฐฯ ไปสู่เป้าหมายได้ก่อนนาซีเยอรมันเป็นแน่ ตอนอยู่ที่นี่ คนจะเห็นว่านายออพปี้ทำตัวเงียบ ๆ สวมหมวก ถือไปป์ซะส่วนใหญ่ และทำตัวขี้สงสัย จะพูดแสดงความเห็นเมื่อสบโอกาส ส่วนมากชอบตั้งคำถาม ศึกษาเรียนรู้ ทำความเข้าใจงานทุกอย่าง สนิทกับทุกคน และประนีประนอมได้กับทุกฝ่าย
จากชีวิตบุรุษอัจฉริยะผู้นำความตายมาสู่โลกใบนี้ สู่ Oppenheimer หนังใหม่ของคริสโตเฟอร์ โนแลน
เวลาล่วงเลยไป จากโปรเจกต์ที่เริ่มด้วยทุน 6,000 ดอลลาร์และคนไม่กี่คน กลายเป็นโปรเจกต์ที่เกิดการจ้างงานมากถึง 130,000 อัตราและใช้ทุนไปทั้งสิ้นราว ๆ 2.2 พันล้านดอลลาร์ หรือตีเป็นเงินปัจจุบันอยู่ที่มากกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว งานนี้เรียกได้ว่า ถ้าคว้าน้ำเหลว เวลา 2 – 3 ปีกับเงินทุนมหาศาลขนาดนี้จะสูญเปล่า
เมื่อนั้นเอง คือช่วงเวลาที่โพมีธีอุสชาวอเมริกันได้มอบสุดยอดอาวุธทำลายล้าง หรือพลังอำนาจที่ไม่ควรอยู่ในมือใครแด่มนุษยชาติ และอย่างที่ทราบกันดี ในวันที่ 6 และ 9 สิงหาคมปีเดียวกัน หรือเพียงไม่กี่วันต่อจากนั้น ระเบิดที่ชื่อว่า ‘ลิตเติลบอย’ และ ‘แฟตแมน’ ก็ถูกทิ้งลงสู่เมืองฮิโรชิม่าและนางาซากิตามลำดับ ส่งผลให้ชาวญี่ปุ่นกว่า 100,000 – 200,000 คนเสียชีวิต ส่วนคนที่บาดเจ็บและมีชีวิตรอดก็ไม่อาจใช้คำว่าโชคดีนิยามได้เลยครับ
แม้สงครามโลกครั้งที่ 2 จะจบลงไปก่อนหน้านี้แล้ว และจากการแข่งขันกลายเป็นว่าไฮเซ็นเบิร์กหรือนาซีเยอรมันเป็นฝ่ายที่พ่ายแพ้ คิดค้นสุดยอดอาวุธได้ไม่ทัน
แต่การทิ้งระเบิดครั้งนี้ทำให้สงครามโลกจบลงอย่างเป็นทางการจากการประกาศยอมแพ้โดยฝั่งญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายกำชัย
ส่วนออพเพนไฮเมอร์ได้ลงปกนิตยสาร TIME และถูกขนานนามว่าเป็น ‘บิดาแห่งระเบิดปรมาณู’ แต่เขาหาได้ดีใจไม่ แม้ในช่วงแรก ๆ มีคำพูดในเชิงคึกคะนองออกมาต่อหน้าสาธารณชนบ้าง
แต่ความรู้สึกผิดก็ค่อย ๆ ท่วมท้นออกมา จนกลายเป็นวลีอันโด่งดังอย่าง บัดนี้ข้าได้กลายเป็นความตาย ผู้ทำลายโลกใบนี้ (Now I am become Death, the destroyer of worlds) ที่อิงมาจากคัมภีร์ภควัทคีตา
หลังจากเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่น ออพเพนไฮเมอร์ได้ดำรงตำแหน่งประธาน AEC (คณะกรรมาธิการพลังงานปรมาณูแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ United States Atomic Energy Commission)
โดยมีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ควบคุมการใช้อาวุธและพลังงานนิวเคลียร์ แม้จะมีตำแหน่งแห่งที่และได้รับชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ความรู้สึกผิดยังคงเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ๆ วันหนึ่งเขาได้ไปเข้าพบ ประธานาธิบดีทรูแมน และพูดออกไปอย่างที่ใจคิดว่า “มือของผมนั้นเปื้อนไปด้วยเลือด” แต่ก็ถูกทรูแมนเรียกว่าเป็นเด็กขี้แยที่เปื้อนเลือดไม่ถึงครึ่งหนึ่งของคนสั่งการอย่างเขาด้วยซ้ำ
พาร์ตสำคัญกับชีวิตออพเพนไฮเมอร์ยังไม่จบแค่นั้น เพราะเขาถูกสอบสวนโดย FBI เรื่องที่อาจมีเอี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์ จากการข้องเกี่ยวกับหลายบุคคลที่สนับสนุนแนวคิดนี้ โดยเฉพาะ จีน แททล็อก (Jean Tatlock) อดีตคนรัก และแฟรงก์ น้องชายของเขาเอง รวมไปถึงถูกสงสัยว่าเป็นสปายให้กับฝั่งโซเวียต
แต่นี่ไม่ใช่แค่การสงสัย เบื้องหลังการสอบสวน คือเหตุผลทางการเมืองและความขุ่นเคืองที่มีต่อออพเพนไฮเมอร์ที่แสดงความเห็นชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการสั่งสมหัวรบนิวเคลียร์และการพัฒนาระเบิดไฮโดรเจน เพราะการทำแบบนี้ไม่ใช่การป้องกันประเทศชาติ แต่เป็นการสร้างความหวั่นกลัวให้กับโลกต่างหาก
จากวีรบุรุษและเสียงปรบมือ เรื่องนี้จบลงด้วยการที่ออพเพนไฮเมอร์เป็นผู้ร้ายและเสียงโห่ ชีวิตของเขาหลังจากนั้นคือการทนทุกข์ทรมานอยู่กับความรู้สึกผิด เสียใจอย่างสุดซึ้ง เผชิญกับโรคซึมเศร้าอย่างหนักหน่วง และหลบลี้หนีไกลไปอาศัยอยู่บนเกาะเซนต์จอห์น ใช้ชีวิตอย่างสันโดษ เงียบ ๆ กับครอบครัว และจากโลกนี้ไปด้วยโรคมะเร็งลำคอจากการสูบบุหรี่หนัก ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ปี 1967
ติดตาม
โฆษณา