27 ส.ค. 2023 เวลา 02:00 • ไลฟ์สไตล์

Na Tanao1969 โรงแรมเพื่อนบ้านย่านเมืองเก่า ที่เป็นทั้งบ้านและโรงแรม

ณ ตะนาว 1969 พื้นที่ที่เป็นมากกว่าบ้านพร้อมเปิดต้อนรับทุกคนให้มาสัมผัสประสบการณ์ในพื้นที่พิเศษจากผืนดินมรดกตั้งแต่รุ่นทวด ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าวังเก่าใกล้ซุ้มประตูแพร่งสรรพศาสตร์ ให้กลายมาเป็น Hometel (บ้าน + โรงแรม) สำหรับรอต้อนรับแขกผู้เข้าพักคนสำคัญ
2
โจทย์สำคัญในงานออกแบบครั้งนี้ คือ บริบทและขนาดพื้นที่ที่มีลักษณะทั้งแคบและยาว โดยมีหน้าแคบเพียง 5 เมตร เท่านั้น เนื่องจากไม่สามารถร่นระยะอาคารด้านข้างได้ตามข้อกฎหมายเจ้าของและทีมออกแบบจาก POAR จึงได้ขอทำข้อตกลงกับเพื่อนบ้านซึ่งอยู่ข้างพื้นที่ทั้งสองฝั่งเพื่อขออนุญาตยินยอมในการสร้างอาคารชิดกับอาคารด้านข้างทั้งสองโดยไม่ใช้ระยะร่นอาคารตามกฎหมาย
อาคารจึงเป็นก้อนแมส (mass) เล็ก ๆ ที่ลอยตัวอยู่ในซอกพื้นที่หน้าแคบนี้ แม้จะอยู่ในพื้นที่ขนาดจำกัด แต่ผู้ออกแบบได้สร้างสภาวะที่ดีในอาคาร ทั้งการทำช่องเปิดให้แสงและลมธรรมชาติสามารถเข้ามาในพื้นที่ได้ โดยมีช่องเล็ก ๆ แชร์กับพื้นที่บ้านข้าง ๆ
แนวคิดการออกแบบที่สอดคล้องกับบริบท เจ้าของมีความตั้งใจอยากให้เป็นพื้นที่แห่งนี้แชร์ประสบการณ์ที่ตรงข้ามกับการเป็นบ้าน เพราะโรงแรมนั้นเป็นที่พักอาศัยชั่วคราว และเป็นสถานที่ให้ผู้เข้าพักได้เข้ามารับประสบการณ์ที่ต่างออกไปจากบ้าน ข้อนี้จึงเป็นหัวใจสำคัญที่ผู้ออกแบบได้ดีไซน์ห้องพักให้สอดคล้องกับบริบทโดยรอบ ด้วยการออกแบบแผนผังห้องพักเพียงชั้นละ 2 ห้อง เท่านั้น
จากด้านหน้าจะพบกับบันไดหน้าอาคารที่พาไปสู่ล็อบบี้ หรือพื้นที่รับรองที่ออกแบบเปิดหน้าต่างด้านซ้ายให้มองเห็นรายละเอียดหน้าตาของอาคารเก่าของเพื่อนบ้าน ก่อนจะมีข้อกฎหมายระยะร่นของช่องเปิดสำหรับการสร้างอาคารชิดกัน ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการแชร์ช่องว่างระหว่างทั้ง 2 อาคารที่อยู่ติดกันนั่นเอง
พื้นที่จำกัดที่เต็มไปด้วยความพิเศษ ด้วยตัวอาคารที่สูง 15 เมตร จำนวน 5 ชั้น มีห้องพักสุดพิเศษเพียง 4 ห้อง โดยห้องด้านหน้าสามารถเปิดรับวิวซุ้มประตูแพร่งสรรพศาสตร์ได้ชัดเจน ส่วนด้านข้างเปิดไปหาวิวกำแพงเพื่อนบ้าน โดยมีความพิเศษที่ช่องว่างระหว่างอาคารนี้ มีหน้าที่ช่วยนำแสงธรรมชาติเข้ามาได้ พร้อมพื้นที่สำหรับปลูกต้นไม้ สร้างบรรยากาศสดชื่นสบายตาเหมาะแก่การพักผ่อน
ทางเดิน( Circulation ) ระหว่างไปห้องด้านหลัง ได้รับการออกแบบให้เปิดผังเป็นแบบ Open Air ทั้งหมด เพื่อช่วยให้แสงและลมสามารถเข้ามายังพื้นที่ภายในได้ ทำให้บรรยากาศการพักผ่อนดียิ่งขึ้น อีกทั้งแต่ละชั้นยังมีต้นไม้พื้นที่สีเขียวแทรกไว้เล็ก ๆ ตลอดทาง ช่วยให้พื้นที่เล็ก ๆ ไม่รู้สึกคับแคบแต่อย่างใด
พื้นที่ดาดฟ้า หรือชั้นบนสุด ในความสูงของอาคาร 15 เมตร เนื่องจากกฎหมายกำหนดว่าในละแวกเกาะรัตนโกสินทร์ห้ามให้มีอาคารสูง เกิน 16 เมตร ฉะนั้นความสูงของอาคารจึงสามารถมองเห็นวิวโดยรอบรัศมีของอาคารได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นวัดพระแก้ว หรือภูเขาทอง
1
วัสดุที่เข้ากับบริบทและกาลเวลา สถาปนิกเลือกใช้ภายในอาคารยังคงคอนเซ็ปต์เดียวกับบริบท โดยผู้ออกแบบได้เลือกใช้ไม้ตะเคียนซึ่งเป็นไม้ธรรมชาติ ร่วมกับวัสดุหลักอื่น ๆ เนื่องจากอาคารอยู่ในพื้นที่เมืองเก่า มีอาคารเก่าขนาบข้างทั้งยังมีซุ้มประตูแพร่งสรรพศาสตร์อยู่ด้านหน้า แม้อาคารจะดึงองค์ประกอบอาคารเก่ามาใช้แต่ก็ยังอยากให้อาคารมีความเป็นยุคปัจุบัน ทำให้ภาพรวมสัดส่วนของวัสดุนั้นคิดมาตรงกับสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการใช้ผนังอิฐสีเทาที่เข้ากับไม้ได้อย่างดีเหมือนผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน
ชั้นล่างของอาคารกำหนดให้เป็นคาเฟ่เล็ก ๆ ใช้บันไดกระจกของอาคารเป็นหน้าต่างของคาเฟ่ที่สามารถมองเห็นซุ้มประตูแพร่งสรรพศาสตร์ได้ชัดเจน เป็นการใช้พื้นที่เล็ก ๆ ได้อย่างคุ้มค่าให้ความรู้สึกสบายไม่แพ้บรรยากาศห้องพักด้านบนเลย
ณ ตะนาว 1969 จึงเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่เปิดต้อนรับผู้แสวงหาประสบการณ์การพักผ่อนท่ามกลางกลิ่นอายและบริบทของเมืองเก่าที่มีประวัติศาสตร์ของเกาะรัตนโกสินทร์และเป็นสถาปัตยกรรมที่เป็นมิตรกับเพื่อนบ้านรอบข้างอย่างแท้จริง
ที่ตั้ง
Na Tanao1969
323 ถนนตะนาว แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพฯ (ตรงข้ามประตูแพร่งสรรพศาสตร์)
โทร. 09-2449-2429
1
ออกแบบ : POAR
เรื่อง: Lily J.
ภาพ: Soopakorn Srisakul
คลังสาระความรู้เรื่องบ้านและพรรณไม้ยังมีอีกมากมาย อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ www.baanlaesuan.com
1
โฆษณา