1 ส.ค. 2023 เวลา 09:04 • การศึกษา

ทำไมการเรียนภาษาอังกฤษถึงเป็นเรื่องยากสำหรับคนไทย

เรามักจะเข้าใจว่าเหตุผลหลัก ๆ คือ คนไทยส่วนใหญ่ขี้อาย ไม่กล้าพูด เพราะวัฒนธรรมไทยมักเน้นความสุภาพและการหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาด ซึ่งอาจทำให้ไม่กล้าพูดภาษาอังกฤษเพราะกลัวอับอาย แต่หากเราวิเคราะห์ในเชิงภาษาศาสตร์และสังคมอย่างลึกซึ้ง จะพบว่า นอกจากความเขินอายและกลัวพูดหรือเขียนผิดแล้ว เหตุผลอื่น ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนภาษาอังกฤษของคนไทย ยังมีอีกหลายประการ ได้แก่
(1) ความแตกต่างของเสียง - ภาษาไทยและภาษาอังกฤษมีระบบเสียงที่แตกต่างกัน ภาษาอังกฤษมีเสียงสระและพยัญชนะที่หลากหลายซึ่งอาจไม่มีในภาษาไทย นำไปสู่ความยากลำบากในการออกเสียงสำหรับผู้เรียนภาษาไทย ผู้เรียนชาวไทยอาจมีปัญหากับการออกเสียงเสียงภาษาอังกฤษบางเสียง เช่น "th" (เช่น "think" หรือ "this") "v" และ "r" ซึ่งไม่มีอยู่ในภาษาไทย
(2) การเน้นคำและจังหวะ - ภาษาอังกฤษมีจังหวะเน้นเสียง ในขณะที่ภาษาไทยมีจังหวะตามพยางค์ ผู้เรียนชาวไทยอาจประสบปัญหากับการเน้นพยางค์ที่ถูกต้องในคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ภาษาไทยเป็นภาษาที่ลงน้ำหนักเสียงที่ท้ายคำเป็นส่วนใหญ่ เช่นคำว่า "น้ำใจ" "รถสามล้อ" "โทรศัพท์มือถือ" หากคุณลองออกเสียงตามปกติ จะพบว่าตัวเองลากเสียงยาวที่พยางค์สุดท้ายมากกว่าพยางค์แรก ๆ
แต่ภาษาอังกฤษ ไม่ได้ลงน้ำหนักเสียงที่พยางค์สุดท้ายเป็นส่วนใหญ่ แต่มีการลงย้ำหนักเสียงในตำแหน่งที่แตกต่างกันไป หรือแม้กระทั่งคำที่เขียนเหมือนกัน ก็อาจจะลงน้ำหนักเสียงต่างกัน เช่นคำว่า "record" หากเน้นน้ำหนักที่พยางค์แรก จะเป็นคำนาม ที่หมายถึง ข้อความบันทึก สมุดบันทึก หรือหมายถึงแผ่นเสียง แต่หากเน้นน้ำหนักที่พยางค์หลัง ก็จะเป็นคำกริยา หมายถึง เขียนบันทึก หรือบันทึกเทป เป็นต้น
(3) น้ำเสียงและวรรณยุกต์ – ต่อเนื่องมาจากปัญหาข้อที่ 2 ข้างต้น ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีวรรณยุกต์ และความหมายของคำสามารถเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับวรรณยุกต์ของคำนั้น ๆ (เช่น เอก โท ตรี จัตวา) ในขณะที่ภาษาอังกฤษไม่มี ผู้เรียนชาวไทยอาจนำหลักวรรณยุกต์ภาษาไทยไปประยุกต์ใช้การออกเสียงภาษาอังกฤษแบบผิด ๆ ทำให้ไม่สามารถสื่อสารได้อย่างถูกต้องและเป็นที่เข้าใจ
ยกตัวอย่างเช่นคำว่า hamburger คนไทยมักจะออกเสียงว่า แฮม-เบอ-เก้อ โดยที่พยางค์สุดท้าย ใช้เสียงวรรณยุกต์ไม้ตรีของอักษรกลาง ก ไก่ ซึ่งหากผู้ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรกฟัง จะเข้าใจว่าผู้พูดเน้นน้ำหนักที่พยางค์สุดท้าย และจะไม่ได้นึกถึงคำว่า hamburger ในภาษาอังกฤษ เพราะคำนี้ ในภาษาอังกฤษ จะเน้นน้ำหนักที่พยางค์ที่สอง
(4) ความแตกต่างของไวยากรณ์ – ไวยากรณ์ภาษาอังกฤษแตกต่างจากไวยากรณ์ภาษาไทย ทั้งในแง่โครงสร้างประโยค และการเรียงลำดับคำ อาจทำให้ผู้เรียนชาวไทยเกิดความสับสนได้ ตัวอย่างเช่น ในภาษาอังกฤษ​ คำวิเศษณ์​จะอยู่ข้างหน้าคำนาม เช่น "1beautiful 2big 3Japanese 4paintings" เมื่อแปลความหมายเป็นภาษาไทย คำวิเศษณ์​จะต้องอยู่ในตำแหน่งตามหลังคำนาม ได้เป็น "4ภาพวาด 3ญี่ปุ่น 2ขนาดใหญ่ 1ที่สวยงาม" หากผู้เรียนชาวไทยไม่เข้าใจกฏการเรียงลำดับคำที่แตกต่างกันเช่นนี้ ก็จะประสบปัญหาในการเรียนรู้และทำความเข้าใจ​ภาษาอังกฤษ​
(5) ความแตกต่างทางวัฒนธรรม – ภาษาเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง ผู้เรียนชาวไทยอาจไม่เข้าใจสำนวนภาษาอังกฤษบางคำที่ไม่เทียบเท่ากับภาษาไทยโดยตรง
ตัวอย่างเช่น สำนวน Make hay while the sun shines หมายถึงให้รีบคว้าโอกาสไว้เมื่อมีโอกาสมาถึง โดยเปรียบกับวัฒนธรรมตะวันตกที่อ้างถึงกระบวนการทำหญ้าแห้ง ในการเกษตรแบบดั้งเดิม ที่ต้องตัดและตากหญ้าหรือพืชอื่น ๆ ในทุ่งเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ในช่วงฤดูหนาวเมื่ออาหารสัตว์สดหายาก กระบวนการทำหญ้าแห้งต้องใช้แดดจัดและอากาศแห้งเพื่อให้แน่ใจว่าหญ้าแห้งอย่างเหมาะสมก่อนนำไปจัดเก็บ
สำนวนไทยที่เทียบเคียงได้คือ น้ำขึ้นให้รีบตัก ที่มาของสำนวนนี้เกิดขึ้นจากพฤติกรรมของการตักน้ำ ในชีวิตประจำวันของคนในชนบท โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนหรือช่วงที่มีน้ำขึ้น การตักน้ำจากคลอง บ่อน้ำ หรือแม้แต่ที่บ้านเพื่อใช้ในการเกษตรหรือชีวิตประจำวันจำเป็นต้องทำในช่วงที่น้ำขึ้น โดยถ้าไม่รีบตักน้ำในช่วงที่น้ำขึ้น อาจเสียหายหรือไม่สามารถใช้น้ำในระหว่างที่น้ำขึ้นได้
จะเห็นได้ว่า วัฒนธรรมการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน ก็สะท้อนให้เห้นถึงความแตกต่างด้านภาษา เช่นสำนวน ในตัวอย่าง ดังนั้น หากไม่เข้าใจวัฒนธรรมของภาษาใดภาษาหนั่ง ก็อาจะส่งผลต่ออุปสรรคการเรียนภาษา เช่นภาษาอังกฤษได้
(6) สภาพแวดล้อมภาษาอังกฤษที่จำกัด – ผู้เรียนชาวไทยอาจมีข้อจำกัดในการใช้ภาษาอังกฤษนอกห้องเรียน ซึ่งอาจขัดขวางความสามารถในการฝึกฝนและเสริมสร้างสิ่งที่เรียนรู้ และ ในบางภูมิภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ชนบทไม่ค่อยมีคนพูดภาษาอังกฤษ ทรัพยากรภาษาอังกฤษและโอกาสในการฝึกฝนภาษาอาจมีไม่มาก นอกจากนี้ คุณภาพของการศึกษาภาษาอังกฤษอาจแตกต่างกันไป โดยโรงเรียนและครูบางแห่งขาดทรัพยากรที่จำเป็นและการฝึกอบรมเพื่อให้การสอนภาษามีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ในพื้นที่ห่างไกลเทคโนโลยี การค้นหาหรือเข้าถึงแหล่งข้อมูลภาษาอังกฤษต้นฉบับ เช่น ภาพยนตร์ รายการทีวี และหนังสือที่มีคำบรรยายหรือคำแปลเป็นภาษาไทยอาจเป็นเรื่องยาก และจำกัดการใช้ภาษาธรรมชาติอีกด้วย
(7) ขาดแรงจูงใจ – ผลจากสภาพแวดล้อมภาษาอังกฤษที่จำกัด ทำให้ผู้เรียนชาวไทยรู้สึกว่า ไม่มีจุดประสงค์หรือแรงจูงใจที่ชัดเจนในการเรียนภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ ผู้เรียนชาวไทยบางคนอาจมีปัญหาในการมีส่วนร่วมและขาดความมุ่งมั่นกับกระบวนการเรียนรู้ เพราะมองไม่เห็นปลายทางที่ชัดเจนว่า เรียนภาษาอังกฤษไปเพื่ออะไร
อุปสรรคในการเรียนภาษาอังกฤษข้างต้นสามารถเอาชนะได้ ด้วยการตั้งเป้าหมายการเรียนภาษาอังกฤษ​ ความทุ่มเท การฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ การเปิดรับภาษา และการเข้าถึงแหล่งข้อมูลการเรียนรู้ภาษาที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ วิธีการสอนที่มีความละเอียดอ่อนทางวัฒนธรรมที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะของผู้เรียนชาวไทย ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มความสามารถทางภาษาอังกฤษให้กับผู้เรียนชาวไทยได้อย่างมาก
โฆษณา