1 ส.ค. 2023 เวลา 12:10 • บันเทิง

การตายที่ไม่ได้ตายจริง มีให้เห็นอยู่บ่อย ๆ ทั้งในโลกจริงและโลกสื่อบันเทิง

หากพูดถึงการตายแบบปลอม ๆ ในเหตุการณ์ล่าสุด เราก็จะนึกถึงการกลับมาของ Phillip Graves ที่ "เชื่อว่า" ถูกหน่วย 141 เก็บไปเรียบร้อยแล้ว แต่...ชายคนนี้ก็กลับมาในเกม Call of Duty: Modern Warfare II ภายในซีซัน 6 แบบชวนงงกันหมด เพราะชายคนนี้ควรจะโดนระเบิดเป็นโกโก้ครันช์ไปพร้อมกับรถถัง คำถามต่อมาคือ เขารอดได้ยังไง ?
จากที่เราได้เห็นในตัวอย่างเปิดตัวซีซัน 6 ของเกม Call of Duty: Modern Warfare II คำตอบนั้นง่ายนิดเดียว คือ Graves ไม่ได้อยู่ในรถถังคันนั้นตั้งแต่แรกแล้ว เขาใช้วิธีสื่อสารจากทางไกลแล้วให้ลูกมือของตัวเอง "สวมรอย" เป็นตัวเขาในการออกไปสู้กับหน่วย Task Force 141 เพื่อให้อีกฝ่ายเข้าใจว่ากำลังสู้กับเขาอยู่จริง ๆ แล้วมันดันได้ผลดีด้วย...หน่วย 141 เลยเข้าใจว่าตัวเองได้จบความแค้นที่มีต่อ Shadow Company ด้วยการฆ่าเขาแล้ว
นี่ก็เป็นอีกหนึ่งในเหตุการณ์ Faked Death ที่เหล่าเกมเมอร์ได้เห็นอีกครั้งในยุคนี้ บางคนก็อาจพอเห็นภาพว่ามันคือแผนการที่เตรียมไว้ล่วงหน้าแล้วจริง ๆ ในขณะที่บางคนก็อาจยังมีภาพจำว่า "มันควรจะตุยไปแล้ว" เพราะภาพที่เห็น รายละเอียดที่ตัวละครต่าง ๆ พูดคุยกัน มันก็คงฟ้องชัดเจนแล้วว่าพวกเขาได้ "เห็น" ตัวละครนั้นจากไปแล้วจริง ๆ
แต่ทั้งหมดนี้มันก็ยังมีองค์ประกอบอื่น ๆ ที่ผู้ชมอย่างเราอาจมองข้ามไป เช่น การวางมุมกล้องของผู้สร้างเรื่อง เราแทบจะไม่เห็นฉากที่แสดงชัดเจนเลยว่าตัวละครนั้น "ตาย" จริง ๆ เลย ในช่วงหลังจากเหตุการณ์นั้นก็ไม่มีการเฉลยด้วยว่าตัวละครตัวนั้นจากไปแล้วจริง ๆ หรือแค่ "หายไป" ตัวอย่างในกรณีนี้ที่แสดงชัดเจนก็จะมี Phillip Graves จาก Modern Warfare II ที่ใช้เทคนิคแบบนี้
กับหนังหรือเกมบางเรื่อง ก็อาจมีเปิดเผยในภายหลังว่าตัวละครที่กล่าวถึง อาจยังไม่ตายจริง บางเรื่องก็บอกเหตุผลว่าทำไม ในขณะที่บางเรื่องก็เลือกที่จะไม่อธิบายแม้แต่นิดเดียว ปัญหานี้ก็กลายเป็น Cliffhanger สำหรับผู้ชมไปเลย
เหตุผลหลักของการจากไปแบบปลอม ๆ นั้นก็ไม่ได้มีอะไรไปมากกว่าเรื่องของ "ผลประโยชน์แอบแฝง" เลย เพียงแต่ว่าเจตนาของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน บางคนอาจมีเจตนาที่ดี เช่น ต้องการหายไปชั่วคราวแล้วให้คนเข้าใจว่าเขาจากไปแล้วจริง ๆ แต่ความจริงคือยังทำงานแบบลับ ๆ หรือต้องการหาข้อมูลและการสนับสนุนต่าง ๆ ไปให้คนอื่น ๆ ที่ยังอยู่
ตัวอย่างที่ชัดเจนจากเรื่องนี้ก็จะมี Han จากแฟรนไชส์หนัง Fast and Furious ที่ผู้ชมหลายคนได้เห็นฉากรถของเขาถูก Shaw ระเบิดทิ้งไปแล้ว แต่ความจริงคือเขากลับรอดแบบงง ๆ เพราะตัวเขาไม่ได้อยู่ในรถคันนั้นตั้งแต่แรก แล้วก็มีการเปิดเผยใน F9 ว่ามันคือแผนที่เขาทำร่วมกับ Mr. Nobody เพื่อให้เขาได้หายตัวไปทำภารกิจลับด้วยกัน 😅
อีกตัวอย่างที่ชัดเจน ก็คือ Kazuma Kiryu จากแฟรนไชส์เกม Like a Dragon (Yakuza เดิม) ของค่าย SEGA ที่ได้พูดคุยกับหน่วยงานลับของกลุ่มการเมืองหนึ่งว่าเขาต้องการที่จะ "ตาย" เพื่อไม่ให้เด็ก ๆ ที่ Morning Glory ที่เขาดูแลอยู่นั้นจะต้องถูกคุกคามอีก แลกกับการทำงานให้กับองค์กรแบบลับ ๆ และต้องไม่มีใครรู้ว่าเขายังมีชีวิตอยู่
เราจะเห็นได้ว่าในเกม Like a Dragon Gaiden: The Man Who Erased His Name ที่กำลังจะเปิดให้เล่นในเดือนพฤศจิกายนนี้ ตัว Kiryu ไม่ได้ใช้ชื่อจริงกับตัวละครหลักอื่น ๆ เลย แต่เลือกที่จะใช้นามแฝงว่า "Joryu" แทน
หรือจะเป็นตัวอย่างอีกเคสที่ค่อนข้างคลุมเครือก็คือตัวละคร Ada Wong จากเกม Resident Evil 2 ที่เราจะเห็นได้ว่าเธอยืนอยู่บนสะพานและพยายามจะแย่งชิงหลอดตัวอย่างจาก Leon ไป แต่ก็ถูก Annette Birkin ขัดขวางด้วยการยิงเข้าไปที่ไหล่ขวาของเธอ ก่อนที่แล็บ NEST จะเริ่มสั่นสะเทือนและทำให้สะพานที่ทั้งสองยืนอยู่ถล่มลงไป ทำให้ Leon เผลอทำหลอดตัวอย่างตกลงไปใต้สะพานในขณะที่พยายามจะช่วย Ada กลับขึ้นมา
แต่สุดท้าย Ada ก็ตัดสินใจปล่อยมือแล้วปล่อยให้ตัวเองร่วงลงไป ในภายหลังก็มีการเปิดเผยว่าเธอรอดชีวิตและกลับมาพบกับ Leon อีกครั้งใน Resident Evil 4
ในบางเคสที่ดูเลวร้ายหน่อยก็คือ ถ้าคน ๆ นั้นเป็นเศรษฐี หรือเป็นผู้ที่ทำประกันชีวิตเอาไว้ หรือเป็นบุคคลต้องสงสัย มีหมายเรียก หมายจับ คนเหล่านี้ก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากการหายไปเพื่อเลี่ยงภาษี รับเงินชดเชยค่าประกันชีวิต หลบหนีการจับกุมจากหน่วยงานรัฐ คนนอก หรือแม้แต่คนทั่วไปเองก็สามารถใช้ข้ออ้างนี้ในการหนีออกจากพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งไปก็ได้เช่นกัน (หากคน ๆ นั้นถูกประกาศว่าเสียชีวิตแล้วจริง ๆ)
จากเหตุผลข้างต้นนี้ ก็มีตัวอย่างที่ชัดเจนคือ Franz Oberhauser (Ernst Stavro Blofeld) จากซีรีส์หนัง Bond โดยแต่เดิมนั้นเขาเป็นพี่ชายบุญธรรมของ James Bond แต่ก็เริ่มเกิดความอิจฉาในตัวน้องที่พ่อของเขาดูแลน้องดีกว่าเขา เขาเลย "จัดฉาก" ตายไปพร้อมกับพ่อของตัวเองด้วยหิมะถล่ม แล้วในเวลาถัดมาเขาก็เริ่มไปตั้งองค์กรลับ ๆ ที่ชื่อว่า SPECTRE ด้วยการรวบรวมผู้ก่อการร้ายมือดีหลายคนไปทำภารกิจต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายสูงสุดก็คือการทำให้ James Bond เจ็บปวดมากที่สุดเท่าที่จะทำได้นั่นเอง
การจากหายไปแบบปลอม ๆ นั้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม มันก็มีราคาที่ต้องจ่ายทั้งนั้น เช่น การห่างเหินไปจากเพื่อน ครอบครัว คนรัก การเสียสิทธิพิเศษของพลเมือง เช่น สวัสดิการรัฐ การทำธุรกรรมต่าง ๆ กับธนาคาร หน่วยงานรัฐ ก็จะกลายเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อนมากขึ้นไปด้วย
อย่างไรก็ตาม การ "แกล้งตาย" ในยุคปัจจุบันนั้นทำได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเทคโนโลยีในยุคนี้ก็สามารถใช้ในการติดตามตัวบุคคลได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ต้องระบุตัวตนเจ้าของบัตร สมาร์ทโฟนที่ผู้คนทั่วโลกก็มีกันอย่างแพร่หลาย บวกกับโซเชียลมีเดียมากมายและโลกอินเทอร์เน็ตที่ผู้คนสามารถโพสต์เพื่อตามตัวหรือถ่ายรูปตัวบุคคลที่เชื่อว่าเสียชีวิตไปแล้วไปแชร์ให้ผู้คนในโลกออนไลน์ได้เห็นกัน
แต่เราก็ต้องยอมรับกันได้เลยว่า "การแกล้งตาย" นั้นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร มันเคยเกิดขึ้นทั้งในโลกบันเทิงและโลกจริงมาหลายศตวรรษแล้ว มันคือเรื่องที่ผู้สร้างสื่อบันเทิงต่าง ๆ ต้องการที่จะเล่นกับความคิด ความรู้สึกของผู้ชมด้วย หรือในบางกรณีก็คือทีมผู้สร้างมีความตั้งใจในการนำเรื่องราวของตัวละครนั้น ๆ มาขยายเรื่องราวในอนาคตนั่นเอง
ทุกคนมีเหตุการณ์อะไรเกี่ยวกับการตายแบบปลอม ๆ ที่อยู่ในใจของตัวเองบ้างไหมฮะ ? ลองมาแชร์ให้เราได้รับรู้กันได้เลย 🎬🥹
บทความและภาพประกอบโดย: Flint (แอดฟลินท์)
#DigitalOG #FakedDeath #CallofDuty #FastandFurious #ResidentEvil #LikeADragon #JamesBond
โฆษณา