Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ศรัญญา วิชชาธรรม
•
ติดตาม
2 ส.ค. 2023 เวลา 02:39 • หนังสือ
"บันดาลโทสะ จะรอดคุกได้อย่างไร"
สัตว์มนุษย์ทั้งหลายย่อมมีความโกรธเป็นธรรมดา ความโกรธที่ทำให้ทำผิดกฎหมายลงไปนั้น ธรรมดาแล้วกฎหมายไม่ละเว้นโทษให้ มิฉะนั้นใครๆ ก็จะอ้างว่าทำไปเพราะบันดาลโทสะหมด
เช่น เราโกรธนาย ก. ที่มาจีบแฟนเรา เราโกรธ ข. ที่มามองหน้าเรา เราจึงทำร้ายหรือฆ่า ก. ข. ลงไปเพราะความโกรธ แล้วเราจะอ้างว่าที่ทำร้ายหรือฆ่า ก. ข. ลงไปเพราะความโกรธนั้นย่อมฟังไม่ขึ้น เพราะนั่นเป็นการโกรธ เป็นเรื่องบันดาลโทสะธรรมดาๆ ซึ่งกฎหมายไม่เห็นใจ
แต่มีการบันดาลโทสะบางอย่าง เช่น อยู่ดีๆ มีคนมาตบหน้าเรา มาถ่มน้ำลายรดหน้าด่าแม่เรา เราจึงโกรธแล้วทำร้ายคนคนนั้นไปในขณะโกรธ การบันดาลโทสะที่เราถูกข่มเหงรังแกอย่างนี้แหละที่กฎหมายปรานีให้แก่เรา ซึ่งมีทางที่เราจะรอดพ้นจากคุกตะรางได้ ถ้าเรารู้จักทำให้ถูกวิธี
การทำผิดกฎหมายเพราะบันดาลโทสะที่จะได้รับความปรานีจากกฎหมายนั้นมีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง มีหลักเกณฑ์ดังนี้
(1). ผู้กระทำถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรม
มีการข่มเหงผู้กระทำผิดก่อน คือ เราจะต้องถูกเขาข่มเหงเราก่อน คือต้องเป็นการข่มเหง ไม่ใช่สัตว์ข่มเหงเรา ภัยธรรมชาติ ฟ้าผ่า น้ำท่วม ไฟไหม้ แม้จะทำให้เราเจ็บป่วยก็ไม่เรียกว่าเราถูกข่มเหง จะต้องถูกคนข่มเหงเท่านั้น เราจึงอ้างบันดาลโทสะได้
การข่มเหงมีหลายอย่าง เช่น อยู่ดีๆ เราก็ถูกเตะต่อย ดูถูก ด่าพ่อแม่ โดยที่เราไม่ได้ทำผิดอะไรมาก่อนเลย อะไรเป็นการข่มเหงหรือไม่ก็ต้องดูเป็นเรื่องๆ ไป เช่น แดงลักปากกาเราไป แดงก็ผิดฐานลักทรัพย์ ไม่ใช่แดงข่มเหงเรา คือไม่ได้ถูกเหยียดหยาม ทำร้ายอันเป็นการข่มเหงเรา
ต้องข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วย ถ้าข่มเหงเล็กๆ น้อยๆ เช่น พูดจาเสียดสีเล็กๆ น้อยๆ เอานิ้วมาเขี่ยแขนเราเล่น อย่างนี้ถือว่าเป็นการข่มเหงธรรมดาๆ ยังไม่ร้ายแรง การข่มเหงที่ร้ายแรงนั้นต้องถึงขนาดรุนแรงที่บุคคลธรรมดาย่อมมีความโกรธได้
เช่น เขามาลอบเป็นชู้กับเมียเรา ก็ถือว่าเป็นการข่มเหงน้ำใจอย่างแรง หรือด่าเราว่าเป็นผู้หญิงโสเภณี ก็ถือว่าดูถูกข่มเหงถึงขนาดร้ายแรงที่ทำให้เราโกรธได้
การข่มเหงนั้นเป็นการข่มเหงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
คือ เขาไม่มีสิทธิที่จะมาข่มเหงเราได้เลย แต่ถ้าเขามีสิทธิที่จะทำต่อเราได้ก็ถือได้ว่า “มีเหตุเป็นธรรม” เช่น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ อบรมด่าลูก ลูกศิษย์ เพื่อให้เป็นดี แม้จะด่ารุนแรงไปหน่อยก็ไม่ใช่ข่มเหงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
แต่ถ้าเป็นสามีไปกอดจูบหญิงอื่นต่อหน้าภริยา ก็ถือว่าเป็นการข่มเหงน้ำใจภริยาด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม หรือเมียไปนอนกับชู้ก็ถือว่าเมียข่มเหงน้ำใจผัวด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าผู้ถูกข่มเหงน้ำใจทำผิดกฎหมายต่อผู้ข่มเหงลงไป ย่อมได้รับความกรุณาจากกฎหมายเป็นพิเศษ
(2). กระทำผิดต่อผู้ถูกข่มเหงในขณะนั้น
เพราะการถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม ทำให้ผู้ถูกข่มเหงเกิดความโกรธ เกิดบันดาลโทสะ ผู้ถูกข่มเหงจึงได้กระทำผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น
ต้องกระทำผิดต่อผู้ข่มเหง
คือ ไม่ใช่เขาทำให้เราโกรธแล้วเราไปทำต่อคนอื่น อย่างนี้ไม่ถือว่าทำผิดโดยบันดาลโทสะ ต้องทำผิดต่อผู้ข่มเหงนั้นเอง จึงจะเรียกว่า “กระทำผิดโดยบันดาลโทสะ”
เช่น ก. ตบหน้าด่าแม่ ข. ข.บันดาลโทสะ ก. แทนที่ ข. จะทำร้าย ก. กลับไปทำร้าย ค. ซึ่งเป็นคนอื่น ไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วยเลย อย่างนี้ไม่ใช่กระทำผิดโดยบันดาลโทสะ ข. ต้องทำร้าย ก. ผู้ข่มเหง ข. ข. จึงจะได้รับความปรานีจากกฎ หมายในฐานะที่ทำผิดโดยบันดาลโทสะ
ต้องทำผิดในขณะนั้นด้วย
ที่กฎหมายเขียนไว้ว่าผู้กระทำผิดต้องกระทำผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น หมายความว่า ผู้กระทำผิดลงไปในขณะที่กำลังโกรธอยู่ กำลังบันดาลโทสะอยู่ จึงได้ทำผิดในขณะที่กำลังถูกข่มเหง กำลังโกรธอยู่
เช่น ก. ตบหน้า ข. ข. โกรธจึงเตะ ก. ตอบไปในขณะนั้น ในขณะที่ถูกข่มเหงอยู่ก็เรียกว่าทำผิดโดยบันดาลโทสะ ไม่ใช่เขาตบหน้าเราวันนี้ อีกสามวันนึกขึ้นได้เรากลับมาทำร้ายเขาคืน อย่างนี้เรียกว่า “ไม่ได้ทำผิดในขณะนั้น” ถือว่าความโกรธได้ผ่านพ้นไปแล้ว จะอ้างว่าทำผิดเพราะบันดาลโทสะมาขอความปรานีจากศาลไม่ได้
คำว่า “ขณะนั้น” ต้องเข้าใจว่ารวมไปถึงการกระทำผิดที่ยังเกี่ยวพันกันอยู่กับการที่ถูกข่มเหงรังแก คือ เหตุการณ์ยังไม่ถึงกับขาดตอนไปเลย ก็ยังถือว่า “ขณะนั้น” อยู่
เช่น เขาเตะต่อยเราแล้ววิ่งหนี ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเตะต่อยตอบในทันทีทันใด ถ้าเหตุการณ์ยังต่อเนื่องกันอยู่ก็ยังถือว่า “ขณะนั้น” อยู่ เช่นตัวอย่างข้างต้น เขาเตะต่อยเราแล้ววิ่งหนี เราวิ่งไล่ตามไปทำร้ายเขา แม้จะทำร้ายเขาอยู่ห่างไกลจากจุดที่เราถูกทำร้ายตั้ง 10-20 วา ก็ยังถือว่าต่อเนื่องเกี่ยวพันกันอยู่ เป็นการกระทำผิด “ในขณะนั้น” เหมือนกัน
2. คนที่ทำผิดเพราะบันดาลโทสะมีสิทธิรอดคุกได้อย่างไร
มีสิทธิรอดตะรางได้แน่ เพราะคนที่ทำผิดเพราะถูกข่มเหงเพราะบันดาลโทสะนั้นกฎหมายเห็นใจเพราะไม่ใช่เป็นคนที่ก่อเหตุขึ้นก่อน ที่ทำผิดเพราะถูกเขาข่มเหงก่อนต่างหาก กฎหมายจึงให้ความกรุณาผู้กระทำผิดเพราะบันดาลโทสะเป็นพิเศษ คือ ศาลจะลงโทษแก่ผู้กระทำผิดน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดโทษไว้เพียงใดก็ได้
เช่น ก. มีชู้กับเมีย ข. ถือว่า ก. ข่มเหง ข. อย่างร้ายแรง ข. บันดาลโทสะ จึงยิง ก.ตาย ซึ่งตามกฎหมายการฆ่าคนตายนั้นมีโทษจำคุกตั้งแต่ 15 ปี ถึง 20 ปี จำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต คือจำคุกอย่างต่ำตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ศาลจะลงโทษจำคุกต่ำกว่า 15 ปีไม่ได้
แต่ถ้าทำผิดเพราะบันดาลโทสะ อย่าง ข. ฆ่า ก.ตาย เพราะบันดาลโทสะที่ ก. เป็นชู้กับเมียตนนี้ ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ อย่างคดีนี้ศาลจะลงโทษจำคุก ข. ต่ำกว่า 15 ปีก็ได้ คือจะจำคุก ข. แค่วันเดียวก็ได้ หรือจะรอลงอาญา ข. ก็ยังได้ ข. จึงมีสิทธิรอดคุกได้เพราะบันดาลโทสะนั่นเอง
ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่เคยตัดสินเกี่ยวกับเรื่องกระทำผิดโดยบันดาลโทสะ ตัดสินว่าเป็นบันดาลโทสะ
จำเลยมีครรภ์กับผู้เสียหาย จำเลยขอให้ผู้เสียหายไปสู่ขอตามประเพณี ผู้เสียหายพูดว่า “มึงยอมให้กูเล่นทำไม” จำเลยใช้ปืนยิงผู้เสียหายไป 3 นัด เป็นบันดาลโทสะ (ฎีกาที่ 1713/2511)
จำเลยเห็นสามีนอนเปลือยกายกับหญิงอื่นสองต่อสองในห้อง จำเลยโกรธจึงใช้ปืนยิงผู้หญิงที่นอนกับสามีตายด้วยความหึงหวง ควบคุมสติไม่ได้ เป็นบันดาลโทสะ (ฎีกาที่ 2394/2527)
จำเลยเห็นผู้ตายกำลังชำเราภรรยาจำเลยในห้องนอน จำเลยใช้มีดพับเล็กแทงผู้ตาย 2 ที และแทงภรรยา 1 ที ถือว่าเป็นบันดาลโทสะ (ฎีกาที่ 249/2515)
ผู้ตายพยายามบังคับให้จำเลยดื่มสุรา ทั้งๆ ที่จำเลยปฏิเสธว่าป่วย ผู้ตายเอาแก้วขว้างจำเลย และผลักจำเลยล้มลง เอาไหล่ดันจำเลยพูดท้าให้แทง จำเลยจึงแทงผู้ตายไป 1 ที ถือว่าจำเลยทำไปเพราะบันดาลโทสะ (ฎีกาที่ 2264/2520)
ผู้ตายฟันบุตรจำเลยโดยไม่มีสาเหตุ จำเลยจึงท้าทายผู้ตายและยิงผู้ตายตาย ถือว่าเป็นบันดาลโทสะ (ฎีกาที่ 74/2453)
ตัวอย่าง คำพิพากษาฎีกา ไม่เป็นบันดาลโทสะ
ต่างฝ่ายต่างทะเลาะวิวาทกัน สมัครใจทำร้ายซึ่งกันและกัน ผู้ตายแทงก่อน จำเลยแทงตอบก็ไม่เป็นบันดาลโทสะ (ฎีกาที่ 221/2498)
ถูกแทงเดินกลับบ้าน ส่องกระจกดูบาดแผลเห็นปากแหว่งเสียใจ จึงลงเรือนไปไล่ฟันคนที่แทงจนตาย ถือว่าไม่ใช่กระทำผิดขณะถูกข่มเหง ไม่เป็นบันดาลโทสะ (ฎีกาที่ 147/2483)
ผู้ตายเป็นตำรวจ สั่งลงโทษจำเลยผู้ใต้บังคับบัญชาเพราะจำเลยละทิ้งหน้าที่ จำเลยไม่พอใจ พูดต่อว่าท้าทายผู้ตายให้ตั้งกรรมการสอบสวน ผู้ตายตอบว่าตั้งก็ตั้ง แล้วหยิบกระดาษปากกาขึ้นมา จำเลยไม่พอใจชักปืนยิงผู้ตาย จำเลยอ้างว่าบันดาลโทสะไม่ได้ (ฎีกาที่ 1720/2530)
จำเลยเป็นตำรวจมาปลุกผู้ตายซึ่งนอนอยู่ที่ม้านั่งของตู้รถไฟ โดยใช้ปืนพกจี้และดึงคอเสื้อ ผู้ตายตื่นขึ้นด่าจำเลย เมื่อจำเลยลงรถไฟร้องท้าผู้ตายให้ลงไป ผู้ตายไม่ลงไป จำเลยจึงยิงผู้ตาย ถือว่าจำเลยเป็นคนก่อเหตุก่อน และสมัครใจเพื่อเข้าวิวาท จะอ้างว่ากระทำไปเพราะบันดาลโทสะไม่ได้ (ฎีกาที่ 2073/2527)
ก็ขออำนวยพรให้ท่านที่ทำผิดกฎหมายโดยบันดาลโทสะเพราะถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมทั้งหลาย จงได้รับความปรานีจากกฎหมาย จนสามารถวิ่งหนีออกจากคุกได้โดยทั่วหน้ากัน
...........................................................
ศรัญญา วิชชาธรรม
2 ส.ค. 66
1 บันทึก
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย