7 ส.ค. 2023 เวลา 02:30 • ธุรกิจ

Baby Carrot นวัตกรรม จากเสียงบ่นของภรรยา ต่อยอดเป็นธุรกิจ ที่ปฏิวัติตลาดแคร์รอต

เชื่อว่า มีหลายคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Baby Carrot หรือแคร์รอตจิ๋ว ที่ถูกแพ็กใส่ถุงพลาสติก วางขายอยู่ตามชั้นตู้แช่ในซูเปอร์มาร์เก็ต
ซึ่งมีคนจำนวนไม่น้อย ที่เข้าใจว่า Baby Carrot เป็นสายพันธุ์ของแคร์รอตสายพันธุ์หนึ่ง ที่มีขนาดเล็กกว่าแคร์รอตทั่วไป
แต่ความเป็นจริงแล้ว Baby Carrot “ไม่ใช่” แคร์รอตสายพันธุ์เล็ก แต่มันคือ ผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปแคร์รอตธรรมดา ๆ อีกที..
1
และที่น่าสนใจคือ ต้นกำเนิดของ Baby Carrot นั้น เป็นนวัตกรรมที่ไม่ซับซ้อน
แต่กลับปฏิวัติวิธีการกินแคร์รอตครั้งใหญ่ เพราะหลังจากมันเกิดขึ้นมาได้เพียงหนึ่งปี การบริโภคแคร์รอตในสหรัฐอเมริกา ก็เพิ่มขึ้นเกือบ 30%
แล้วที่มาที่ไปของ Baby Carrot เป็นอย่างไร ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
เรื่องนี้ต้องเล่าย้อนไปก่อนที่ Baby Carrot จะลืมตาดูโลกในปี 1986
โดยปกติแล้ว แคร์รอตที่ได้จากเกษตรกร จะถูกส่งและคัดเลือกโดยพ่อค้าคนกลาง ก่อนนำไปวางขาย
ซึ่งมีเฉพาะแคร์รอตที่มีขนาดใหญ่ได้มาตรฐาน ไม่มีรอยแตก ผิวเนียน และมีรูปร่างเป็นแคร์รอตแบบที่เราคุ้นตา ถึงจะถูกซื้อต่อไปวางขายตามซูเปอร์มาร์เก็ต
1
ส่วนแคร์รอตที่หน้าตาบิดเบี้ยว หรือมีรอยแตก จะต้องถูกคัดออกทั้งหมด..
ที่น่าเสียดายคือ มีแคร์รอตที่ถูกคัดทิ้งมากถึง 70% เลยทีเดียว
แม้บางส่วนของแคร์รอตที่ตกเกรด จะถูกนำไปขายต่อเป็นอาหารสัตว์ ในราคาที่ถูกลง แต่ก็ยังเหลือแคร์รอตที่หน้าตาไม่สวยงามจำนวนมาก ถูกทิ้งอยู่ดี
ซึ่งเรื่องนี้ได้สร้างความปวดใจให้กับคุณ Mike Yurosek
เกษตรกรชาวอเมริกัน ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นอย่างมาก
ตลอด 12 สัปดาห์ ที่เขาหมั่นรดน้ำใส่ปุ๋ยให้กับต้นแคร์รอต แต่ผลผลิตที่ได้ กลับต้องมาถูกคัดออกไปกว่าครึ่ง ซึ่งเป็นการเสียทั้งแรง ต้นทุน และเวลา ไปโดยเปล่าประโยชน์
ตอนนั้น เขาทำได้แค่นำแคร์รอตเบี้ยว ๆ ที่เหลือ กลับมาให้ภรรยาประกอบอาหารทานเองที่บ้าน
แต่นานวันเข้า ภรรยาที่ต้องคอยปอกแคร์รอตที่ผิดรูปผิดร่างอยู่ทุกวัน ก็เริ่มบ่น เพราะมันปอกยาก ทำให้เสียเวลาทำอาหาร
1
ทันใดนั้นเอง คำบ่นของภรรยา ก็ทำให้คุณ Mike ได้รู้เหตุผลที่ว่า ทำไมแคร์รอตหน้าตาบิดเบี้ยว ถึงไม่ถูกเลือกให้วางขาย
นั่นเป็นเพราะ มันปอกยาก ไม่เหมือนกับแคร์รอตที่มีรูปทรงตรงตามมาตรฐาน
และคำบ่นของภรรยานี้เอง ทำให้คุณ Mike ฉุกคิดขึ้นได้ว่า นอกจากตัวแคร์รอตเองแล้ว ผู้บริโภคยังต้องการ “ความสะดวกสบาย” ในขั้นตอนการเตรียมอาหารอีกด้วย
เพื่อที่จะแก้ “Pain Point” ของแคร์รอตผิดรูป เขาจึงคิดหาวิธีทำให้มันไม่ต้องเสียเวลาปอก
ตอนนั้นคุณ Mike ได้ลองลงมือทำสิ่งที่อยู่ในหัว ออกมาให้เป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ หรือ “Prototype”
โดยให้คนงานในฟาร์ม ช่วยกันหั่นแคร์รอต แล้วใช้เครื่องปอกเปลือกมันฝรั่ง ช่วยปอกเปลือกท่อนของแคร์รอต
ผลิตภัณฑ์แคร์รอตแปรรูปของคุณ Mike จึงได้ออกมาเป็น Baby Carrot หรือ “แคร์รอตจิ๋ว” ยาวประมาณ 2 นิ้ว ที่ถูกปอกเปลือกเรียบร้อย พร้อมนำไปปรุงอาหารต่อ
จากนั้นคุณ Mike ได้ทำการ “ทดลองตลาด” โดยการแพ็ก Baby Carrot ใส่ถุงพลาสติก พร้อมกับทำแบรนด์แบบง่าย ๆ แล้วฝากซูเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่นขาย
ผลปรากฏว่า Baby Carrot ของคุณ Mike ได้รับเสียงตอบรับดีมาก จนเขาต้องลงทุนตั้งโรงงาน และซื้อเครื่องจักรเพื่อผลิต Baby Carrot ให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
Baby Carrot ของคุณ Mike ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จนทำให้เขาติดหนึ่งในสามของผู้ผลิตแคร์รอตรายใหญ่ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย
อย่างไรก็ดี คุณ Mike ไม่ได้จดสิทธิบัตรไอเดียนี้
เพราะเขาอยากเปิดโอกาสให้เกษตรกร สามารถขายแคร์รอตผิดรูปจำนวนมหาศาล ให้กับโรงงานต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณแคร์รอตที่ถูกทิ้งได้
อีกทั้งยังช่วยให้ผู้บริโภคในวงกว้าง ใช้แคร์รอตประกอบอาหารได้สะดวกและง่ายขึ้น อีกด้วย
นอกจากนี้ Baby Carrot ของคุณ Mike ยังเปลี่ยนวิธีการทานแคร์รอตของชาวอเมริกันไปตลอดกาล เพราะผู้คนเริ่มหันมาทาน Baby Carrot สด ๆ เป็นของทานเล่น
ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่คุณ Mike ไม่ได้คาดหวังมาก่อน และมันส่งผลให้ปริมาณการบริโภคแคร์รอต เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
โดยหลังจากที่ Baby Carrot ออกสู่สายตาของผู้บริโภคเพียงปีเดียว ปริมาณการบริโภคแคร์รอตในสหรัฐฯ ก็เพิ่มขึ้นถึง 30%
และ 10 ปีหลังจากนั้น ชาวอเมริกันทานแคร์รอตสูงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ เฉลี่ยที่ 6.4 กิโลกรัมต่อคน
ปัจจุบัน 70% ของปริมาณแคร์รอตที่บริโภคในสหรัฐฯ เป็น Baby Carrot
จะเห็นว่า กระบวนการคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ของคุณ Mike มีจุดเริ่มต้นมาจากความเสียดายแคร์รอตผิดรูป ที่ถูกทิ้ง
ประกอบกับการค้นพบ Pain Point จากเสียงบ่นของภรรยา ที่เขาไม่ปล่อยผ่านไป ก็ทำให้เขาได้ลองสร้างแนวทางแก้ไขปัญหา ด้วยการเพิ่มมูลค่าผลผลิต แปรรูปแคร์รอตที่ไม่มีใครต้องการ เป็นแคร์รอตพร้อมทาน จนเป็นที่ถูกใจของชาวอเมริกันได้
ซึ่งนับว่า เป็นนวัตกรรมง่าย ๆ ที่สร้างประโยชน์กลับมาอย่างมหาศาล
นอกจากผู้บริโภคจะสามารถทานแคร์รอตได้สะดวกขึ้นแล้ว เกษตรกรยังมีรายได้เพิ่มขึ้น แถมช่วยโลกลดปริมาณขยะจากแคร์รอตตกเกรดอีกด้วย
เหมือนกับการยิงปืนนัดเดียว ได้นกหลายตัว..
โฆษณา