วัดไชยธาราราม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดฉลอง

🛕วัดฉลอง หนึ่งในวัดศักดิ์สิทธิ์ของ จังหวัดภูเก็ต
อยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตประมาณ 8 กม. เป็นวัดศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองชาวภูเก็ตมาอย่างยาวนาน ถูกบันทึกไว้ในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยใช้ชื่อ วัดฉลอง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนชื่อวัดฉลองเป็น วัดไชยธาราราม เเละอีกชื่อที่คนมักเรียก คือ วัดหลวงพ่อเเช่ม
วัดฉลอง ภูเก็ต
เรียกได้ว่า...ไม่มีใครในภูเก็ตไม่รู้จักวัดแห่งนี้ ซึ่งความมีชื่อเสียงของวัดฉลองนั้นมาจาก พระเกจิอาจารย์แช่ม หรือที่ชาวภูเก็ตเรียกกันว่า หลวงพ่อแช่ม นั้นเอง โดยท่านเคยดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสที่วัดแห่งนี้
หลวงพ่อแช่ม
ขณะที่ยังมีชีวิต ท่านเป็นที่พึ่งของชาวบ้านเรื่องการปรุงสมุนไพรเพื่อใช้ในการรักษาโรคให้กับชาวบ้าน เนื่องจากท่านเป็นพระที่มีศาสตร์วิชาในด้านการปรุงยาสมุนไพร 🌿 และรักษาโรค เข้าเฝือกผู้ป่วยกระดูกหัก และเมื่อครั้งที่ต้องต่อสู้กับกลุ่มอั้งยี่ (จีนที่ก่อกบฏ) จึงทำให้ท่านเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างมาก
ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็ยังคงมีผู้คนแวะเวียนมากราบไหว้บูชา เพื่อขอความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิตตัวเองและขอให้สุขภาพแข็งแรงไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ 🤒 นอกจากนี้ วัดฉลองยังมีความสวยงามทางด้านสถาปัตยกรรมต่างๆ อาทิเช่น
  • กุฎิจำลองหลวงพ่อแช่ม หรือ กุฎิไม้เรือนไทย
ภาพกุฎิหลวงพ่อแช่ม (ของจริง)
จากภาพที่บันทึกไว้ ทำให้ทราบได้ว่า...กุฎิเดิมของหลวงพ่อแช่ม เป็นเรือนไม้ทรงไทยยกพื้นสูง ซึ่งเป็นเรือนไทยที่สวยงามมากประดับประดาด้วยการแกะสลักไม้ลวดลายไทยสวยงามหน้าจั่วเป็นไม้ไผ่ขัดลาย
กุฎิไม้เรือนไทย(กุฎิจำลองหลวงพ่อแช่ม)
ปัจจุบันหลวงพ่อแช่มได้มรณภาพไปแล้ว มีเพียงรูปปั้นหุ่นขึ้ผึ้งจำลองที่ประดิษฐานไว้ใน กุฎิไม้เรือนไทย ซึ่งเป็นเรือนไม้ทรงไทยยกพื้นสูง ที่จำลองมาให้ใกล้เคียงกับกุฎิหลังเดิม โดยกุฏิจำลองนั้นเป็นทรงศาลาไทย มีตัวเรือนเป็นไม้สักทั้งหลังแกะสลักอย่างสวยงาม
ภายในกุฎิไม้เรือนไทย
ซึ่งภายในอาคารได้จัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งหล่อรูปเหมือนของหลวงพ่อวัดฉลอง ทั้ง 3 รูป ที่เป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดฉลอง คือ หลวงพ่อแช่ม หลวงพ่อช่วง และหลวงพ่อเกลื้อม
หลวงพ่อแช่ม-หลวงพ่อช่วง-หลวงพ่อเกลื้อม
อีกทั้งภายในกุฎิไม้เรือนไทย ยังได้นำเครื่องเรือนและเครื่องใช้โบราณต่างๆ มาจัดแสดงไว้ให้ได้ชมกันอีกด้วยค่ะ
ของใช้เก็บไว้ในตู้ค่ะ
  • พระอุโบสถ
อุโบสถ
สำหรับพระอุโบสถนั้นตามประวัติเล่าว่า...ชาวบ้านได้ช่วยกันขุดสระขึ้นสระหนึ่ง กว้างยาวประมาณ 10 วา สี่เหลี่ยมจตุรัส แล้วสร้างอาคารเป็นอุโบสถขึ้นกลางสระน้ำแห่งหนึ่งถือว่าเป็น "อุโบสถ" เพื่อให้พระสงฆ์สามารถลงไปปฏิบัติสังฆกรรมได้เสมือนหนึ่งอุโบสถทั่วไปที่ได้ผูกพัทธสีมาไว้แล้ว
โดยจะต้องมีหลักฐานสมมุติขึ้นเป็น "นิมิต" ที่แน่นอนเพื่อให้ปรากฏแก่สายตาผู้คนรู้เห็นว่าเป็นเขตสงฆ์ หรือจะปฏิบัติสังฆกรรมในสถานที่อันล้อมรอบด้วยน้ำเป็นเขตจำเพาะ ซึ่งจะเรียกว่า "โบสถ์น้ำ" ต่อมาภายหลังได้มีสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่ก็เลยเลิกใช้โบสถ์น้ำ แต่ได้ปลูกบัวหลวงแทน ปัจจุบันคือ สระน้ำขุมบัวหลวง
ความงดงามของอุโบสถ
สำหรับพระอุโบสถหลังปัจจุบันสร้างแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่สมัยรัตนโกสินทร์ โดยมีช่อฟ้าใบระกา และหางหงส์ ในส่วนของใบสีมาจะกระจายเรียงรายอยู่โดยรอบของพระอุโบสถ
พระประธานภายในอุโบสถ
  • อนุสาวรีย์หลวงพ่อวัดฉลอง หรือ มณฑปพ่อท่านสมเด็จเจ้า (มณฑปทรงจตุรมุข)
อนุสาวรีย์หลวงพ่อวัดฉลอง
เป็นสถาปัตยกรรมศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ที่งดงามมาก เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิเพชร ภายในของพระวิหารยังเป็นที่ประดิษฐานรูปจำลองของหลวงพ่อแช่มหลวง พ่อช่วงและหลวงพ่อเกลื้อม พระเกจิอาจารย์ของภาคใต้ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวภูเก็ต ตลอดถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย
ประดิษฐานรูปจำลองของหลวงพ่อแช่มหลวง พ่อช่วงและหลวงพ่อเกลื้อม
สำหรับวัดไชยธาราราม หรือ วัดฉลอง ยังมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างขึ้นโดย พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี หรือ หลวงพ่อแช่ม อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ 2 ซึ่งบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์มีลักษณะเป็นบ่อหิน ปากบ่อทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสทุกด้านยาว 1 เมตร 60 เซนติเมตร ลึกประมาณ 4 เมตร มีน้ำผุดขึ้นเองตามธรรมชาติและน้ำใสสะอาด
บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์
ทั้งนี้จากอดีตจนถึงปัจจุบันประชาชนในพื้นที่และใกล้เคียงต่างเลื่อมใสศรัทธา โดยมีความเชื่อว่า น้ำในบ่อน้ำนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์สามารถป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้ และผู้ที่ได้ดื่มกินจะสร้างความเป็นสิริมงคล จึงมีประชาชนและนักท่องเที่ยวนำไปประพรมร่างกาย
โดยในปี 2554 ได้นำน้ำจากบ่อน้ำแห่งนี้ไปประกอบพิธีเสกทำน้ำพระพุทธมนต์ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มีโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 และใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันที่ 6 เมษายน 2562 อย่างสมพระเกียรติสูงสุด
ช้างจำปี
ช้างพลายแก้ว
บริเวณหน้ามณฑป เมื่อหันหน้าเข้ามณฑปจะมีรูปปั้นช้างพลายแก้วอยู่ทางซ้ายมือ ส่วนทางขวามือเป็นช้างจำปี
ที่จุดประทัด
และฝั่งตรงข้ามกับอนุสาวรีย์หลวงพ่อวัดฉลอง เป็นที่จุดประทัดถวายหลวงพ่อแช่ม มีขนาดใหญ่ สูงเด่น หน้าตาแปลกสะดุดตามากๆ
  • พระมหาธาตุเจดีย์พระจอมไทยบารมีประกาศ
พระมหาธาตุเจดีย์พระจอมไทยบารมีประกาศ
เป็นพระมหาธาตุเจดีย์ขนาดใหญ่ที่สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2541-2544 ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านหลังของวัด ภายในเงียบสงบ
ชั้นที่ 1
ชั้นที่ 2
โดยที่ชั้นที่ 1 กับ ชั้นที่ 2 ของพระมหาธาตุเจดีย์ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ มากมาย และบริเวณด้านข้างผนังของแต่ละชั้นจะมีภาพวาดจิตรกรรมที่งดงามยิ่ง
ภาพวาดฝาผนัง
ซึ่งภาพวาดฝาผนังแต่ละชั้น จะบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่ครั้งประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน มีความสวยงามมาก✨
บันไดทางขึ้นไปชั้นบนสุด
เมื่อเดินขึ้นไปชั้นบนสุดจะเป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ที่ได้รับมาจากประเทศศรีลังกาครั้งสมัยอดีตซึ่งมีอายุมากว่า 2,200 ปีแล้ว เรื่องความศักดิ์สิทธิ์ก็ไม่ต้องพูดถึง ขลัง!!!
พระบรมสารีริกธาตุ
ส่วนด้านนอกขององค์เจดีย์ เป็นระเบียงที่สามารถเดินออกไปชมความงามของทิวทัศน์ทั้งหมดของวัดฉลองได้อีกด้วยค่ะ
ภายจากชั้นบนสุด
  • วิหารหลวงพ่อเจ้าวัด
วิหารหลวงพ่อเจ้าวัด
ภายในวิหารประดิษฐานพระประธานปรางมารวิชัย (พ่อท่านเจ้าวัด) ทางด้านขวามีขององค์พระมีรูปปั้นยักษ์ครึ่งตนยืนถือกระบอกเรียกว่า "นนทรีย์" และด้านซ้ายขององค์พระจะมีรูปหล่อของชายชราหรืออาแป๊ะนั่งตะบันหมาก ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "ตาขี้เหล็ก" ชาวบ้านมักนิยมมาขอเลขเด็ดกันอยู่เป็นประจำ
ภายในวิหาร
ภายในวิหารประดิษฐานพระประธานปรางมารวิชัย (พ่อท่านเจ้าวัด) ทางด้านขวามีขององค์พระมีรูปปั้นยักษ์ครึ่งตนยืนถือกระบอกเรียกว่า "นนทรีย์" และด้านซ้ายขององค์พระจะมีรูปหล่อของชายชราหรืออาแป๊ะนั่งตะบันหมาก ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "ตาขี้เหล็ก" ชาวบ้านมักนิยมมาขอเลขเด็ดกันอยู่เป็นประจำ
พ่อท่านเจ้าวัด
  • พ่อท่านเจ้าวัด เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย วัสดุสัมฤทธิ์ ศิลปสมัยรัตนโกสินทร์ หน้าตักกว้าง 0.93 เมตร องค์พระสูง 1.78 เมตร ประดิษฐานเป็นพระประธานในวิหารเก่าแก่ อันเป็นที่ตั้งของวัดฉลองแต่โบราณ ก่อนย้ายออกมาตั้งอยู่ในที่ปัจจุบัน
ตามประวัติกล่าวว่า...วัดฉลองแต่เดิมนั้น ได้สร้างอยู่ทางทิศเหนือของวัดฉลองปัจจุบันและในการสร้างวัดครั้งนั้นได้สร้างพระประธานขึ้นไว้องค์หนึ่ง (สร้างขึ้นในสมัยเจ้าอาวาสวัดฉลององค์แรกก่อนปี พ.ศ. 2370 ที่ชาวบ้านเรียกว่า "พ่อท่านเฒ่า" ) แล้วสร้างวิหารด้วยวัสดุที่หาได้จากป่าและทุ่งนา พระประธานองค์นี้เรียกว่า "หลวงพ่อนอกวัด" ต่อมามีการย้ายสถานที่ตั้งของวัดมาอยู่ที่ใหม่ ทำให้หลวงพ่อนอกวัดยังประดิษฐานอยู่ในวิหารดั้งเดิม และได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ให้มั่นคงแข็งแรงและสวยงามในเวลาต่อมา
ท้าวนนทรี
  • "ท้าวนนทรี" ตามความเป็นจริงนั้นคือ ภาพปั้นของ "นนทิอสูร" ยักษ์ครึ่งตนยืนถือกระบอก หมายถึง เทพเจ้าผู้รับใช้พระศิวะทำหน้าที่เป็นหัวหน้าพวกเทพซึ่งเป็นบริวารพระศิวะ มีตำแหน่งเป็นมณเฑียรบาล และเมื่อถึงเวลาที่พระศิวะเสด็จไปไหน ก็กลายร่างเป็นโคศุภราชสี
ตาขี้เหล็ก
  • "ตาขี้เหล็ก" จากประวัติเล่าว่า...ในการสร้างพระประธานในอุโบสถ มีเศษปูนเหลืออยู่ช่างปั้นผู้มีอารมณ์ขันได้ปั้นรูปตาเป๊ะนั่งตะบันหมากทิ้งไว้ในอุโบสถ เมื่อพระภิกษุกราบไหว้องค์พระประธานก็จำต้องไหว้ตาขี้เหล็กผู้เป็นฆราวาสด้วย
  • ต่อมาพ่อท่านช่วงอดีตเจ้าอาวาสเห็นว่าไม่เหมาะสม จึงได้ย้ายตาขี้เหล็กไปแทนที่ท้าวนนทรีตนที่ถูกคนสติไม่ดีทำลายในวิหารพ่อท่านวัดนอก อยู่มาวันหนึ่งเด็กวัดได้พูดเล่นๆ กันว่า (ติดสินบน) ถ้าตาขี้เหล็กบันดาลให้ควายมาชนให้ดูหน้าวัดได้จะให้สูบบุหรี่ จะเป็นด้วยเหตุใดๆ ก็ตามความประสงค์ของเด็กวัดเหล่านั้นก็สำเร็จ จึงได้แก้บนด้วยการให้ตาขี้เหล็กสูบบุหรี่ เลยทำให้คนที่เชื่อถือตาขี้เหล็กก็กระทำตามบ้าง และก็ได้ตามที่ความประสงค์ ซึ่งส่วนใหญ่ชาวบ้านมักนิยมมาขอเลขเด็ดกันอยู่เป็นประจำ
  • โรงธรรม
โรงธรรม
ภายในโรงธรรม
เป็นสถานที่นั่งฟังธรรมในวันพระ และเป็นจุดรับถวายสังฆทานค่ะ นอกจากนี้จะมีศาลาอเนกประสงค์ทรงไทย ไว้เป็นจุดนั่งรอกรณีที่มาติดต่อกับทางวั และไว้ใช้กรณีมีงานบวชก็จะเป็นจุดที่ใช้ในการจัดตั้งข้าวของต่างๆ ค่ะ
ศาลาพัก
และในบริเวณใกล้กันด้านข้างศาลาจะมีหอระฆัง 3 ชั้น ตั้งสูงเด่น สวยงามมากค่ะ ทางด้านซ้ายของศลาก็มีโรงครัวอีกด้วยค่ะ
หอระฆัง 3 ชั้น
โรงครัว
นอกจากนี้ทางด้านในสุดของทางวัด จะมีจุดบูชาพระ ดอกไม้ธูปเทียน
จุดบูชาองค์พระ
องค์พระที่มีไว้ให้เลือกบูชา
จุดบูชาดอกไม้ ธูปเทียน
ณ ตอนที่เราไปนั้นทางวัดยังได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมแต่ยังไม่แล้วเสร็จ ทราบว่าจะใช้เป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อเก็บรวมรวมของสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทางวัด โดยตั้งอยู่ทางด้านข้างของ กุฎิจำลองหลวงพ่อแช่ม หรือ กุฎิไม้เรือนไทย ค่ะ
พิพิธภัณฑ์
อ้อ!! ลืมบอกไปว่าภายในวัดฉลองยังมีโซนสวน ที่มีร่มไม้ ร่มรื่น ให้นั่งพักผ่อนหย่อนใจกันด้วยค่ะ บรรยากาศดีมากๆ
สวนภายในวัด
และทางวัดมีที่จอดรถเยอะมาก สามารถจอดได้ตั้งแต่เริ่มเข้าวัดไปจนถึงด้านในสุดของวัดเลยค่ะ
บริเวณที่จอดรถ
หากใครที่มาภูเก็ตแล้วยังไม่เคยมาสักการะบูชา แนะนำว่า...ต้องมาให้ได้สักครั้ง นอกจากจะได้มาขอพรให้เป็นสิริมงคลต่อชีวิตแล้ว ยังจะได้อิ่มบุญอิ่มใจ ได้ความปังกลับไปอีกด้วย แถมได้รูปสวยๆ กลับไปอี๊กกก ดีงามมากจ้าทู๊กคน 📸
🎯 : 70 หมู่ที่ 6 ถนน เจ้าฟ้าตะวันตก ตำบล ฉลอง อำเภอเมืองภูเก็ต ภูเก็ต 83000
⏰️ : เปิดทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น.
☎️ : 076-381226
-----------------------😍
🤗ขอให้ทุกคนมีความสุข สนุกกับการใช้ชีวิต
ในแบบฉบับของตัวเองนะคะ🚘🧳🏖🌄
❣️ช่องทางการติดตามเพจ❣️
#เที่ยวได้กินกินได้เที่ยว 
#วัดฉลองภูเก็ต #วัดฉลอง
#WatChalong #ChalongTemple
#วัดไชยธาราราม #หลวงพ่อแช่ม
#หลวงพ่อช่วง #หลวงพ่อเกลื้อม
#ที่เที่ยววัดภูเก็ต #เที่ยวภูเก็ต
#ภูเก็ต #Phuket
โฆษณา