Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิเคราะห์บอลจริงจัง
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
3 ส.ค. 2023 เวลา 04:21 • กีฬา
สนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์ สนามที่เหนือกว่าราชมังฯ แบบคนละคลาส
ผมไม่ได้พูดเวอร์เกินไป ถ้าจะบอกว่า ราชมังคลากีฬาสถาน ในสภาพวันนี้ มีระดับที่ต่างชั้นกว่าสนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์แบบ "คนละคลาส"
เมื่อวานนี้ เป็นครั้งแรก ที่ผมมีเวลาเดินสำรวจรอบๆ สนามสิงคโปร์ เนชั่นแนล สเตเดี้ยม สังเวียนที่ใช้จัดแข่งเกมลิเวอร์พูล vs บาเยิร์น มิวนิค ซึ่งยิ่งเดินเท่าไหร่ ก็ยิ่งรู้สึกสะท้อนใจ เพราะสนามแห่งนี้ กับราชมังคลากีฬาสถาน มีศักดิ์ศรีเท่ากัน ในฐานะ "National Stadium" หรือสนามกีฬาแห่งชาติ
1
ที่สิงคโปร์นั้น การออกแบบ การใช้ประโยชน์ ทุกอย่างคิดมาแล้วเพื่อ User ไม่มีอะไรที่สร้างขึ้นมาอย่างเสียเปล่า
1
โอเคล่ะ เรื่องงบประมาณในการสร้างสนาม ของสิงคโปร์ สูงกว่าราชมังฯ แน่นอน สนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์ ใช้งบ 48,000 ล้านบาท สร้างเสร็จปี 2014
ส่วนราชมังฯ งบก่อสร้างเสร็จในปี 1998 ใช้งบ 630 ล้านบาท แต่ถ้ารวมการตกแต่งและทาสีในภายหลัง ใช้งบรวม 1,255 ล้านบาท
แต่งบที่ต่างกัน ก็เพราะฝั่งสิงคโปร์คิดมาดีแล้วว่า สนามที่สมบูรณ์ จะสามารถใช้ประโยชน์ได้อีกเยอะมาก ทั้งแข่งกีฬา ทั้งจัดอีเวนต์
1
หลังจากเดินสำรวจรอบสนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์มาราวๆ 1 ชั่วโมง ทั้งด้านนอก และด้านในตรงมีเดียเซ็นเตอร์ รวมถึงได้ชมเกมฟุตบอลเต็มๆ อีก 2 ชั่วโมง ขออธิบายความยอดเยี่ยมของสนามบ้านเขาดังนี้
----------------------
1) รถไม่ติด
ในขณะที่ราชมังฯ ในวันแข่งขัน ถนนรามคำแหง จะติดแหง็กจนไปไหนไม่ได้ แต่ที่สิงคโปร์ รถยังไหลโฟลวได้ตลอด มีการทำจุด Pick-up ส่งคนขึ้น-ลง ใต้สนามแข่งเลย จากนั้นคนขับก็วนออกไปถนนใหญ่ได้ทันที ทุกอย่างง่ายหมด
1
2) มีขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพมาก
รัฐบาลสิงคโปร์ รู้อยู่แล้วว่า สนามที่จุดคน 55,000 คน จำเป็นต้องมีวิธีการระบายผู้คนอย่างรวดเร็ว ดังนั้นตอนก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าสาย Circle Line จึงออกแบบไว้ล่วงหน้าเลยว่า จะมีหนึ่งสถานีชื่อ Stadium (CC6) ที่พอลงจากรถไฟปั๊บ ก็โผล่มาที่สนามกีฬาแห่งชาติเลย
ในวันแข่งขันรถไฟฟ้าจะมีขบวนมากกว่าปกติ รถไฟมาทุกๆ 2 นาที จึงสามารถรับส่งผู้คนได้อย่างรวดเร็ว และไม่ใช่แค่สถานี Stadium เท่านั้น แต่ถ้าเดินไปอีกนิด จะมีสถานีชื่อ Kallang ก็สามารถขึ้นจุดนั้นได้เช่นกัน และตามแผนต่อไปคือในปี 2024 จะสร้างสถานีชื่อ Tanjong Rhu เพื่อให้มีสถานีรถไฟฟ้า 3 แห่งล้อมรอบสนาม ส่งเสริมให้การเดินทางเข้า-ออก ทำได้ง่ายขึ้น
1
เมื่อออกแบบการเดินทางไว้สมบูรณ์แล้ว ประชาชนก็รู้ว่าจะกลับยังไง ไม่ต้องมายืนออหน้าสนามราชมังฯ แล้วเดินไปเรื่อยๆ อีก 3 กิโล กว่าจะได้รถกลับบ้าน หรือไม่ก็ต้องยอมจ่ายเงินให้มอเตอร์ไซค์รับจ้างหน้าเลือด ที่คิดค่าโดยสารจากราชมังฯ ไป แอร์พอร์ต ลิงค์ 200 บาท ต่อคน
2
ตอนราชมังฯ สร้างขึ้นในปี 1998 ไม่ได้ออกแบบเรื่องขนส่งมวลชนเอาไว้ล่วงหน้า พวกรถไฟฟ้าสายสีส้ม มาคิดกันตอนหลัง แต่ของสิงคโปร์ รถไฟฟ้าสถานี Stadium เปิดใช้งานเดือนเมษายนปี 2010 ก่อนที่จะทุบสนามแห่งชาติเดิมในเดือนกันยายน 2010 ด้วยซ้ำ
1
3) มี Roof เปิดปิดได้
ตอนราชมังฯ ถูกสร้าง รัฐบาลไทยโยนหน้าที่ออกแบบให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เป็นคนดีไซน์ ส่วนสนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์ รัฐบาลจ้าง 3 บริษัท ให้แข่งกันออกแบบ ก่อนที่จะตัดสินใจเลือก "Cool Dome" หรือสนามที่มีหลังคาเปิด-ปิดได้ อย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้
1
สิงคโปร์คล้ายกับไทย คือมีฤดูฝนเช่นกัน ซึ่งเมื่อไหร่ที่ฝนตก การแข่งกีฬาก็ลำบากมาก สนามหญ้าก็ต้องหาทางระบายน้ำ ถ้ามีคอนเสิร์ต เวลาเช็ตฉาก เซ็ตเครื่องดนตรี ก็ต้องหาอะไรคลุมวุ่นวายไปหมด
2
ดังนั้นการทำหลังคาเปิด-ปิด จึงตอบโจทย์ตรงนี้ มันทำให้สนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์ สามารถใช้งานได้ทั้ง 12 เดือน อีเวนต์ต่างๆ ก็กล้ามาจัด เพราะการันตีได้ว่า จะจัดงานได้อย่างแน่นอน
ถ้าวันไหนอากาศแจ่มใส อยากให้มีแดด ก็เปิดหลังคา แต่ถ้าฝนตกกะทันหัน การปิดหลังคาให้ประกบกันสนิท ใช้เวลา 25 นาทีเท่านั้น ถือว่ามีประสิทธิภาพรวดเร็วมากจริงๆ
4) มีหลังคาครบทุกสแตนด์
แฟนกีฬา หรือแฟนคอนเสิร์ต เวลาดูอีเวนต์ไม่มีใครอยากเปียกเพราะฝน ดังนั้นการออกแบบของสนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์ จึงใส่ใจว่า ที่นั่งทุก seat จะมีหลังคารองรับเสมอ ไม่จำเป็นต้องดูบอลพร้อมใส่เสื้อกันฝน แบบราชมังฯ ถามหน่อยว่าดูบอลไปเปียกไป มันจะสนุกหรอ ข้าวของในกระเป๋าอะไรก็ต้องระวังน้ำ เละเทะกันหมด
ที่ราชมังฯ มีสแตนด์ฝั่งเดียวคือ W ที่มีหลังคา แต่อีกสามทิศที่เหลือก็รับกรรมกันไป แต่ที่สนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์ จะซื้อที่นั่งฝั่งไหนก็ไม่ต้องกลัวเปียก
5) สแตนด์ชั้นล่าง สามารถเลื่อนเข้า-ออกได้
2
สแตนด์ที่นั่งในแถวล่างทั้งสนาม สามารถเลื่อนถอยออกไปได้ ถ้าในกรณีที่จะแข่งขันกรีฑา จำเป็นต้องมีพื้นที่ลู่วิ่ง แต่ถ้าเปลี่ยนโหมด เป็นการแข่งฟุตบอล สแตนด์จะสามารถขยับเข้ามาใกล้ Pitch ได้ เพื่อให้เกมฟุตบอลดูสนุกยิ่งขึ้น ไม่ห่างไกลเกินไป
6) สามารถเดินได้รอบทิศ เมื่อเข้าในสนามไปแล้ว
ที่ราชมังฯ เมื่อเข้าสนามไปแล้ว สมมุติอยู่สแตนด์ทิศเหนือ คุณต้องเข้าประตูของฝั่งทิศเหนืออย่างเดียวเท่านั้น เพราะมันไม่เชื่อมกับสแตนด์ฝั่งอื่น แต่ที่สนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์ เขาทำเป็น "วงกลม" หมายถึงคุณจะเข้าประตู gate ไหนก็ได้ มันจะสามารถเดินวนอ้อมไปที่นั่งของคุณได้เลย สะดวกสบายมาก ผู้คนก็จะไม่ยืนออ อยู่กับประตูใดประตูหนึ่ง
7) มีร้านขายอาหารทุกจุด ซื้อได้ง่ายและรวดเร็ว
ในสนาม มีบูธประจำของร้านอาหารอย่าง พิซซ่าฮัท, Stack Burger co. มีจุดขายน้ำเยอะมาก ขนาดเกมลิเวอร์พูล vs บาเยิร์น คนดูเกือบห้าหมื่น แต่การต่อคิวซื้ออาหาร-น้ำ ทำได้รวดเร็ว ไม่ต้องเดินบันไดลงมาเพื่อซื้อด้านล่าง แบบราชมังฯ และต่อคิวยาวแบบไร้จุดหมาย
8 ) ห้องน้ำสะอาด
มีห้องน้ำแทบทุกจุดในสเตเดียม ไม่ต้องแย่งชิงกันเพื่อไปปัสสาวะ และมีคนคอยทำความสะอาดทุกห้อง นี่เป็นเรื่องเบสิค ที่ก็ไม่เห็นแปลกอะไร แต่ถ้าเห็นสภาพห้องน้ำที่ราชมังฯ แล้วล่ะก็ ที่มีจุดบริการน้อย แถมยังสกปรก ก็ต้องบอกว่า จะรู้ได้ทันทีถึงความแตกต่างครับ
9) ที่จอดรถโปร่ง สะอาด ปลอดภัย
ใต้อาคารของสนามกีฬาแห่งชาติ จะเป็นจุดที่สามารถจอดรถของสื่อมวลชน หรือ รถบัสของนักกีฬา ซึ่งสะอาดกริ๊บ ไม่มีความสยอง ถ้าเทียบกับราชมังฯ ใต้สนามคือเมืองลับแล เหมือนเล่นเกม Last of us แล้วเจอปีศาจเชื้อรา แบบนั้นไม่มีผิด มีบ่อน้ำขัง ใต้สนามปิดไฟมืด จะมีโจรมุมตึกก็ไม่แปลก อับชื้นสุดๆ ใช้คำว่าสยองได้เลย
3
10) ระบบแสงสีเสียง สมบูรณ์แบบ
ที่สนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์ เวลายิงเข้าปั๊บ จะมีลูกเล่น มีคำว่า GOAL ตัวใหญ่ บนหลังคาสนามครับ มีจอบิ๊กสกรีนสองด้าน ซ้าย-ขวา คนที่อยู่ใกล้ฝั่งไหน ก็ดูจอฝั่งนั้นได้ ไม่ใช่แบบที่ราชมังฯ ที่มีสกอร์บอร์ด อยู่ที่ใต้อย่างเดียว คนที่นั่งฝั่งทิศใต้ก็ต้องหันหลังกลับแหงนคอขึ้นมาดูสกอร์บอร์ด เป็นอะไรที่ลำบากมาก
ในสนามมีจอโปรเจ็กเตอร์ตัววิ่งสวยๆ ไว้โชว์โฆษณา แบบที่ราชมังฯ เคยมีตอนแดงเดือดเมื่อปีก่อน แต่ที่สนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์ จอมันฝังลงไปกับสแตนด์เลย
1
ขณะที่เรื่องซาวด์ เรื่องลำโพง นั่งตรงไหนก็ได้ยิน ผมเคยไปนั่งสแตนด์ฝั่ง E ที่ราชมังฯ ไม่รู้เลยว่า เสียงโฆษกพูดอะไร เพราะจะได้ยินแค่ฝั่ง W นี่เป็นจุดอ่อนสำคัญมากอีกอย่างของราชมังฯ
1
11) ระบบระบายน้ำใน Pitch
เรื่องน้ำขังราชมังฯ เราคงไม่ต้องพูดถึงแล้ว เพราะเห็นกันชัดๆ ว่ามันแย่ถึงขนาดเตะฟุตบอลไม่ได้ ในเกมลิเวอร์พูล vs บาเยิร์น ผมไม่ได้เห็นว่าการระบายน้ำดีแค่ไหน (เพราะฝนไม่ตก) แต่ผมถามนักข่าวสิงคโปร์ว่า ถ้าฝนตกตอนที่ยังไม่ได้ปิดหลังคา มีความกลัวไหม ว่าน้ำจะขัง
นักข่าวอธิบายว่า ตอนสร้างสนาม รัฐบาลได้อิมพอร์ตระบบการระบายน้ำในสนามจากประเทศเยอรมัน ที่มีชื่อว่า Osma-Drain ที่เป็นบริษัท ที่ทำการระบายน้ำให้สโมสรในบุนเดสลีกา และ สนามนัดชิงฟุตบอลโลกที่กาตาร์อีกด้วย ดังนั้นต่อให้ตกมาก็ไม่กลัว
ในช่วง 25 นาที ก่อนที่หลังคาสนามจะปิด ถ้าฝนตกหนักใส่ Pitch ก็จะสามารถระบายน้ำออกไปได้เลยอย่างไม่มีปัญหา น้ำจะไม่ขัง แล้วจากนั้นหลังคาก็จะปิด คือเป็นการป้องกัน 2 สเต็ป เพื่อให้อีเวนต์แข่งต่อได้แน่ๆ แม้จะฝนตก
12) Facility รอบสนามที่สมบูรณ์มาก
ใต้สนามกีฬาแห่งชาติ จะเป็นห้างสรรพสินค้า ที่ชื่อว่า "เกลังเวฟ" ด้านในมีร้านอาหารมากมาย ราเมง ซูชิ อาหารฝรั่ง บาร์เหล้า ฯลฯ สามารถเป็นจุดนั่งรอเพื่อน
สมมุติลงจากรถไฟใต้ดินมา แล้วยังไม่เข้าสนาม สมมุติฝนตกหนักขึ้นมา ก็สามารถเข้ามาหลบฝนในห้าง เกลังเวฟ ได้สบายๆ (ซึ่งเชื่อมกับสนามบอล) ถ้าลองนึกภาพฝนตก ที่ราชมังฯ แฟนบอลก็ต้องไปแออัดยืนกันหน้าอินดอร์สเตเดี้ยม ไม่ก็วิ่งฝ่าฝน คือการออกแบบสนามที่ไทย ไม่คิดถึงใจของคนมาดูอีเวนต์กันเลย
2
ในเกลังเวฟ ติดแอร์ทั้งหมด คนอยากมาดูคอนเสิร์ต บางทีเขาแต่งหน้าสวยมาแล้ว ก็มาอยู่ตรงนี้ได้ ไม่ต้องไปตากแดด ให้หน้ามัน ให้เหงื่อออก
1
ด้านในเกลังเวฟ ยังมีร้านหลายรูปแบบ เช่น ร้านเสริมสวย คุณผู้หญิงที่รอแฟนดูบอล แล้วไม่อยากดูด้วยกัน ก็เข้ามาทำผม สระผม รอก็ได้ มีโซนของเล่นเด็ก ให้เด็กๆ เล่นรอ คือออกแบบไว้แล้วทุกอย่าง
13) รอบสนามวางการ์ดทั่วบริเวณ และ ไม่มีคนนั่งตรงทางเดิน
อันนี้อาจไม่ใช่ความผิดของราชมังฯ ซะทีเดียว แต่การจัดการที่สิงคโปร์นั้น เราจะเห็นเลยว่า ไม่มีแฟนบอลมานั่งแออัดกันตรงทางเดิน ทุกคนก็ไปนั่งที่ของตัวเอง กำหนด seat ระบุไว้ชัดเจน ไม่มีมั่ว
1
ที่ไทย บางคนชอบมานั่งตรงทางเดิน ขวางคนอื่น เพราะไม่อยากไปนั่งจุดอื่นที่ไกลๆ หรือไม่ก็ชอบมายืนตรงรั้วระเบียง ไปขวางคนที่นั่งแถวหน้าสุดอีก ที่สิงคโปร์ ผู้คนส่วนใหญ่เคารพกฎไม่มานั่งในที่ที่ไม่ใช่ของตัวเอง แต่ก็มีบางคนมั่วๆ บ้างเหมือนกัน ที่สนามจัดการปัญหานี้ ด้วยการให้การ์ดมาไล่อย่างรวดเร็ว
มีกฎที่ชัดเจนแล้ว การบังคับใช้กฎ ก็ต้องชัดเจนด้วย ซึ่งตรงนี้ สนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์ ทำได้ดีกว่าราชมังฯ ครับ
14) ห้องสื่อมวลชน - เพรสคอนเฟอเรนซ์ สมบูรณ์แบบ
ห้องสื่อมวลชนมีขนาดใหญ่โตมาก ใหญ่กว่าที่ราชมังน่าจะประมาณ 3 เท่า ด้านในมีของกินทุกอย่างให้คนที่มาทำข่าว แซนด์วิชซับเวย์, ราเม็ง, ขนม, ช็อคโกแลตโทเบอโรน, คิตแคต, น้ำเปล่า, น้ำเกลือแร่ พวกเขา treat สื่อมวลชนดีมากๆ
ขณะที่ห้องแถลงข่าว อยู่ในระดับเดียวกับสโมสรยุโรป ที่นั่ง ที่ยืน พร้อมมาก พื้นที่มิกซ์โซนก็ชัดเจน ผมเคยไปทำข่าวฟุตบอลโลกที่บราซิลมาแล้วครับในปี 2014 บอกได้ว่า สนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์ มีคุณภาพภายใน ระดับเดียวกัน
----------------------
จริงๆ ถ้ามีเวลามากกว่านี้ ก็คงเห็นจุดแข็งเยอะกว่านี้ครับ แต่เท่านี้ ก็บอกได้แล้วว่า สนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์ คือสนามที่สมบูรณ์จริงๆ
ความจุนั้น สนามสิงคโปร์จุได้มากกว่าราชมังฯ เสียอีก (55,000 vs 50,000) แต่การวางเลย์เอาต์ที่ดี การออกแบบที่สวยงาม ทำให้ทุกอย่างมันลงตัวไปหมด ที่สำคัญเป็นการออกแบบที่ใส่ใจ "คนมาดูอีเวนต์" เป็นอย่างมาก รู้ว่าวิถีชีวิตของผู้คนเป็นยังไง นั่งรถลงตรงนี้ แล้วต้องเดินไปตรงไหน ตอนนั่งรอต้องทำอะไร คือออกแบบโดยมี คนใช้เป็นศูนย์กลางจริงๆ
ตอนผมเห็นสนาม คำพูดที่หลุดออกจากปากของผมคือ "ทำไมเจริญจังวะ" เพราะมันเป็นแบบนั้นจริงๆ
1
สำหรับกลยุทธ์การสร้างสนามให้สมบูรณ์ที่สุด ด้วยการลงทุนมหาศาล มาตอนนี้ก็ดูจะเป็นไอเดียที่ถูกต้องของสิงคโปร์ เพราะอีเวนต์ใหญ่ๆ ถ้าจะมาลงอาเซียน เขานึกถึงสิงคโปร์กันทั้งนั้น ลิเวอร์พูลไปสิงคโปร์มาแล้ว 2 ปีติด ส่วนคอนเสิร์ตเวิลด์คลาส ไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์เลยครับ ที่เทย์เลอร์ สวิฟต์ จะจัดคอนเสิร์ต 6 รอบที่สนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์
3
ถ้าเขามัวแต่คิดตอนแรกว่า สร้างสนามมา แล้วจะใช้ทำอะไร บอลทีมชาติมีเตะปีละ 7 นัด จะคุ้มกันหรอ? ก็คงไม่มีสนามกีฬาแห่งชาติ เกรด A แบบนี้ครับ
1
และเมื่อเราเห็นความสมบูรณ์ของสนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์ ก็อดมองไปที่สนามกีฬาแห่งชาติไทยไม่ได้ครับ ว่านี่คือสิ่งดีที่สุดที่คนไทย สมควรได้รับแล้วจริงๆ หรือ
1
ยังไม่นับความอับอายเวลาชาติอื่นมาเจอความเละ ความมั่ว ของสนามบ้านเรานะ เวลาเขา
สิงคโปร์มีสนามดี เพราะเขารวยกว่าเรา หรือเพราะ mindset ของรัฐบาลเขา มองไกลยิ่งกว่าเรา อันนี้คือคำถามครับ
4
บทสรุปคือตอนนี้ ราชมังฯ และทั้งโซนกีฬาตรงหัวหมาก เตรียมของบปรับปรุง 12,000 ล้าน ด้วยเงินขนาดนี้ สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้หลายอย่าง ก็หวังว่าจะเป็นการใช้งบประมาณที่คุ้มค่า ไม่ใช่ว่าจ่าย 12,000 ล้านไปแล้ว ทุกอย่างยังหยุดนิ่งอยู่ที่เดิมนะครับ
ความฝันสูงสุดอีกหนึ่งอย่างของผม คืออยากมีสนามกีฬาระดับคุณภาพสูงในประเทศไทย ขอแค่ 1 แห่งก็พอ ไม่รู้จะเป็นฝันที่ไกลเกินเอื้อมไหม
#mynationalstadium
40 บันทึก
116
32
87
40
116
32
87
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย