3 ส.ค. 2023 เวลา 07:56 • ประวัติศาสตร์
ชลบุรี

กองสลากไท สลากไทพลัส พาทำความรู้จัก ชลบุรี

วันนี้ กองสลากไท และ สลากไทพลัส พามาทำความรู้จักกับจังหวัด ชลบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกของประเทศไทย ชุมชนเมืองศูนย์กลางของจังหวัด คือ เทศบาลเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรีมีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงหลายแห่งตั้งอยู่ โดยมีเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ คือ เมืองพัทยา นอกจากด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแล้วยังเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจสำคัญของภาคตะวันออกอย่างมาก ทั้งในด้านพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมต่าง ๆ
ในอดีตจังหวัดชลบุรีนั้นเคยเป็นแหล่งที่ตั้งของเมืองท่าที่มีความสำคัญมาก แม้แต่ในปัจจุบันนี้ก็ยังคงเป็นที่ตั้งของท่าเรือที่มีความสำคัญของประเทศรองจากท่าเรือกรุงเทพ นั่นก็คือท่าเรือแหลมฉบัง เนื่องจากมีทำเลที่ตั้งเหมาะสม จังหวัดชลบุรีนั้นมีอาณาเขตติดต่อ (ตามเข็มนาฬิกาเริ่มจากทิศเหนือ) ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดจันทบุรี จังหวัดระยอง และติดต่อกับอ่าวไทยทางทิศตะวันตก ประชากรของจังหวัดมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยประชากรในปี พ.ศ. 2562 มีจำนวนประมาณ 1.5 ล้านคน
สมัยก่อนประวัติศาสตร์
จังหวัดชลบุรีเคยเป็นชุมชนโบราณที่เคยมีมนุษย์ยุคหินใหม่อาศัยอยู่มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เพราะว่าเคยมีการขุดค้นด้านโบราณคดีแล้วพบร่องรอยของชุมชนโบราณก่อนประวัติศาสตร์บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำพานทองซึ่งอยู่ในบริเวณวัดโคกพนมดี
ตำบลท่าข้าม อำเภอพนัสนิคม พบร่องรอยของชุมชนโบราณก่อนประวัติศาสตร์โคกพนมดี ทำให้สันนิษฐานได้ว่าในอดีตพื้นที่บริเวณจังหวัดชลบุรีเคยเป็นที่ตั้งเมืองโบราณที่มีความรุ่งเรืองถึง 3 เมือง ได้แก่ เมืองพระรถ เมืองศรีพโล และเมืองพญาแร่ โดยอาณาเขตของ 3 เมืองนี้รวมกันเป็นจังหวัดชลบุรีในปัจจุบัน
ซึ่งแหล่งโบราณคดีที่ค้นพบในครั้งนั้นได้พบสิ่งมีคุณค่าทางโบราณคดีหลายอย่าง เช่น ขวานหินขัด เครื่องประดับจำพวกกำไล ลูกปัด เครื่องปั้นดินเผาแบบใช้เชือกทาบ และได้พบซากของอาหารทะเลอีกด้วย จึงทำให้ทราบว่าบริเวณนี้อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลมากกว่าปัจจุบันนี้มาก แหล่งโบราณคดีที่กล่าวอ้างทั้งหมดข้างต้นนั้นจึงเป็นหลักฐานยืนยันส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นมาอันยาวนานของจังหวัดชลบุรี
สมัยประวัติศาสตร์
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมืองชลบุรีปรากฏเป็นหลักฐานในทำเนียบศักดินาหัวเมือง ตราเมื่อ พ.ศ. 1919 มีฐานะเป็นเมืองจัตวา ผู้รักษาเมืองคือ “ออกเมืองชลบุรีศรีมหาสมุทร” ศักดินา 2,400 ไร่ ส่งส่วยไม้แดง จนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าเมื่อ พ.ศ. 2310 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เสด็จยกทัพผ่านมาทางบริเวณจังหวัดชลบุรีในปัจจุบัน ก่อนที่จะเข้าตีเมืองจันทบุรี และยกทัพกลับไปกู้กรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จ
ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยังไม่มีการจัดตั้งจังหวัดชลบุรีขึ้นเป็นทางการ บริเวณจังหวัดชลบุรีประกอบไปด้วยเมืองใหญ่ 3 เมือง คือ เมืองบางปลาสร้อย เมืองพนัสนิคม และเมืองบางละมุง
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปฏิรูประบบการปกครองราชอาณาจักร โดยการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล ให้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทยหน่วยงานเดียว จึงรวมเมืองพนัสนิคมและเมืองบางละมุงขึ้นต่อเมืองชลบุรี อยู่ในสังกัดมณฑลปราจีน ดังมีบันทึกว่า
"รวมหัวเมืองทางลำน้ำบางปะกง คือ เมืองปราจีนบุรี 1, เมืองนครนายก 1, เมืองพนมสารคาม 1 และเมืองฉะเชิงเทรา 1 รวม 4 หัวเมือง เป็นเมืองมณฑล 1 เรียกว่า มณฑลปราจีน ตั้งที่ว่าการมณฑล ณ เมืองปราจีน ต่อเมื่อโอนหัวเมืองในกรมท่ามาขึ้นกระทรวงมหาดไทย จึงย้ายที่ทำการมณฑลลงมาตั้งที่เมืองฉะเชิงเทรา เพราะขยายอาณาเขตมณฑลต่อลงไปทางชายทะเล รวมเมืองพนัสนิคม, เมืองชลบุรี และเมืองบางละมุง เพิ่มให้อีก 3 รวมเป็น 7 เมืองด้วยกัน แต่คงเรียกชื่อว่ามณฑลปราจีนอยู่ตามเดิม"
ต่อมาในสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ. 2475 มีการเปลี่ยนแปลงรูปการปกครองประเทศครั้งใหญ่โดยพระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 ระบบมณฑลเทศาภิบาลถูกยกเลิก ทำให้จังหวัดกลายเป็นหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาคระดับสูงสุด
อนึ่งเมืองพนัสนิคมยุบเป็นอำเภอพนัสนิคมก่อนที่จะแยกออกเป็นอำเภอพานทอง อำเภอบ่อทอง อำเภอหนองใหญ่ อำเภอเกาะจันทร์และบางตำบลของอำเภอบ้านบึง เมืองบางละมุงยุบเป็นอำเภอบางละมุง ก่อนที่จะแยกออกเป็นอำเภอศรีราชา, อำเภอสัตหีบ และเมืองชลบุรีเป็นเมืองศูนย์กลางจังหวัดและได้แยกออกเป็นอำเภอบ้านบึง
ภูมิศาสตร์
ลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดชลบุรี มีการผสมผสานกันมากถึง 5 แบบ ทั้งที่ราบลูกคลื่นและเนินเขา ที่ราบชายฝั่งทะเล ที่ราบลุ่มแม่น้ำบางปะกง พื้นที่สูงชันและภูเขา รวมถึงเกาะน้อยใหญ่อีกมากมาย
ที่ราบลูกคลื่นและเนินเขาของชลบุรี พบได้ทางด้านตะวันออกของจังหวัด ในเขตอำเภอบ้านบึง พนัสนิคม หนองใหญ่ ศรีราชา บางละมุง สัตหีบ และบ่อทอง พื้นที่นี้มีลักษณะสูงๆ ต่ำๆ คล้ายลูกระนาด ปัจจุบันพื้นที่นี้ส่วนใหญ่ถูกใช้ไปในการปลูกมันสำปะหลัง สำหรับ ที่ราบชายฝั่งทะเล นั้นพบตั้งแต่ปากแม่น้ำบางปะกง ถึงอำเภอสัตหีบ เป็นที่ราบแคบๆ ชายฝั่งทะเล มีภูเขาลูกเล็กๆ สลับเป็นบางตอน ถัดมาคือ พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำบางปะกง มีลำน้ำคลองหลวงยาว130 กิโลเมตร
ต้นน้ำอยู่ที่อำเภอบ่อทอง และอำเภอบ้านบึง ผ่านพนัสนิคม ไปบรรจบเป็นคลองพานทองไหลลงสู่แม่น้ำบางปะกง โดยดินตะกอนอันอุดมสมบูรณ์จากการพัดพาของแม่น้ำบางปะกงนี้เอง ได้ก่อให้เกิดที่ราบลุ่มเหมาะสมต่อการเกษตรกรรม ส่วน พื้นที่สูงชันและภูเขา นั้นอยู่ตอนกลาง และด้านตะวันออกของจังหวัด ตั้งแต่อำเภอเมืองฯ บ้านบึง ศรีราชา หนองใหญ่ และบ่อทอง ที่อำเภอศรีราชานั้นเป็นต้นน้ำของอ่างเก็บน้ำบางพระ แหล่งน้ำอุปโภคบริโภคหลักแห่งหนึ่งของชลบุรี
จังหวัดชลบุรีมีชายฝั่งทะเลยาวถึง 160 กิโลเมตร เว้าแหว่งคดโค้งสวยงาม เกิดเป็นหน้าผาหิน หาดทรายทอดยาว ป่าชายเลน ป่าชายหาด ฯลฯ ซึ่งอ่าวหลายแห่งสามารถพัฒนาไปเป็นท่าจอดเรือกำบังคลื่นลมได้เป็นอย่างดี อาทิ ท่าจอดเรือรบที่อำเภอสัตหีบ เป็นต้น สำหรับ เกาะ สำคัญๆ มีอยู่ไม่น้อยกว่า 46 เกาะ
เช่น เกาะสีชัง เกาะค้างคาว เกาะริ้น เกาะไผ่ เกาะลอย เกาะล้าน เกาะครก เกาะสาก เกาะขาม เกาะแสมสาร และเกาะครามที่อยู่ในเขตทหารเรือของอำเภอสัตหีบ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ และอนุบาลเต่าทะเลที่หายาก และใกล้สูญพันธุ์ของไทย เป็นต้น โดยเกาะเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นปราการธรรมชาติ ช่วยป้องกันคลื่นลม ทำให้ชลบุรีไม่ค่อยมีคลื่นขนาดใหญ่
ต่างจากจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด ซึ่งมักมีคลื่นใหญ่กว่า ด้วยเหตุนี้เองชายฝั่งของชลบุรีจึงเต็มไปด้วยท่าจอดเรือประมง และเหมาะแก่การสร้างท่าจอดเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ อาทิ ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น
ภูมิประเทศอันหลากหลายดังกล่าว หล่อหลอมให้ชลบุรีสามารถพัฒนากิจกรรมต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร อุตสาหกรรม การพาณิชย์ การท่องเที่ยว และการคมนาคมที่สะดวกสบาย
โฆษณา