3 ส.ค. 2023 เวลา 12:00 • ธุรกิจ

การบินของจีนกำลังฟื้นตัว แต่อาจต้องเผชิญกับอุปสรรคที่สำคัญ

เนื่องจากในปี 2024 คาดว่าคนจีนกลับมาเดินทางโดยเครื่องบินกันมากขึ้น เมื่อคนจีนเดินทางมากขึ้น อุตสาหกรรมการบินทั้งฝั่งสนามบินและสายการบินก็ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตามยังมีอุปสรรคที่สำคัญอย่างหนึ่งที่อาจทำให้การฟื้นตัวชะงักงันและไม่ราบรื่นเท่าที่ควรนั่นคือ “การขาดแคลนพนักงาน”
โดยเฉลี่ยตั้งแต่ในช่วงปี 2019 - 2022 จำนวนของนักบิน พนักงานซ่อมบำรุง ผู้ควบคุมการบิน และผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศเพิ่มขึ้น 19% ในขณะที่จำนวนของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินกลับลดลง 22%
ทำให้โดยรวมแล้วพนักงานในอุตสาหกรรมการบินลดลงไปราวๆ 4% อีกทั้งพนักงานในส่วนงานอื่นๆ เช่น รักษาความปลอดภัย และบริการภาคพื้นดิน ก็ลดลงไป 5% เช่นกัน
📌 เพราะแรงงานทุกตำแหน่ง คือฟันเฟืองที่สำคัญของการบิน
ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการบินของจีนพยายามดึงดูดคนที่มีความสามารถสูงๆ ในสาขาการบินอยู่เสมอ แต่ในขณะเดียวกันกลับมองข้ามพนักงานทักษะอื่นๆ ไป ทั้งที่มีส่วนสำคัญในห่วงโซ่มูลค่าเช่นกัน เช่น พนักงานรักษาความปลอดภัย และพนักงานบริการภาคพื้นดิน
นอกจากนี้ กำลังคนที่สนามบินต่างประเทศก็ขาดแคลนเช่นกัน จึงส่งผลให้สายการบินจีนอาจจะเพิ่มไฟลท์บินต่างประเทศได้ลำบากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงพีคซีซั่นที่คนบินกันเยอะๆ
ที่ผ่านมาสายการบินที่เป็นศูนย์กลางการบินในเอเชียส่วนใหญ่มักจะระมัดระวังในการเลิกจ้างพนักงานเป็นอย่างมาก แม้จะเป็นในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ก็ตาม แต่จำนวนแรงงานในอุตสาหกรรมการบินก็ยังลดลง ทั้งจากการที่พนักงานพาร์ทไทม์และพนักงานสัญญาจ้างลดลง รวมไปถึงการลดลงไปเองโดยธรรมชาติ
การขาดแคลนแรงงานด้านรักษาความปลอดภัย การจัดการภาคพื้นดิน ส่งผลให้การบินโดยรวมช้าลงได้ ทีนี้ถ้าถามว่าหากสนามบินอยากจะหาพนักงานแบบ Outsource เข้ามาเพิ่มเพื่อให้รองรับกับจำนวนความต้องการบินที่เพิ่มขึ้นจะได้หรือไม่ คำตอบคือ ได้ แต่ก็อาจจะต้องเสี่ยงกับการได้พนักงานที่ไม่มีทักษะประสบการณ์มากนักเข้ามา
หรือถ้าหากจะหาพนักงานมาประจำ ก็จำเป็นต้องใช้เวลาในการจัดจ้าง ฝึกทักษะ และออกใบอนุญาต ซึ่งก็จะกินเวลาอยู่พอสมควรทำให้การฟื้นตัวของการเดินทางท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ จนกลับสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 จึงอาจช้าลงกว่าที่คิด
ทำให้สิ่งที่สายการบินและสนามบิน สามารถทำได้ในตอนนี้คือให้ความสำคัญกับการปรับกำลังคนไปอยู่ที่เส้นทางสู่ศูนย์กลางสำคัญ และจุดหมายปลายทางยอดนิยมมากกว่าแทน
📌 ความท้าทายของสนามบินในเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง
ถึงแม้สนามบินทั่วโลกกำลังเผชิญกับความลำบากในเรื่องการขาดแคลนแรงงานและต้นทุนการบินก็สูงขึ้นตามความต้องการบินที่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามสนามบิน Shanghai Pudong International (SIA) และ Beijing Capital (BCA) อาจจะได้รับผลกระทบน้อยกว่ารายอื่น
เนื่องจากในช่วงปี 2019 - 2022 สนามบิน Shanghai Pudong และ Beijing Capital ได้ปรับลดจำนวนพนักงานลงไปเพียง 2.6% และ 5.4% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับสนามบินตะวันตกอื่นๆ ที่ปรับลดพนักงานไปมากกว่า18%
แต่ถึงอย่างนั้น คาดว่ารายได้ของสนามบิน Shanghai Pudong และสนามบิน Beijing Capital (BCA) อาจจะลดลงอยู่ดีแม้ว่าจะมีพนักงานเต็มกำลังพอที่จะรองรับการการเดินทางโดยเครื่องบินที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อเปรียบเทียบกับสนามบินอื่นๆ ก็ตาม
ทั้งนี้เนื่องมาจากรายได้ในส่วนสินค้าปลอดภาษีของทั้งสองสนามบิน ซึ่งคิดเป็น 20-30% ของรายได้ทั้งหมดของสนามบิน Shanghai Pudong และคิดเป็น 33-48% ของสนามบิน Beijing Capital ก็มีแนวโน้มที่จะลดลง เป็นผลมาจากการจัดการเรื่องการปล่อยเช่าไม่ดีนัก
และมีแนวโน้มว่าจะยังจัดการปัญหานี้ไม่ได้ไปอีกระยะหนึ่ง อีกทั้งยังสูญเสียลูกค้าบางส่วนไปให้กับแพลตทฟอร์มอีคอมเมิร์ซและช่องทางการขายสินค้าปลอดภาษีอื่นๆ อีก
ทำให้รายได้ของสนามบิน Shanghai Pudong อาจจะอยู่ที่ 90% ของรายได้ในปี 2019 ในขณะที่รายได้ของสนามบิน Beijing Capital น่าจะอยู่ที่ 70-80% ของระดับเมื่อปี 2019 แม้ว่าอุปสงค์การบินฟื้นจะฟื้นอย่างเต็มตัวก็ตาม
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา