Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
นักปรัชญานอกรีต - Freethinker
•
ติดตาม
4 ส.ค. 2023 เวลา 04:10 • ปรัชญา
พระพุทธรูปเสพสังวาส มีหญิงสาวคร่อมบนตัก = ลบหลู่ดูหมิ่น ?
ก่อนอื่นต้องบอกว่าพระพุทธรูปที่เห็นนี้เป็นพระพุทธรูปที่มีอยู่จริง มีคนเคารพบูชาอยู่จริง พระพุทธรูปที่มีลักษณะที่ว่านี้มีชื่อเรียกว่า “ปางยับยุม” ซึ่งมีลักษณะคือ มีหญิงสาวนั่งคร่อมบนตักพระพุทธรูปในอาการเสพสังวาส โดยมีหญิงสาวโอบต้นคอคล้ายว่ากำลังกอดจูบกันกับพระพุทธรูป
แต่ทว่าเมื่อมีการแชร์พระพุทธรูปปางนี้ลงในโลกโซเชี่ยล ทำให้ชาวพุทธของไทยวิพากษ์วิจารณ์กันสนั่น ซึ่งมาพร้อมกับคำสาปแช่งต่าง ๆ นานาจากพุทธศาสนิกชน ที่มองว่าเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาเป็นอย่างยิ่ง แต่คำถามคือมันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ หรือเปล่า? เป็นการลบหลู่จริงไหม? การบูชาพระพุทธรูปนี้แนวคิดเป็นอย่างไร ในบทความนี้จะชวนผู้อ่านมาหาคำตอบไปด้วยกัน
ซึ่งความจริงแล้ว พระพุทธรูปดังกล่าวเป็นพระพุทธรูปแบบ “วัชรยาน” (Vajrayana) ซึ่งเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปของนิกายตันตระ แต่ชาวพุทธส่วนใหญ่แล้วโดยเฉพาะในไทยจะไม่ค่อยทราบว่ามีนิกายและพระพุทธรูปที่มีลักษณะนี้อยู่ ทำให้เกิดการวิจารณ์กันอย่างหนักหน่วงว่าไม่เหมาะสม หรือถึงขั้นด่าทอสาปแช่ง
โดยพระพุทธรูปปางยับยุมนี้เป็นศิลปะแบบ “ตันตระ” ของชาวทิเบต ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาในหมู่ประชาชนชาวทิเบตมายาวนาน เป็นวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดกันมานับพันปี
อีกทั้งพระพุทธรูปปางยับยุมนี้เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้ทั่วไปในลักษณะพุทธศิลป์ เป็นที่นับถือกันอย่างแพร่หลายในอินเดีย, ภูฏาน, เนปาล, และทิเบต มีมานานตั้งแต่พุทธศักราช 600 – 900 หรือไม่ต่ำกว่า 1,200 ปีมาแล้ว
พระพุทธศาสนาฝ่าย “วัชรยาน” หรือ “ตันตระ” ได้เกิดขึ้นในอินเดียในยุคสมัยที่ลัทธิตันตระ (Tantricism) กำลังเฟื่องฟู ในยุคแห่งความรุ่งเรืองลัทธิตันตระได้มีอิทธิพลต่อทั้งปรัชญาและศาสนาในอินเดียอย่างใหญ่หลวง จนทำให้ศาสนาต่าง ๆ แบบตันตระได้เกิดขึ้นมา เช่น ศาสนาฮินดูแบบตันตระ ศาสนาเชนแบบตันตระ และพระพุทธศาสนาแบบตันตระ
ทั้งนี้ลัทธิตันตระที่เป็นนิกายหนึ่งของพุทธศาสนาแบบมหายานนั้น ได้สร้างรูปเคารพที่มีลักษณะไม่เหมือนหรือแปลกว่านิกายหินยานหรือเถรวาท โดยนำเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์มาปรากฏในการสร้างพระพุทธรูปด้วย จนบางกลุ่มถูกเรียกว่า “นิกายมาตยาน”
โดยลัทธิตันตระได้ยกย่องและเน้นความสำคัญของเทพเจ้าที่เป็นเพศหญิงขึ้นมา เพราะฉะนั้น เทพเจ้าในความเชื่อของลัทธิตันตระ ซึ่งรวมถึงพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลายด้วยนั้นจะมี “ทาระ” หรือ คู่ครองสวมกอดอยู่ ดังที่แสดงออกในศิลปะแบบตันตระ
ซึ่งประติมากรรมหรือจิตรกรรมแบบตันตระ มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์มากกว่าอย่างอื่นอิริยาบถดังกล่าวเป็นเสมือนเป็นตัวแทนระหว่าง “ปัญญา” ที่แสดงถึงเพศชาย และ "เมตตากรุณา" ที่แสดงถึงเพศหญิง โดยอธิบายว่า การตรัสรู้เป็นผลรวมของปัญญาและกรุณาที่ต้องมีควบคู่กัน เพื่อบรรลุธรรมที่แท้
ตามทรรศนะแบบตันตระ ปัญญาและกรุณายังเปรียบเหมือนแขนขากับดวงตา หากขาดดวงตาแล้วแขนขาก็จะกระทำอย่างมืดบอด ถ้าหากขาดแขนขาแล้วดวงตาก็ไม่อาจทำอะไรได้ ดังนั้นทั้งดวงตาและแขนขาจำเป็นต้องทำงานรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อการตรัสรู้ที่สมบูรณ์
พุทธศาสนาฝ่ายตันตระถือว่าเรื่องเพศแท้จริงแล้วเป็น “วิถีทาง” สิ่งนี้เป็นแนวคิดเรื่องหนทางการตรัสรู้สู่นิพพาน โดยแนวคิดที่ว่าจะต้องเสพกิเลสทุกชนิดจนเกิดความเบื่อหน่าย แทนที่จะไม่เอ่ยถึงและปล่อยให้ฆราวาสเกี่ยวข้องกับกามคุณอย่างไร้ทิศทาง พระพุทธศาสนาแบบตันตระกลับสอนให้สาวกเข้าหากามคุณด้วย “สติ” เพื่อจะได้เข้าใจและเรียนรู้ธรรมชาติที่แท้จริงของมันเสีย เพื่อที่จะสามารถคลายกิเลส จนเอาชนะมันได้ในที่สุดเพื่อพบกับความหลุดพ้น
สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาฝ่ายตันตระมีทรรศนะในเชิงบวกต่อเรื่องเพศ และสอนให้สาวกรู้จักและเข้าหากามคุณด้วยสติ ดังนั้นคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนที่รักษาศีลห้าสามารถมีเพศสัมพันธ์กับคู่ครองได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องผิดหรือละเมิดคำสอนของพุทธะ แต่ที่ห้ามไว้ในศีลข้อสามนั้นหมายถึงการห้ามมีเพศสัมพันธ์กับคู่ครองคนอื่น
ซึ่งหมายความว่าในการที่จะเอาชนะกามคุณได้ เราต้องรู้จักธรรมชาติที่แท้จริงของมันเสียก่อน เพราะถ้าเราไม่รู้ธรรมชาติที่แท้จริงของมันแล้ว ก็ย่อมไม่อาจเข้าใจและอยู่เหนือมันอย่างถ่องแท้ได้
การยกย่องเทพเจ้าที่เป็นเพศหญิงให้มีความสำคัญเทียมเท่ากับเทพเจ้าเพศชายของพุทธศาสนาฝ่ายตันตระ ได้ให้พื้นฐานสำคัญในการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเรื่องความเสมอภาคในด้านศาสนา
อยากตั้งคำถามว่า ถ้าในประเทศไทยหรือวัดในไทยมีการเคารพบูชาพระพุทธรูปปางยับยุม หรือมีการตีความศาสนาและคำสอนในลักษณะนี้แบบใหม่ ที่อาจไม่ตรงหรือขัดกับจารีตเดิมจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งในกรณีกรณีก่อนหน้าเพียงแค่งานศิลปะที่เป็นรูปพระพุทธเจ้าอุลตร้าแมน ยังเกิดประเด็นดราม่ากันใหญ่โต วิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมกันมากมาย
และถ้าจะเชื่อหรือเคารพบูชาศาสนาที่ตีความลักษณะนี้ ไม่สามารถทำได้ เพราะอาจต้องรับแรงปะทะ จะเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ด่าทอ ร้องเรียนต่าง ๆ นานา มองว่าเป็นเรื่องที่ผิด หรือผู้คนจำนวนมากจะมองว่าเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งไม่แตกต่างจากการด่าทอที่มาพร้อมกับพระพุทธรูปปางยับยุมในโลกโซเชี่ยล
คำถามคือ ถ้าเขาจะเชื่อเคารพบูชาศาสนาในรูปแบบที่แตกต่างจากจารีตเดิมที่คนอื่นเชื่อ มันถือเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาได้อย่างไร? เพียงแค่เห็นไม่ตรงกันเชื่อไม่ตรงกันมันจะเป็นเรื่องผิดได้อย่างไรกัน ในเมื่อเขาไม่ได้เชื่อแบบนั้น โดยเฉพาะเรื่องของศาสนาที่ถือเป็น “ความเชื่อส่วนบุคคล” เพราะถ้าความเชื่อความศรัทธาเป็นเรื่องส่วนตัวในใจ จะเชื่ออย่างไรไม่มีใครต้องมาเดือดร้อน
แต่ถ้าจะมองว่าเขาผิดที่มาลบหลู่เพียงเพราะเขาเคารพบูชาของเขา ถ้าเช่นนั้นชาวพุทธก็ต้องลบหลู่มุสลิม ชาวมุสลิมก็ลบหลู่ชาวคริสต์ ชาวคริสต์ก็ต้องลบหลู่ชาวยิว ดังนั้นการที่บอกว่าใครลบหลู่หรือดูหมิ่นศาสนา เพียงเพราะเห็นไม่ตรงกันคงเป็นเรื่องที่ไม่ฉลาดนัก
สุดท้ายมุมมองต่าง ๆ ในสังคมที่มีต่อพระพุทธรูปปางยับยุม รูปวาดพระพุทธเจ้าอุลตร้าแมน ว่าเป็นสิ่งไม่เหมาะสม ลบหลู่ดูหมิ่นศาสนา หรือถึงขั้นด่าทออาฆาตมาดร้าย สิ่งเหล่านี้มันบ่งชี้ว่าอย่างไร? อย่างน้อย ๆ มันก็บ่งชี้ว่าในสังคมไทยไม่มีเสรีภาพทางศาสนาอย่างแท้จริง
แท้จริงแล้วเรื่องความเชื่อทางศาสนาเป็นเรื่องที่ควรให้เสรีภาพ เสรีภาพที่จะมองที่ต่าง ตีความต่าง ความคิดความเชื่อต่าง ไม่ผูกขาดการตีความว่าของฉันเท่านั้นถูกต้อง เพราะความเชื่อทางศาสนานั้นเป็นสิ่งที่พิสูจน์จนสิ้นสงสัยไม่ได้ ว่าของใครถูกผิดมันอยู่ตรงไหนกันแน่
ยิ่งการที่ศาสนามาผูกกับอำนาจรัฐ ผูกขาดการตีความ มีศาสนจักรของรัฐและมีอำนาจทางกฎหมาย ยิ่งทำให้ไม่ส่งเสริมความแตกต่างหลากหลายทางศาสนา ความหลากหลายจำเป็นต้องยืนอยู่บนหลักเสรีภาพ ต้องมีเสรีภาพก่อนความหลากหลายจึงจะเป็นไปได้อย่างยุติธรรม
ปรัชญา
แนวคิด
ศาสนา
1 บันทึก
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย