4 ส.ค. 2023 เวลา 05:28 • หนังสือ

"คนบ้าทำผิด มีสิทธิติดคุกหรือไม่?"

โบราณท่านว่า “อย่าไปถือคนบ้า อย่าไปว่าคนเมา”
เรื่องคนวิกลจริตที่มีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือนนั้น ถ้าเกิดไปกระทำผิดสังคมควรจะให้อภัยเขาหรือไม่ และกฎหมายควรจะลงโทษพวกเขาอย่างไร
ในที่สุดนักกฎหมายก็มีความเห็นตรงกันว่า “แม้คนบ้าจะทำผิดจริงก็ไม่ควรลงโทษเขา เพราะเขาเป็นคนป่วย ควรที่จะบำบัดรักษาเขาให้หายป่วย มากกว่าจะไปลงโทษคนป่วย”
นี่คือที่มาของกฎหมายว่าด้วยคนบ้า
กฎหมายเกี่ยวกับคนบ้ากระทำผิด มีอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 ดังนี้
“มาตรา 65 ผู้ใดกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น”
แต่ถ้าผู้กระทำผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้”
องค์ประกอบของมาตรา 65 วรรคแรก คือ
1.ผู้นั้นกระทำผิดกฎหมาย
2.กระทำผิดขณะ
(ก) ไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือ (ข) ไม่สามารถบังคับตนเองได้
3.เพราะมี
(ก) จิตบกพร่อง
(ข) โรคจิต หรือ
(ค) จิตฟั่นเฟือน
4.ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ
แยกพิจารณาดังนี้
1.ผู้นั้นกระทำผิดกฎหมาย
คือ ผู้กระทำต้องทำผิดกฎหมาย
ผู้กระทำต้องรู้สำนึกในการกระทำ โดยผู้กระทำประสงค์ต่อผลรู้สำนึกในการ กระทำ โดยผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น คือ หลักกระทำโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสอง
แต่ถ้าผู้กระทำได้กระทำลงไปถึงขนาดว่าไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดก็ไม่ถือว่ากระทำโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 วรรคสาม เช่น
จำเลยเป็นคนปัญญาอ่อนถึงขนาดไม่รู้ว่าการตัดต้นไม้เป็นความผิดกฎหมาย ถือว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำผิด จำเลยไม่ผิดกฎหมาย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8743/2544)
ฉะนั้น ถ้าคนบ้ากระทำการใดที่ไม่ผิดกฎหมาย กฎหมายก็ลงโทษเขาไม่ได้อยู่แล้ว
2.กระทำผิดกฎหมายขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ ไม่สามารถรู้ผิดชอบ คือ ไม่รู้ว่าการกระทำนั้นผิดหรือถูก
ตัวอย่าง
แดงใช้อาวุธปืนยิงพระตาย 1 รูป เพราะเป็นโรคจิต เพราะได้ยินเทวดาสั่งให้ฆ่าพระโดยที่แดงไม่รู้ว่าการฆ่าคนตายเป็นสิ่งที่ผิดหรือถูกต้อง คือไม่สามารถรู้ผิดชอบได้นั่นเอง
ไม่สามารถบังคับตนเองได้
คือ ผู้กระทำรู้ดีว่าการกระทำของตนผิดกฎหมายผิดศีลธรรม แต่ตนต้องทำเพราะไม่อาจบังคับใจตนเองได้
ตัวอย่าง
หนึ่งเอาปืนยิงสองตาย หนึ่งรู้ดีกว่าการฆ่าคนตายผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม แต่หนึ่งฆ่าสองเพราะไม่สามารถบังคับตนเองได้
3.กระทำผิด เพราะมี
(ก) จิตบกพร่อง
(ข) โรคจิต หรือ
(ค) จิตฟั่นเฟือน
แยกพิจารณา...
(ก) จิตบกพร่อง
คือ สมองบกพร่องไม่เหมือนกับบุคคลทั่วๆ ไป
ตัวอย่าง จำเลยมีจิตบกพร่องเพราะเป็นโรคปัญญาอ่อน
คำพิพากษาฎีกาที่ 3106/2535 จำเลยเป็นคนปัญญาอ่อนกระทำผิดโดยใช้อวัยวะของจำเลยถูที่อวัยวะเพศของผู้เสียหายแต่ได้ความจากแพทย์ผู้รักษาจำเลยว่า จำเลยเป็นโรคคริทินซึ่งเกิดจากการขาดไทรอยด์ฮอร์โมนมาแต่กำเนิดการเจริญเติบโตทางกายและสติปัญญาจึงช้ากว่าอายุจริง จำเลยเดินได้เมื่ออายุ 7 ปี พูดประโยคได้เมื่ออายุ 9 ปี เมื่ออายุ 11 ปี 11 เดือน มีความสามารถทางสติปัญญาเท่ากับเด็ก 5 ปี มีระดับไอคิวต่ำกว่าเด็กปกติ เรียนซ้ำชั้นประถมปีที่ 1อยู่เป็นเวลาถึง 5 ปี จากการตรวจก่อนเกิดเหตุสองเดือน สติปัญญายังช้า
แพทย์ยืนยันว่าจำเลยไม่รู้จักเหตุผล ไม่มีการวางแผน ไม่มีความรับผิดชอบและจะต้องรักษาตัวไปตลอดชีวิต ไม่มีทางหายขาดได้ ทั้งปรากฏว่าจำเลยไม่ชอบเล่นกับเด็กวัยเดียวกัน ดังนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดไปในขณะที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบ เพราะจิตบกพร่องด้วยป่วยเป็นโรคปัญญาอ่อนมาแต่กำเนิด จึงไม่ต้องรับโทษ
(ข) โรคจิต
เป็นโรคชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นแก่จิตใจ
ตัวอย่าง จำเลยเป็นโรคจิต
คำพิพากษาฎีกาที่ 733/2521 “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยกับพวกได้ร่วมกันลักรถยนต์ของผู้เสียหายไปจริง ปัญหามีว่าจำเลยกระทำผิดในขณะมีโรคจิต...นายแพทย์... ผู้ตรวจสุขภาพจิตของจำเลย ซึ่งศาลเรียกมาเป็นพยานเบิกความว่าจำเลยเป็นโรคจิต ไม่เป็นคนปกติ คือ ไม่สามารถรับรู้สภาพความเป็นจริงได้เป็นปกติ ทำอะไรอาจจะผิดวิสัย จำเลยจะอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นได้ลำบาก หากมิได้รับการรักษาอาจทำความเดือดร้อนให้แก่สังคม โดยคิดว่าสิ่งที่ตนกระทำไปนั้นถูกต้องและอาจจะเป็นมาแล้วเป็นเดือน หรือปีก็ได้
เห็นว่าแพทย์...มิได้เบิกความยืนยันว่าอาการของโรคจิตเภทนี้เป็นบางเวลา จึงต้องฟังว่าอาการของโรคนี้เป็นติดตัวจำเลยตลอดไปจนกว่าจะได้รับการบำบัดให้หาย...มารดาจำเลย...เบิกความว่า จำเลยเป็นโรคปัญญากอ่อนมาตั้งแต่เป็นเด็กมีอาการผิดปกติ บุคคลธรรมดา...”
(ค) จิตฟั่นเฟือน คือ พวกประสาทหลอน หลงผิด แปรผิด (อาจารย์จิตติ ติงศภัทิย์)
ใครเป็นผู้วินิจฉัยว่าผู้กระทำผิดเป็นคนวิกลจริต
กฎหมายไม่ได้ระบุว่าให้ใครมีหน้าที่ชี้ขาดว่าผู้กระทำผิดคนใดเป็นคนวิกลจริต (คนบ้า) หรือไม่ ฉะนั้นเมื่อเกิดคดีขึ้นไม่ว่าจะตกเป็นผู้ต้องหาชั้นตำรวจหรือชั้นอัยการ หรือตกเป็นจำเลยชั้นศาล ตำรวจ อัยการหรือศาลผู้พิจารณาคดีจะต้องดูพฤติกรรมของผู้ต้องหา หรือจำเลยว่าเป็นคนบ้าหรือไม่ หากผู้กระทำผิดมีพฤติกรรมบ้าอย่างชัดเจนก็ไม่มีปัญหา เช่น ออกอาการหัวเราะ ร้องไห้ตลอดเวลา ร้องลิเก วิ่งไล่ปล้ำผู้หญิง ไล่กัดคนเป็นประจำ บุคคลทั่วไปก็วินิจฉัยได้ว่าเป็นคนบ้า
แต่คนที่จะวินิจฉัยได้ดีว่าใครเป็นคนวิกลจริตแค่ไหน สามารถบังคับตนได้หรือไม่ ก็คือแพทย์ผู้ชำนาญทางจิตเวช เขาศึกษามีความเชี่ยวชาญเรื่องเหล่านี้ ฉะนั้น ถ้ามีแพทย์ตรวจอาการผู้กระทำผิดแล้วมีความเห็นว่าเขาวิกลจริตหรือไม่? เพียงใด? นั้น ตำรวจ อัยการ ศาลมักจะรับฟังเพราะเขาเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางจิตเวช
4.คนวิกลจริต
(คนบ้า) ทำผิดกฎหมาย ไม่ต้องรับโทษ
คนวิกลจริต (คนบ้า) ทำผิดกฎหมายจะต้องรับโทษหรือไม่
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคแรก ระบุไว้ว่า
“...ผู้นั้น ไม่ต้องรับโทษ” หมายความว่า การกระทำของคนบ้านั้น ผิดกฎหมาย
แต่กฎหมายไม่เอาโทษ นี่เป็นทางรอดคุกของคนบ้าที่ทำผิดกฎหมายทางหนึ่ง
คนบ้ากระทำผิดกฎหมายขณะยังสามารถรับผิดชอบอยู่บ้างหรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง
ถ้าคนบ้ากระทำผิดกฎหมายขณะไม่สามารถรับผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน คนบ้ากระทำผิดกฎหมายแต่ไม่ต้องรับโทษ แต่ถ้ายังสามารถรับผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง คนบ้าต้องรับโทษตามกฎหมาย
แต่ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดเพียงใดก็ได้ คำว่า
“ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด...” เช่น
ความผิดฐานหนึ่ง กฎหมายเขียนว่า มีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 ถึง 50,000 บาท ถ้าคนธรรมดาทำผิดศาลจะพิพากษาจำคุกต่ำกว่า 4 ปีไม่ได้เพราะกฎหมายกำหนดโทษจำคุกอย่างต่ำไว้ แต่ถ้าคนบ้าที่สามารถรับผิดชอบอยู่บ้างหรือสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ศาลจะลงโทษจำคุกแค่ 1 วัน ปรับ 1 บาท หรือรออาญาก็ได้
คดีตัวอย่าง ผู้กระทำผิดยังสามารถรับผิดชอบอยู่บ้างหรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง
ตัวอย่างที่ 1 จำเลยป่วยเป็นโรคจิตชนิดหวาดระแวง
คำพิพากษาฎีกาที่ 1491/2529 จำเลยป่วยเป็นโรคจิตเภทชนิดระแวง จำเลยหวาดระแวงว่าผู้เสียหายจะทำร้ายตน ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีเรื่องโกรธเคืองกันมาก่อนและเป็นเพื่อนบ้านกันมาตั้งแต่เป็นเด็ก เป็นอาการบกพร่องทางจิตสำนึก สำคัญผิดว่าผู้เสียหายเป็นศัตรู จำเลยซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ผู้อื่นขณะใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย ดังนี้ จำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบและบังคับตนเองได้บ้าง ควรลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสอง
ตัวอย่างที่ 2 จำเลยป่วยเป็นโรคจิตเรื้อรัง
คำพิพากษาฎีกาที่ 5058/2531 จำเลยป่วยเป็นโรคจิต ชนิดจิตเภทเรื้อรัง
วันเกิดเหตุโจทก์ร่วมนอนเล่นอยู่บนบ้าน จำเลยไปที่ใต้ถุนบ้านโจทก์ร่วมและพูดคนเดียวโดยไม่มีใครรู้สาเหตุว่า “คนแก่อะไร พูดไม่เป็นคำพูด” โจทก์ร่วมได้ยินเสียงจำเลยจึงลุกไปที่ประตู ถามจำเลยว่า “พูดอะไร” จำเลยตอบว่า “ไม่ให้โจทก์ร่วมสนใจและอย่าใช้เสียงดังมิฉะนั้นจะฆ่าให้ตาย” แล้วจำเลยเดินไปใช้ไม้ขีดไฟจุดเผาหลังคายุ้งข้าวของโจทก์ร่วม
พฤติการณ์เช่นนี้ไม่อาจรับฟังได้ว่าสาเหตุคดีนี้เกิดขึ้นเพราะโจทก์ได้ว่ากล่าวจำเลย จนเป็นเหตุให้จำเลยโกรธแค้นขึ้นมาอย่างเฉียบพลัน
การกระทำของจำเลยเป็นเรื่องผิดปกติวิสัย ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าบุคคลผู้มีจิตเป็นปกติจะกระทำเช่นนั้นได้ จำเลยมีอาการทางประสาทมาตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ คือ ชอบนั่งคอตก ไม่พูดกับใคร ทำงานไม่ได้ ไล่ชกต่อยมารดาและเคยจะฟันพี่ชาย พูดด้วยไม่รู้เรื่องบางครั้งต้องใช้โซ่ล่ามไว้ พฤติการณ์เช่นนี้ฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดในขณะที่มีจิตบกพร่อง หรือเป็นโรคจิตแต่ยังสามารถรู้ผิดชอบหรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสอง
ข้อแนะนำ เมื่อคนบ้ากระทำผิดกฎหมาย
เมื่อญาติมิตรของเราหรือเพื่อนมนุษย์ของเราเป็นคนบ้าไปทำผิดกฎหมาย เราก็ควรจะช่วยเหลือเขาเพื่อไม่ให้เขากระทำผิดต่อคนอื่นอีกต่อไป และเป็นการช่วยเหลือคนบ้าที่ทำผิดกฎหมายแต่ไม่ต้องได้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยนำความรู้กฎหมายเกี่ยวกับเรื่อง “คนบ้ามีสิทธิรอดคุก” นี้ไปใช้ประโยชน์เพื่อช่วยเหลือคนบ้าและช่วยเหลือสังคมไม่ให้ต้องได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของคนบ้าต่อไป
พี่น้องเชื่อหรือยังคะว่า...
นี่คือคำตอบที่ว่า... “คนบ้าทำผิดมีสิทธิติดคุกหรือไม่?”
…………………………
ศรัญญา วิชชาธรรม
4 ส.ค. 66
โฆษณา