Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ศรัญญา วิชชาธรรม
•
ติดตาม
4 ส.ค. 2023 เวลา 05:43 • หนังสือ
"ผู้ต้องหาให้การเท็จ ไม่ผิดฐานแจ้งความเท็จ"
มีจดหมายฉบับหนึ่ง ลงชื่อ ลุงแหวง ปรึกษาปัญหากฎหมายกับข้าพเจ้าเกี่ยวกับเรื่องผู้ต้องหาให้การเท็จ...
“...ผมมีลูกชายสองคน คนพี่ชื่อจันทร์ คนน้องชื่อจ้อย ยิงคนข้างบ้านชื่อจอมตายเพราะเมาเหล้าทะเลาะกัน จันทร์ไปแจ้งตำรวจว่าคนตายเข้ามาลักทรัพย์ในบ้านจึงยิงคนตายถึงแก่ความตาย
ต่อมาตำรวจจับจ้อย ข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา จ้อยก็ให้การเหมือนกับจันทร์พี่ชาย ทั้งจันทร์และจ้อยให้การเท็จต่อตำรวจ ตำรวจไม่ดำเนินคดีแก่จ้อยฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน แต่กลับดำเนินคดีกับจันทร์ฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ผมถามตำรวจว่าทำไมตำรวจจึงไม่ดำเนินคดีแก่จ้อย ฐานแจ้งความเท็จเหมือนกับจันทร์ ตำรวจบอกว่าผู้ต้องหาให้การเท็จ ไม่ผิดกฎหมาย แต่คนอื่นให้การเท็จผิดกฎหมายฐานแจ้งความเท็จ ผมเลยงง...ไม่เข้าใจ ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบายด้วย
ก่อนจะตอบเรื่องแจ้งความเท็จนั้น เราต้องเข้าใจเกี่ยวกับความผิดฐานแจ้งความเท็จก่อน
ความผิดฐานแจ้งความเท็จ อยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137...
“มาตรา 137 ผู้ใดแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
องค์ประกอบ มีดังนี้
(1).แจ้งความเท็จ
(2).แจ้งแก่เจ้าพนักงาน
(3).อาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย
การแจ้งความเป็นได้หลายวิธี
- การแจ้งความต่อเจ้าพนักงานเอง
เช่น แดงไปแจ้งความต่อดำซึ่งเป็นตำรวจ
- ตอบคำถามของเจ้าพนักงาน
เช่น เมื่อดำตำรวจสอบถามแดงซึ่งเป็นราษฎร แดงก็ตอบคำถามแก่ดำซึ่งเป็นเท็จก็ผิดฐานแจ้งความเท็จ
- การกรอกข้อความเท็จแล้วเอาไปยื่นให้เจ้าพนักงานก็เป็นการแจ้งความเท็จตามกฎหมาย
แจ้งความเท็จ
คือ แจ้งข้อความที่เป็นเท็จแต่ความเท็จนั้นต้องเป็นเหตุให้เกิดความผิดหรือเป็นองค์ประกอบของความผิด ไม่ใช่แจ้งเท็จเพียงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ
ตัวอย่าง
หนึ่งแจ้งความว่าสองออกเช็คโดยไม่มีเงินในบัญชี (ซึ่งเป็นความจริง) และแจ้งสถานที่ออกเช็คผิด ดังนี้ถือว่าการแจ้งสถานที่ผิดไม่ใช่สาระสำคัญถึงขนาดที่จะเป็นเหตุให้เกิดความผิด หนึ่งจึงไม่ผิดฐานแจ้งความเท็จ
(คำพิพากษาฎีกาที่ 284/2507)
การแจ้งความเท็จต้องยืนยันข้อเท็จจริง
คือ ต้องยืนยันว่าข้อเท็จจริงที่แจ้งที่กล่าวเป็นเช่นนั้น หากเป็นเท็จก็เป็นความผิด ถ้าไม่ยืนยันข้อเท็จจริงก็ไม่ผิดฐานแจ้งความเท็จ
ตัวอย่าง
จำเลยไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริง
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์ไปถามหาจำเลยที่ร้านค้าของจำเลย เด็กในบ้านบอกว่าไม่อยู่ จำเลยเกรงว่าโจทก์จะมาดักทำร้ายเพราะจำเลยกับบิดาโจทก์มีกรณีพิพาทกันอยู่ โจทก์ไม่ได้กระทำตามที่จำเลยแจ้งความ ขอศาลลงโทษจำเลยฐานแจ้งความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ดังนี้ ศาลฎีกาตัดสินว่าจำเลยได้แจ้งความตามคำบอกเล่าของเด็กที่อยู่ในร้าน โจทก์ จำเลยมิได้ยืนยันข้อเท็จจริงในคำฟ้องว่าเด็กในร้านมิได้บอกกับจำเลยเช่นนั้น
จะทำให้เห็นว่าที่จำเลยแจ้งนั้นเป็นเท็จ การแจ้งความของจำเลยตามฟ้อง จึงไม่ผิดฐานแจ้งความเท็จ (คำพิพากษาฎีกาที่ 2550/2529)
แจ้งต่อเจ้าพนักงาน
เจ้าพนักงานที่รับแจ้งต้องมีอำนาจหน้าที่ที่จะดำเนินการตามที่แจ้งความนั้นด้วย ถ้าการแจ้งความนั้นไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ผู้แจ้งไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ
ตัวอย่าง
แจ้งความต่อเจ้าพนักงานกระทำการตามหน้าที่
นายอำเภอมีคำสั่งแต่งตั้งให้ น.ปลัดอำเภอเป็นผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการออกบัตรประจำตัวประชาชนแทนนายอำเภอ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา ถือได้ว่ามีฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่แล้ว การที่จำเลยได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและเจ้าพนักงานผู้รับแจ้งได้จดข้อความที่แจ้งลงในเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 137 และมาตรา 267 (คำพิพากษาฎีกาที่ 310/2530)
ตัวอย่าง
พนักงานสอบสวนไม่มีหน้าที่เปรียบเทียบระหว่างโจทก์จำเลยคดีนี้
จำเลยไปเจรจาค่าเสียหายกับโจทก์ต่อหน้าพนักงานสอบสวน ในการที่คนอื่นขับรถชนบุตรสาวของโจทก์ พนักงานงานสอบสวนทำบันทึกไว้ โดยจำเลยอ้างว่ารถที่ขับชนบุตรสาวโจทก์เป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัดที่จำเลยเป็นผู้จัดการ ซึ่งความจริงห้างดังกล่าวได้จดทะเบียนเลิกกิจการไปแล้ว
จะเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 หรือไม่
ศาลฎีกาเห็นว่ากรณีเป็นเรื่องโจทก์กับจำเลยพากันไปตกลงเรื่องค่าเสียหายต่อหน้าพนักงานสอบสวนอันเป็นเรื่องในทางแพ่ง ทั้งจำเลยมิได้เป็นผู้ต้องหาในคดีรถชนบุตรสาวโจทก์ ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 38 (2) บัญญัติว่า
“ในคดีมีค่าทดแทน ถ้าผู้เสียหายและผู้ต้องหายินยอมให้เปรียบเทียบ ให้เจ้าหน้าที่กะจำนวนตามที่เห็นสมควร หรือตามที่คู่ความตกลงกัน” พนักงานสอบสวนจึงไม่มีหน้าที่จะทำการเปรียบ เทียบระหว่างโจทก์จำเลยในคดีนี้ การที่พนักงานสอบสวนทำการเปรียบเทียบ ไม่ถือเป็นการกระทำโดยหน้าที่ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน
(คำพิพากษาฎีกาที่ 2413/2521)
ตัวอย่าง
พัฒนาการอำเภอไม่มีหน้าที่รับผิดชอบงานบัตรประชาชน จำเลยพาเพื่อนของจำเลยมาให้ จ.รับรองเพื่อทำบัตรประจำตัวประชาชน และ จ.รับรองให้ก็ตาม แต่ จ.มีตำแหน่งเป็นพัฒนาการอำเภอซึ่งเป็นเพียงข้าราชการเท่านั้น จ.มิได้เป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานบัตรประจำตัวประชาชน จำเลยไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน
(คำพิพากษาฎีกาที่ 2830/2541)
อาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย
หากการแจ้งความเท็จไม่ทำให้ผู้อื่นเสียหายหรือประชาชนเสียหายก็ไม่ผิดฐานแจ้งความเท็จ
ตัวอย่าง
ทำให้ผู้อื่นเสียหาย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 รู้มาแต่แรกแล้วว่า ล.ผู้เป็นบิดาได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่ ก.และโจทก์ที่ 1การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้แจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่า น.ส.3 หายไป แล้วจำเลยที่ 1 นำหลักฐานใบแจ้งความไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอใบแทน น.ส.3 แทนฉบับที่อ้างว่าหายไป จนกระทั่งไปดำเนินการโอนมรดกที่ดินพิพาทมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ย่อมทำให้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่แท้จริงได้รับความเสียหาย เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1955/2546)
ตัวอย่าง
ทำให้ผู้อื่นเสียหาย
จำเลยรู้ว่ามิได้มีการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ แต่กลับแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนว่าได้มีการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์อันเป็นเท็จ เพื่อให้พนักงานสอบสวนเชื่อว่าได้มีความผิดข้อหาลักทรัพย์เกิดขึ้น เพื่อให้โจทก์ร่วมได้รับโทษ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งความอันเป็นเท็จ ตาม ป.อ.มาตรา 137 มาตรา 174 วรรคสองประกอบ มาตรา 173 จำเลยยังมีเจตนาแจ้งความเท็จเพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่โจทก์ร่วมอันเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมต่อบุคคลที่สาม
เพื่อให้โจทก์ร่วมถูกดูหมิ่น เกลียดชังและเสียชื่อเสียง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมด้วย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8611/2553)ตัวอย่าง
ไม่ทำให้ผู้ใดเสียหาย
เมื่อขณะที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ส.จำเลยไม่มีคู่สมรส เพราะจำเลยจดทะเบียนหย่ากับ ค.แล้วก่อนหน้านั้น การจดทะเบียนสมรสของจำเลยกับ ส.จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขการสมรส ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1452 แม้จำเลยจะแจ้งต่อนายทะเบียนว่าจำเลยเคยสมรสแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วเคยจดทะเบียนสมรสกับ ค.ก็มีผลอย่างเดียวกันว่า จำเลยไม่มีคู่สมรสในขณะที่จดทะเบียนสมรสกับ ส.นั่นเอง
การที่นายทะเบียนจดทะเบียนสมรสให้โดยเชื่อว่าจำเลยไม่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน จึงไม่อาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายและไม่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด
(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1237/2544)
เมื่อเข้าใจหลักกฎหมายเรื่องแจ้งความเท็จแล้ว ก็มาถึงปัญหาเรื่องการแจ้งความของผู้ต้องหาจะมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 หรือไม่?
ผู้ต้องหาแจ้งความเท็จ
ความจริงความผิดฐานแจ้งความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 นั้น กฎหมายใช้คำว่า “ผู้ใดแจ้งความเท็จ...” คำว่า “ผู้ใด” จึงหมายถึงทุกคน ไม่มีการยกเว้น แต่สำหรับผู้ต้องหานั้นมีสิทธิพิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/1 บัญญัติไว้ดังนี้
“มาตรา 134/1 ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การ หรือไม่ก็ได้ ถ้าผู้ต้องหาให้การ ถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้การนั้น อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้"
นักกฎหมายเห็นว่าผู้ต้องหามีสิทธิ ดังนี้
(1).ไม่ให้การก็ได้
เช่น ผู้ต้องหาให้การต่อตำรวจว่า “ข้าพเจ้าไม่ขอให้การชั้นตำรวจ ข้าพเจ้าขอให้การชั้นศาล" ผู้ต้องหาก็มีสิทธิทำได้
(2).ให้การอย่างไรก็ได้
เช่น ให้การรับสารภาพตลอดข้อหา ให้การปฏิเสธ ให้การภาคเสธ คือ รับบางส่วน ปฏิเสธบางส่วน เป็นสิทธิที่ต้องหาจะทำได้
ดังนั้น เมื่อผู้ต้องหาให้การไม่ตรงต่อความจริงอันเป็นเท็จ ก็เป็นสิทธิของจำเลยที่จะให้การจริงก็ได้ ให้การเท็จก็ได้ไม่มีกฎหมายห้ามเพราะเป็นสิทธิของผู้ต้องหา ผู้ต้องหาจึงไม่ควรมีความผิดฐานให้การเท็จ ดังคดีตัวอย่างที่ศาลฎีกาเคยตัดสิน ดังนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 225/2508
ผู้ต้องหาฐานเล่นการพนันสลากกินรวบให้การเท็จ
ร้อยตำรวจตรีกมลกับพวกจับกุมจำเลยในข้อหาเล่นการพนันสลากกินรวบ และค้นตัวจำเลย ได้บัตรรับฝากรถจักรยานยนต์และกระดาษฟุลสแก๊ปมีเขียนเลข 2 ฉบับ จำเลยแจ้งว่าเป็นสลากกินรวบซื้อมาจากโจทก์ อย่างนี้ถือว่าจำเลยกล่าวในฐานะผู้ต้องหา จำเลยหามีความผิดฐานแจ้งความเท็จไม่
(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4048/2528)
ผู้ต้องหาฐานหลบหนีเข้าเมืองให้การเท็จ
การที่จำเลยซึ่งถูกจับกุมในข้อหาว่าเป็นคนญวนอพยพหนีจากเขตควบคุมให้การปฏิเสธพร้อมทั้งแสดงบัตรประจำตัวประชาชนให้ตำรวจดูนั้น เป็นการปฏิเสธในฐานะผู้ต้องหา แม้ข้อความนั้นจะเป็นเท็จ ก็ไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ ตามมาตรา 137 และจะเอาผิดแก่จำเลยฐานใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงาน จดข้อความเท็จลงในเอกสารราชการ ตามมาตรา 268 ก็ไม่ได้อีกเช่นกัน
(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1093/2522)
ผู้ต้องหาฐานขับรถยนต์โดยประมาทให้การเท็จ
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ผู้ต้องหาให้การอย่างไร หรือจะไม่ให้การเลยก็ได้ เป็นสิทธิของผู้ต้องหาที่จะให้การอย่างใดก็ได้ แม้คำให้การของผู้ต้องหาจะไม่เป็นความจริงก็ไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน
พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่าขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัสและสอบสวนจดคำให้การของจำเลยไว้ ต่อมามีพยานหลักฐานว่าผู้ขับรถชนผู้เสียหายมิใช่จำเลย
พนักงานสอบสวนเห็นว่าคำให้การของจำเลยที่จดไว้เป็นความเท็จจึงแจ้งข้อหาเพิ่มเติมว่าแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน ดังนี้ คำให้การของจำเลยที่พนักงานสอบสวนจดไว้ เป็นคำให้การในฐานะผู้ต้องหา แม้ไม่เป็นความจริงจำเลยก็ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน
บุคคลแจ้งความเท็จก่อนตกเป็นผู้ต้องหา
อย่าลืมว่าผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ให้การหรือจะให้การอย่างไรก็ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/1 จึงได้รับการยกเว้นว่าไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จหากผู้ต้องหาให้การ ฉะนั้น หากบุคคลทั่วไปได้แจ้งความเท็จก่อนที่จะตกเป็นผู้ต้องหา ย่อมมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ดังคดีตัวอย่างต่อไปนี้ คำพิพากษาฎีกาที่ 1222/2498
แจ้งเท็จก่อนตกเป็นผู้ต้องหา
จำเลยแทงเขาตาย แล้วกลับไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานด้วยข้อความอันเป็นเท็จว่าเขาลักทรัพย์ จำเลยจะจับและได้ทำร้ายเพื่อป้องกันตัว การแจ้งความนี้ก่อนจับกุมฐานแจ้งความเท็จ จำเลยจึงมีความผิดฐานแจ้งเท็จ
(คำพิพากษาฎีกาที่ 8346/2540)
แจ้งเท็จก่อนตกเป็นผู้ต้องหา
จำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่า “ภายหลังเกิดเหตุรถชนกันแล้ว ผู้ขับขี่รถสามล้อเครื่องได้หลบหนีไป” ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้วคนขับรถสามล้อเครื่องยังคงอยู่ในที่เกิดเหตุ การกระทำของจำเลยน่าจะทำให้พนักงานสอบสวนหรือประชาชนเสียหาย การที่จำเลยได้แจ้งความเท็จก่อนจำเลยถูกสอบสวนว่าคนขับรถสามล้อเครื่องได้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 หรือไม่ มิใช่เป็นการให้การของจำเลยในฐานะผู้ต้องหา การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ตาม ป.อ.มาตรา 137
ทีนี้ก็มาถึงตอบคำถามของลุงแหวง ในจดหมายที่ถามมาว่า ลูกชายแกสองคน ชื่อ จันทร์กับจ้อยยิงคนตาย จันทร์ไปแจ้งเท็จต่อตำรวจว่าคนตายเข้ามาลักทรัพย์ในบ้านจึงยิงผู้ตายถึงแก่ความตาย ตำรวจดำเนินคดีแก่จันทร์ฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137
คำตอบก็คือ ตำรวจเขาทำถูกแล้ว เพราะจันทร์ลูกของลุงไปแจ้งเท็จต่อตำรวจ ขณะแจ้งนั้นจันทร์ลูกของลุงยังไม่ตกเป็นผู้ต้องหา จันทร์จึงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จตามที่ได้อธิบายมาแล้ว
แต่จ้อยนั้นถูกตำรวจจับกุมดำเนินคดีฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาแล้ว จ้อยตกเป็นผู้ต้องหาแล้ว จ้อยมีสิทธิจะไม่ให้การ ให้การปฏิเสธ ให้การรับสารภาพหรือให้การอย่างไรก็ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/1 ซึ่งเป็นสิทธิของจ้อยผู้ต้องหา การที่จ้อยให้การเท็จในฐานะผู้ต้องหา จ้อยจึงไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ ดังที่ได้อธิบายมาแล้ว หวังว่าลุงแหวงและพี่น้องทั้งหลาย คงจะเข้าใจแล้วนะครับ
....................................
ศรัญญา วิชชาธรรม
4 ส.ค. 66
1 บันทึก
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย