4 ส.ค. 2023 เวลา 06:13 • หนังสือ

แจ้งความเท็จโฉนดหาย... เหตุใด? ไม่ติดคุก

“เจ้าหนี้ขาหนูมาขอกู้เงินสด
หนูน่ะมีโฉนดมามอบให้
โฉนดอยู่กับตัวกลัวอะไร
ถ้าหนูเบี้ยวเมื่อไร...ขายที่ดินเลย”
เรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนยากจนที่ไปกู้เงินเศรษฐีทั้งหลายและเศรษฐีทั้งหลายที่ให้ลูกหนี้กู้แล้วยึดโฉนดของลูกหนี้ไว้เป็นประกัน
นายเหล่เข้าไปขอกู้เงินจากนายรวย
“ปีนี้น้ำท่วม ข้าวตายหมด อยากจะขอกู้เงินไปทำทุนซักห้าแสน...”
“เท่าไหร่นะ” เจ้าของเงินขึ้นเสียงสูง ทำเป็นหูหนวกไม่ได้ยินคำว่า “ขอกู้ห้าแสน”
“ห้าแสน ได้ยินมั้ยครับ”
เจ้าหนี้พยักหน้า “มีอะไรมาค้ำประกันล่ะ”
“มี” นายเหล่ยื่นโฉนดของตน 1 เล่ม ให้นายรวย
“ราคาเท่าไหร่”
“สองล้านกว่า...”
นายรวยเห็นว่าราคาที่ดินสูงกว่าเงินที่ให้กู้หลายเท่า จึงทำสัญญาเงินกู้ให้นายเหล่เซ็นเป็นลูกหนี้ มอบเงินให้นายเหล่ไป 500,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อเดือนซึ่งผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายให้คิดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปีเท่านั้น กำหนดเวลาใช้หนี้ไม่เกิน 2 ปี นายรวยเจ้าหนี้เก็บรักษาโฉนดที่ดินของนายเหล่ไว้เป็นประกันเงินกู้
ความจริงเรื่องยึดโฉนดไว้เป็นประกันเงินกู้นั้น ชาวบ้านส่วนมากเข้าใจผิดว่าหมายถึง เอาที่ดินไปค้ำประกันเงินกู้ ความจริงไม่ใช่เอาที่ดินไปค้ำประกันเงินกู้เพียงแต่เอาเอกสาร คือ ใบโฉนดที่ดินให้เจ้าหนี้ยึดไว้เท่านั้น
ถามว่าให้เจ้าหนี้ยึดไว้ทำไม คำตอบก็คือ เจ้าหนี้ยึดโฉนดไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกหนี้แอบเอาโฉนดที่ดินไปขายที่ดินให้กับคนอื่นนั่นเอง เพราะโฉนดอยู่กับเจ้าหนี้ ลูกหนี้จึงไม่มีทางที่จะเอาโฉนดใบนี้ไปขายที่ดินได้ เมื่อลูกหนี้เบี้ยวเจ้าหนี้จะได้ฟ้องร้องลูกหนี้ เอาที่ดินรายนี้ไปขายทอดตลาด เอาเงินมาใช้หนี้ให้แก่ตนได้เท่านั้นเอง
ไม่ใช่เอาที่ดินไปค้ำประกัน อย่าเข้าใจผิด เพียงแต่เอาโฉนดที่ดินของลูกหนี้ให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันว่าลูกหนี้จะไม่เอาที่ดินไปแอบขายเท่านั้นเอง
แต่ลูกหนี้ก็มีวิธีเอาที่ดินไปแอบขายได้โดยเจ้าหนี้ไม่รู้เลย ตามตัวอย่างในเรื่องนี้...
หลังจากนายเหล่ได้เงินจากนายรวยเป็นเงิน 500,000 และให้นายรวยยึดโฉนดแล้ว ต่อมาอีก 3 วัน (ก่อนวันครบกำหนดชำระหนี้) นายเหล่ลูกหนี้จอมลวดลายก็ไปแจ้งความต่อตำรวจว่า
“โฉนดที่ดินของข้าพเจ้าได้หายไปโดยไม่ทราบว่าใครเอาไป ข้าพเจ้าจึงแจ้งความเป็นหลักฐานเพื่อไปขอออกโฉนดใหม่ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน”
ซึ่งการแจ้งความของนายเหล่ครั้งนี้ว่า “โฉนดที่ดินของเขาหายไป” นั้นเป็นเท็จ เพราะความจริงโฉนดที่ดินไม่ได้หาย ตัวเองไปมอบให้เจ้าหนี้เก็บรักษาไว้ นายเหล่จึงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ซึ่งบัญญัติว่า...
“มาตรา 137 ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
นายเหล่ไปแจ้งเท็จต่อเจ้าพนักงานซึ่งมีสิทธิติดคุกถึง 6 เดือน นายเหล่ก็กล้าทำ จากนั้นนายเหล่ก็เอาใบแจ้งความต่อตำรวจว่าโฉนดหายไป ยื่นต่อเจ้าพนักงานที่ดิน เพื่อขอออกใบแทนโฉนดฉบับใหม่ เจ้าพนักงานที่ดินเห็นว่ามีการแจ้งความว่าโฉนดหายถูกต้องตามระเบียบก็ออกโฉนดใหม่ให้นายเหล่ วันรุ่งขึ้นนายเหล่ก็เอาโฉนดฉบับใหม่ไปขายที่ดินแปลงนั้นให้กับนายโล้นต่อไป โดยที่นายรวยนอนกอดโฉนดฉบับเดิมไว้เฉยๆ และไม่รู้เลยว่านายเหล่ได้ขายที่ดินแปลงนั้นไปแล้ว
นายรวยรู้เรื่องเข้าก็ร้องจ๊าก! “ไอ้เชี่ย... มึงโกงกู”
โดยไม่รอช้า ความโกรธทำให้นายรวยเจ้าหนี้ตั้งทนายฟ้องนายเหล่ลูกหนี้ฐานแจ้งความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 เพื่อจะเอานายเหล่เข้าคุกให้ได้ ที่บังอาจแอบไปแจ้งความว่าโฉนดหาย ทั้งๆ ที่โฉนดอยู่กับเจ้าหนี้ ซ้ำยังแอบเอาที่ดินไปขายให้นายโล้นด้วย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่านายเหล่มีความผิดตามฟ้อง จึงพิพากษาว่าจำ เลยมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 จำคุกนายเหล่เป็นเวลา 4 เดือน นายเหล่จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
นายเหล่ไม่ยอมแพ้ ยื่นฎีกาไปยังศาลฎีกา สู้คดีในประเด็นสำคัญว่านายรวยไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย ไม่มีอำนาจฟ้องนายเหล่จำเลยคดีนี้
เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง “ผู้เสียหาย” ในคดีอาญา และ “อำนาจฟ้องคดีอาญา” กันหน่อย เพื่อจะได้เข้าใจในคำพิพากษาฎีกาฉบับนี้
คำว่า “ผู้เสียหาย” ตามกฎหมายนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 เขียนไว้ว่า
มาตรา 2 ในประมวลกฎหมายนี้ (4) ผู้เสียหาย หมายความถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6
อธิบายง่ายๆ “ผู้เสียหาย” คือ ผู้ได้รับความเสียหายเพราะผู้อื่นกระทำผิดอาญานั่นเอง
กรณีเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย ตัวอย่าง ศาลฎีกาตัดสินว่า...
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่านิติสัมพันธ์ระหว่างคุณรวยกับคุณเหล่นั้น คุณรวยเป็นเพียงเจ้าหนี้สามัญของคุณเหล่ การที่คุณเหล่มอบโฉนดที่ดินให้คุณรวยเพื่อยึดถือไว้เป็นประกันการกู้ยืมเงิน แม้ทำให้คุณรวยมีสิทธิในอันจะยึดโฉนดที่ดินไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้จากคุณเหล่โดยสิ้นเชิง แต่มิได้ก่อให้เกิดสิทธิแก่คุณรวยที่จะฟ้องบังคับเอาแก่ที่ดินหรือบังคับอย่างใดๆ ต่อโฉนดที่ดินนั้นไม่ว่าทางใด
คุณรวยคงมีสิทธิฟ้องบังคับคุณเหล่ได้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินอย่างเจ้าหนี้สามัญเท่านั้น ดังนั้น การที่คุณเหล่ไปแจ้งแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่าโฉนดที่ดินสูญหายขอให้ออกใบแทนโฉนด ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จหรือไม่ ย่อมมิได้กระทบต่อสิทธิอย่างใดๆ ของคุณรวยในอันที่จะบังคับชำระหนี้เอาแก่คุณเหล่ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน สิทธิของคุณรวยในฐานะเจ้าหนี้สามัญมีอยู่อย่างไร คงมีอยู่เพียงนั้น มิได้ลดน้อยถอยลงไป
ทั้งการแจ้งแก่เจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอให้ออกใบแทนโฉนดเป็นเรื่องที่คุณเหล่กระทำต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยเฉพาะไม่เกี่ยวกับคุณรวย เพราะคุณเหล่มิได้กล่าวพาดพิงเจาะจงถึงคุณรวยในอันจะถือได้ว่าทำให้คุณรวยได้รับความเสียหายจากการกระทำนั้น
ด้วยเหตุนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคุณรวยไม่ใช่ผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) จึงไม่มีอำนาจฟ้องคุณเหล่ได้ในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137
ศาลฎีกาพิพากษากลับให้ยกฟ้อง
หมายเหตุ : เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 8929/2556 แดงใช้มีดฟันดำ ดำบาดเจ็บ ดังนี้
ดำได้รับความเสียหายเพราะแดงกระทำผิดอาญา ฐานทำร้ายร่างกายดำ ดำจึงเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา มีสิทธิฟ้องแดงได้ฐานทำร้ายร่างกายบาดเจ็บ
ตัวอย่าง แดงใช้มีดฟันดำตาย บิดาหรือบุตรของดำมีอำนาจจัดการแทนดำผู้ตายได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 4, 5 และ 6 ดังนั้น บิดาและบุตรของดำผู้ตาย จึงเป็นผู้เสียหายฟ้องแดงฐานฆ่าดำตายโดยเจตนาได้
กรณีไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย
แดงใช้มีดฟันดำบาดเจ็บ ดำเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ แต่เหลืองเพื่อนของดำจะฟ้องแดงฐานทำร้ายร่างกายดำบาดเจ็บไม่ได้ เพราะเหลืองไม่ใช่เป็นผู้ถูกแดงฟัน เหลืองจึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะฟ้องแดงได้ ผู้เสียหายโดยตรงเท่านั้นที่มีสิทธิฟ้องจำเลยต่อศาลได้ ถ้าไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยต่อศาล
วกกลับมาเรื่องของเราต่อ... หลังจากเหล่ยื่นฎีกาต่อศาลฎีกาไปแล้วว่า
“แม้เหล่จะแจ้งเท็จก็จริง แต่โจทก์ (นายรวย) ก็ไม่ใช่ผู้เสียหายในคดีนี้ โจทก์ (นายรวย) จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลย (นายเหล่) ต่อศาล ขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง”
มาดูกันว่าศาลฎีกาจะตัดสินยังไง เหล่จะรอดคุกฐานแจ้งเท็จหรือไม่
สรุปก็คือ ศาลฎีกาฟังว่าเจ้าหนี้ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง ในความผิดฐานแจ้งความเท็จของลูกหนี้ เพราะเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องลูกหนี้เหมือนกับเจ้าหนี้สามัญทั่วๆ ไปอยู่แล้ว เมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้
แปลง่ายๆ ว่าโฉนดที่ดินของลูกหนี้ที่เจ้าหนี้นอนกอดไว้นั้น ไม่ใช่ว่าลูกหนี้เอาที่ดินมาเป็นการค้ำประกันการชำระหนี้เพียงเจ้าหนี้ยึดไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกหนี้เอาโฉนดฉบับนั้นไปขายที่ดินเท่านั้น
ส่วนที่ลูกหนี้ไปแจ้งเท็จว่าโฉนดหายนั้น เจ้าหนี้ไม่ใช่ผู้เสียหายคดีแจ้งความเท็จโดยตรง แต่อย่านึกว่านายเหล่จะรอดคุกได้ง่ายๆ นะ เจ้าพนักงานที่รับแจ้งเท็จก็เป็นผู้เสียหายฟ้องนายเหล่เข้าคุกฐานแจ้งความเท็จได้นะครับท่าน
....................................
ศรัญญา วิชชาธรรม
4 ส.ค. 66
โฆษณา